โรคใบจุดในกุหลาบและวิธีการป้องกัน

2.  โรคใบจุด (Black spot) เป็นโรคที่ผู้เลี้ยงกุหลาบรู้จักมักคุ้นมากเพราะเป็นกับกุหลาบเกือบตลอดปี  ซึ่งทำความเสียหายอย่างร้ายแรง  ใบกุหลาบที่เป็นโรคนี้  จะมีจุดวงกลมสีดำ ที่ผิวด้านบนของใบ  จุดนี้จะขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูฝน  ที่มีฝนตกสม่ำเสมอ หรือในฤดูหนาวที่มีน้ำค้างมาก ๆ ขนาดของวงอยู่ระหว่าง ½ -1 ซม. ในวงกลมนี้ ประกอบด้วยเส้นใยขนาดเล็กคล้ายขนปุย ๆ และมีก้อนสีดำเล็ก ๆ กระจายอยู่บนเส้นใยด้วย  นอกจากบนใบแล้ว  ตามก้านใบจะพบแผลวงกลมในขณะเดียวกัน ทำให้ใบเหลืองและร่วงไปในที่สุด  มีผลให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

เกิดจากเชื้อราที่เรียกว่า “ดิฟโพลคาร์พอน โรเซ วู๊ดฟ์” (Diplocarpon rosae walf) จะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ในลักษณะอากาศร้อนและชื้น  ฉะนั้นสภาพของเมืองไทยจึงช่วยให้เชื้อนี้ระบาดอย่างรวดเร็ว  โดยสปอร์ของเชื้อรา จะปลิวไปตามลมหรือการชะล้างของน้ำ หรือติดไปกับตัวแมลง

การป้องกันกำจัดที่สำคัญที่สุด จึงเป็นการกำจัดที่ต้นตอ  โดยการตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค เผาไฟให้สิ้นซาก มีโปรแกรมฉีดยาพ่นยาทุก ๆ 7 วัน  โดยเฉพาะในระหว่างที่มีอากาศชื้น ต้องพ่นยาบ่อยขึ้นอาจจะทุก 3 วัน

ยาที่ใช้ได้ผลมีหลายอย่าง เช่น คูปราวิท ไดเทน คาโดนิล แคปแทน เบนเลท และเบนโนมิลประการสุดท้าย  ควรหลีกเลี่ยงการรดน้ำให้เปียกต้นและใบ  ซึ่งนอกจากจะหลีกเลี่ยงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเชื้อราแล้ว  ยังไม่ช่วยแพร่ระบาดของเชื้อราด้วยน้ำอีกด้วย