โรครานํ้าค้างในผัก

(downy mildew)

ราน้ำค้างจัดเป็นโรคสำคัญและพบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของพวกผัก crucifers จะพบได้ทั่วๆ ไปในทุกแห่งที่มีการปลูกพืชพวกนี้โดยเฉพาะในฤดูหรือท้องถิ่นที่มีอากาศชื้นและค่อนข้างเย็น

อาการโรค

โรคจะเกิดเป็นกับผักได้ทุกระยะการเจริญเติบโตตั้งแต่เริ่มงอกจากเมล็ดจนกระทั่งโตเป็นต้นแก่ อาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นที่ด้านใต้ใบโดยจะสังเกตเห็นกลุ่มผงสีขาวหรือเทาของสปอร์และเส้นใยของเชื้อว่าเกิดขึ้นเป็นกลุ่มๆ ต่อมาด้านหลังใบตรงที่เดียวกันก็จะเกิดแผลสีเหลืองๆ เนื่องมาจากเซลล์ตายขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด เนื้อใบตรงที่เกิดแผลจะมีลักษณะบางและมีขอบเขตไม่แน่นอน แต่ค่อนข้างจะเป็นรูปเหลี่ยมในกรณีที่เป็นรุนแรง มีแผลเกิดจำนวนมากทั่วไป อาจทำให้ทั้งใบเหลืองและแห้งตาย สำหรับในใบอ่อนหรือใบเลี้ยง เมื่อเริ่มแผลสีเหลืองขึ้นที่ด้านหลังใบใบมักจะหลุดร่วงออกจากต้นก่อนที่จะแสดงอาการมากกว่านี้ โรคในระยะกล้านี้มักจะรุนแรงทำให้ต้นโทรมอ่อนแอและอาจถึงตายได้

ในผักที่ใบห่อเป็นหัวเช่นกะหล่ำปลีและผักกาดขาวปลี อาการบนใบที่ห่อจะมีลักษณะแตกต่างไปจากใบปกติที่คลี่ คือจะเกิดเป็นแผลจุดสีดำเป็นแอ่งจมลงไปในเนื้อใบขนาดต่างๆ กัน อาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ หรือโตขนาดเหรียญบาทเช่นเดียวกันกับจำนวนแผล อาจมีเพียงไม่กี่แผลหรือเกิดขึ้นเต็มทั้งหัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและความรุนแรงของโรคขณะนั้น

บนกะหล่ำดอกและบร๊อคโคลี่นอกจากใบแล้วเชื้ออาจเข้า ทำลายส่วนของดอกหรือช่อดอก ทำให้เกิดแผลสีน้ำตาลหรือดำขึ้นที่ส่วนผิวนอกสุดเป็นหย่อมๆ หรืออาจลามคลุมหมดทั้งดอกหากเป็นมาก

สาเหตุโรค : Peronospona parasitica

เป็นราใน Class Phycomycetes ลักษณะเส้นใยเป็นท่อ ยาวไม่มีผนังกั้น เมื่อเข้าทำลายพืชจะอยู่ระหว่างเซลล์ แล้วสร้างอวัยวะที่เรียกว่า haustoria ซึ่งทำหน้าที่คล้ายรากส่งเข้าไปดูดอาหารภายในเซลล์พืช เมื่อแก่จะขยายพันธุ์โดยการสร้างโคนีเดีย (conidia) สีขาวใส ลักษณะรูปไข่ขนาดราว 16-20×20-22 ไมครอน บนก้าน conidiophore ที่มีปลายแยกออกเป็นสองแฉก (dichotomously branches) ในการงอกของโคนีเดียปกติจะงอกออกมาเป็นเส้นใย (germ tube) ส่วนการขยายพันธุ์โดยใช้เพศซึ่งมักจะพบเกิดขึ้นตอนใกล้ๆ จะสิ้นฤดูปลูก หรือเมื่อจะหมดอาหาร ก็โดยการผสมกันของ oogonium และ antheridium เป็นผลให้เกิด oospore ซึ่งมีลักษณะกลมผนังหนาคงทนต่อสภาพสิ่งแวดส้อมที่ผิดปกติได้ดี

เชื้อ Peronospora parasitica เป็น obligate parasite เจริญไต้เฉพาะบนพืชที่มีชีวิตเท่านั้นและพบว่ามีอยู่หลายraces ซึ่งแต่ละ race ก็จะมี host เชื้อนี้จะเจริญเติบโตและระบาด ทำความเสียหายรุนแรง ในขณะที่อากาศมีความชื้นสูงและอุณหภูมิต่ำ เช่นในระยะที่มีหมอกจัด ฝนปรอย หรือน้ำค้างจัด อุณหภูมิระหว่าง 16-24°ซ.

