การเลือกต้นกุหลาบมาปลูก

 

การเลือกต้นปลูก

1. จะปลูกกุหลาบโดยใช้กิ่งตอนหรือกิ่งตัดชำนั้นโดยหลักการทางการขยายพันธุ์พืชแล้ว เราถือว่าต้นพืชที่ขยายพันธุ์ทั้งวิธีตอนและชำกิ่งมีคุณสมบัติเหมือนกันคือ ต่างก็มีรากและมียอดของตนเอง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ต้นพืชที่ปลูกจากกิ่งตัดชำจะมีข้อแตกต่างกันบ้างในส่วนปลีกย่อยดังนี้คือ

ก. ความสม่ำเสมอของต้นพืชที่ปลูกอยู่ในแปลง ถ้าเป็นแปลงที่ปลูกจากกิ่งตอน จะหาความสม่ำเสมอได้ยาก มักจะพบต้นแห้งตาย ต้นเล็กและแคระแกร็น ต้นโตเป็นปกติและต้นที่โตมากรวมคละอยู่ในแปลงเดียวกัน โดยเฉพาะ ผู้ที่ปลูกมือใหม่ ๆ ด้วยแล้ว สภาพเช่นนี้จะพบเห็นได้ง่ายมาก ทั้งนี้เพราะกิ่งตอนนั้น มักตอนมาจากสภาพต้นต่าง ๆ กัน บางต้นสมบูรณ์ดี บางต้นแทบเลี้ยงตัวเองไม่รอด กิ่งตอนบางกิ่งสมบูรณ์ใบงาม บางกิ่งแก่ใบโกร๋น บางกิ่งก็ร่อนไป บางกิ่งเป็นกิ่งข้างอยู่ในพุ่ม บางกิ่งเป็นกิ่งกระโดง บางกิ่งตอนจากกิ่งยอด บางกิ่งตอนจากกิ่งรองยอด เมื่อเป็นเช่นนี้ที่จะมีผลทำให้การออกรากไม่พร้อมกัน จำนวนรากมากน้อยต่างกัน ใบสมบูรณ์มากน้อยต่างกัน กิ่งอ่อนแก่ต่างกัน ซึ่งสภาพเช่นนี้เองทำให้กิ่งแข็งแรงไม่เท่ากัน เมื่อนำมาปลูกแล้วจึงมีสภาพตายมากตายน้อย โตมากโตน้อย เกิดขึ้นในแปลงปลูก ทำให้การเลี้ยงดูยุ่งยาก วิธีแก้มีทางเดียวเท่านั้น คือ โดยการคัดความสมบูรณ์ของกิ่งให้เสมอ ๆ กันนั่นคือ คัดจำนวนรากมากน้อยไว้คนละพวก คัดจำนวนใบมากน้อยไว้คนละพวก และคัดกิ่งอ่อนแก่ไว้คนละพวก แล้วแต่ละพวกก็ควรปลูกคนละแปลงไม่ปะปนกัน สำหรับพวกที่ยังมีรากน้อยและใบยังไม่ค่อยมีควรชำหรือเลี้ยงดูไว้ในกระถางเล็ก ๆ ในที่เลี้ยงดูที่จัดไว้โดยเฉพาะเสียก่อน จนกว่าต้นจะสมบูรณ์พอ จึงค่อยนำลงปลูกในแปลงปลูก การทำเช่นนี้จะช่วยให้ต้นพืชเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ทำให้การเลี้ยงดูง่ายขึ้นและมองดูสบายตาเป็นกำลังใจให้เจ้าของได้ เอาใจใส่ดีขึ้นอีกด้วย

ส่วนต้นที่ได้จากการตัดชำ เป็นต้นที่ขยายจากกิ่งยอดเป็นกิ่งอายุรุ่นเดียวกัน มีความอ่อนแก่เหมือนกัน มีจำนวนใบมากน้อยพอ ๆ กัน ฉะนั้นเมื่อนำมาปักชำจึงออกรากได้ใกล้เคียงกัน รากมากน้อยพอ ๆ กัน จำนวนใบก็มีมากน้อยพอ ๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้การเจริญเติบโตก็พอ ๆ กัน ทำให้ต้นโตสมํ่าเสมอ เลี้ยงดูง่ายเป็นระเบียบ ไม่ค่อยมีต้นตายหรือต้นโตมากโตน้อย ถ้าในแปลงปลูกนั้นปลูกพันธุ์เดียวกัน

ข. การติดโรค การปลูกกุหลาบจากกิ่งตอนมีโอกาสติดโรคได้มากกว่า โดยเฉพาะโรคที่สำคัญคือใบจุด เพราะกิ่งตอนมักใช้กิ่งที่อยู่ใกล้ผิวดิน หรืออยู่ในพุ่มมักจะเป็นโรคใบจุดได้ง่าย นอกจากนั้นกิ่งตอนมักจะมีดินหุ้ม ก่อนที่จะห่อด้วยกาบมะพร้าว และส่วนมากมักจะใช้ดินในแปลงปลูก หรือบริเวณโคนต้นหุ้มรอยขวั้นกิ่งตอนนั้น ย่อมหมายถึงการนำไข่หรือตัวไส้เดือนฝอย ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของกุหลาบติดไปปลูกในแปลงใหม่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับนำศัตรูที่คอยบ่อนทำลายต้นกุหลาบติดไปโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะศัตรูชนิดหลังนี้ยากแก่การกำจัดให้หมดไปได้ ทำให้ต้นโทรมไวและอายุให้ผลสั้นเข้า ส่วนการใช้กิ่งตัดชำนั้น เนื่องจากกิ่งตัดชำใช้กิ่งยอด ซึ่งอยู่สูงจากระดับผิวดินมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของต้น ฉะนั้นโอกาสการติดโรคใบจุดจึงมีน้อย เพราะโรคนี้จะเป็นจากด้านล่างขึ้นข้างบน อีกประการหนึ่งถ้าใบเป็นโรคใบจุดอยู่แล้ว นำไปปักชำกิ่งมักจะเสียหายและไม่ออกราก ฉะนั้นจึงจำเป็นอยู่เองที่ต้องใช้กิ่งที่ปราศจากโรคนี้ การปักชำจึงจะได้ผล ส่วนศัตรูอื่น ๆ ที่จะติดไปกับกิ่งตัดชำนั้น ยังไม่พบหรือถ้ามีก็น้อยมาก

ค. การเจริญเติบโต การใช้กิ่งตอนส่วนใหญ่เป็นกิ่งที่มีความอ่อนแก่ปานกลางถึงกิ่งแก่ กิ่งพวกนี้มักเจริญเติบโตช้า จะเห็นได้ชัดคือใช้เวลาในการ

ออกรากนานกว่ากิ่งตัดชำ คือใช้เวลาออกรากประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนกิ่งตัดชำจะใช้เวลาในการงอกรากเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น นั่นแสดงถึงความสามารถในการเจริญเติบโตของกิ่งตอนช้ากว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องใช้เวลาเลี้ยงดูต้นนานกว่า (เมื่อวัดขนาดต้นเป็นเกณฑ์) หรือไม่ก็ต้นเล็กกว่า (วัดอายุเป็นเกณฑ์) ที่จะ ทำการตัดออกได้ และนั่นหมายถึงทุนในการเลี้ยงดูมากกว่านั้นเอง

เนื่องจากกิ่งตัดชำทำได้ง่ายและอาจใช้กิ่งจากดอกที่เสีย ดอกบิดเบี้ยวซึ่งจะต้องคัดทิ้ง หรือดอกที่มีราคาต่ำเกินไปมาปักชำได้ โอกาสต่อไป กิ่งตัดชำจะมีราคาถูกกว่ากิ่งตอนนั้นก็หมายถึงการลงทุนทำสวนกุหลาบต่ำลง

จะปลูกกุหลาบจากกิ่งตัดชำหรือจากต้นติดตาดี

ถ้าจะพิจารณาโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การปลูกกุหลาบจากต้นติดตาย่อมได้ประโยชน์กว่าการปลูกจากกิ่งตัดชำหลายประการ คือ

ก. ต้นมีความแข็งแรงมากกว่า โดยเหตุที่เราสามารถที่จะเลือกพันธุ์ต้นตอที่แข็งแรงและเจริญได้ดีในสภาพดินที่ปลูกอยู่ได้ ซึ่งกิ่งตัดชำหรือกิ่งตอนไม่อาจทำได้ เป็นต้นว่าสามารถที่จะเลือกต้นตอที่เจริญได้ดีในดินเหนียวหรือในดินทราย หรือดินที่เป็นด่างหรือให้ทนความแห้งแล้งเช่นนี้ก็อาจทำได้ไม่ยาก

ข. ต้นเกิดกิ่งกระโดงมากกว่า โดยนิสัยของต้นกุหลาบที่ปลูกจากการขยายพันธุ์โดยวิธีติดตาแล้ว ส่วนใหญ่มักเกิดกิ่งที่เจริญมาจากโคนต้นบริเวณที่เป็นรอยต่อกิ่งเหล่านี้เป็นกิ่งที่สมบูรณ์แข็งแรงหรือเรียกว่ากิ่งกระโดง กิ่งพวกนี้เองที่จะเป็นกิ่งที่ให้ดอกดก ในการเลี้ยงดูต้นกุหลาบตัดดอกจะต้องพยายามเลี้ยงให้เกิดกิ่งกระโดงจึงจะได้ดอกดกและดอกมีคุณภาพดี คือ ให้ขนาดดอกโตและกลีบหนา

