การผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรค

คนึงนิตย์  เหรียญวรากร, สัญชัย  ตันตยาภรณ์

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา

กรมวิชาการเกษตร

อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศปีหนึ่งหลายพันล้านบาทจากการส่งน้ำตาลทรายออกไปจำหน่วยยังต่างประเทศ นอกจากใช้ผลิตน้ำตาลทรายแล้วอ้อยยังใช้ทำประโยชน์อื่น ๆ ได้อีกมาก เช่น นำมาผลิตแอลกอฮอล์ น้ำส้มสายชู ปุ๋ยหมัก เยื่อกระดาษ ไม้อัด และใช้เป็นวัสดุในการเพาะเห็ด เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าการผลิตอ้อยในระยะหลายปีที่ผ่านมาผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่มีแนวโน้มลดลง การเพิ่มผลผลิตทำโดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกทั้งนี้เป็นเพราะว่าการปลูกอ้อยต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย

โรคเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง จากการสำรวจโรคอ้อยในประเทศไทยพบว่ามีอยู่ประมาณ ๕๐ โรค ในบรรดาโรคเหล่านี้ โรคที่เกิดจากเชื้อวิสาและมายโคพลาสมา นับว่าสำคัญมาก ที่แพร่ระบาดรุนแรงในประเทศไทยได้แก่โรคใบด่างและโรคใบขาว ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีชนิดใดป้องกันหรือกำจัดก็ได้ และเนื่องจากเชื้อติดอยู่ในท่อนพันธุ์จึงทำให้แพร่ระบาดไปได้เรื่อย ๆ กับท่อนพันธุ์

ในประเทศคิวบา ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากบราซิล ได้มีการศึกษาพบว่าโรคใบด่างของอ้อยที่มีสาเหตุจากเชื้อวิสาเพียงโรคเดียวทำให้ผลผลิตลดลงถึงร้อยละ ๗๕ สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาถึงความเสียหายที่เกิดจากโรคนี้ แต่ก็พบว่าโรคนี้พบในทุกภาคของประเทศ ส่วนโรคใบขาวนั้นมีการระบาดรุนแรงทั่วไปเช่นเดียวกัน

แนวทางในการแก้ไขที่ควรนำมาใช้แนวทางหนึ่งคือการใช้พันธุ์อ้อยที่ปลอดจากโรคต่าง ๆ ทำพันธุ์เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค ดังนั้นจึงได้มีการวิจัยเพื่อผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรคขึ้น พันธุ์อ้อยปลอดโรคที่ได้นอกจากจะใช้ประโยชน์หลักด้านปลูกทดแทนพันธุ์อ้อยที่เป็นโรคอยู่ในปัจจุบันแล้ว เรายังใช้ประโยชน์จากพันธุ์ปลอดโรคในโครงการอื่น ๆ อีกมาก เช่น โครงการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์เพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ เป็นต้น

ขั้นตอนการผลิตภัณฑ์อ้อยปลอดโรค

๑.  ฆ่าเชื้อในท่อนพันธุ์อ้อยแล้วเลี้ยงเนื้อเยื่อ

๑)  นำต้นอ้อยที่เป็นโรคใบด่างและหรือใบขาวมาตัดเป็นท่อน ๆ ให้แต่ละท่อนมี ๑ ข้อ (มีตา ๑ ตา) ความยาวแต่ละท่อนประมาณ ๕-๗ ซม.

๒)  นำท่อนอ้อยมาแช่น้ำร้อน ๓ ครั้ง

ครั้งแรก (วันที่หนึ่ง) แช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิ ๕๒°ซ. นาน ๒๐ นาที

ครั้งที่สอง (วันที่สอง) แช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิ ๕๗°ซ. นาน ๒๐ นาที และ

ครั้งที่สาม (วันที่สาม) แช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิ ๕๗°ซ. นาน ๒๐ นาที

ทุกครั้งที่นำขึ้นมาจากน้ำร้อนให้ลดอุณหภูมิของท่อนพันธุ์ทันทีด้วยการแช่ท่อนพันธุ์ลงในอ่างน้ำไหล

๓)  เมื่อแช่น้ำร้อนครบทั้งสามอุณหภูมิแล้วนำไปปลูกในกระบะทรายประมาณ ๒ สัปดาห์ ตัดยอดอ้อยที่แตกออกมา นำมาฟอกฆ่าเชื้อ แล้วนำมาตัดเนื้อเยื่อเจริญภายใต้กล้องสเตอริโอให้ได้เนื้อเยื่อขนาด ๐.๓x๐.๔ มิลลิเมตร แล้วเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์สูตรดัดแปลงของ Murashige & Skoog (MS)

๒.  การตรวจสอบอนุภาคของเชื้อ

เพื่อให้ได้ต้นอ้อยที่ปราศจากโรคใบด่างและใบขาวร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องทำการตรวจหาอนุภาคของเชื้อทุกระยะการพัฒนา ตั้งแต่เนื้อเยื่อเจริญเริ่มพัฒนเป็นกลุ่มเซล (callus) และต้นอ่อน (plantlets) จนถึงย้ายออกปลูกในเรือนปลูกพืชทดลอง และในแปลงขยายพันธุ์

การตรวจสอบว่าต้นอ้อยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปราศจากโรคทั้งสองร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ทำได้ดังนี้

ในกรณีของโรคใบด่าง เราใช้พืชทดสอบ โดยเราใช้ข้าวฟ่างพันธุ์ DA80 เป็นพืชในการทดสอบ นำตัวอย่างที่เราต้องการทดสอบมาบดแล้วนำเฉพาะน้ำคั้นมาทาลงบนใบของข้าวฟ่าง หลังจากนั้นสองอาทิตย์ถ้าใบข้าวฟ่างแสดงอาการใบด่าง ก็แสดงว่าต้นอ้อยที่ได้จากการเลี้ยงเนื้อเยื่อมีเชื้อวิสาสาเหตุโรคใบด่าง แต่ถ้าต้นข้าวฟ่างไม่แสดงอาการก็แสดงว่าต้นอ้อยที่ได้ปราศจากเชื้อวิสา และเพื่อให้เกิดความแน่ใจเราจะตรวจสอบด้วยกล้องจุลทัศน์อิเลคตรอนด้วยโดยนำน้ำคั้นจากตัวอย่างที่จะทดสอบมาตรวจหาอนุภาคของเชื้อ

สำหรับกรณีโรคใบขาว เราจะดูการแสดงอาการใบขาวของต้นอ้อยตั้งแต่ยังอยู่ในขวดจนถึงย้ายออกปลูกในเรือนปลูกพืชทดลองและยังดูต่อไปเรื่อย ๆจนต้นอ้อยโต ซึ่งในกรณีของโรคใบขาวนี้ ถ้าต้นอ้อยที่ได้ปราศจากเชื้อมายโคพลาสมาซึ่งเป็นสาเหตุของโรคใบขาว ต้นอ้อยที่ได้จะไม่แสดงอาการใบขาว

ในการผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรคโดยวิธีนี้ แม้ว่าเปอร์เซ็นต์ความงอกของท่อนพันธุ์จะลดลงมากหลังจากแช่น้ำร้อนแต่เปอร์เซ็นต์การอยู่รอดภายหลังย้ายปลูกสูง และยังสามารถเพิ่มปริมาณได้มากและใช้เวลาสั้น ฉะนั้นวิธีการนี้จึงนับว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรคเพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปปลูกทดแทนท่อนพันธุ์เดิมที่เป็นโรค

การผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรคโดยวิธีนี้จะให้พันธุ์อ้อยที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง คือจะปลอดจากโรคที่เกิดจากเชื้อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิสา มายโคพลาสมา แบคทีเรีย เชื้อรา หรือไส้เดือนฝอย ผิดจากวิธีการแช่น้ำร้อนซึ่งนิยมใช้อยู่ในเวลานี้ ซึ่งได้ผลไม่แน่นอนและไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคใบขาวออกจากท่อนอ้อยได้ ดังนั้น ในกรณีที่โรคใบขาวเป็นปัญหาอยู่ในแหล่งปลูกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรค โดยวิธีแช่น้ำร้อนแล้วตัดเนื้อเยื่อเจริญมาเลี้ยงดังที่ได้รายงานมานี้

๓.  ขั้นตอนขยายพันธุ์

สำหรับขั้นตอนต่อไปในการผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรคนั้นคือขั้นขยายพันธุ์ในขั้นนี้ผู้ผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรค อาจจะขยายพันธุ์อ้อยบริสุทธิ์ที่ทดสอบแล้วโดยวิธีการเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้จำนวนมากตามความต้องการ แล้วจึงย้ายออกปลูกในเรือนเพาะชำและในแปลงขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของการผลิตหรืออาจจะย้ายปลูกก่อน แล้วขยายพันธุ์แบบธรรมดาก็ได้

ในการขยายพันธุ์อ้อยปลอดโรคนี้ผู้ผลิตอ้อยจำเป็นต้องมีพื้นที่ซึ่งแยกจากแหล่งปลูกอ้อยทั่วไปเพื่อใช้ขยายพันธุ์อ้อยปลอดโรค

อ้อยที่ปลูกในแปลงนี้จะมีโอกาสติดโรคน้อยมาก ทำให้สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้เรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามควรมีการตรวจสอบการเป็นโรคของอ้อยในพื้นที่นี้อยู่เสมอ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าอ้อยที่จะขยายพันธุ์ปลอดโรคจริง ในกรณีที่พบว่าอ้อยในแปลงนี้เริ่มติดโรคก็ควรทำลายเสียแล้วเริ่มปลูกใหม่

สำหรับวิธีการและรายละเอียดทุกขั้นตอนในการผลิตพันธุ์อ้อยปลอดโรค ผู้สนใจติดต่อได้ที่กลุ่มงานวิทยาไมโค กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร กทม. ๑๐๙๐๐ โทร. ๕๗๘๕๕๘๑