ไผ่:เรือนเพาะชำไผ่จากเมล็ดที่สระแก้ว

เรื่อง:”เกษตรเจ้าคุณ 15”

เจ้าของ:คุณอนุศิษฎ์  ธำรงรัตนศิลป์

สถานที่:สวนเกษตรสายฝน 109 หมู่ที่ 4 บ้านวังน้ำฝน ต.วังใหม่ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว

ไผ่ตายขุยเมื่อปลายปี 2537 ที่ผ่านมา ทำความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกไผ่ทั่วประเทศเป็นพื้นที่กว้างขวาง จากการสำรวจข้อมูลอย่างคร่าว ๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าพื้นที่ปลูกไผ่ตงทั่วประเทศประมาณ 344,000 ไร่ จ.ปราจีนบุรีมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดและไผ่ตงเหล่านี้ได้เริ่มทยอยออกดอกตั้งแต่ปลายปี 2537 และต้นตายไปเรื่อย ๆ ทำให้เกษตรกรขาดรายได้จากการขายหน่อไผ่ตง และยังมีผลกระทบต่อธุรกิจประเภทอื่น ๆ อีก เช่น โรงงานหน่อไม้ปี๊บ โรงงานกระดาษ โรงงานตะเกียบ ไผ่ตงที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมี ไผ่ตงเขียว ไผ่ตงดำ และไผ่ตงหม้อ  ซึ่งไผ่ตงที่นำมาปลูกกันส่สยมากจะไม่ทราบอายุที่แน่นอน  และต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกก็ไม่ทราบต้นกำเนิดที่แน่ชัด  ดังนั้นการขยายพันธุ์จากต้นแม่ที่ออกดอกไปปลูกยังที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เหง้าหรือโดยวิธีการปักชำกิ่ง การตอนหรือการแยกหน่อ ฯลฯ ต้นที่ขยายไปนั้นจะออกดอกตาม ต่อมาลำไผ่จะเหลืองและตายตามในระยะเวลาเดียวกับต้นแม่

ภายหลังจากไผ่ตงออกดอกแล้วจะมีการพัฒนาของดอกกลายเป็นเมล็ด แต่เกษตรกรมักจะเผากอไผ่นั้นทิ้งหรือตัดลำขาย ทำให้ขาดเมล็ดที่จะนำมาขยายพันธุ์ ไผ่ตงที่เกิดปัญหาออกดอกตายขุยมากที่สุดคือ ไผ่ตงเขียว และการที่ไผ่ตงติดเมล็ดน้อย จึงทำให้เรือนเพาะชำต้นไม้ไม่ชอบที่จะเก็บเอาเมล็ดมาเพาะ  ยกเว้นแต่เจ้าของสวนที่มีพื้นที่ปลูกไผ่ตงเป็นจำนวนมาก  จึงจะมีจำนวนเมล็ดพันธุ์เพียงพอที่จะทำการเพาะเป็นการค้า ดังเช่น สวนไผ่แห่งหนึ่งของ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว  ซึ่งดำเนินการโดยคุณอนุศิษฏ์  ธำรงรัตสศิลป์  ที่สวนไผ่แห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ไผ่ตงเขียวที่ปลูกเริ่มออกดอกตายเมื่อปีที่แล้วธุรกิจการเพาะพันธุ์เมล็ดไผ่จึงเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2538