การระบาดและการเข้าทำลายพืช

การระบาดระหว่างต้นพืชส่วนใหญ่จะเกิดจากโคนีเดีย ซึ่งปลิวแพร่กระจายโดยลมหรือติดไปกับสิ่งที่เคลื่อนไหวต่างๆ ที่ไปสัมผัสถูกต้องเข้า เมื่อโคนีเดียพวกนี้ตกลงบนใบพืชและมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยภายใน 3-4 ชม. จากนั้นก็จะเข้าไปภายในใบพืชโดยผ่านทางช่องปากใบ (stomata) ก่อให้เกิดอาการโรคแล้วสร้างโคนีเดียขึ้นใหม่ได้อีกภายใน 4-5 วัน สำหรับการระบาดข้ามฤดูส่วนใหญ่ก็จะเกิดจาก oospore ซึ่งติดอยู่ตามเศษซากพืชที่หลงเหลือปล่อยทิ้งไว้ตามดินปลูก หรือติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรือจากเชื้อที่อาศัยอยู่กับต้นที่งอกขึ้นมาเองนอกฤดูปลูกหรือต้นที่ขึ้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแปลงปลูก

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อปะปนอยู่ หากไม่แน่ใจให้ทำลายเชื้อดังกล่าวโดยนำไปจุ่มแช่ในน้ำอุ่น 49 – 50°ซ. นาน 25 นาที

2. ไม่ปลูกผักชนิดเดียวกันซํ้าลงในดินที่เคยปลูกมาก่อนแล้วมีโรคเกิดขึ้นโดยใช้เวลาหมุนเวียนอย่างต่ำ 3-4 ปี

3. ควรปลูกพืชให้มีระยะระหว่างต้นห่างกันพอสมควร ไม่เบียดแน่นกันจนเกินไป

4. หลังเก็บเกี่ยวแล้วในกรณีที่มีโรคเกิดขึ้นขณะปลูกให้เก็บทำลายเศษซากพืชที่ตกหลงเหลืออยู่ตามดินให้หมด พร้อมกับต้นพืชที่งอกเองหรือที่ขึ้นอยู่ในที่ใกล้เคียงก็ไม่ควรให้มีเหลืออยู่

5. ในกรณีที่เกิดโรคขึ้นกับผักในแปลงปลูก อาจป้องกันและลดความเสียหายจากโรคลงได้โดยใช้สารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ฉีดพ่นให้กับต้นผักทุกๆ 3-5 วัน ต่อครั้ง เช่น มาเน็บ 50-70 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฟอสฟอรัสแอซิด โปรไธโอคาร์บ ข้อแนะนำในการฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าวเพื่อให้ได้ผลในการป้องกันกำจัด คือ ควรใช้เครื่องมือฉีดพ่นสารเคมี (sprayer) ที่มีกำลังอัดหรือความดันสูง เพื่อให้ละอองสารเคมีที่ออกมาละเอียดมากๆ ยิ่งหากได้ใน ลักษณะที่เป็นหมอกควันก็จะยิ่งดี เพราะจะทำให้สารเคมีที่ใช้ ครอบคลุมจับทั่วทุกส่วนของต้นพืช ยิ่งถ้าได้ผสมสารเคลือบใบลงไปด้วยก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของสารเคมีให้ดียิ่งขึ้น ในการฉีดควรกดหัวฉีดให้ต่ำขณะเดียวกันก็ให้หงายหัวฉีด สอดเข้าไปใต้ใบสลับไปด้วย เนื่องจากราน้ำค้างนั้นเมื่อเข้าทำลายแล้ว จะสร้างสปอร์เพื่อใช้ในการระบาดแพร่กระจาย อยู่ด้านใต้ของใบ สารเคมีที่ฉีดและจับอยู่เฉพาะด้านบนของใบจึงไม่อาจฆ่าทำลายหรือกันไม่ให้เชื้อระบาดได้

6. เลือกปลูกผักชนิดที่มีความต้านทานต่อโรค