ค. ต้นหากินเก่งและมีอายุยืน เนื่องจากกุหลาบพันธุ์ต้นตอนเป็นพันธุ์ป่าและส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เลื้อย ซึ่งรากจะเจริญไปได้ไกล ๆ ฉะนั้น โอกาสของการหาอาหารจึงหาได้ดีกว่ากิ่งตอน หรือกิ่งตัดชำพันธุ์ดี และในลักษณะเดียวกัน โอกาสของการขาดธาตุอาหารจึงมีน้อยด้วย และผลของประโยชน์ทั้งสองข้อนี้เอง จึงทำให้ต้นกุหลาบที่ปลูกโดยวิธีติดตา มีอายุให้ผลยืนนานกว่าที่ปลูกจากกิ่งตอนหรือกิ่งตัดชำ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ปลูกจะทราบข้อได้เปรียบของการปลูกกุหลาบจากต้นติดตา แต่ก็ยังใช้ปลูกจากกิ่งตัดชำกันอยู่ ทั้งนี้อาจเนื่องด้วย เหตุ 2 ประการ คือ

1. ตลาดตลอดจนผู้ปลูกเอง นิยมดอกกุหลาบสีแดง รองลงไปก็เป็นสีชมพูและสีแสด พันธุ์กุหลาบทั้งสองสีดังกล่าวนี้ เป็นพันธุ์ที่แข็งแรง เลี้ยงง่ายพอควรและงอกรากง่าย เช่น พันธุ์คริสเตียนดิออร์ พันธุ์เบลแองจ์ และพันธุ์ซุปเปอร์สตาร์ ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ที่จะต้องไปขยายพันธุ์ด้วยวิธีติดตา

2. การติดตาเป็นวิธีใหม่ ชาวสวนยังไม่คุ้นกับวิธีนี้และมองดูเป็นวิธีที่ยุ่งยาก เพราะต้องเสียเวลาเลี้ยงต้นตอ ต้องมีฝีมือในการติดตา ต้องคอยบังคับตาที่ติดให้แตกเป็นกิ่ง และต้องคอยปิดยอดต้นตอหรือซักเกอร์อยู่เสมอ ๆ วิธีการเหล่านี้ชาวสวนยังไม่เข้าใจพอ และยังไม่เห็นข้อได้เปรียบของต้นที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีติดตาชัดแจ้ง ฉะนั้นจึงยังปลูกจากกิ่งตอนหรือกิ่งตัดชำอยู่ในปัจจุบัน

กุหลาบพันธุ์ใดที่มีความแข็งแรงมากอยู่แล้ว และไม่มีปัญหาในเรื่องการขยายพันธุ์ด้วยการตอนหรือตัดชำ ก็ใช้วิธีตอนหรือตัดชำ ส่วนพันธุ์ใดที่ค่อนข้างอ่อนแอ และมีปัญหาในการงอกราก เช่นพันธุ์คิงส์แรนซัม พันธุ์มอนเตคาร์โล พันธุ์มีสออลอเมริกันบิวตี้ จึงควรพิจารณาปลูกจากต้นที่ขยายพันธุ์โดยวิธีติดตา

ระยะปลูก

ระยะปลูก จะมีความสัมพันธ์กับขนาดดอก และการตัดแต่งกิ่ง นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับพันธุ์ที่ใช้ปลูกอีกด้วย

สำหรับขนาดดอกและการตัดแต่งที่เกี่ยวข้องกับระยะปลูกก็คือในการปลูกกุหลาบตัดดอกที่ต้องการคุณภาพดี ให้ได้ดอกขนาดใหญ่ ถ้าไม่สามารถทำการตัดแต่งกิ่งได้ เพราะทำการปลูกจำนวนมาก ๆ ควรจะเว้นระยะปลูกให้ห่างกว่าปกติ ทั้งระยะระหว่างต้นและระหว่างแถว  (1.00 X 1.00 เมตร)

ส่วนที่ทำการตัดแต่งกิ่งหรือมีเนื้อที่น้อย ซึ่งสามารถดูแลได้ทั่วถึงอาจทำการปลูกให้ถี่ขึ้นได้ และถ้าทำการตัดแต่งได้เพียงพอ อาจปลูกได้ถี่มากถึง 1 X 1 ฟุต หรือประมาณไร่ละ 12,800 ต้น ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หรือมีผู้ที่ชำนาญในการตัดแต่งกิ่ง คอยควบคุมการแตกกิ่งอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ควรปลูกเกิน 5-10 ไร่เป็นอย่างมาก ต้นหนึ่ง ๆ จะเอากิ่งที่ให้ดอกไว้เพียง 1-2 ดอก (ไม่เกิน 3 ดอก) ดอกที่ได้จึงจะเป็นดอกขนาดมาตรฐาน

การใช้ระยะปลูก นอกจากจะคำนึงถึงคุณภาพของดอกและการตัดแต่งกิ่งแล้ว ยังคำนึงถึงในเรื่องพันธุ์ที่ใช้ปลูกอีกด้วย กุหลาบบางพันธุ์มีทรงพุ่มแผ่กว้าง ส่วนบางพันธุ์มีทรงพุ่ม ตั้งพันธุ์ที่มีพุ่มแผ่กว้างย่อมต้องการระยะปลูกที่ ห่างกว่าพันธุ์ที่มีทรงพุ่มตั้ง กุหลาบพันธุ์ซุปเปอร์สตาร์ การใช้ระยะปลูกที่ค่อนข้างห่าง มักทำให้ก้านดอกโตไม่สมดุลย์กับขนาดของดอก ที่ค่อนข้างเล็ก วิธีแก้ก็คือใช้ระยะปลูกให้ถี่ขึ้น (.30 X .60 เมตร)

วันและเวลาที่ทำการปลูก

ควรจะเลือกวันปลูกที่มีอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน หรือปลูกในช่วงตอนเย็น ๆ เท่านั้น เพราะอย่างน้อยต้นพืชก็มีโอกาสตั้งตัวได้ 1 คืน เป็นการช่วยให้ต้นพืชปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดีขึ้น ถ้าเอาไปปลูกลงแปลงทันทีในสภาพแดดจัดและลมแรงแล้ว ใบอาจไหม้หรือล่วงหล่นและต้นอาจตายได้ระบบรากเองก็ได้รับการกระทบกระเทือนจากการย้ายปลูกบ้าง

การคลุมดินแปลงปลูก

หลังจากที่ได้ทำการปลูกและรดน้ำเรียบร้อยแล้ว ควรจะได้คลุมหน้าดินแปลงปลูกทันที เพื่อเป็นการป้องกันเมล็ดวัชพืชขึ้นแซม อีกทั้งยังช่วยให้หน้าดินโปร่ง ไม่แข็งหรือจับก้อนเป็นแผ่นดินในแปลงปลูกไม่ทรุดมาก ต้นพืชไม่ ขาดอากาศในดิน ทำให้รากพืชเดินไวและต้นพืชมีการเจริญเติบโตเร็วด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้ดินชื้นอยู่ได้นานไม่ต้องรดน้ำปอย ๆ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรดน้ำลงด้วย และเมื่อวัตถุคลุมหน้าดินผุเปื่อย ก็จะเป็นการเติมอินทรีย์วัตถุให้แปลงปลูกไปในตัว ซึ่งจะทำให้สภาพดินในแปลงปลูกดีขึ้นและต้นพืชงามได้ทนทานขึ้น วัตถุที่ใช้คลุมหน้าดินนั้น จะเป็นอะไรก็ได้ที่หาได้ง่าย ๆ และมีราคาถูกสะดวกในการใช้และการปฏิบัติงานสวน เช่น หญ้าแห้ง ฟาง หรือซังข้าว ขี้กบหรือขี้เลื่อย เปลือกถั่วลิสง ซังข้าวโพด ชานอ้อย ปุ๋ยมะพร้าว หรือแกลบดิบ ตามแต่จะหาได้ แต่ข้อสำคัญก็คือ วัตถุที่ใช้ควรจะอยู่ในสภาพผุเปื่อย โดยการนำมาหมักเสียก่อน

วิธีคลุมหน้าดิน โดยปกติจะคลุมวัตถุคลุมหน้าดินให้หนาประมาณ 2 นิ้วฟุต สำหรับวัตถุที่ค่อนข้างหยาบหรือโปร่ง แต่ถ้าเป็นวัตถุที่ค่อนข้างทึบ อาจคลุมหนาเพียง 1 นิ้วฟุตก็พอ ควรจะคลุมให้ห่างจากโคนต้นเล็กน้อยประมาณ 3-4 นิ้ว ควรจะได้จัดทำทุกปีโดยเฉพาะในช่วงแล้ง ซึ่งงเริ่มตั้งแต่ต้นฤดูหนาวเป็นต้นไป