พื้นที่ไผ่เสียหายถึง 50 เปอร์เซ็นต์

คุณอนุศิษฎ์ได้ให้ข้อมูลความเสียหายของพื้นที่ปลูกไผ่ที่สวนไว้ว่า “ไผ่ตงเขียวที่ปลูกมีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ พบว่าไผ่เริ่มตายไปประมาณ 50℅ ทำให้ผลผลิตที่เคยได้ลดลงมาที่สวนนี้จะเน้นการทำไผ่ตงเขียวให้ออกหน่อช่วงฤดูแล้ง เคยทำรายได้เข้าสวนถึงวันละ 150,000 บาท แต่ทุกวันนี้ภายหลังเจอปัญหาดังกล่าวทำให้เก็บหน่อไม้ขายได้แค่วันละ 10,000 บาท เพราะกอไผ่ที่ออกดอกจะให้ผลผลิตต่ำมาก เป็นวิกฤตการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก” อีกทั้งไผ่ตงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  ที่มีคุณค่าทางอุตสาหกรรมหลายอย่าง  เกษตรกรก็เสี่ยงที่ได้กิ่งที่มีอายุใกล้ออกดอกไปปลูกไม่ทันได้เก็บหน่อก็ออกดอกเสียก่อน ไผ่ตงที่สวนคุณอนุศิษฏ์จะไม้เกิดการออกดอกพร้อมกันทั้งกอ แต่จะทยอยออกดอกทีละลำ หรือมากกว่าจนกว่าจะออกดอกหมดกอ

ไผ่เพาะเมล็ดเริ่มเมื่อปี 2538

ด้วยเหตุที่เกษตรกรมักจะคิดว่าไผ่ที่เพาะจากเมล็ดนั้น จะให้หน่อช้ากว่าการขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนอื่น เช่น กิ่งชำ หรือใช้ชำต้นหรือเหง้า ดังนั้นการเก็บเมล็ดไผ่มาเพาะขยายพันธุ์เพื่อขาย หรือปลูกทดแทนจึงไม่ค่อยมี  ซึ่งคุณอนุศิษฎ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สวนไผ่ที่เพาะเมล็ดพันธุ์ไผ่ตงขายรายใหญ่คงจะเป็นที่สวนนี้สวนเดียว ได้เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ไผ่ตงเขียวจากสวนเมื่อเดือนธันวาคม 2537 และเริ่มเพาะเมล็ดเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2538 โดยมีเป้าหมายเพาะเมล็ดไผ่ให้ได้จำนวน 2 ล้านต้นภายในปีนี้”

รับรองไผ่เพาะเมล็ดไม่กลายพันธุ์

“เนื่องจากสวนไผ่แห่งนี้มีพื้นที่ปลูกไผ่ตงเขียวเป็นแปลงใหญ่ขนาด 1,000 ไร่  โดยไม่มีพันธุ์อื่นปะปนจึงทำให้มีแหล่งพันธุ์ไผ่ตงเขียวเป็นชนิดเดียวกันหมด  การกลายพันธุ์เนื่องจากละอองเกสรจากไผ่ชนิดอื่นมาผสมจึงไม่เกิดขึ้น” คุณอนุศิษฎ์ ได้กล่าวรับรองการไม่กลายพันธุ์ของไผ่ตงเขียวเพาะเมล็ดเมื่อนำเอาไปปลูก

เพาะเมล็ดไผ่ตงอย่างไร

ปรากฎการณ์ที่ไผ่ออกดอกตายไม่เคยร้ายแรงเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา ดังนั้นประสบการณ์การเพาะเมล็ดไผ่นั้น คุณอนุศิษฏ์ได้กล่าวว่า “เริ่มเรียนรู้วิธีการเพาะเมล็ดเมื่อต้นปีนี้เอง”

โดยมีคำแนะนำในการเพาะเมล็ดไผ่ตงเขียวดังนี้

วิธีเก็บเมล็ดไผ่ตงเขียวควรเลือกเก็บเมล็ดให้ถูกจังหวะเพื่อป้องกันเชื้อราที่จะติดมากับเมล็ด การเก็บเมล็ดในช่วงหน้าแล้งหรือหน้าหนาวจะดีที่สุด วิธีการเก็บเมล็ดควรเก็บโดยตรงจากลำต้น  เมื่อใช้มือบีบเมล็ดจะเป็นไต่แข็ง ๆ คล้ายเมล็ดข้าวเมล็ด ไผ่ตงที่สมบูรณ์จะอ้วนใหญ่กว่าเมล็ดข้าว

