การใช้รถแทรคเตอร์ตีนตะขาบ

เพื่อการบุกเบิก

1.  ก่อนที่จะใช้ ให้บริการเช่นเดียวกับรถยนต์ให้เรียบร้อย

2.  การใช้รถตีนตะขาบจำเป็นต้องรู้จักชิ้นส่วนที่ใช้บังคับรถ เพื่อการปฏิบัติงาน ที่มีระบบผิดแปลกไปจากรถแทรคเตอร์ธรรมดา

ก.  ระบบสตาร์ท มีอยู่สองอย่าง คือ

1.  สตาร์ทแบบใช้มอเตอร์สตาร์ทแบบเดียวกับรถยนต์

2.  สตาร์ทแบบใช้ติดเครื่องเล็ก แล้วใส่เกียร์เครื่องเล็กให้หมุน เครื่องใหญ่ ให้ติดเครื่อง เมื่อเครื่องใหญ่ติดเรียบร้อยแล้วก็ให้ดับเครื่องเล็กเสียทันที

หลักของการสตาร์ท คือ แบบเครื่องเล็กสตาร์ทเครื่องใหญ่ ก่อนจะสตาร์ทเครื่องเล็กให้ปลดเกียร์และคลัชเครื่องเล็กที่จะใส่สำหรับสตาร์ทเครื่องใหญ่และเกียร์คลัชเครื่องใหญ่ให้อยู่ในตำแหน่งว่าง และดึงคันยกเปิดวาวเครื่องใหญ่เอาไว้พร้อมด้วยดึงคันเร่งเอาไว้ครึ่งหนึ่ง ต่อไปก็ให้ติดเครื่องเล็ก แล้วใส่เกียร์ และดึงคลัชจนเครื่องเล็กหมุนเครื่องใหญ่ ในขณะที่เครื่องเล็กกำลังหมุนเครื่องใหญ่อยู่นั้น ให้ดูว่าเกจวัดความดันน้ำมันเชื้อเพลิงทำงานได้ถึงขีดที่กำหนดไว้แล้ว จึงดึงคันปิดวาวเครื่องใหญ่กลับที่เดิม(ปิดวาว) เครื่องยนต์เครื่องใหญ่ก็จะติดเครื่องและปลดเกียร์ปลดคลัชเครื่องเล็กออกมาอยู่ในตำแหน่งว่างทันทีพร้อมด้วยดับเครื่องเล็กให้เรียบร้อย

ข. คลัช จะต้องอยู่ข้างซ้ายมือเสมอเป็นคันยาวออกมาในเมื่อรถดันให้คันคลัชโยกไปข้างหน้า ก็แสดงว่าคลัชถูกปลดอยู่ในตำแหน่งว่าง แต่ถ้าเราดึงมาข้างหลังแรงๆ จนมีเสียงดังก้ก ก็แสดงว่าใส่คลัช ให้คลัชทำงาน

ค. คันเบรค จะมีเป็นคันยาวโผล่ออกมาตรงหน้าที่นั่งขับ 2 อัน สำหรับบังคับเลี้ยว ให้รถเลี้ยวซ้าย ขวา แต่รถบางชนิดที่โผล่ออกมา 2 อันนั้น คือคันคลัชเบรค และเมื่อดึงคลัชทั้งสองอันนี้มาข้างหลังรถก็จะหยุด  ซึ่งแสดงว่าคลัชทั้งสองบังคับอยู่ที่ล้อหลังข้างละอันแล้วจะมีขาเบรค ให้เราเบรคเลี้ยวอีกข้างละอัน  ดังนั้นถ้าจะเลี้ยวซ้ายให้ดึงคลัฃเบรคข้างซ้ายไปข้างหลังก่อน แล้วจึงเหยียบเบรคเพื่อให้รถเลี้ยว(จะต้องดึงคันคลัชก่อนเหยียบเบรคเสมอ)

ง. เกียร์ วิธีใช้เกียร์ก็ให้ใช้แบบเดียวกับรถแทรคเตอร์ธรรมดา(ล้อยาง)

จ. การใช้ ยกคันไฮดรอลิค หรือวิล เพื่อการทำงานนั้น ให้ใช้มือประคองในการทำงาน เช่น ให้ยกขึ้นสูงแค่ไหนหรือลงต่ำแค่ไหน

การใช้รถตีนตะขาบสำหรับดันต้นไม้หรือตอไม้ มีหลักดังนี้ คือ

1.  ดันต้นไม้ขนาดโตพอเหมาะกับกำลังของรถ

2.  ควรจะรู้ทิศทางของต้นไม้

3.  เข้าไปดันทางด้านที่ปลอดภัย  เช่นไม่มีกิ่งผุหรือกิ่งที่ไม่แน่ใจ ว่าจะหักลงมาทับทั้งคนและรถ จะต้องดันเหนือลมหรือตรงข้ามกับทางที่ต้นไม้เอนอยู่เสมอ

4.  การเคลื่อนรถเข้าไปจะดันต้นไม้นั้น ในระยะควรระวังอันตราย คือในระยะที่กระแทกต้นไม้

เมื่อเคลื่อนรถเข้าไปจะถึงต้นไม้ ก็ให้หยุดเสียครั้งหนึ่ง โดยให้ห่างจากต้นไม้ประมาณ 1 ฟุต แล้วค่อยๆ เคลื่อนรถเข้าไปดันลองดูนิดหน่อยก่อน เมื่อเห็นว่ารถของเราพอจะดันได้ก็ให้ดันต่อไป จนกว่าต้นไม้จะล้มลง

5.  ห้ามไม่ให้ใช้รถดันแบบกระแทกหรือกระแทกซ้อนๆ

6.  ในขณะที่ดันต้นไม้ให้มองดูยอดไม้และกิ่งไม้ข้างบนอยู่ตลอดเวลา จนกว่าต้นไม้จะล้ม หรือปลอดภัย

7.  เมื่อต้นไม้เอนไปแล้วประมาณ 70 องศา ถ้าหากว่าต้นไม้นั้นทำท่าจะไม่ล้ม ก็ให้ดันกระแทกซ้อนๆ ได้และเมื่อเอนลงไปได้ 45 องศา ก็ให้ถอยรถกลับที่เดิมเพราะรากของต้นไม้อาจอัดท้องรถทางด้านหน้า

8.  ถ้าหากว่าต้นไม้นั้นรถไม่สามารถจะดันได้ลงทีเดียวก็ให้ขุดด้วยมุมของใบมีด ตัดรากให้หมดเป็นแถบๆ ให้ลึกลงไปประมาณ 2 ฟุต หรือตัดรากใหญ่

การขุดต้นไม้นั้น ถ้าหากว่าขุดด้านเดียว ก็ให้ขุดทางด้านที่จะนำรถเข้าไปดัน เมื่อขุดเรียบร้อยแล้วก็ให้เอาดินบริเวณที่ขุดลงไปหรือที่บริเวณใกล้ๆ นั้นถมที่โคนต้นไม้ให้สูงกว่าที่เดิม 3 ฟุต ถึง 4 ฟุต แล้วแต่ความจำเป็นแล้วนำรถเข้าไปดัน

9.  เมื่อดันต้นไม้ล้มลงแล้วก็ให้ใช้ใบมีดดันกวาดไปทิ้งไว้เป็นกองๆ ที่ไม่เกะกะกับที่จะทำงานต่อไป

10.  การขับรถเดินหน้า หรือถอยหลังไม่ควรเกินระยะทาง 8 เมตร ในขณะที่ทำงาน

11.  ในการเดินรถไปหน้าหรือถอยหลังนั้น ควรยกใบมีดให้สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1 ฟุต ถึง 1 ½ ฟุต

การใช้รถตีนตะขาบดันจอมปลวกหรือตัดคันดิน

วิธีทำ คือ

1.  ใช้มุมใบมีดดันจอมปลวกทีละซีกๆ

2.  ถ้าหากว่าจอมปลวกนั้นแข็งมาก ไม่สามารถดันทีละซีกได้ ก็ให้แบ่งดันมาทีละครึ่งๆ ของการดันครั้งแรกเสมอ

3.  ถ้าหากว่าการปฏิบัติครั้งที่หนึ่งหรือที่สองไม่ได้ผลก็ให้สังเกตดูรอบๆ บริเวณจอมปลวกว่าดินตรงไหนอ่อนก็ให้ใช้รถดันตรงบริเวณนั้นก่อน แล้วค่อยๆ ดันจากที่อ่อนออกมาหาที่แข็ง พร้อมด้วยยกใบมีดช่วยงัดให้ดินแตกออกมาเป็นก้อนๆ ด้วย(บริเวณที่ดินอ่อนคือบริเวณที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นและใบเขียวสดชอุ่มอยู่ ซึ่งแสดงว่าในดินมีความชื้นอยู่มากพอ

4.  เมื่อดันจอมปลวกพังแล้วก็ดันเกลี่ยดินให้เรียบร้อยและรวดเร็ว  โดยการดันดินให้เต็มใบมีดเกลี่ยไปใส่ที่ลุ่ม

อันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงานเกี่ยวกับรถแทรคเตอร์

1.  ต้นไม้อาจล้มใส่หรือตีกลับมาทับรถ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จาก

-ดันต้นไม้ไม่ทันจะล้มแล้วรีบถอยกลับ

-ลมอาจพัดให้ต้นไม้ล้มทับรถในขณะที่ดันต้นไม้

-รถเครื่องดับหรือเสียอย่างกระทันหัน ในเมื่อดันต้นไม้ในระยะอันตราย

-ดันทางด้านที่ต้นไม้เอน

2.  กิ่งไม้อาจหักลงมาทับรถและคนขับในขณะกระแทกอย่างแรง

3.  ขณะที่ดันกวาดต้นไม้ ทางโคนหรือปลายไม้ขัดตัวเป็นสปริงตีรถ

4.  อาจตกหลุม บ่อ ลำห้วย ลำคลอง ในเมื่อมองทางข้างหน้าไม่เห็น

5.  เถาวัลย์จากต้นไม้ที่ดันลม อาจดึงต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ ให้หักหรือล้มลงมาทับรถได้

6.  ให้ระวังการดึงหรืลากของหนักด้วยโซ่หรือลวดสะริง ซึ่งอาจขาดหรือหลุด ตีคนที่อยู่ข้างๆ ในบริเวณรัศมีได้

7.  เมื่อล้อหลังติดคันดินและเครื่องยนต์กำลังเร่งอยู่เต็มที่ ล้อหน้าอาจยกตีลังกากลับหลังได้ถ้าไม่เหยียบคลัชบังคับให้หยุดเสียก่อน

การปรับแท็ค (ปรับโซ่ล้อของรถแทรคเตอร์ตีนตะขาบ)

ควรปรับเมื่อแท็คหย่อนหรือตึงเกินไป ควรปรับให้มีความตึงหย่อนให้ถูกต้องตามหนังสือคู่มือ หรือประมาณ 1-2 นิ้ว

วิธีการปรับแท็ค

1.  เดินรถไปในที่ที่เรียบในลักษณะเดินหน้า

2.  วัดดูความตึงหย่อนของแท็ค โดยการเอาไม้ที่ตรงๆ วางลงไปบนแผ่นแท็คตามยาว แล้ววัดระยะระหว่างแผ่นแท็คกับไม้(แผ่นแท็คตัวที่ต่ำที่สุด)

3.  ถ้าจำเป็นต้องปรับให้หมุนน็อตที่ล็อคคันสำหรับปรับแท็คออกให้หลวม (คันปรับแท็คจะอยู่ทางส่วนหลังของล้อหน้าและน็อตล็อคจะอยู่ติดกับคันบังคับล้อหน้า)

4.  หมุนคันปรับแท็คให้เข้าหรือออก เพื่อบังคับให้โซ่แท็คตึงหรือหย่อนตามความต้องการ

สำหรับการหมุนปรับแท็คนี้  ถ้าหากว่าหมุนหนักมากเกินไป ก็ควรหาแป๊บมาต่อให้ด้ามกุญแจยาวออกไปอีกเพื่อการผ่อนแรงในการหมุน เมื่อปรับเรียบร้อยแล้วก็หมุนน็อตล็อกเข้าที่เดิมให้แน่นให้หมด

การซ่อมแซมแท็ค

1.  เมื่อบู๊ดโซ่แท็คสึกหรอก็ควรถอดออกเปลี่ยนหน้าบู๊ดเสียใหม่ ถ้าบู๊ดตัวใดสึกหรอมากก็ควรเปลี่ยนใหม่

2.  เมื่อสันของแผ่นแท็ค(สันที่ใช้กดดิน) สึกหรอมากก็ควรซ่อมแซมโดยการเชื่อมให้สูงขึ้นมาตามขนาดที่ต้องการ

วิธีถอดตัดแท็คออก

ตามธรรมดาเมื่อตอนที่ใส่แท็คก็จะมีสลักตัวหนึ่งสำหรับถอดออก สลักตัวนี้จะมีจุคอัดไว้ข้างในหรือใช้แหวนกดเอาไว้ข้างนอก เพื่อป้องกันไม่ให้สลักหลุดออกมาได้ง่าย  ดังนั้นการถอดออกก็ให้ถอดจุคออกเสียก่อน แล้วจึงดันสลักที่ต่อแท็คนั้นออกไป แท็คข้างหนึ่งจะมีตัวสำหรับถอดอยู่อันหนึ่ง

การปรับคลัช(ใหญ่)

ปรับเมื่อรถทำงานหนักแต่ล้อไม่หมุน หรือคลัชเบาเกินไป  การปรับนี้จะต้องให้มีน้ำหนักสำหรับดึงเท่ากับจำนวนปอนด์ของหนังสือคู่มือประจำรถ เช่น รถขนาดใหญ่ประมาณ 40 ปอนด์

วิธีปรับคือ

1.  เปิดฝาปิดห้องคลัชออก

2.  หมุนน็อตล็อกจานกดคลัชออกให้หลวม

3.  หมุนจานกดคลัชให้เข้าไปข้างใน คลัชจะทำงานหนักเมื่อหมุนเข้าหรือหมุนออก จะต้องบังคับไม่ให้เพลาส่งกำลังที่ไปยังห้องเกียร์หมุน

วิธีปรับคลัชล้อ ปรับเมื่อคลัชไม่ทำงาน

1.  เปิดฝาปิดห้องคลัชที่ห้องคลัชล้อออก

2.  หมุนสกรูที่บังคับให้คลัชล้อจากกันมาก หรือน้อยแล้วล็อกให้แน่นและตรวจดูให้คันดึงบังคับฟรีประมาณ 2 นิ้ว หรือตามหนังสือคู่ประจำรถ

การปฏิบัติรักษาระบบไฮดรอลิค

1.  อย่าใช้ยกน้ำหนักให้เกินกำลัง

2.  อย่าให้น้ำมันรั่วหรือซึมหรือน้ำมันแห้งหรือเสื่อม

3.  อย่ายกน้ำหนักให้ขึ้นสูงกว่าที่กำหนดไว้  ถ้าหากว่ามีเสียงดังก๊กๆ ให้รีบลดลงและล็อกระดับยกเอาไว้ทันที อย่ายกให้สูงกว่านั้น

4.  ให้เติมน้ำมันที่สะอาด และทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำมันควรทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองด้วย