เรือนเพาะชำไม้ดอกไม้ประดับ

เรือนเพาะชำ (Nursery) เป็นสถานที่ที่ใช้เพื่อดูแลรักษาไม้อ่อน กิ่งตอน กิ่งชำ ของไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ ที่จะต้องปลูก เพาะขยายพันธุ์และต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ เรือนเพาะชำมีประโยชน์ต่อการปลูกพืชหลายประการ เช่น

1. เป็นสถานที่เพาะเมล็ดและปักชำ และเพาะเลี้ยงไม้อ่อน

2. เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงพันธุ์ไม้ที่ต้องการความชื้นสูง แต่ต้องการแสงแดดแต่พอควร เช่น หน้าวัว กล้วยไม้ ดาดตะกั่ว เฟิร์น เป็นต้น

3. เป็นที่เก็บรักษาพันธุ์ไม้ให้ปลอดภัยจากสัตว์ทำลาย

4. เป็นที่รวมพันธุ์ไม้ และเพื่อการพักฟื้นพันธุ์ไม้ที่นำมาใหม่

5. เป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์ เครื่องมือและอุปกรณ์การปลูกพืช หรือจัดเป็นที่โชว์สินค้า

การสร้างเรือนเพาะชำ

1. สถานที่ ควรเป็นบริเวณที่นํ้าไม่ท่วม ใกล้แหล่งนํ้าดินระบายน้ำดี แสงแดดส่องทั่วถึง ไม่ควรอยู่ใต้ร่มต้นไม้ใหญ่ เพราะทำให้มืดครึ้ม

2. ขนาดของเรือนเพาะชำ ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและความต้องการของเจ้าของ เช่น 6-7 เมตรหรือ 6×10 เมตร โตหรือเล็กกว่านี้ก็ได้ ขนาดของความสูงอยู่ระหว่าง 2.5-3 เมตร

3. วัสดุที่ใช้ทำเรือนเพาะชำ อาจใช้วัสดุได้หลายอย่างเช่น ไม้กลมสำหรับทำเสาคาน หลังคา ประตู ใช้ไม้ไผ่กลม ๆ ตีเป็นหลังคาและฝาห่างกัน 1 นิ้ว และอาจจะใช้ทางมะพร้าวกั้นด้านข้าง หรือวางบนหลังคาเพื่อพรางแสงให้มากน้อยตามต้องการ ถ้าจะทำให้ถาวรควรใช้เสาไม้หรือเสาปูน หลังคาและด้านข้างมุงด้วยไม้ระแนงเนื้อแข็งวางห่างกัน 1 นิ้ว ถ้าจะเพาะชำไม้อ่อนหรือไม้ที่ต้องการแสงน้อย อาจตีระแนงเป็น 2 ชั้นโดยตีไม้ระแนงให้ยาวไปทางทิศเหนือ-ใต้

4. ภายในเรือนชำควรขุดดินให้ลึก 6 นิ้ว ย่อยดินแล้วใช้ขี้เถ้าแกลบ ทราย อัดลง บนพื้นเพื่อช่วยเก็บความชื้นบางคนอาจใช้อิฐ อิฐหักปูทับเพื่อวางกระถาง หรือทำเป็นทางเดิน

5. ควรสร้างกะบะสำหรับเพาะและชำไว้หลาย ๆอัน โดยใช้อิฐก่อเป็นขอบกะบะสูงขึ้นมา 1 ฟุต กว้าง 60 ซ.ม. ยาวตามชอบ ข้างในใส่ทราย ขี้เถ้าแกลบ หรือผสมขี้เถ้าและทราย แล้วแต่วัตถุประสงค์ของงาน

การเพาะเลี้ยงไม้ดอกและไม้ประดับ

ก. ประโยชน์ของไม้ดอกไม้ประดับ

1. ทำเป็นงานอดิเรก เพื่อความสวยงาม ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และอาจได้เงินบ้างเล็กน้อย

2. เป็นการออกกำลังกาย จึงเหมาะสำหรับคนที่ทำงานมาเครียด ๆ และเพิ่มพูนสุขภาพจิต

3. กระจายแรงงานให้สมาชิกในครอบครัว

4. เป็นอาชีพหลักและเป็นรายได้ของครอบครัวเช่นการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ การสร้างเรือนเพาะชำเป็นการค้า

5. เพื่อสงวนทรัพยากรธรรมชาติ และความสุขอันยาวนาน

6. เป็นงานที่เข้าได้กับคนทุกชั้นทุกอาชีพ ทุกเพศและทุกวัย และทุกระดับการศึกษา

ข. ประเภทของไม้ดอกและไม้ประดับ อาจแบ่งได้หลายลักษณะเช่น

1. ไม้ในร่ม เช่น บอน สาวน้อยประแป้ง หน้าวัว กำมะหยี่ ดาดตะกั่ว ฯลฯ

2. ไม้กลางแจ้ง อันได้เเก่ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถา และไม้ดอกเช่น หางนกยูง ราชพฤกษ์ ตะแบก ชวนชม ทองอุไร กุหลาบ ชะบา ยี่โถ กระเทียมเถา การะเวก บานบุรี เฟื่องฟ้า ดาวเรือง หงอนไก่ บานชื่น เบญจมาศ ฯลฯ

3. ไม้น้ำ เช่น บัวต่าง ๆ กกลังกา กกอิยิปต์ ฯลฯ

4. ไม้ใช้ดอกประดับ เช่น กุหลาบ บัว เยอร์บีร่า ฯลฯ

5. ไม้ใช้ใบ ( ลำต้น) ประดับ เช่น บอน โกศล ยางอินเดีย เฟิร์น ปาล์มต่าง ๆ หญ้าสนาม ฯลฯ

6. ไม้ใช้ดอกและใบประดับ เช่น กล้วยไม้ ว่านสี่ทิศ พวงแสด กัลปพฤกษ์ ชะบา ฯลฯ

7. พืชผักทำเป็นไม้ประดับ เช่น กะหล่ำปลีประดับ พริก กุเหล่ ฯลฯ

8. ไม้ผลทำเป็นไม้ประดับ เช่น มะพร้าวต้นเตี้ยลูกกองดิน ฝรั่งลูกใหญ่ (เวียตนาม ) ทับทิม ฯลฯ

ค. การเริ่มต้นเล่นไม้ดอกไม้ประดับ อาจเริ่มโดยการขอจากมิตรสหาย ซื้อจาก เพื่อนฝูงหรือแหล่งอื่น และในที่สุดก็มีเรือนเพาะชำเพื่อขยายพันธุ์เอง

ง. อุปกรณ์ที่ใช้ ในการเพาะเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับ

1. ดินและเครื่องปลูก อาจเป็นดินร่วน ทราย ขี้เถ้าแกลบ ใบไม้ผุๆ กาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว ออสมันด้า มอสส์ เปลือกไม้ อิฐหัก ถ่าน กระเช้า สีดา ฯลฯ ส่วนผสมสำหรับปลูกพืชทั่ว ๆ ไป คือ ดินร่วน 1 ส่วน ใบไม้ผุ 1 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน

2. ปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ไม้อ่อนใช้สูตร 30-10-10 หรือ 10- 5-5 ไม้ดอกใช้สูตร 5-10-5 ไม้ทั่วๆ ไปใช้สูตร 20-20-20

3. ยากำจัดโรครา และแมลง และอุปกรณ์พ่นยา

4. กระถางแบบต่าง ๆ พร้อมเหล็กห้อยกระถาง

5. ถุงพลาสติคแบบใส และแบบสีดำหนา

6. มีดติดตา มีดตัดโฟม กรรไกรตัดแต่งกิ่ง

7. บัว คราด ซ่อม พรวน จอบ ฯลฯ

จ. การปลูกไม้ดอกในแปลง เราควรเพาะเป็นต้นกล้าเสียก่อน แต่บางชนิดอาจ

จะหว่านโดยตรง การเตรียมดินและยกแปลงทำเหมือนกับแปลงปลูกผัก กล้าไม้ดอกควรมีใบ 2-3 ใบ ขุดดินให้เป็นหลุมแล้วปลูก กลบดินให้เเน่น รดน้ำทำ เพิงกันแดดไว้ 3-4 วัน

