โรคของถั่วที่พบบ่อย

โรคราสนิม (rust)

ราสนิมเป็นโรคของถั่วที่พบบ่อยที่สุดอีกโรคหนึ่ง โดยจะเกิดเป็นกับถั่วเกือบทุกชนิด ทั้ง beans และ peas เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ และ ถั่วลันเตา เป็นโรคที่อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงได้ในบางสภาวะหรือในขณะที่สิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อโรค

อาการโรค

โรคราสนิมจะเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนของต้นถั่วที่อยู่เหนือดิน แต่จะพบมากที่สุดบนใบ โดยอาการจะเริ่มจากจุดสีเขียวซีดหรือเหลืองที่มีลักษณะกลมเล็กๆ ขึ้นก่อน ต่อมาตอนกลางจุดจะยกนูนสูงขึ้น แล้วแตกออกพร้อมกับจะมีผง หรือกลุ่มของสปอร์สีนํ้าตาลแดงเกิดขึ้นเป็นจุดๆ เห็นได้ชัดเจน ส่วนของเนื้อใบรอบจุดแผลก็จะมีลักษณะเป็นเซลล์ตายสีเหลืองที่เรียกว่าฮาโล (halo) ล้อมรอบอยู่เป็นวงกลม แต่จะเป็นวงแคบๆ ไม่กว้างเหมือนโรค halo blight ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ในบางครั้งจะพบว่าที่บริเวณรอบๆ ฮาโลนี้ อาจมีผงสปอร์ซึ่งเกิดจากการเข้าทำลายซํ้าเติม (secondary pustules) ของเชื้อขึ้นล้อมรอบไว้อีกชั้นหนึ่ง ในกรณีที่เป็นรุนแรงจุดแผลสนิมเหล็กเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมาย บนใบหนึ่งๆ อาจนับได้เป็นร้อยๆ จุด ทำให้เนื้อใบที่เหลือ เหลืองหมดทั้งใบ และในที่สุดก็จะร่วงหลุดออกจากต้น

สำหรับฝักถั่วหากถูกเชื้อเข้าทำลายก็อาจเกิดแผลเซลล์ตายขึ้นได้เช่นกัน โดยจะมีลักษณะเป็นจุดนูนสูงขึ้นเฉยๆ ส่วนใหญ่จะไม่พบว่ามีการสร้างสปอร์เกิดขึ้นเหมือนที่ใบ

สาเหตุโรค : Uromyces phaseoli var. typica, Uromyces appendiculatus, U. phaseoli vignae, U. fabae, U. pisi

