ข้อมูลของบัวหลวง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Nelumbo nucifera Gaertn
ชื่ออื่นๆ บัว (ทั่วไป) สัตตบงกช สัตตบุษย์ ปทุม (ภาคกลาง) โช๊ค (เขมร-บุรีรัมย์) ไน่จี๊ (จีน)
ชื่ออังกฤษ Sacred Lotus, Egyptian Lotus.
ลักษณะ เป็นไม้นํ้า มีเหง้าอยู่ในดินใต้นํ้า ลักษณะเหง้าเป็นท่อนยาวๆ ค่อนข้างกลม และมีข้อต่อกันเป็นปล้องๆ แต่ละปล้องยาวประมาณ 30-50 ซ.ม. มีเส้นผ่าศูนย์กลางของปล้องประมาณ 3-5 ซ.ม. สีนํ้าตาลอ่อนๆภายในเป็นรูคล้ายลังถึงต่อไปถึงก้านใบและก้านดอก ใบเดี่ยวหนารูปโล่เป็นมันสีเขียวอมเทา ผิวใบมีนวล แผ่นใบกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-50 ซ.ม. ก้านใบแทงออกมาจากลำต้นใต้ดินยาวมาก ชูแผ่นใบขึ้นเหนือนํ้า ดอกเดี่ยว ก้านดอกยาว ผิวก้านดอกและก้านใบจะมีเป็นหนาม ดอกมี 2 สี 4 พันธุ์ คือพันธุ์รูปทรงสลวย มี 2 สี สีชมพูเรียกปทุม สีขาวเรียก บุณฑริก พันธุ์รูปทรงป้อม มี 2 สี เช่นกัน สีชมพูเรียกสัตตบงกช สีขาวเรียกสัตตบุบย์ ดอกบานชูพ้นนํ้าในเวลากลางวันมีกลิ่นหอมอ่อนๆ บานแล้วจะไม่หุบ กลีบดอกจะร่วงหล่นโรยไป กลีบรองดอกมี 4 สีเขียวอ่อน ร่วงง่าย กลีบดอกมีมากหลายชั้นเมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-12 ซ.ม. เกสรตัวผู้มีเป็นจำนวนมากในดอกทรงสลวย ล้อมรอบรังไข่ซึ่งเป็นรูปคล้ายกรวยสีเหลืองอมเขียว มีไข่ฝังอยู่หลายใบห่างๆ กันในรูปกรวยนี้ และเจริญต่อไปเป็นฝักบัว ตรงกลางมีเมล็ดบัวหลายเมล็ดฝังอยู่
ส่วนที่ใช้ ใบสด ดอก กลีบดอก เกสรตัวผู้ ฝักบัว เมล็ดและดีบัว
สารสำคัญ เกสรตัวผู้มีนํ้ามันหอมระเหย
เมล็ดมีอัลคาลอยด์ nelumbin, ß-sistosterol โปรตีน 15.9% ไขมัน 2.8%
คาร์โบไฮเดรต 70% และวิตามินซี
ในเหง้ามีแป้ง 97% วิตามินซี โปรตีน และ asparagin.
ดีบัว มีอัลคาลอยด์หลายชนิด เช่น nelumbin, และ methylcorypalline.
ประโยชน์ทางยา เกสรตัวผู้ ออกฤทธิ์เป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้เข้ายาหอม ยาลม เป็นหนึ่งในเกสร ทั้ง 5 7 และ 9
เหง้า เป็นยาเย็น ใช้เหง้าบัวต้ม ช่วยระงับอาการท้องร่วงในเด็ก นํ้าเหง้าบัวต้มแก้อาการเมาเห็ด
ดีบัว มีอัลคาลอยด์ที่ไปช่วยขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ได้แก่ methylcorypalline
อื่นๆ ดอกบัวเป็นดอกไม้แห่งพระพุทธศาสนา นิยมใช้บูชาพระและใช้ในพิธีโยนบัว กลับบัว ใช้รีดให้แห้ง มวนบุหรี่ และยังใช้เป็นรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรม ทางพระพุทธศาสนา เช่นทำเป็นรูปกลีบบัวควํ่าบัวหงาย ฝักบัว เป็นอาหารที่มีคุณค่าสูง เหง้าบัว ใช้เชื่อม และเตรียมเป็นนํ้าสมุนไพรดื่ม เมล็ดบัว อาหาร มีคุณค่าทางอาหารสูงเช่นกัน ใบอ่อน เป็นผักจิ้ม ใบแก่ใช้ห่อของ
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