ฉ. การปลูกไม้ในกระถาง เลือกหากระถางดินเผาขนาดปากกว้างตามต้องการ(6,8 หรือ 10 นิ้ว) นำกระถางไปแช่นํ้าก่อนปลูก 1 ชั่วโมง แล้วทุบอิฐหักเป็น ก้อน ๆ รองก้นกระถาง 1 นิ้ว ผสมดินกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก (2:1) หรือ ดิน:ใบไม้ผุ: ปุ๋ยหมัก เท่ากับ 1:1:1 ใส่ลงในกระถางเกือบเต็ม (ให้ดินต่ำกว่า ขอบกระถาง ครึ่ง – 1 นิ้ว) แล้วจึงนำต้นกล้า กิ่งตอน หน่อตัดแยก หรือกิ่งชำมาปลูก จัดให้โคนต้นกล้าเสมอผิวดิน กดดินให้แน่นพอควร ทำไม้หลักยึดต้นกล้าหรือกิ่งตอนไว้รดน้ำและพักไว้ ในที่ร่มในเรือนเพาะชำ บางครั้งเราอาจ ใช้ถุงพลาสติคคลุมทั้งกระถางเพื่อช่วยรักษาความชื้น เช่นในกรณีของการตัดแยก กอ หรือการชำกิ่งตอน

นอกจากนี้บางคนอาจจะปลูกไม้ประดับไว้ในขวด ในอ่างเลี้ยงปลา ในขวดโหล หรือในเครื่องปั้นดินเผาอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประดับอาคารสถานที่ได้งดงามดี

ช. การขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ

1. เพาะเมล็ด แล้วปลูกโดยใช้ต้นกล้า เช่นกล้วยไม้ ไม้ดอก ปาล์มขวด ฯลฯ

2. ขยายพันธุ์โดยการปักชำใบเช่น กุหลาบหิน ลิ้นมังกร บีโกเนีย และปักชำกิ่ง เช่นโกสน ชะบา กุหลาบ มะลิ เบญจมาศ ยางอินเดีย ซองอ๊อฟอินเดีย ฯลฯ

3. ขยายพันธุ์ด้วยราก เหง้า และหัว เช่น พลูต่าง ๆ หอม รักเร่ ว่าน บอน แคแสด สาเก

4. ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ เช่น หมากแดง ขิง กล้วย บอน ว่านต่าง ๆ (เสน่ห์จันทร์แดง เสน่ห์จันทร์ขาว)

5. ขยายพันธุ์โดยการตอน เช่น กุหลาบ มะลิ สังกะระณี

6. ขยายพันธุ์โดยการติดตา เช่น กุหลาบ ไม้ผลต่าง ๆ

7. ขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง เสียบกิ่ง เช่นไม้ใบและไม้ดอกหลายชนิด

ซ. สรุปวิธีการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับบางชนิด

กุหลาบ                           –        ตอน ติดตา เพาะเมล็ด

เข็มต่าง ๆ                       –        ตอน ปักชำ เพาะเมล็ด

คำแสด                           –        เพาะเมล็ด

จำปี จำปา                       –        ตอน

ชะบา พู่เรือหงษ์              –        ตอน ปักชำ

ชวนชม                          –        ตอน ปักชำ เพาะเมล็ด

ทองอุไร                          –        เพาะเมล็ด

ดอนย่า (ใบต่างดอก)       –        ตอน ปักชำ

ผกากรอง                                –           เพาะเมล็ด ตอน ปักชำ

แพงพวยฝรั่ง                          –           เพาะเมล็ด

พุทธรักษา                             –           แยกหน่อ เพาะเมล็ด

มะลิ                                        –           ตอน ตัดกิ่งปักชำ

ยี่โถ                                         –           ตอน ปักชำ เพาะเมล็ด

ราตรี                                       –           ตอน ปักชำ

ลั่นทม                         –           ปักชำ เพาะเมล็ด

ศรีตรัง                                    –           เพาะเมล็ด

หางนกยูง                               –           เพาะเมล็ด

บานบุรี                                   –           ปักชำ ตอน

เฟื่องฟ้า                                  –           ปักชำ เพาะเมล็ด

ยางอินเดีย                              –           ปักชำ

โกศล                                      –           ปักชำ ตอน

หมากผู้หมากเมีย                  –           ตอน ตัดกิ่งปักชำ เพาะเมล็ด

หนาวัว                                   –           ตัดต้นที่มีรากไปปลูก

หนุมาณประสานกาย           –           ตอน ปักชำ เพาะเมล็ด

(ดันสงกะระณี)

เสน่ห์จันทร์ขาว-แดง           –           แยกหน่อ ปักชำเหง้า

มรกตดำ มรกตแดง              –           แยกหน่อ ตัดชำต้นและเหง้า

วาสนา                                    –           ตัดชำลำต้น

ว่านนางพญาหงศาวดี           –           ตัดชำลำต้น

หมากแดง                              –           แยกหน่อไปปักชำ

เสลดพังพอน             –           ปักชำ

ลิ้นกระบือ                             –           ปักชำ ตอน

ซองออฟอินเดีย                     –           ปักชำ

ปาล์มบังสูรย์             –           เพาะเมล็ด

กล้วยไม้                                 –           เพาะเมล็ด ตัดแยก ตัดชำ

การปลูกไม้ดอกและไม้ประดับบางชนิด

1. เบญจมาศ ในขณะนี้เบญจมาศเป็นไม้ดอกที่นิยมกันมาก เพราะหาพันธุ์ได้ง่าย ขยายพันธุ์ได้เร็ว ปลูกง่าย ดูแลตามปรกติแต่ราคาสูง

การปลูก

1. ยกร่อง เตรียมดินเป็นแปลงขนาด 90-100 ซ.ม. ยาวตามชอบ

2. ดินควรเป็นดินร่วนปนทราย

3. ใส่ปุ๋ยคอก 1/2-1 ปีบ/แปลง ในขณะเตรียมดิน

4. ปลูกด้วยหน่อ หรือยอดหรือลำต้นที่ตัดชำไว้แล้ว ให้ห่างกันระหว่าง่ต้นXระหว่างแถว=25×30 ซ.ม.

5. รดน้ำให้ชุ่มหลังปลูก

6. ทำเพิงกันแดดและฝนไว้ 4-5 วัน ปิดด้วยใบมะพร้าวขณะแดดร้อนจัด กลางคืนเปิดให้ถูกน้ำค้าง

7. ใช้ขี้เลื่อย หรือฟางเก่าเป็นวัตถุคลุมดิน

8. ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ที่ผุแล้ว เมื่อต้นเบญจมาศตั้งตัวแข็งแรงแล้ว

9. ถ้ามีเพลี้ยและแมลงรบกวนใช้ยาอะโซดริน เซฟวิน 85 หรือแลนเนท ถ้ามีโรครารบกวน ฉีดพ่นด้วยยาไดโฟลาแทน คูปราวิท แคปแตน หรือยาอื่น ๆ

10. เด็ดยอดออก เลี้ยงกิ่งแข็งแรงไว้คนละ 3-4 กิ่ง เพื่อให้กิ่งยาว

11. ปลิดดอกเล็ก ๆ ดอกข้าง ๆ ออกให้หมดให้เหลือดอกยอดกิ่งละดอก

12. ตัดดอกเมื่อบานปานกลาง ตัดให้ก้านยาวได้มากยิ่งขายดี

2. เยอร์บีร่า เยอร์บีร่ามีหลายสี หาพันธุ์ได้ง่ายปลูกง่าย ขยายพันธุ์เร็ว ราคาดี การเตรียมดิน ทำเหมือน ๆ กับการปลูกเบญจมาศ ปลูกด้วยหน่อ หรือแขนงที่แยกไว้ ใช้ระยะ 20×25 ซ.ม. รดน้ำให้ชุ่มหลังปลูก ทำเพิงกันแดดจนตั้งตัวได้ ปราบวัชพืช(ถอนหญ้า) พรวนดินใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเดือนละครั้ง

