ไส้เดือนฝอยปราบหนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง

วัชรี  สมสุข

กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ

กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร

ปัจจุบันไม้สกุลลางสาด อันได้แก่ลองกอง มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวางขึ้น เห็นได้จากกิ่งพันธุ์ลองกองจำนวนมาก ซึ่งขายดีทำเท่าไหร่ก็ขายหมด และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ ทั้งนี้เพราะพื้นที่การปลูกลองกอง เดิมอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่ปลูกในเขตที่มีความชุ่มชื้นสูง เช่น จันทบุรี ตราด อุตรดิตถ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส เป็นต้น แต่ความนิยมของผู้บริโภคในประเทศมีสูงมากเพราะรสชาติความหอมต่างไปจากไม้ผลชนิดอื่น ทำให้ราคาต่อหน่วยน้ำหนักสูงขึ้นด้วย กสิกรจึงสนใจที่จะทำการเพาะปลูกมากขึ้น เพราะทำรายได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่น แต่อุปสรรคอันหนึ่งซึ่งกสิกรผู้ปลูกลองกอง ลางสาด หวั่นเกรงกันมากในขณะนี้ คือปัญหาหนอนกินใต้ผิวเปลือก

ลักษณะหนอนและการทำลาย

หนอนกินใต้ผิวเปลือก จะกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกลึกระหว่าง ๒-๘ มม. ตามกิ่งและลำต้น ทำให้ต้นเป็นปุ่มปม เมื่อหนอนระบาดมาก ๆ กิ่งจะแห้งและตายในที่สุด กระทบกระเทือนถึงผลผลิต หนอนกินใต้ผิวเปลือกดังกล่าวมีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกันคือ

ชนิดแรก เป็นพวก Cossus sp. ตัวหนอนมีสีแดงอมชมพู หรือน้ำตาลแดง ขนาดตัวใหญ่สุดยาวประมาณ ๔ ซม. หนอนจะเข้าดักแด้อยู่ใต้เปลือกตามกิ่งและลำต้น ดักแด้มีสีน้ำตาล ยาวประมาณ ๑.๖ ซม. เข้าดักแด้อยู่ราว ๑๑ วัน จึงออกเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลออกเทา เมื่อกางปีกออกวัดได้ยาวประมาณ ๔ ซม. ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ ฟอง

ชนิดที่ ๒  ขนาดเล็กกว่า เป็นพวก Microchlora sp. หนอนมีสีขาวครีม หัวสีน้ำตาล ขนาดตัวยาวสุดประมาณ ๑.๕ ซม. หนอนเคลื่อนที่ว่องไว และทิ้งใยลงดิน เมื่อเปิดเปลือกพบดักแด้อยู่ใต้ผิวเปลือกมีใยขาว ๆ หุ้มขนาดยาวประมาณ ๑ ซม. เข้าดักแด้อยู่ราว ๘ วัน จะออกเป็นตัวแก่ ปีกคู่หน้า และหลังสีเขียวอ่อน ขนาดเมื่อกางปีกยาวประมาณ ๒ ซม. วงจรชีวิตประมาณ ๑ เดือน

หนอนทั้ง ๒ ชนิด อาจพบกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกในต้นเดียวกัน โดยมากจะพบตัวใหญ่อาศัยกินอยู่ใต้ผิวเปลือกที่โคนต้นมากกว่าส่วนบนในขณะที่หนอนชนิดเล็กมักจะพบอยู่สูงระดับ ๒ เมตรขึ้นไป

การป้องกันกำจัด

ในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมี ชนิดต่าง ๆ โดยเปลี่ยนให้มีฤทธิ์รุนแรงเพิ่มขึ้นเพื่อให้หนอนตาย ซึ่งนอกจากเกิดพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นผลให้ศัตรูธรรมชาติของหนอน เช่น มดง่าม กระถิน ซึ่งคอยควบคุมประชากรหนอนโดยกัดกินหนอนใต้ผิวเปลือก ยังผลให้หนอนกลับระบาดหนักขึ้นอีก เกษตรกรบางรายลงทุนจ้างแรงงานขูดกิ่งซึ่งก็ต้องระวังการทำลายตาดอกที่ออกตามกิ่ง

ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการศึกษานำไส้เดือนฝอยที่เข้าทำลายเฉพาะแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่ง ชื่อ Neoaplectana carpocapsae เป็นไส้เดือนฝอยที่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช อื่น ๆ ในสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้กับเครื่องพ่นยาแบบแรงดันสูงหรือสะพายหลังได้ โดยไม่ลดประสิทธิภาพการทำลายของไส้เดือนฝอย และได้ทำการทดลองกับหนอนหลายชนิดรวมทั้งหนอนกินใต้ผิวเปลือก พบว่าไส้เดือนฝอยนี้สามารถเข้าทำลายได้

ลักษณะวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอยและการทำลายแมลง

ไส้เดือนฝอย Neoaplectana carpocapsae(DD-๑๓๖) เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกสัตว์ขนาดเล็ก (๐.๒-๐.๕ มม.) ในธรรมชาติเป็นศัตรูชนิดหนึ่งของแมลง มันจะเจริญเติบโตครบวงจรชีวิตได้เฉพาะในตัวแมลงอาศัยเท่านั้น

การเข้าทำลายแมลงของไส้เดือนฝอยชนิดนี้ เริ่มจากไส้เดือนฝอยวัย ๓ เข้าสู่ตัวหนอน โดยเข้าทางรูเปิดต่าง ๆ เช่น ปาก ทวาร รูหายใจ จากนั้นจะไชเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดของแมลงและเริ่มเจริญเติบโตเนื่องจากมีอาหารสมบูรณ์ในตัวหนอน ขณะเดียวกันไส้เดือนฝอยก็จะมีการขับถ่ายเอาเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งออกมาด้วย แบคทีเรียพวกนี้จะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้หนอนที่มันอาศัยอยู่ตายภายในเวลา ๒๔-๔๘ ชั่วโมง เพราะเลือดเป็นพิษ ส่วนไส้เดือนฝอยจะเจริญเติบโตขยายพันธุ์และวางไข่อยู่ในตัวแมลง ไส้เดือนฝอยรุ่นใหม่ที่ออกจากไข่จะหากินอยู่ในซากหนอนนั้น จนอาหารหมดก็ออกจากซากไปหาแมลงอาศัยใหม่ต่อไป จากคุณสมบัติพิเศษ ในการทำลายหนอนศัตรูพืชของไส้เดือนฝอยตัวนี้ และยังมีความทนทานต่อแรงดัน เมื่อใช้กับเครื่องพ่นสารเคมี ฉะนั้นจึงนำไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้

จุดอ่อนในการนำไส้เดือนฝอยชนิดนี้ไปใช้ที่ควรคำนึงถึง คือ ความชื้นเนื่องจากไส้เดือนฝอยเหล่านี้จะมีชีวิตและเคลื่อนไหวอยู่ได้ก็แต่ในที่ซึ่งมีความชื้นแฉะ

การฉีดพ่นน้ำที่มีไส้เดือนฝอย เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชให้ได้ผลนั้นไส้เดือนฝอยจะต้องเข้าไปในตัวหนอนในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ฉะนั้นในการนำไส้เดือนฝอยไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช ควรจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ควรพ่นไส้เดือนฝอยในช่วงเวลาเย็น แดดร่มแล้ว ในช่วงฤดูฝนมีฝนตกพรำ ๆ ประสิทธิภาพการทำลายของไส้เดือนฝอยจะยิ่งสูง

แหล่งอาศัยแมลงศัตรูพืช ถ้าอยู่ใต้ดิน ใต้เปลือกไม้หรือเป็นโพรง โอกาสที่จะใช้ไส้เดือนฝอยควบคุมได้นั้นย่อมจะประสพผลดีกว่าการพ่นไส้เดือนฝอยบนใบพืช ในที่โล่งทั่วไป

การพ่นไส้เดือนฝอยปราบหนอนกินใต้ผิวเปลือก

ใช้ไส้เดือนฝอยอัตราความหนาแน่น ๒,๐๐๐ ตัว/น้ำ ๑ มล. สำหรับต้นเล็ก ๓-๕ ลิตร จะมีไส้เดือนฝอยประมาณ ๖-๑๐ ล้านตัว ต้นใหญ่ใช้ ๔-๗ ลิตร จะมีไส้เดือนฝอย ๑๐-๑๔ ล้านตัว ผสมน้ำยาจับใบ อัตราตามฉลากข้างขวดทุกครั้ง ใช้เครื่องพ่นยาแบบแรงดันสูงพ่นตามกิ่งและลำต้นที่มีหนอนระบาดให้ทั่ว ในกรณีมีอากาศแห้ง ควรพ่นน้ำเปล่าให้ความชุ่มชื้นก่อนพ่นไส้เดือนฝอย หลังจากนั้น ๒๔-๔๘ ซม. ถ้าเปิดเปลือกจะพบหนอนตายโดยตัวหนอนจะไม่เละ แต่จะนอนนิ่งไม่เคลื่อนไหวสีอาจซีดลงเล็กน้อย

การผลิตขยายไส้เดือนฝอยเป็นปริมาณมาก

ขณะนี้ทางกลุ่มงานได้ทำการศึกษาการผลิตขยายไส้เดือนฝอย ให้ได้ปริมาณมากด้วยอาหารเทียมได้แล้ว ซึ่งสามารถแจกจ่ายให้กสิกรผู้สนใจเพื่อทดลองใช้ในจำนวนจำกัด และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้บริษัทเอกชนและผู้สนใจผลิตเป็นการค้า ในอนาคตอันใกล้นี้คงจะมีไส้เดือนฝอยนี้จำหน่ายในท้องตลาด