มังคุด

(Mangosteen)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana L.
ชื่อวงศ์ GUTTIFERAE
ถิ่นกำเนิด คาบสมุทรมาเลย์และภาคใต้ของไทย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-12 ม. ขนาดทรงพุ่ม 5-8 ม. ทรงพุ่มรูปพีรามิดกว้าง แน่นทึบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มอมดำ แตกไม่เป็นระเบียบ ทุกส่วนมียางสีเหลืองข้น


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 8-10 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาแสะเหนียว สีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน ผิวใบด้านล่าง สีเขียวอมเหลืองใบอ่อนสีเขียวอมเหลือง ก้านใบอวบ ยาว 0.5-1 ซม.
ดอก สีครีมขอบสีแดงอมชมพู ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง อยู่รวมกัน 2-3 ดอก กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบเลี้ยงติดทนนานขนาดใหญ่ สีเขียวอมเหลือง ขอบกลีบสีแดง กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กลับหรือเกือบกลม กลีบดอกร่วงภายในวันเดียว เกสรเพศผู้จำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง ดอก 3.5-5 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-เม.ย.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 ซม. ปลายผลมียอดเกสรตัวเมียติดอยู่ซึ่งบอกจำนวนกลีบได้ สีเขียวอมเหลือง ผิวเรียบ เมื่อสุกม่วงแดงถึงดำ เมล็ดมีเนื้อสีขาวห่อหุ้ม เมล็ด
รูปรียาว 2-3 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน มี.ค.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เสียบยอดหรือทาบกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบชื้น พบมากทางภาคใต้
การใช้ประโยชน์ ผลแก่สุก เนื้อนิ่มมีรสหวาน เป็นที่นิยมรับประทาน ใบอ่อน ดอกกินเป็นผักจิ้ม
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือกผล บดต้มหรือชงแก้ท้องร่วง แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้ท้องเสีย ผสมน้ำปูน ทาสมานแผล เนื้อหุ้มเมล็ด แก้ร้อนใน ยางจากผล แก้บิดท้องร่วง ใส่แผลหนอง
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย