หลักการทั่วไปในการปลูกพืชสมุนไพร


หลักการทั่วไปในการปลูกพืชสมุนไพรเช่นเดียวกันกับการปลูกพืชอื่นๆ คือ ต้องรู้เสียก่อนว่าพืชที่จะปลูกนั้นเป็นพืชนำ หรือพืชบก เป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ หรือไม้ขนาดกลาง หรือไม้ล้มลุกพวกวัชพืช หรือพืชผักที่มีอายุสั้น ชอบดินฟ้าอากาศหรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติแบบแล้งหรือชื้น เพราะการที่จะปลูกพืชชนิดใดให้เจริญงอกงามได้ดี ก็ต้องปลูกในแหล่งที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพืชนั้นๆ จะสังเกตได้ว่าในสภาพแวดล้อมเดียวกัน พืชบางชนิดขึ้นง่าย-ปลูกง่ายไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มากนักก็เจริญงอกงามได้ดี แต่พืชบางชนิดกลับขึ้นยาก-ปลูกยาก แคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต ทั้งนี้เป็นเพราะความต้องการของพืชแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ดังนั้นเมื่อคัดเลือกชนิดของพืชสมุนไพรที่จะปลูก แล้ว ก็จำเป็นจะต้องปลูกในที่ที่มีสิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติเหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ ด้วย หรืออย่างน้อยก็ต้องดัดแปลงให้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการเตรียมดิน การให้อาหาร ตลอดจนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม พืชจึงจะเจริญงอกงามได้ดี และสามารถนำมาใช้ได้ตามต้องการ
การปลูกพืชสมุนไพรขนาดเล็กที่เป็นพืชล้มลุก
วิธีการปลูกประเภทนี้คล้ายพืชสวนครัว ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะเป็นพืชขนาดเล็ก ต้องการพื้นที่เพาะปลูกน้อย มีที่ว่างเพียงเล็กน้อยก็ปลูกได้ หรืออาจปลูกใส่ภาชนะต่างๆ เช่น กระถาง กะบะไม้ หรือแม้แต่เศษวัสดุต่างๆ เช่น กะลา ถังน้ำที่รั่ว ใช้พื้นที่บริเวณระเบียงทางเดินเป็นที่ตั้ง หรือแขวนทำเป็นสวนลอยฟ้าก็ได้
การเตรียมดิน ส่วนประกอบของดินสำหรับปลูกโดยทั่วไป ได้แก่
ผสมแต่ละส่วนให้เข้ากัน ส่วนประกอบนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม เช่น ถ้าใช้ดินร่วนปนทราย ก็ต้องลดส่วนผสมของทรายบ้าง หรือถ้าดินเป็นกรดก็ต้องเติมปูนขาวลงไปเล็กน้อย
ก่อนที่จะใส่ดินลงในภาชนะ จะต้องเจาะรูขนาดพอควรที่ก้นภาชนะ และรองก้นภาชนะเหล่านั้นด้วยกรวดหรือทรายหยาบ เพื่อให้น้ำระบายได้ แล้วใส่ดินที่ผสมไว้จนเกือบเต็ม นำกล้าหรือต้นอ่อนวางลงเบาๆ กลบด้วยดินผสมให้เต็มกระถางพอดีกดให้แน่นพอควรที่ต้นอ่อนจะไม่ล้ม รดน้ำเล็กน้อย นำภาชนะที่ปลูกเรียบร้อยแล้ววางลงในที่ร่มหรือที่บังแดดชั่วคราว (สัก 2-3 วัน) จนต้นไม้ตั้งตัวได้จึงย้ายมาไว้ในที่จัดเตรียมไว้
ในกรณีปลูกลงในแปลงปลูก จะต้องให้พื้นที่ปลูกเป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงหรือไม่เป็นแอ่งน้ำขัง โดยการยกร่องแปลงปลูก ใส่ดินผสมลงในแปลงแล้วรดน้ำจนชุ่ม
การปลูกสมุนไพรยืนต้น
ไม้ยืนต้นเป็นพืชที่มีระบบรากที่แผ่ขยายกว้างและลึก ดังนั้นการเตรียมหลุมที่จะปลูกจึงควรให้โตและลึก โดยกว้างยาวและลึกด้านละ 50-100 ซม. ขึ้นอยู่กับขนาดของไม้ยืนต้น เวลาขุดหลุม ควรแยกดินผิวส่วนที่มีสีดำหรือสีคล้ำไว้ต่างหาก (เพื่อใช้รองก้นหลุมและให้กลบเมื่อวางต้นไม้ลงหลุม)
ส่วนดินชั้นล่างนำมาเกลี่ยตากไว้ 1-2 เดือน หรือ 1-2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย เมื่อดินแห้งพอสมควรแล้ว บดหรือทุบดินให้ละเอียดและผสมดินนั้นตามวิธีการดังนี้
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์อาจใช้สูตร 20-20-0 หรือ 26-20-0 ในปริมาณครึ่งกิโลกรัม ต่อดิน 1 ลูกบาศก์เมตร และเติมปูนขาวถ้าดินเป็นกรด หรือเติมยิปซัม (เกลือจืด) ถ้าดินเป็นด่างในอัตราส่วน ปูน หรือยิปซั่ม 1 กิ์โลกรัมต่อดินผสม 1 ลูกบาศก์เมตร
เมื่อผสมดินเสร็จเรียบร้อย ให้ใส่ดินผิวลงไปรองพื้นก้นหลุมก่อนแล้วจึงค่อยใส่ดินผสมลงไป เมื่อดินเต็มหลุม รดน้ำให้ชื้น ถ้ามีการใส่ปูนต้องปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อให้ปฏิกิริยาลดความเป็นกรดจากปูนเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ถ้าหากปุ๋ยหมักที่ผสมลงไปในดินนั้นเป็นปุ๋ยที่ยังสลายตัวไม่สมบูรณ์ ต้องปล่อยทิ้งไว้นาน 3-4 สัปดาห์ ให้การสลายตัวเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เสียก่อน หลังจากนั้นค่อยนำเอาพันธุ์ไม้ที่เตรียมไว้ลงปลูก ซึ่งอาจเป็นต้นพันธุ์จากเมล็ด กิ่งตอน หรือกิ่งทาบตามแต่เหมาะสม
หลังจากปลูกแล้ว อาจต้องตัดกิ่งและใบออกบ้าง หรือบังร่มให้ ต้องรดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า ให้ปุ๋ยอย่างน้อยเดือนละครั้งอย่างสมํ่าเสมอ นอกจากนี้ก็คอยดูแลกำจัดหนอน แมลง หรือฉีดยาป้องกันโรคและแมลงเป็นครั้งคราว
การขยายพันธ์สมุนไพร
เป็นการเพิ่มจำนวนพืชพันธุ์ให้มากขึ้น อาจแบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ แบบอาศัยเพศ ได้แก่ การเพาะเมล็ด และแบบไม่อาศัยเพศ เช่น การแบ่ง การแยก ตอนกิ่ง ปักชำ ติดตา ต่อกิ่ง ฯลฯ
แบบอาศัยเพศโดยการเพาะเมล็ด
ก. เตรียมถาดไม้หรือกะละมังที่ชำรุดแล้ว เอาเศษอิฐและกระเบื้องปูรองก้นประมาณครึ่งนิ้ว
ข. ผสมดินร่วน (หรือดินปนทราย) 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 2 ส่วน ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 5-10-10 ประมาณ 4 ส่วนต่อดิน 10 ส่วน และปูนขาวหรือยิปซั่ม 4 ส่วนต่อดิน 10 ส่วน คลุกเคล้าให้ดีบรรจุในภาชนะที่เตรียมไว้
