โรคของมะเขือยาว

(diseases of eggplant)

มะเขือยาวแม้จะเป็นพืชผักในตระกูล Solanaceae เช่นเดียวกับมะเขือเทศ พริกและมันฝรั่ง แต่โรคของมะเขือยาวค่อนข้างจะแตกต่างออกไปจากโรคของพวก Solanaceous ชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะของมันเอง ซึ่งต่างทั้งอาการและเชื้อสาเหตุ

โรคต้นและใบไหม้แห้ง (blight)

โรคต้นและใบไหม้แห้งที่เกิดจากเชื้อ Phomopsis vexans เป็นโรคสำคัญที่ระบาดแพร่หลายและสร้างความเสียหายให้กับมะเขือยาวมากโรคหนึ่ง โดยจะก่อให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นได้หลายลักษณะ เช่น อาการโคนเน่าคอดิน (damping-off) ของต้นกล้า อาการลำต้นเน่าหรือแผลสะเก็ด (stem canker) อาการใบไหม้แห้ง (leaf blight และอาการผลเน่า (fruit rot)

อาการโรค

โรคจะเกิดขึ้นกับต้นมะเขือยาวได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ในระยะที่ยังเป็นต้นกล้าหรือต้นอ่อนจะก่อให้เกิดอาการแผลสีนํ้าตาลหรือดำขึ้นที่บริเวณลำต้น ทำให้ต้นล้มใบเหี่ยวและแห้งตายทั้งต้นคล้าย damping-off สำหรับต้นโตอาการแผลจะเกิดที่โคนลักษณะเน่าแห้ง สีนํ้าตาลหรือเทา ทำให้ลำต้นลีบหรือคอดลงบางครั้งอาจเกิดอาการเปลือกแตกลอกลักษณะเป็นแผลสะเก็ดแคงเกอร์ หากแผลเกิดขึ้นจนรอบต้นจะทำให้ต้นและใบเหี่ยวแห้งทั้งต้น พร้อมกับจะสังเกตเห็นจุดสีดำเล็กๆ ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนิเดีย(fruiting body) เป็นจำนวนมากเกิดทั่วไปตามบริเวณแผลดังกล่าว

บนใบอาการจะมีลักษณะเป็นแผลกลมสีนํ้าตาลอ่อนหรือเทาเช่นกัน ตรงกลางจะซีดจางเล็กน้อย แผลเก่าที่แห้งจะมีจุดสีดำของ fruiting body เกิดขึ้นเช่นกัน ใบเหล่านี้ต่อมาจะเหลือง แล้วแห้งตายในที่สุด

ที่ลูกมะเขือเมื่อถูกเชื้อเข้าทำลายจะเกิดแผลช้ำสีซีดยุบลงจากผิวปกติ แผลอาจขยายใหญ่จนเต็มลูก ถ้าเป็นมากและสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ต่อมาก็จะเกิดจุดสีดำเล็กๆ ขึ้นเช่นกัน การเกิดอาการบนลูกมะเขือมักจะเริ่มมาตั้งแต่ยังเป็นดอก จากการเข้าทำลายของเชื้อที่กลีบดอกชั้นนอก จากนั้นก็ลามต่อมายังก้านลูก และลูกในที่สุด และถ้าลูกยังเล็กจะก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่ามัมมี่ (black mummy) แห้งเหี่ยวตายทั้งลูก

สาเหตุโรค : Phomopsis vexans

เป็นราพวก fungi-imperfecti แต่ในบางกรณีถ้ามีการผสมพันธุ์ทางเพศ (perfect stage) เกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นราอีกตัวหนึ่งใน Class Ascomycetes คือ Diapa vexans

P. vexans เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีการสร้างโคนิเดียสองชนิดภายใน pycnidia คือ อัลฟ่าโคนิเดีย (alpha conidia)| ลักษณะเป็นแท่งสั้น หัวท้ายมนคล้ายรูปไข่ และเบต้าโคนิเดีย (beta conidia) เป็นเส้นยาวๆ อาจโค้งหรืองอเล็กน้อย โดยจะเกิดบนก้าน conidiophore ที่มีรูปร่างคล้ายขวดที่มีคอคอดเล็ก ทั้งอัลฟาและเบต้าโคนิเดีย ไม่มีสีคือขาวใสและมีเซลล์เดียว เมื่อแก่ก็จะถูกดันให้หลุดออกจาก pycnidia ปลิวแพร่กระจายไปตามลม น้ำที่สาดกระเซ็น แมลง อวัยวะ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของเกษตรกรและสิ่งเคลื่อนไหวทุกชนิด เมื่อตกลงบนพืชได้รับสิ่งแวดล้อมเหมาะสมอันได้แก่ความชื้นสูง อุณหภูมิระหว่าง 21 – 32° ซ. ก็จะงอกเส้นใยขึ้นทำลายพืช สร้างอาการโรคได้อย่างรวดเร็ว และทุกระยะการเจริญเติบโตของมะเขือ ราพวกนี้อยู่ข้ามฤดูได้ทั้งในลักษณะที่เป็นเส้น อาศัยเกาะกินอยู่กับเศษซากพืซที่ปล่อยทิ้งหลงเหลืออยู่ตามพื้นดินได้นาน 3 ปี และในรูปของโคนิเดียหรือสปอร์ปะปนติดอยู่กับเมล็ด ส่วนสปอร์ที่อยู่ในลักษณะอิสระ (free spore) ที่ตกอยู่ตามพื้นดินหรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีโอกาสงอกเข้าทำลายพืชจะมีอายุได้ประมาณ 3 เดือน จากนั้นก็จะฝ่อแห้งตายไป

