ไก่ฟ้าหน้าเขียว

ชื่อสามัญ  Crested Fireback Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lophura ignita

ไก่ฟ้าในกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิดย่อย แต่มีเพียงชนิดเดียวที่มีในประเทศไทย

1. ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Vieillot’s Crested Fireback) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า L.i. rufa พบในป่าตั้งแต่ตอนใต้ของเทือกเขาตะนาวศรี แหลมมลายูและเกาะสุมาตรา ในประเทศไทยมีเฉพาะภาคใต้เลยคอคอดกระลงไป และเคยพบในป่าทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

2. ไก่ฟ้าบอร์เนียว (Lesser Bornean Crested Fireback) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า L.I. ignita มีลักษพะทั่ว ๆ ไปเหมือนไก่ฟ้าหน้าเขียว แต่มีอกและส่วนท้องสีแดง และขนหางเส้นบนเป็นสีเหลืองอมส้ม มีอยู่ทางตอนใต้ของเกาะบอร์เนียวและเกาะบังกา

3. Greater Bornean Grested Fireback ชื่อวิทยาศาสตร์ L.i. nobilis มีลักษณะเหมือนไก่ฟ้าบอร์เนียวทุกอย่าง แต่ตัวใหญ่กว่า พบในซาราวัคและทางเหนือของเกาะบอร์เนียว

4. Delacour’s Crested Fireback ชื่อวิทยาศาสตร์ L.i. macartnevi มีลักษณะผสมระหว่างไก่ฟ้าหน้าเขียว และไก่ฟ้าบอร์เนียว พบทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา

ไก่ฟ้าหน้าเขียวชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบที่เป็นป่าต่ำ ไม่ชอบออกหากินตามป่าโปร่งหรือที่โล่งเตียน อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ 5-6 ตัว มีตัวผู้เป็นจ่าฝูง ผสมพันธุ์ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำรังใต้พุ่มไม้เตี้ย ๆ ที่รกทึบ รองรังด้วยใบไม้ใบหญ้า วางไข่ครั้งละ 4-8 ฟอง ระยะเวลาฟักไข่ 25 วัน ตัวผู้จะมีสีครบแต่ปีแรก และเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย แต่บางครั้งจะดุมาก มักจะตีตัวเมียและคนให้อาหาร ถูกนำเข้าไปในฝรั่งเศสครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1867