นำเมล็ดที่ได้มาตากให้แห้งมีความชื้นเหลือไม่เกิน 14℅ ขั้นตอนการเก็บรักษาให้ผสมผงทัลคัมหรือผงแป้ง คลุกลงไปกับเมล็ดเพื่อลดความชื้น แล้วนำเก็บในถุงปุ๋ยธรรมดาจะสามารถเก็บได้นาน 6 เดือน

วิธีการเพาะเมล็ดมีอยู่ 2 วิธี คือ เพาะทั้งเปลือก และเอาเปลือกออกก่อนแล้วค่อยเพาะ  ซึ่งวิธีการหลังจากผลที่ได้ทำมาพบว่าไผ่มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงกว่าวิธีแรก

วัสดุเพาะที่ใช้เพาะกล้าเป็นแกลบดำผสมกับแกลบดิน บรรจุในถุงเพาะขนาด 14 นิ้ว ที่พับปากถุงโดยกล้าที่จะนำเอามาลงในถุงเพาะควรจะผ่านการแช่น้ำจนเมล็ดงอกรากสีขาวก่อน  จึงค่อยเอาลงในถุงเพาะกล้า  โดยหว่านลงในถุงเพาะกล้าประมาณ 100 เมล็ด ซึ่งไผ่ที่สวนนี้จะมีเปอร์เซ็นต์การงอก ประมาณ 30-40℅ จึงจำเป็นจะต้องมีแหล่งเมล็ดพันธุ์จำนวนมาก  และการเพาะเมล็ดควรจะเริ่มตั้งแต่ฤดูแล้ง  เพร่าหน้าฝนการเพาะจะทำได้ลำบาก

ประมาณ 45 วัน ก็ย้ายกล้าลงถุงดำ  ซึ่งมีวัสดุปลูกประกอบด้วยแกลบดำ:แกลบเก่า:ดิน อัตราส่วน 25℅: 25℅: 50℅จะทำให้การระบายน้ำได้ดี  เวลาปลูกให้ปลูกทั้งเมล็ดลึกประมาณ 1-2 นิ้ว แล้วแต่ความยาวของต้นกล้า กล้าที่ย้ายต้องอยู่ในที่ร่มหรือใต้ตาข่ายพรางแสง

จนกล้าไผ่อายุได้ 60-70 วัน หลังจากเพาะเมล็ด ก็สามารถที่จะเปิดตาข่ายพรางแสงให้รับแสงแดดได้จนกระทั่งไผ่อายุได้ประมาณ 100 วัน จนสูงถึง 50 เซนติเมตร ก็สามารถจะนำออกจำหน่ายเพื่อปลูกในพื้นที่ต่อไป

ไผ่เพาะเมล็ดกับไผ่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ด้วยเหตุที่ไผ่ตงจะมีการติดเมล็ดน้อยเกษตรกรที่จะเพาะเมล็ดไผ่ตงขาย จำเป็นจะต้องมีแหล่งต้นไผ่ออกดอกจำนวนมาก  จึงจะมีเมล็ดเพียงพอ ดังนั้นเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มปริมาณต้นให้มากตามความต้องการจึงถูกนำมาใช้ คุณอนุศิษฏ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการทดลองเปรียบเทียบดูพบว่า ไผ่เพาะเมล็ดจะทำได้ง่าย และเจริญได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับไผ่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  อีกทั้งต้นทุนไผ่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อราคาต้นทุนจะแพงประมาณ 6 บาท แต่ไผ่เพาะเมล็ดต้นทุนประมาณ 3 บาท ราคาขายของไผ่เพาะเมล็ดจะคิดตามขนาดความสูงของต้นคื สูง 30 เซนติเมตร จะขาย 6-7 บาท สูง 50 เซนติเมตร ขาย 8-10 บาท ซึ่งราคาของไผ่เพาะเมล็ด เมื่อเทียบกับไผ่ที่ได้จากการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น เช่น ชำกิ่ง ราคาก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่”

ความต้องการปลูกไผ่ของเกษตรกร

เกษตรกรที่ทำสวนไผ่บางสวนขณะนี้ ได้เริ่มมองหาไม้ผลชนิดอื่นที่จะเข้ามาทดแทนไผ่ตง  ซึ่งความต้องการที่จะปลูกไผ่ตงต่อไปหรือไม่นั้น คุณอนุศิษฏ์ได้กล่าว่า “ในขณะนี้เกษตรกรยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรดี คงจะต้องรอดูนโยบายของภาครัฐก่อนว่าจะสนับสนุนหรือส่งเสริมอย่างไร ทำให้มีผลกระทบต่อลูกค้าจากต่างประเทสที่เข้ามาสั่งหน่อไม้  เพราะจากการประชุมเรื่องปัญหาไผ่ที่ผ่านมา  พ่อค้าที่รับออร์เดอร์หน่อไม้จากต่างประเทศไม่กล้าจะรับออร์เดอร์ เนื่องจากยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  อาจจะทำให้ลูกค้าต่างประเทศบางประเทศหันไปซื้อหน่อไม้จากประเทศ่จีนก็ได้”

ความต้องการปลูกไผ่ตงของเกษตรกรจะเป็นอย่างไรนั้น คุณชิงชัย  เพชรพิรุณ  นักวิชาการเกษตรประจำสนง.เกษตรจังหวัดสระแก้ว ได้เปิดเผยว่า “ถึงแม้ไผ่จะเกิดการตายมาก แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่ปลูกไผ่ก็ยังมีความต้องการที่จะปลูกไผ่ต่อไป คาดว่าเกษตรกรจะมีความต้องการไผ่มากกว่า 2 ล้านต้น สำหรับไผ่ที่ได้จากการเพาะเมล็ดเกษตรกรสามารถที่จะเก็บหน่อขายได้ภายใน 3 ปี แต่หน่อที่ได้จะยังมีขนาดเล็ก  ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับโรงงานผลิตหน่อไม้กระป๋อง สถานการณ์ปัญหาไผ่ในครั้งนี้คาดว่าอีก 4 ปี ข้างหน้าการผลิตน่าจะกลับคืนเหมือนเดิม”

เริ่มต้นปลูกไผ่เพาะเมล็ดอย่างไร

ไผ่ที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีการแตกหน่อออกมา  เกษตรกรที่นำไปปลูกสามารถที่จะแยกหน่อได้ แต่ต้องรอให้มีจำนวนรากมากพอ แล้วใช้มีดที่คมตัดแยก  พื้นที่ปลูกไผ่นั้นจะต้องมีการระบายน้ำดี  การปลูกลงหลุมแรก ๆ ไม่ต้องรองก้นหลุม ควรจะรอให้รากไผ่เดินเต็มที่ก่อนแล้วค่อยใส่ปุ๋ย เช่นสูตร 15-15-15 แต่ในระยะยาวแล้วอยากจะแนะนำให้ใส่ปุ๋ยดินหมักจะดีกว่า  ซึ่งปุ๋ยดินหมักนี้มีส่วนผสมของปุ๋ยคอก 25℅+ แกลบดำและแกลบธรรมดา 25℅+ดินในสวนไผ่ 50℅

ไผ่ตงเขียวที่ได้จากการเพาะเมล็ดคงจะช่วยให้เกษตรกรที่คิดจะปลูกไผ่มีทางออกมากขึ้น นอกจากไผ่ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่กรมส่งเสริมฯเร่งดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไผ่ที่ได้จากการขยายพันธุ์โดยวิธีใดก็ตาม  เกษตรกรคงจะต้องรอประมาณ 3 ปีไผ่ที่ปลูกจึงจะเริ่มให้ผลผลิตได้