3. กุหลาบ เตรียมดินโดยการยกร่องหรือจะปลูกลงไปในแปลงเลยก็ได้ อาจปลูก โดยใช้กิ่งตอน หรือจะปลูกกุหลาบพื้นเมือง(กุหลาบมอญ) ขึ้นมาก่อนใช้ระยะ 70×80-100 ซ.ม. แล้วจึงทำการติดตาบนกิ่งกุหลาบพื้นเมือง กิ่งตอนที่ซื้อมาควรคลี่เชือกมัดรากออก แล้วชำในทรายผสมขี้เถ้าแกลบหรือขี้เถ้าแกลบผสมดินร่วน หรือขี้เถ้าแกลบอย่างเดียว 6-7 วัน เพื่อเร่งรากให้ยาวขึ้น แล้วจึงนำไปปลูกในหลุม ควรหาปุ๋ยคอกมาใส่ในหลุมด้วยโดยคลุกเคล้าให้เข้ากันดี เมื่อกุหลาบคงตัวแล้วควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์บ้าง ถ้าท่านจะทำให้กุหลาบในกระถางมีหลายสีก็ทำได้งาย โดยการติดตา ใช้ตาของดอกกุหลาบสีต่าง ๆ มาติดบนต้นอัดในกระถาง ท่านก็จะได้กุหลาบต้นเดียวมีสีแดง ขาว ชมพู เหลือง สวยงามมาก

4. รักเร่ รักเร่ให้ดอกสวยมีหลายสี ขยายพันธุ์ง่าย จึงมีผู้นิยมปลูกกันมาก รักเร่ ปลูกได้ตลอดปี แต่ควรปลูกเมื่อเริ่มฤดูฝน หรือระยะที่มีอากาศหนาว

รักเร่ขยายพันธุ์ด้วยหัว ซึ่งเก็บไปหมักไว้ในขี้เถ้าแกลบ หรือทรายแห้ง ๆ เมื่อต้นโทรมแล้ว เมึ่อจะนำไปปลูกก็ชำในทรายและรดน้ำให้ชุ่มจนกระทั่งมีหน่อผลิออกมา นอกจากนั้น เราอาจใช้เเขนง หรือยอดที่อวบ ๆ ตัดมาชำในทราย ขี้เลื่อย ขี้เถ้าแกลบ จนออกรากแล้วนำไปปลูก

รักเร่ชอบดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุมาก และอาจใช้ดินผสมดังนี้ คือ ดิน 2 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และทราย 1/2 ส่วน ก็ได้ เราจะปลูกรักเร่ลงในแปลง หรือปลูกในกระถางก็ได้ ถ้าใช้กระถางควรใช้กระถางปากกว้าง 8 นิ้วขึ้นไป นำหัวที่แตกยอด หรือกิ่งชำที่มีรากแล้วลงปลูกตรงกลาง ควรปักไม้ยึดลำต้นไว้ด้วย และในระยะแรก ๆ ควรวางไว้ในเรือนเพาะชำ หรือที่ร่ม ๆ ก่อน พอเห็นว่ารักเร่ตั้งตัวได้แล้วจึงค่อยให้ถูกแดดมากขึ้น

รักเร่เป็นไม้ที่บอบบาง ต้องรดน้ำให้พอดีอย่าให้แฉะเกินไป อย่าปลูกไว้ในที่ลมโกรกแรงเกินไป และควรมีหลักปักยึดลำต้นไว้หลาย ๆ แห่ง หมั่นตรวจตรา กำจัดแมลงโดยใช้น้ำยาฉุน นํ้าโล่ติ๊นหรือยาฆ่าแมลงอื่น ๆ พยายามตัดแต่งกิ่งที่มีมากเกินไป ให้เหลือแขนงไว้แต่น้อยเพื่อไม่ให้แย่งอาหาร และควรใส่บำรุงโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยคอกผสมยูเรีย หรือ แอมโมเนียมซัลเฟต และอาจจะใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 2 อย่างที่กล่าวนี้ 1-2 ช้อนแกงละลายน้ำ 1 ปีบ รดเพื่อเร่งความเจริญเติบโตบ้างก็ได้