ค. เอาเมล็ดหว่านลงไปอย่าให้ชิดกันมาก แล้วกลบด้วยดินผสมอีกชั้นหนึ่งบางๆ เกลี่ยให้เรียบ ฉีดน้ำให้ชุ่ม วางไว้ที่ร่ม
ง. เอากระจกและกระดาษปิดภาชนะนั้นไว้เพื่อรักษาความชื้น ฉีดละอองน้ำ เมื่อเห็นดินแห้งเท่านั้น
จ. เมื่อยอดอ่อนแทงทะลุขึ้นมา ให้กะบะเพาะเมล็ดนั้นถูกแสงบ้าง เมื่อต้นแข็งแรงแยกลงปลูกในภาชนะหรือแปลงที่เตรียมไว้ได้ทันที
แบบไม่อาศัยเพศ
เป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับพืชยืนต้นขนาดใหญ่หรือพืชอายุหลายปี เพราะสามารถขยายพันธุ์ได้สะดวกใช้เวลาน้อย และได้พันธุ์เดิม(พันธุ์ไม่กลาย) วิธีการขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศที่รู้จักกันดีได้แก่
การแบ่ง แยกต้นอ่อน-หน่ออ่อน การตัดกิ่ง ตอนกิ่ง ต่อกิ่ง ติดตา ทาบกิ่ง ฯลฯ วิธีการของแต่ละอย่างแตกต่างกันไปในรายละเอียด
การแบ่ง ใช้ขยายพันธุ์พืชจำพวกหัว เช่น หอม กระเทียม และว่านที่มีหัวต่างๆ โดยผ่าหัวออกเป็นสองส่วนให้แต่ละชิ้นมีรากติดอยู่ นำไปปลูกได้ สำหรับกระเทียมและหอมอาจแยกเป็นกลีบนำไปปลูกก็ได้
การแยก เหมาะกับพันธุ์พืชที่แตกหน่อหรือมีต้นเล็กๆ เช่น กล้วย ขิง ตะไคร้ เตยหอม ฯลฯ สามารณแยกนำไปปลูกได้ ก่อนปลูกควรตัดรากเก่าและใบที่ติดมาทิ้งเสียบ้าง พันธุ์พืชชนิดที่มีลำต้นเลื้อยไปตามผิวดิน เช่น สะระแหน่ ตำลึง บางส่วนของลำต้นที่แตะผิวดิน จะมีรากงอกออกมาขยายพันธุ์ได้โดยการตัดลำต้นให้ขาด เอาเฉพาะส่วนที่มีรากติดมาไปปลูกได้
การชำกิ่ง พันธุ์ที่ใช้กิ่งชำ เช่น ลั่นทม เข็ม ยี่โถ ฯลฯ ให้ตัดกิ่งหรือลำต้นที่มีตาไม่น้อยกว่า 2 ข้อ ปลิดใบทิ้งนำไปปักชำให้เอียงทำมุม 45 องศา ลึก 1 ใน 3 ของกิ่ง หรือลำต้น รดน้ำให้ชุ่ม
การชำแผ่นใบ เหมาะกับขยายพันธุ์พืชที่มีใบหนาใหญ่ และแข็งแรง เช่น ต้นคว่ำตายหงายเป็น กุหลาบหิน ให้เอาแผ่นใบแนบกับพื้นทราย รดน้ำให้ชุ่ม
การชำราก เหมาะกับพันธุ์พืชที่รากใหญ่ เช่น ขนุน บุนนาค มะตูม เข็ม ฯลฯ ให้ตัดเอาท่อนรากที่ไม่ควรเล็กกว่านิ้วก้อย ยาวประมาณ 3 นิ้ว วางนอนในกะบะปักชำ รดน้ำให้ชุ่ม วางไว้ในที่ร่ม ทิ้งไว้นาน 1-2 เดือน
การตอนกิ่ง เหมาะที่จะขยายพันธุ์พืชที่มีกิ่งค่อนข้างแข็งแรง เช่น มะม่วง ละมุด ส้ม ฯลฯ โดยใช้มีดควั่นเปลือกให้เป็น 2 รอย ห่างกันประมาณครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวงของกิ่งนั้น ลอกเปลือกขูดเปลือกออก พอกดินตรงรอยควั่นและนำกาบมะพร้าวที่ชุ่มน้ำผสมดินมาปิด เอาใบตองหรือถุงพลาสติคหุ้มมัดให้แน่นเพื่อเก็บความชุ่มชื้น ทิ้งไว้ประมาณ 20-30 วัน รากจะเริ่มงอก รอจนรากแก่มีสีน้ำตาลจึงตัดกิ่งที่ตอนนำไปปลูกลงแปลงต่อไป
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล