ไรขาว:ไรขาวศัตรูสำคัญของส้มโอ

เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์

สำรวจพบการทำลายของไรขาวพริกในโรงเรือนกระจกที่ปลูกส้มและตามแหล่งปลูกส้มโอที่มีทรงพุ่มแน่นทึบที่จ.นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม ชัยนาทและพิจิตร

ส้มโอ เป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่จัดว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2530 มีมูลค่าการส่งออก 64.4 ล้านบาท พื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 2 ของไม้ผลตระกูลส้มคือประมาณ 80,000 ไร่รองจากส้มเขียวหวาน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอมีรายได้ดี แต่การผลิตส้มโอนั้นเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีแมลงศัตรูหลายชนิดด้วยกันเช่น หนอนชอนใบ หนอนม้วนใบ เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง นอกจากนี้ยังมีไรขาว ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญอีกชนิดหนึ่งด้วย

ชีวประวัติ

ไรขาวชนิดนี้มีชื่อสามัญว่าไรขาวพริก (broad mite) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Polyphagotarsonemus latus (Banks) มีรูปร่างลักษณะต่างๆดังนี้

ตัวเมีย มีรูปร่างเป็นรูปไข่ ผิวของลำตัวใสเป็นมันคล้ายหยดน้ำมัน ด้านหลังจะมีแถบสีขาวคล้ายโบว์พาดอยู่กลางลำตัวจนถึงส่วนท้าย เมื่อโตเต็มที่จะมีสีเหลืองอำพัน กว้างเฉลี่ย 0.111 มม. ยาวเฉลี่ย 0.195 มม.

ตัวผู้ มีรูปร่างเล็กเรียวและแคบกว่าเพศเมีย ส่วนท้ายลำตัวทำหน้าที่แบกดักแด้ตัวเมีย จะเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขาคู่ที่ 4 ใหญ่และแข็งแรงกว่าขาคู่อื่นๆ ใช้จับช้อนดักแด้ไว้ส่วนท้ายลำตัวกว้างเฉลี่ย 0.078 มม. ยาวเฉลี่ย 0.174 มม.

วงจรชีวิต

ไรขาวพริกมีวงจรชีวิตสั้นจากระยะไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัยกินเวลานาน 4-5 วัน การผสมพันธุ์เริ่มเมื่อตัวผู้หลังจากลอกคราบแล้วจะเดินไปเรื่อยๆ เมื่อพบดักแด้ตัวเมียจะรีบใช้ขาคู่หลังสุดช้อนดักแด้ขึ้นไว้ส่วนท้ายของลำตัว แล้วจะพาเดินไปยังบริเวณใหม่อยู่เสมอโดยเฉพาะยอดอ่อน เมื่อดักแด้ลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัยจะเข้าผสมพันธุ์ทันที หลังจากผสมพันธุ์ 1-2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ทีละฟอง ไข่ที่วางได้เฉลี่ย 32 ฟองต่อตัวเมีย 1 ตัว และตัวเมียมีชีวิตอยู่ได้นานเฉลี่ย 12 วัน

ลักษณะการทำลาย

ไรชนิดนี้มีอวัยวะส่วนปากไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้มันดูดกินเฉพาะใบอ่อนและผลอ่อนเท่านั้น ส่วนมากมันจะดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ด้านใต้ใบ หากการทำลายรุนแรงทำให้ขอบใบส้มโอม้วนลง ใบเรียวเล็ก ใบมีสีเหลืองเข้ม ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ส่วนการทำลายที่ผลนั้นเริ่มตั้งแต่ส้มโอติดผลเรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งผลมีอายุประมาณ 2 เดือน มันจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ผล หากการทำลายรุนแรงทำให้ผลได้รับความเสียหายทั้งผล โดยอาการที่เกิดขึ้นหลังการดูดกินนั้น ผิวส้มเป็นแผลสีเทาเมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายขนาด 10 เท่าจะพบเป็นร่างแหเต็มไปหมดทั้งผล ทำให้ต้องปลิดทิ้งเพราะว่าไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ส่วนผลที่ถูกดูดกินเป็นบางส่วนสามารถเจริญเติบโตได้ แต่พบว่ามีเปลือกหนา เนื้อน้อยมาก มีน้ำหนักเบา ต้องปลิดทิ้ง

ฤดูกาลระบาด

ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์เป็นระยะที่ส้มปีออกดอกและติดผลจะพบความเสียหายที่เกิดจากไรชนิดนี้มาก ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และกันยายน-ตุลาคมเป็นระยะที่ส้มทะวายออกดอกและติดผล พบเสียหายด้วย สำรวจพบการทำลายของไรขาวพริกในโรงเรือนกระจกที่ปลูกส้มและตามแหล่งปลูกส้มโอที่มีทรงพุ่มแน่นทึบที่ จ.นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม ชัยนาท และพิจิตร

การป้องกันกำจัด

โดยเฉพาะในแหล่งที่มีการระบาด มีข้อปฏิบัติดังนี้

1.  หมั้นแต่งกิ่งให้โปร่ง เนื่องจากพบการระบาดของไรขาวพริกในต้นส้มโอที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ

2.  หมั่นตรวจดูผลอ่อน  โดยใช้แว่นขยายขนาด 10 เท่า เมื่อพบไรขาวพริกดูดกินน้ำเลี้ยง หรือปลิดผลอ่อนส่องดูกับแดด หากพบว่ามีจุดขาวคล้ายหยดน้ำมันเคลื่อนที่ไปมาให้เตรียมวางแผนการป้องกันกำจัด

3.  เมื่อไรขาวพริกเริ่มระบาดให้พ่นด้วยสารกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น

–  อะมีทราส (20℅ ชนิดน้ำ)อัตรา 40 มล.ต่อน้ำ 20 ลิตร

–  อะบาเมคติน (1.8℅ชนิดน้ำ) อัตรา 20 มล. ต่อน้ำ 20 ลิตร

–  กำมะถันผง (80℅ชนิดผง)อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร(สารนี้ไม่ควรพ่นในเวลากลางวันที่มีแดดจัด) โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น เมื่อสำรวจพบว่ายังมีไรขาวพริกระบาดอยู่ให้พ่นกำจัดไรอีกครั้งหนึ่ง โดยทิ้งระยะห่าง 5 วัน

เนื่องจากไรขาวพริกเป็นศัตรูที่มีขนาดเล็กมากและเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับมัน กว่าจะรู้ว่าส้มโอนั้นถูกมันทำลายโดยที่มีลักษณะอาการปรากฎที่ผลส้มก็สายไปเสียแล้ว จากข้อมูลเบื้องต้นนี้พอจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในการวางแผนป้องกันกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จในการผลิตส้มโอต่อไป

เอกสารอ้างอิง

กองกีฏและสัตววิทยา 2537 คำแนะนำการใช้สารฆ่าแมลงและสัตว์ศัตรูพืช เอกสารวิชาการกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร 236 หน้า

เทวินทร์  กุลปิยะวัฒน์ วัฒนา  จารณศรี  ฉัตรชัย  ศฤงฆไพบูลย์ และมารศรี  จีระสมบัติ 2525 การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับชีววิทยาของไรขาวพริก รายงานผลการค้นคว้าวิจัยประจำปี 2525 กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร หน้า 1-4

ประกิจ  ดวงพิกุล 2531 ไม้ผลกึ่งเมืองร้อน(ส้ม) ในพืชเศรษฐกิจยืนต้น(บทบาทในศตวรรษหน้า) เอกสารประกอบการสัมมนา กรมวิชาการเกษตร หน้า 107-147