โรคทางใบที่สำคัญของมะเขือเทศ

โรคใบเหลืองปื้น(Cercospora leafmold)

เป็นโรคทางใบที่สำคัญของมะเขือเทศที่พบบ่อยอีกโรคหนึ่งโดยจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไปในเกือบจะทุกแห่งที่มีการปลูกมะเขือเทศ แต่ในบางท้องถิ่นที่มีสภาวะสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็อาจจะกลายเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรงได้

อาการโรค

ใบมะเขือเทศที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะเกิดเป็นเซลล์ตายสีเหลืองขึ้นทั่วไปที่ด้านหลังหรือด้านบนของใบ ต่อมาที่ด้านใต้หรือท้องใบจะมีการสร้างสปอร์สีนํ้าตาลหรือดำเกิดขึ้น แผลจะแห้งเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลตรงกลางจุดจะเป็นสีขาว ปกติแผลแต่ละแผลจะมีขนาดไม่โตนัก แต่ถ้าเป็นมากแผลอาจจะมาชนต่อเชื่อมกันเกิดเป็นแผลที่มีขนาดใหญ่ทำให้ใบเกิดอาการบิดงอ เหี่ยวเฉาและแห้งตายในที่สุด เชื้ออาจเข้าทำลายกิ่งอ่อนและก้านใบก่อให้เกิดอาการแผลสีน้ำตาลหรือดำ ลักษณะกลมหรือเรียวยาวขึ้นได้ ส่วนใหญ่อาการจะเริ่มจากใบแก่ที่อยู่ตอนล่างของต้นก่อน แล้วจึงค่อยกระจายไปยังใบที่อยู่สูงๆ ขึ้นไปจนในที่สุดหมดทั้งต้น

สาเหตุโรค: Pseudocercospora fuligena

เป็นราพวก imperfecti ขยายพันธุ์โดยการสร้างโคนิเดีย ลักษณะเป็นเส้นเรียวยาวปลายแหลมท้ายป้านมีผนังกั้นแบ่งออกเป็นหลายเซลล์ และเกิดบนก้านโคนิดิโอฟอร์สีดำ ซึ่งงอกติดกันเป็นกระจุกที่บริเวณแผลด้านใต้ใบ เป็นราที่ต้องการความชื้นสูงทั้งในการเกิดสปอร์การงอกและการเข้าทำลาย

พืชเช่นเดียวกับ Cladosporium sp. สำหรับอุณหภูมิช่วงที่เหมาะที่สุดจะอยู่ระหว่าง 28-30°ซ

การแพร่ระบาด เกิดขึ้นโดยโคนีเดียปลิวไปตามลม หรือการสาดกระเซ็นของน้ำฝนหรือนํ้าที่รดให้กับต้นพืชแมลง มนุษย์ สัตว์ เครื่องมือกสิกรรม เมื่อตกลงบนพืชสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกเป็นเส้นใยเข้าทำลายพืชแล้วเกิดอาการให้เห็นภายใน 2-3 วัน

การป้องกันกำจัดโรค ทั้งการเกษตรกรรมและการใช้สารเคมีสามารถทำได้โดยวิธีเดียวกับโรคราบนใบที่เกิดจากเชื้อ Fulvia fulva

โรคใบจุดวงกลม (Septoria leaf spot)

เป็นโรคทางใบที่พบบ่อยอีกโรคหนึ่งของมะเขือเทศเช่นเดียวกับโรคใบเหลืองปื้นที่เกิดจาก Cercospora โดยเฉพาะจะเป็นมากในมะเขือที่ปลูกโดยไม่ได้ทำค้าง หรือไม้คํ้ายันปล่อยเรี่ยดิน และมีใบดกหนามากเกินไปไม่มีการตัดแต่ง ริดใบออกทิ้งเสียบ้าง

อาการโรค

โรคจะเกิดเป็นกับต้นมะเขือเทศได้ทุกระยะการเจริญเติบโต แต่จะเป็นมาก และพบบ่อยในระยะที่มะเขือเทศโตเต็มที่หรือในช่วงที่กำลังตกผล อาการส่วนใหญ่จะเกิดเป็นขึ้นที่ใบโดยจะเริ่มที่ใบแก่ส่วนล่างๆ ของต้น หรือใกล้พื้นดินก่อน ครั้งแรกจะเริ่มจากจุดเล็กๆ สีเหลืองซีด ลักษณะไม่แน่นอน ส่วนมากจะกลมหรือค่อนข้างกลมต่อมาจะค่อยๆ ขยายโต แต่ก็จะไม่เกินกว่าเศษหนึ่งส่วนแปดของนิ้วหรือ 3 มม. สีของจุดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลจางๆ ตรงกลางเป็นสีเทาและอาจมีบริเวณเซลล์ตายสีเหลืองซีดล้อมรอบบนใบหนึ่งๆ อาจเกิดแผลดังกล่าวขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้ใบเหลืองแล้วแห้งตายทั้งใบ ในกรณีที่เป็นรุนแรงกิ่งก้านที่อ่อน และก้านดอกอาจถูกเชื้อเข้าทำลายทำให้เกิดอาการแผลจุดได้เช่นกันแต่โรคนี้จะไม่ทำลายผลมะเขือเทศบนแผลที่เป็นนานๆ จะมีจุดสีดำเล็กๆ ซึ่งเป็นปาก (ostiole) ของ fruiting body รูปคนโท (pycnidia) ซึ่งฝังอยู่ภายใต้ผิวใบให้เห็นอยู่ทั่วไป

สาเหตุโรค: Septoria lycopersici

เป็นรา imperfecti เช่นเดียวกับ Cercospora sp. ขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ หรือโคนีเดียเป็นเส้นยาวหัวท้ายเท่ากัน และเรียวแหลมภายในมีผนังกั้นแบ่งออกเป็น 3-4 เซลล์ สปอร์พวกนี้จะเกิดบนก้านโคนิดิโอฟอร์สั้นๆ ที่เกิดอยู่ภายในพิคนิเดียอีกทีหนึ่ง เป็นราที่ต้องการความชื้นมากเช่นกันทั้งในการสร้างสปอร์การงอกและการเข้าทำลายพืช ส่วนใหญ่จะระบาดสร้างความเสียหายในฤดูฝน หรือช่วงที่มีหมอกนํ้าค้างจัด สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะที่สุดจะอยู่ระหว่าง 25-36°ซ.

การแพร่ระบาดและการอยู่ข้ามฤดู

ต้นเหตุของการแพร่กระจายระหว่างฤดูปลูกเกิดจากสปอร์ หรือโคนิเดีย ซึ่งเชื้อสร้างขึ้นจากต้นที่เป็นโรคปลิวไปตามลม หรือน้ำที่สาดกระเซ็น แมลง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้ที่ปฎิบัติงานกับต้นมะเขือเทศหรือเก็บเกี่ยวผลบนใบมะเขือเทศ ที่เป็นโรคใบหนึ่งๆ จะมีจำนวนสปอร์ตั้งแต่ 2,000,000- 5,000,000 สปอร์ สปอร์เหล่านี้เมื่อตกลงบนพืชได้รับความชื้นพอเพียงก็จะงอกเข้าไปภายในพืชสร้างอาการให้เห็นภายใน 4-5 วันแล้วสร้าง fruiting body ผลิต สปอร์ขยายพันธุ์ได้ใหม่อีกภายใน 6 วัน สำหรับการระบาดข้ามฤดูปลูกส่วนใหญ่ จะเกิดจากเชื้อที่อาศัยเกาะกินอยู่กับเศษซากพืชที่เคยเป็นโรคอยู่เดิมหรือไม่ก็จากพวกที่อาศัยอยู่กับวัชพืชพวก Solanaceous ในบริเวณใกล้เคียง ส่วนมากที่เชื้อนี้จะเป็น seed- borne หรือไม่นั้นยังไม่มีผู้ใดทราบแน่นอน อย่างไรก็ดีสปอร์ หรือโคนิเดียซึ่งอาจปะปนติดอยู่กับเมล็ดมะเขือเทศอาจทำให้ต้นกล้าของมะเขือเทศที่งอกติดหรือเกิดโรคขึ้นได้เช่นกัน

การป้องกันโรค

1. ทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคและวัชพืชพวกเดียวกับมะเขือเทศให้หมดหลังเก็บเกี่ยวแล้ว

2. หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือเทศลงในแปลงหรือดินปลูกที่เคยมีโรคเกิด หรือนำพืชอื่นมาปลูกสลับอย่างน้อย 3 ปี

3. เมื่อมีโรคเกิดขึ้นกับพืชที่ปลูกให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น ซีเน็บ ไธแรม แคปแตน คูปราวิท มาเน็บ ในอัตราส่วน 40-50 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร หรือบอร์โดมิกเจอร์ 8:4:100 ทุก ๆ 7-10 วันหรือ 5-7 วันต่อครั้งในกรณีที่เป็นรุนแรง