ได้แก่เชื้อราในตระกูล Uromyces หลายชนิด เช่น ตัวอย่างข้างต้นทั้งหมดนี้จะเข้าทำลายถั่วต่างๆ ชนิดกัน เช่น 3 ชนิดแรกจะทำลายถั่ว beans ต่างๆ เช่น ถั่วแขก ถั่วเหลือง ถั่วพุ่ม ถั่วแดง ถั่วฝักยาว ส่วนสองชนิดหลังจะเข้าทำลายพวกถั่วที่จัดอยู่ในพวก peas ต่างๆ เช่น ถั่วลันเตา (garden pea) ถั่วบรรจุกระป๋อง (shell pea) หรือ sugar pea ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม Uromyces spp. ทุกชนิดในที่นี้จัดเป็นรา สนิมที่ต้องการพืชเพียงชนิดเดียว เพื่ออาศัยเกาะกินตลอดชั่วอายุการเจริญเติบโตของมัน (autoecious rust) และในการสร้าง สปอร์ชนิดต่างๆ เริ่มตั้งแต่ยูรีดิโอสปอร์ (urediospore) ซึ่งราจะสร้างขึ้นหลังจากเข้าทำลายพืชและเจริญเต็มที่แล้ว สปอร์ชนิดนี้จะมีลักษณะกลมรีหัวท้ายแหลม สีนํ้าตาลจางและมีเซลล์เดียว แต่เมื่อเกิดจะเกาะติดกันเป็นสาย เมื่อแก่ก็จะหลุดออกจากกัน ปลิวระบาดไปโดยลม นํ้า หรือติดไปกับสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิด เมื่อตกลงบนพืชสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกทันที แล้วเข้าไปภายในพืช โดยผ่านทางช่องปากใบ หลังจากนั้นก็จะเกิดอาการให้เห็นภายใน 5 วัน และสร้างยูรีดิโอสปอร์ซํ้าขึ้นได้อีกภายใน 5 – 10 วัน ยูรีดิโอสปอร์จึงเป็นสปอร์ที่ราสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแพร่ระบาดและการเข้าทำลายพืชในระหว่างฤดูปลูก ซึ่งจะเกิดซํ้าและติดต่อกันได้หลายครั้ง สำหรับในประเทศที่มีอากาศหนาว มีระยะที่พืชจะต้องพักตัว หรือมีการทิ้งช่วงระหว่างฤดูปลูกนานเมื่อถึงปลายฤดูปลูก หรือเมื่อพืชแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะมีการสร้างสปอร์อีกชนิดหนึ่ง ขึ้นแทน เรียกว่า เทลิโอสปอร์ (teliospore) ลักษณะคล้ายยูรีดิโอสปอร์แต่มีสีเข้มและผนังหนากว่า การเกิดก็เกิดเดี่ยวๆ บนก้านไม่เกาะติดกันเป็นสายเหมือนยูรีดิโอสปอร์ เป็นสปอร์ที่มีความคงทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่ผิดปกติและอยู่ข้ามฤดูปลูกที่เว้นระยะนานๆ ได้ ปกติราสนิมไม่ติดต่อหรือถ่ายทอด ได้ทางเมล็ด การแพร่ระบาดข้ามฤดูส่วนใหญ่ก็โดยเชื้อราที่เกาะกินอยู่บนพืชอาศัยชนิดเดียวกันหรือพวกเดียวกันที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียง ส่วนการระบาดระหว่างฤดูปลูกก็โดยยูรีดิโอสปอร์ดังกล่าวแล้ว สปอร์ของราสนิมจะงอกได้ดีในวันที่ความชื้นในอากาศสูง ครึ้มฟ้าครึ้มฝนหรือเมฆหมอกจัด น้ำค้างมาก หรือเมื่อมีนํ้าเกาะติดอยู่กับใบพืชเป็นเวลานานๆ ส่วนการเข้าทำลายพืชนั้นต้องการอุณหภูมิที่ปานกลางหรือค่อนข้างสูง

การป้องกันกำจัด

1. งดปลูกถั่วชนิดที่เคยเป็นโรคลงในดินหรือแปลงปลูกเดิมอย่างน้อย 3-4 ปี ในระหว่างนี้ก็ให้เลือกปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พวกถั่วแทน

2. ในกรณีที่ถั่วที่ปลูกเป็นพันธุ์ที่ง่ายต่อการติดเชื้อ หรือเมื่อเกิดโรคขึ้น อาจป้องกันหรือลดความเสียหายของโรคลงได้โดยการฉีดพ่นด้วยสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ แมนเซทดี 50 – 70 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 7 – 10 วัน เบนเลท 12 – 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 10 – 14 วัน โลนาโคลหรือซีเน็บ 50 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 5 – 7 วัน เพ่อร์แบม 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 5 – 7 วัน ไดเทน เอ็ม 45 20 – 30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 5-7 วัน

สารเคมีเหล่านี้บางชนิดอาจนำมาผสมกันได้และเมื่อนำไปฉีดพ่นให้กับพืชจะช่วยให้มีผลในการป้องกันโรคราสนิมได้ดียิ่งขึ้นกว่าใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น แมนเซทดี ผสมกับเบนเลท ในอัตราส่วน 50 กรัม : 15 กรัม ในน้ำ 20 ลิตร

สำหรับการปลูกถั่วโดยเลือกใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรคราสนิมนั้นไม่สู้ได้ผลนัก ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคมี race ต่างๆ กันหลาย races เท่าที่พบในปัจจุบันมีมากกว่า 30 race ทำให้ยากต่อการเลือกใช้พันธุ์ที่เหมาะสมเพราะพันธุ์ที่ต้านทานต่อเชื้อตัวหนึ่งอาจจะง่ายต่อการเกิดโรคจากเชื้ออีกตัวหนึ่งได้