การป้องกันกำจัด

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อปะปน หากไม่แน่ใจก่อนปลูกให้นำมาแช่ในนํ้าอุ่น 49 – 50° ซ. นาน 30 ที แล้วนำมาจุ่มลงในนํ้าละลายจุนสี (CuSO4) อีกทีหนึ่ง จากนั้นจึงค่อยนำไปปลูก

2. เมื่อต้นกล้างอกพ้นพื้นดินถ้าเมล็ดมีเชื้อปะปนมาหรือในดินมีเชื้ออยู่อาจจะเกิดการติดเชื้อขึ้น เพื่อให้ปลอดจากโรคให้ฉีดพ่นต้นกล้าด้วยสารเคมีไธแรมหรือแคปแตน 50-60 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทุกๆ 5-7 วัน และหลังจากย้ายกล้าไปปลูกในแปลงใหญ่แล้วหากเกิดโรคระบาดขึ้นให้พ่นด้วยสารเคมีมาเน็บ หรือแมนเซทดี ทุก 5-7 วัน จนกว่าจะพ้นระยะระบาดของโรค

3. หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือซํ้าลงไปในแปลงหรือดินปลูกที่เคยมีโรคระบาดอย่างน้อย 3 ปี โดยนำพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่มะเขือยาวมาปลูกสลับ

4. เก็บทำลายเศษซากพืชที่พบว่าเป็นโรคและต้นมะเขือที่งอกหลังเก็บเกี่ยวแล้วให้หมด

5. เลือกดินและแปลงเพาะกล้าที่ใหม่และสะอาดอยู่เสมอหากไม่แน่ใจควรทำการฆ่าเชื้อที่อาจมีอยู่ในดินเสียก่อน โดยอาจใช้ความร้อนจากการคั่วหรืออบด้วยไอนํ้าและสารเคมี เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ คลอโรพิคคริน หรือดาโซเมทและไธแรม อย่างใดอย่างหนึ่ง

6. ปลูกมะเขือโดยใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรค

โรคแอนแทรคโนสหรือผลเน่า (Colleto trichum fruit rot)

เป็นโรคที่ส่วนใหญ่จะพบเป็นกับต้นมะเขือที่อ่อนแอ ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลที่ดี โดยจะทำความเสียหายกับลูกมะเขือที่โตเต็มที่หรือปล่อยไว้จนแก่คาต้นเกิดเป็นแผลเน่าดำ ร่วงหลุดจากต้น

อาการโรค

ลูกมะเขือที่โตเต็มที่หรือปล่อยทิ้งไว้จนแก่จะเกิดอาการแผลค่อนข้างกลมสีนํ้าตาล ยุบเป็นแอ่งจมลงไปในเนื้อ แผลที่เกิดอาจจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ หรือโตถึงครึ่งนิ้ว และถ้าเป็นมากจนแผลที่เกิดขึ้นมาชนต่อเชื่อมกันแผลก็อาจจะใหญ่กว่านั้น เมื่ออากาศชื้นจะพบว่ามีผงสปอร์หรือโคนิเดียของราเป็นสีชมพูเห็นได้ชัดเจน ลูกมะเขือที่ถูกเชื้อเข้าทำลายรุนแรงจะหลุดล่วงลงดิน เหลือส่วนที่เป็นก้านติดอยู่กันต้น ต่อมาอาจมีพวกเชื้อเน่าเละเข้าทำลายต่อทำให้เน่าทั้งลูก หรือไม่ก็เน่าแห้งเป็นสีดำ นอกจากบนลูกแล้ว เชื้อ C. melongenae อาจเข้าทำลายใบมะเขือทำให้เกิดอาการแผลจุดสีเหลืองหรือนํ้าตาลขึ้น แต่แผลที่ใบส่วนใหญ่จะไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นและผลผลิต นอกจากในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมจริงๆ เท่านั้น

สาเหตุโรค : Colletotriehum melongenae

เป็นเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคแอนแทรคโนสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่พบ perfect stage ขยายพันธุ์โดยการสร้างโคนิเดีย ลักษณะเป็นแท่ง ตรงหัวท้ายมน ในอวัยวะรูปถ้วย ซึ่งจะเกิดอยู่ที่บริเวณแผล เมื่ออยู่รวมกันมากๆ จะมีสีชมพูสด ส่วนใหญ่จะเกิดได้ดีเมื่อความชื้นในอากาศสูง เช่น หลังฝนตก หรือคืนที่มีนํ้าค้างจัด

การแพร่ระบาด ก็เช่นเดียวกับราที่มีการสร้างสปอร์ทั่วไป คือ สปอร์หรือโคนิเดีย เมื่อหลุดออกจากก้านก็จะปลิวไปตามลมหรือติดไปกับแมลง นํ้าที่สาดกระเซ็น มนุษย์ สัตว์ และเครื่องมือกสิกรรมทุกชนิดที่นำมาใช้ปฏิบัติกับต้นพืชโดยเฉพาะที่เป็นโรค การอยู่ข้ามฤดูก็โดยที่เส้นใยอาศัยเกาะกินเศษซากต้นใบหรือลูกมะเขือเป็นโรคที่หล่นอยู่ตามดิน หรือบนต้นมะเขือที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวและที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียง

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสหรือผลเน่าของมะเขือ ทั้งวิธีปฏิบัติต่างๆ และการใช้สารเคมีสามารถทำได้โดยวิธีเดียวและชนิดเดียวกันกับโรคต้นและใบไหม้แห้งของมะเขือที่เกิดจากเชื้อ Phomopsis vexans