โรคราสนิมขาวที่เกิดกับผัก

(white rust)

นอกจากผักกาดพวกครูซิเฟอร์แล้ว สนิมขาวยังเป็นโรคที่ เกิดเป็นกับผักอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด เป็นโรคที่นับว่าแพร่หลายและพบบ่อยอีกโรคหนึ่ง

อาการโรค

อาการบนต้นพืชที่พบเสมอ คือ ใบ กิ่งอ่อนและดอก โดยจะเริ่มจากการเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ โป่งพองนูนจากผิวปกติก่อน ต่อมาชั้นของเซลล์ epidermis ตรงจุดดังกล่าวจะเปิดแตกออกเกิดเป็นแผลลักษณะเป็นผงหรือกระจุกสีขาวคล้ายแป้งหรือฝุ่นชอล์ก ค่อนข้างกลม ขนาดไม่ใหญ่นัก ประมาณ 2-3 มม. เป็นลักษณะของแผลที่สามารถแยกความแตกต่างออกจากโรคอื่นได้อย่างง่ายในรายที่เป็นรุนแรงและสิ่งแวดล้อมเหมาะสม แผลดังกล่าวจะเกิดเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ใบจะมองเห็นจุดแผลเต็มไปหมดจนเหลือเนื้อใบอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ไม่ถูกทำลายในกรณีเช่นนี้อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ ในรูปทรงของส่วนนั้น เช่น อาจเกิดอาการหดย่นหรือบิดเบี้ยวตามมา อย่างไรก็ดี โรคนี้มักจะไม่รุนแรงถึงกับทำลายพืชให้ตายทั้งต้น แต่จะทำให้ขาดความสมบูรณ์เจริญเติบโตไม่เต็มที่ แคระแกร็น ที่สำคัญในด้านตลาดคือผักที่เป็นโรคนี้จะไม่น่าดู และทำให้ขายไม่ได้หรือราคาตก

สาเหตุโรค : Albugo Candida

เป็นราชั้นต่ำใน Class Oomycetes ที่เป็นสาเหตุของโรคในผักชนิดต่างๆ นั้น พบว่า มี race ต่างๆ แยกออกไปหลาย races โดยแต่ละ race ก็จะเลือกเข้าทำลายผักแต่ละอย่างไม่ซํ้ากัน และเป็น obligate parasite หลังจากเข้าไปสู่ภายในพืชแล้วจะไปเจริญอยู่ระหว่างเซลล์ (intercellular)ใต้ชั้น epidermis จะส่งเฉพาะส่วนที่เรียกว่า haustoria เข้าไปดูดกินอาหารจากเซลล์ เมื่อเจริญเต็มที่ก็จะสร้างสปอร์ลักษณะกลมสีขาวเกาะติดกันเป็นแนวตรงเป็นแถวๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก สปอร์เหล่านี้จะดันให้ผิวด้านใต้ใบพืชโป่งนูนขึ้นในที่สุดก็จะเปิดแตกออก ทำให้เห็นกลุ่มของสปอร์สีขาวเป็นจุดๆ ทั่วไป สปอร์จะหลุดออกจากกัน ปลิวไปตามลม แมลง นํ้า และสิ่งที่ไปสัมผัสถูกต้องมันเข้าทำให้ระบาดแพร่กระจายออกไปยังต้นใกล้เคียงหรือยังที่อื่นๆ ได้ เมื่อได้รับความชื้นพอเพียงก็จะงอกเกิดเป็นเซลล์ที่มี 2 หาง เคลื่อนไหวได้ (swarm cell) 5-7 เซลล์ เซลล์เหล่านี้จะว่ายน้ำอยู่ระยะหนึ่งแล้วจึงสลัดหางทิ้งเปลี่ยนสภาพกลายเป็นเม็ดสปอร์กลมๆ อีกครั้ง แล้วจึงจะงอกออกเป็นเส้นใยเข้าทำลายพืชต่อไป การเข้าทำลายพืชของเส้นใยที่งอกจากสปอร์นี้จะง่าย และรวดเร็วขึ้นหากต้นพืชอยู่ในระยะที่เป็นต้นกล้าหรือต้นอ่อน

การอยู่ข้ามฤดูของเชื้อจะอยู่ในลักษณะของ oospore ที่มีผนังค่อนข้างหนาซึ่งเกิดขึ้นตอนปลายฤดูปลูกหรือเมื่ออาหารเริ่มจะหมด นอกจากนั้นก็อาจอยู่ในลักษณะของเส้นใยโดยอาศัยเกาะกินอยู่บนต้นพืซที่หลงเหลือหรืองอกอยู่ตามบริเวณใกล้เคียง

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค

ความชื้นคือสิ่งจำเป็นที่ A. Candida ต้องการทั้งในการ สร้างสปอร์และการเกิดเซลล์ที่เคลื่อนไหว (swarm cell) เพื่อให้ครบวงจรชีวิตของมัน จึงพบว่าโรคนี้มักจะเกิดระบาดและทำความเสียหายรุนแรงในฤดูฝนหรือในช่วงที่หมอกน้ำค้างจัด สำหรับอุณหภูมิก็ปรากฏว่าเชื้อนี้มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ค่อนข้างไว ปกติแล้วสปอร์ของเชื้อจะงอกได้ในช่วงของอุณหภูมิตั้งแต่ 1 – 18° ซ. แต่จะดีที่สุดระหว่าง 10 – 14° ซ. ส่วนการเข้าทำลายพืชจะเกิดได้ดีระหว่าง 15.5 – 25° ซ. และดีที่สุดที่ 20° ซ.

การป้องกันกำจัด

1. เก็บทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคโดยการนำไปเผาไฟหรือฝังดินลึกๆ

2. กำจัดวัชพืชที่อาจเป็นที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อนอกฤดูปลูก อย่าให้มีหลงเหลืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือใกล้เเปลงปลูก

3. หากเป็นไปได้ควรงดปลูกพืชชนิดเดียวกันในดินที่เคยปลูกและเคยมีโรคเกิดทำความเสียหายมาก่อน โดยหาพืชอื่นมาปลูกแทนอย่างน้อย 2-3 ปี

4. ในกรณีที่มีโรคเกิดขึ้นกับพืชในแปลงให้ฉีดพ่นสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คลอรานิล (chloranil) 100 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร หรือ 1 ปี๊บ 2-3 วันต่อครั้ง มาเน็บ 48-72 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บ ทุกๆ 3-5 วัน นอกจากนี้ก็มีสารเคมีที่มีทองแดงเป็นส่วนผสมเช่นบอร์โดมิกซ์เจอร์ คูปราวิท ก็สามารถป้องกันและลดความเสียหายจากโรคนี้ได้ดี แต่มีข้อจำกัดคือ ห้ามใช้กับต้นพืชอ่อนหรือกล้าที่เพิ่งย้ายปลูก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อใบ หรือทำให้ต้นเหี่ยวเฉาตายได้