โรครากเน่าที่เกิดกับแตงชนิดต่างๆ

โรครากเน่าและเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อ Fusarium (Fusarium wilt and root rot)

เชื้อ Fusarium spp.ที่ก่อให้เกิดโรคกับแตงต่างๆ มีอยู่ด้วยกันหลายเชื้อ (6-8 species) ซึ่งแต่ละเชื้อก็จะเข้าทำลายแตงต่างชนิดกัน เช่น Fusarium oxysporum f.sp. cucumerinum ทำลายแตงร้าน แตงกวา F. oxysporum f.sp. niveum ทำลายแตงโม F. oxysporum f.sp. melonis ทำลายแคนทาลูป และ F. solani f.sp. cucurbitae ทำลายฟักทอง สควอซท์ เป็นต้น

อาการโรค

เชื้อเหล่านี้จะเข้าทำลายต้นแตงได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ในระยะกล้าอาการส่วนใหญ่จะคล้ายกันคือจะทำให้ต้นกล้าหักพับล้มและแห้งตายคล้าย damping-off ในต้นโต อาจเกิดอาการชะงักงัน หยุดการเจริญเติบโต เหลือง เหี่ยวเฉา แล้วแห้งตายทั้งต้น โดยเชื้อจะเข้าทำลายส่วนโคนหรือราก แล้วไปเจริญอยู่ภายในท่อนํ้า (xylem) ก่อให้เกิดการอุดตันขึ้นกับท่อดังกล่าว ต้นแตงจะค่อยๆ เหี่ยวลงทีละน้อย โดยในตอนแรกจะเหี่ยวเฉพาะกลางวันที่อากาศร้อน และจะกลับสดอย่างเดิมในตอนกลางคืน อาการจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ใบที่เหี่ยวจะเกิดอาการไหม้และแห้งขึ้นที่บริเวณขอบ ต่อมาเนื้อใบที่เหลือจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วแห้งจนในที่สุดเมื่อเกิดการเหี่ยวอย่างถาวร พืชก็จะตายทั้งต้น โดยทั้งหมดนี้จะกินเวลาตั้งแต่ 10 – 20 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่ง แวดล้อมความรุนแรงของเชื้อชนิดและพันธุ์ของพืช ต้นที่แสดงอาการเหล่านี้เมื่อถอนขึ้นจากดินแล้วผ่าต้นออกดูจะเห็นเชื้อรา Fusarium เจริญเติบโตอุดตันอยู่ในท่อ xylem สำหรับต้นที่ตายบางครั้งจะพบแผลสีนํ้าตาลแดงเกิดขึ้นที่บริเวณโคนต้นและราก ในกรณีที่มีความชื้นสูงจะปรากฏเส้นใยและสปอร์หรือโคนีเดียของเนื้อสีชมพูเรื่อๆ ให้เห็นอยู่ทั่วไป ตามแผลดังกล่าว สำหรับรากอาจถูกทำลายจนเสียหายหมด โดยจะเห็นได้จากเมื่อถอนต้นขึ้นมารากส่วนใหญ่จะขาดหลุดติดอยู่ในดิน ที่กล่าวทั้งหมดนี้เป็นอาการที่เหมือนกันในต้นแตงเกือบทุกชนิด แต่ก็มีบางอาการที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น ในแตงแคนทาลูป เมื่อเริ่มเหี่ยว ที่ลำต้นหรือเถาอาจมีแผลเป็นเส้นขีดยาวๆ หรือเกิดเป็นแผลแยกออกพร้อมทั้งมียางเหนียวๆ สีเหลืองอ่อนซึ่งเป็นนํ้าเลี้ยงของต้นซึมออกมา เกาะติดเป็นหยดให้เห็น ในฟักทอง และสควอซ นอกจากอาการเหี่ยวและแผลที่ต้นและรากแล้วลูกหรือผลที่มีอยู่อาจถูกเชื้อเข้าทำลายด้วย ทำให้เกิดอาการเน่าเสียทั้งลูกด้วย

สาเหตุโรค : Fusarium oxysporum

เป็นเชื้อราที่แยกเป็น form species แตกต่างกันออกไปตามชนิดของแตงที่มันเข้าทำลายดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ที่ไม่ใช่ oxysporum มีชนิดเดียว คือ Fusarium solani f.sp. cucurbitae ซึ่งเป็นกับพวกแตงสควอซและฟักทอง อย่างไรก็ดี ก็เช่นเดียวกับ Fusarium spp. ทั่วๆ ไปทุกตัวในพวกนี้ก็มีลักษณะเป็นทั้งพาราไซท์และแซฟโพรไฟท์สามารถเจริญเติบโตอาศัยเกาะกินได้ทั้งบนพืชที่มีชีวิตและเศษซากพืชที่ตายแล้วการเข้าสู่พืชส่วนใหญ่จะเข้าโดยผ่านทางปลายราก (root tip) หรือไม่ก็ทางแผลที่รากหรือบริเวณโคนต้นที่ติดกับพื้นดินซึ่งเกิดจากเครื่องมือ การถอนย้ายกล้า การกัดทำลายของแมลงและไส้เดือนฝอยต่อมาก็จะเข้าไปเจริญอยู่ในท่อส่งนํ้าภายในต้นและรากแล้วก่อให้เกิดการอุดตันขึ้นกับท่อดังกล่าว เมื่อทำลายจนต้นตายแล้วก็จะสร้างส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ขึ้นซึ่งมีทั้ง microconidia ลักษณะกลมหรือกลมรี ขนาดเล็กไม่มีสี และ macroconidia รูปจันทร์เสี้ยวค่อนข้างโต มีผนังกั้นแบ่งออกเป็นเซลล์ย่อย 4-5 เซลล์ต่อหนึ่งอัน และอีกชนิดหนึ่งคือ chlamydospore ซึ่งเป็นสปอร์ที่เกิดอยู่ภายในหรือที่ปลายของเส้นใย สปอร์เหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาปะปนอยู่ตามดินหรือเศษซากพืชที่เคยเป็นโรค

สำหรับการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ทั้งสปอร์และเส้นใยโดยติดไปกับน้ำ ดิน ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดที่ได้จากพืชที่เป็นโรค หรือไม่ก็ติดปะปนไปกับเมล็ดหรือส่วนที่ใช้ทำพันธุ์ต่างๆ

เชื้อ Fusarium spp. สามารถเจริญเติบโตได้ดีในความชื้น ของดินเพียงเท่าที่ต้นแตงต้องการ แต่ไม่ชอบดินที่แฉะหรือมี ความชื้นสูง ส่วนอุณหภูมินั้นปรากฏว่าพวกนี้ค่อนข้างไวต่อระดับ หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมาก ในธรรมชาติการเข้าทำลายพืชจะเป็นไปได้ดีและรุนแรงที่อุณหภูมิของดินระหว่าง 24 – 30 ∘ซ. และจะไม่เกิดขึ้นหากอุณหภูมิของดินต่ำกว่า 15° ซ. หรือสูงกว่า 35° ซ.

การป้องกันกำจัด

เนื่องจาก Fusarium spp. เป็นพวก soil borne สามารถอาศัยเจริญอยู่ในดินได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพืช หรือ host ที่มีชีวิตเป็นเวลานาน สปอร์หรือโคนีเดียก็คงทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ยากต่อการป้องกันและกำจัดให้หมดไปได้โดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะโดยการใช้สารเคมีหรือวิธีใดๆ หากจะทำกันให้ได้ผลจริงๆ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่คุ้มกันนอกจากดินแปลงเพาะกล้าซึ่งมีเนื้อที่ไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ก็ยังมีข้อแนะนำในอันที่จะลดความเสียหายอันอาจเกิดจากโรคนี้ลงได้บ้างดังนี้

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อปะปนอยู่ หากไม่แน่ใจให้ทำการแช่หรือคลุกสารเคมีฆ่าเชื้อเสียก่อนปลูก

2. หมั่นเอาใจใส่ดูแลบำรุงพืชที่ปลูกให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ อย่าให้ขาดนํ้า หรือธาตุอาหารที่จำเป็นเพื่ไม่ให้ง่ายต่อการเกิดโรค

3. เลือกปลูกแตงโดยใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค