จำปาเทศใบเล็ก

(Champa Thet bai Lack)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterospermum diversifolium Bl.
ชื่อวงศ์ STERCULIACEAE
ชื่ออื่น กะหนาย ขนาน จำปาเทศ ลำป้าง
ถิ่นกำเนิด มาลายูและภาคใต้ของประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 7-10ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปเจดีย์หรือรูปกรวยกว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาล ต้นมีอายุมากแตกหลุดล่อนเป็นสะเก็ด


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 5-6.5 ซม. ยาว 7.5-15 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ โคนใบรูปหัวใจเบี้ยว ขอบใบเว้าหรือเป็นติ่งไม่สม่ำเสมอ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว ย่นเป็นลอน สีเขียวสด ผิวใบด้านล่างมีนวลสีขาว เส้นแขนงใบนูนเด่น มีขนสีน้ำตาลปกคลุม ก้านใบยาว 0.8-1.2 ซม.


ดอก สีเหลืองนวลหรือขาว มีกลิ่นหอม ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบรูปขอบขนานแคบ ด้านในมีขนกำมะหยี่ ด้านนอกมีขนสีน้ำตาล กลีบดอก 5 กลีบ รูปช้อน ปลายกลีบกว้าง เกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์ 15 อัน ติดกันเป็น 5 มัด มัดละ 3 อัน เป็นหมัน 5 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 5-7 ซม.
ผล ผลแห้งแตกตามรอยประสาน ทรงกลมถึงรูปขอบขนาน กว้าง 8-12 ซม. ยาว 10-17 ซม.มีสันเป็นคลื่น 5 สันมีขนละเอียดสีน้ำตาล ปกคลุม เมื่อสุกสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดทรงแบนมีปีก สีน้ำตาลอมเหลือง จำนวนมาก ติดดอกออกผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และทาบกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบทางภาคตะวันออก และภาคใต้
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก แก้กระบังลมเคลื่อน (มดลูกเคลื่อน) เปลือก ราก เป็นยาเบื่อปลา
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย