ผักกาดหอม

ผักกาดหอมเป็นผักที่ใช้บริโภคส่วนใบ เป็นผักจำพวกผักสลัดที่มีคุณค่า ทางอาหารสูง นิยมบริโภคกันแพร่หลายที่สุดในบรรดาผักสลัดด้วยกัน โดย ส่วนใหญ่นิยมใช้รับประทานสดและนำมาประกอบอาหารหลายชนิด คนไทยนิยมใช้ผักกาดหอมกินกับอาหารจำพวกยำต่าง ๆ สาคูหมู หรือข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น ประโยชน์ของผักกาดหอมนอกจากจะใช้กินเป็นผักสดที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังจัดเป็นอาหารทางตาด้วยโดยการนำมาตกแต่งอาหารให้มี สีสันสวยงามนำรับประทานมากขึ้น นอกจากนี้ผักกาดหอมยังมีคุณสมบัติในการเป็นยาอีกด้วย ความต้องการผักกาดหอมมีอยู่ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทคกาลต่าง ๆ จึงนับได้ว่าผักกาดหอมเป็นผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ชนิดหนึ่งที่นับวันจะทวีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ผักกาดหอมมีชื่อเรียกอื่น ๆ ได้หลายชื่อเช่น ภาคเหนือเรียกว่าผักกาดยี ภาคกลางเรียกว่าผักสลัด เป็นต้น ผักกาดหอมเป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูล Com- positae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lactuca sativa มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียและ ยุโรป มีปลูกในประเทศไทยมาช้านานแล้ว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ราก รากของผักกาดหอมเป็นระบบรากแก้ว มีรากแก้วที่แข็งแรง อวบอ้วน และเจริญอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อปลูกในดินร่วนปนทรายที่มี ความชื้นเพียงพอ รากแก้วสามารถหยั่งลึกลงไปในดินได้ถึง 5 ฟุต หรือมากกว่า แต่รากแก้วจะเสียหายในขณะที่ย้ายปลูก ดังนั้นรากที่เหลือจะเป็นรากแขนง ซึ่งแผ่กระจายอยู่ใต้ผิวดินประมาณ 1-2 ฟุต โดยปริมาณของรากจะอยู่รวมกัน เป็นกลุ่มหนาแน่น ไม่ค่อยแพร่กว้างออกไปมากนัก อย่างไรก็ตามการย้ายปลูกนั้นมีผลดีในการช่วยให้ผักกาดหอมประเภทหัวห่อหัวได้ดีขึ้น

ลำต้น ลำต้นของผักกาดหอมในระยะแรกมักจะมองไม่ค่อยเห็น เนื่องจากใบมักจะปกคลุมไว้ จะเห็นชัดก็ต่อเมื่อระยะแทงช่อดอก ลักษณะลำต้นผักกาดหอม จะตั้งตรงสูงชะลูดขึ้นจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ลำต้นมีลักษณะอวบอ้วน ถ้าปลูกในที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ๆ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 2 นิ้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อสั้น แต่ละข้อจะเป็นที่เกิดของใบ

ใบ ใบแตกออกมาจากลำต้นโดยรอบ สีใบมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียวปนเหลือง จนถึงสีเขียวแก่ บางพันธุ์มีสีแดงหรือนํ้าตาลปนอยู่ ทำให้มีสีแดง บรอนซ์หรือนํ้าตาลปนเขียว พันธุ์ที่ห่อเป็นหัวจะมีใบหนา เนื้อใบอ่อนนุ่ม ใบ จะห่อหัวอัดกันแน่นคล้ายกะหลํ่าปลี ใบที่ห่ออยู่ข้างในจะเป็นมัน บางชนิดมีใบม้วนงอเปราะมีเส้นใบเห็นได้ชัด ขอบใบมีลักษณะเป็นหยัก ขนาดและรูปร่างของใบผักกาดหอมจะแตกต่างกันตามชนิด

ดอกและช่อดอก ดอกผักกาดหอมมีลักษณะเป็นช่อแบบที่เรียกว่า panicle ประกอบด้วยกลุ่มของดอกที่อยู่เป็นกระจุกตรงยอดแต่ละกระจุก ประกอบด้วยดอกย่อย 15-25 ดอกหรือมากกว่า ก้านช่อดอกจะยาวประมาณ 2 ฟุต ช่อดอกอันแรกจะเกิดที่ยอดก่อน จากนั้นจะเกิดช่อดอกข้างตรงมุมใบขึ้นภายหลัง ช่อดอกที่เกิดจากส่วนยอดโดยตรงจะมีอายุมากที่สุด ส่วนช่อดอกอื่น ๆ จะมีอายุรองลงมา ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีเหลือง ตรงโคน เชื่อมติดกัน รังไข่มี 1 ห้อง เกสรตัวเมียมี 1 อัน มีลักษณะเป็น 2 แฉก เกสรตัวผู้ 5 อัน รวมกันเป็นยอดยาวห่อหุ้มก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียไว้

เมล็ด เมล็ดผักกาดหอมเป็นชนิดเมล็ดเดียว (achene) ซึ่งเจริญมาจากรังไข่อันเดียว เมล็ดจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดบาง เปลือกเมล็ดจะไม่แตกเมื่อเมล็ดแห้ง เมล็ดของผักกาดหอมมีลักษณะแบนยาว หัวท้ายแหลมเป็นรูปหอก มีเส้นเล็ก ๆ ลาดยาวไปตามด้านยาวของเมล็ดที่ผิวเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดมีสีเทาปนครีม ความยาวของเมล็ดประมาณ 4 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร

ชนิดและพันธุ์ผักกาดหอม

ผักกาดหอมที่ปลูกและใช้บริโภคกันในปัจจุบันสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะคือ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหอมใบ และผักกาดหอมต้น ซึ่งมีลักษณะดังนี้

ผักกาดหอมห่อ (Head lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ใบห่อเป็นหัว ซึ่งเกิดจากการที่ใบเรียงซ้อนกันหนามาก ผักกาดหอมห่อนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ด้วยกันคือ

1. ชนิดห่อหัวแน่น (Crisp head) ลักษณะใบบาง กรอบ เปราะง่าย เห็นเส้นกลางใบชัดเจน ใบห่อเป็นหัวแน่นแข็งคล้ายกะหลํ่าปลี เป็นชนิดที่นิยมกันมากในทางการค้าเพราะสามารถขนส่งได้สะดวก ผักกาดหอมชนิดนี้ได้แก่ พันธุ์ เกรทเลค (Great lake), นิวยอร์ค (Newyork), อิมพิเรียล (Imperial), โปรกรีสส์ (Progress) เป็นต้น

2. ชนิดห่อหัวไม่แน่น (Butter head) ลักษณะห่อเป็นหัวหลวม ใบจะอ่อนนุ่มและผิวใบเป็นมัน ใบไม่กรอบเหมือนชนิดห่อหัวแน่น ใบที่ซ้อนอยู่ ข้างในจะมีลักษณะเหมือนถูกเคลือบด้วยนํ้ามันหรือเนยคืออ่อนนุ่มและเป็นเมือก ลื่น ๆ ใบข้างในซ้อนทับกันแน่นพอประมาณ สีเหลืองอ่อนคล้ายเนย เป็น ผักกาดหอมชนิดที่ชอบอากาศหนาวเย็น ไม่ทนทานต่ออากาศร้อน แต่อายุการเก็บเกี่ยวจะเร็วกว่าชนิดห่อหัวแน่น พันธุ์ที่นิยมได้แก่พันธุ์บิ๊ก บอสตัน (Big Boston), ไวท์ บอสตัน (White Boston) เป็นต้น

3. ชนิดห่อหัวหลวมค่อนข้างยาว เป็นผักกาดหอมชนิดที่ใบห่อเป็นรูป กลมยาวหรือรูปกรวย ลักษณะหัวคล้ายผักกาดขาวปลี ใบมีลักษณะยาวและ แคบ ใบแข็ง นิยมกันมากในทวีปยุโรป แบ่งออกเป็น 2 พวก คือพันธุ์ที่มีหัวขนาดใหญ่ ได้แก่พันธ์ถปารีส ไวท์ (Paris White), ไวท์ ฮีท (White Heart)

เป็นต้น และพันธุ์ที่มีหัวขนาดเล็ก ได้แก่พันธุ์ ลิทเติ้ล เจม (Little Gem)

ผักกาดหอมใบ (Leaf lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ใบไม่ห่อเป็นหัว นิยมปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย ผักกาดหอมประเภทนี้ใบจะกว้างใหญ่และหยิกเจริญเติบโตออกไปทางด้านบนและด้านข้าง ไม่ห่อเป็นหัว ต้นเป็นพุ่มเตี้ย ผักกาดหอมใบจะทนต่ออากาศร้อนได้ดีกว่าประเภทอื่น ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ชนิดที่มีสีเขียวทั้งต้น ได้แก่พันธุ์ Grand Rapids, Simpson’s Curled, Boston Curled และ Slobott เป็นต้น

2. ชนิดที่มีสีนํ้าตาลทั้งต้น ได้แก่พันธุ์ Prize Head เป็นต้น

ผักกาดหอมต้น (Stem lettuce) เป็นผักกาดหอมที่ปลูกเพื่อใช้ลำต้น รับประทานเท่านั้น มีลักษณะลำต้นอวบ ลำต้นสูง ใบจะเกิดขึ้นต่อ ๆ กันไป จนถึงยอดหรือช่อดอก ใบจะมีลักษณะคล้ายผักกาดหอมใบ แต่ใบจะเล็กหนา และสีเข้มกว่า มีทั้งชนิดกลมและยาว ไม่ห่อหัว โดยทั่วไปไม่ค่อยนิยมปลูกกัน ได้แก่พันธุ์ Celtuce

สำหรับในประเทศไทยนั้น ผักกาดใบเป็นที่นิยมปลูกและบริโภคกัน มากกว่าผักกาดหอมชนิดอื่น ๆ เนื่องจากสามารถทนอากาศร้อนได้ดีกว่า ผักกาดหอมชนิดอื่น

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ผักกาดหอมเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด ไม่ว่า จะเป็นดินเหนียว ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย แต่สามารถปลูกผักกาดหอม ได้ผลดีที่สุดในดินร่วน ซึ่งมีการระบายนํ้าและระบายอากาศดี ความเป็นกรด เป็นด่าง (pH) ของดินอยู่ระหว่าง 6.0-6.8 มีความชื้นในดินพอสมควร พื้นที่ ปลูกผักกาดหอมควรให้ได้รับแสงเต็มที่ตลอดวัน เพราะผักกาดหอมต้องการแสงเต็มที่ตลอดวัน ผักกาดหอมเป็นพืชฤดูเดียวเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมนั้นถ้าเป็นผักกาดหอมใบจะอยู่ระหว่าง 21-26 องศาเซลเซียส แต่ถ้าผักกาดหอมห่อหัวจะอยู่ระหว่าง 15.5-21 องศาเซลเซียส หากปลูกผักกาดหอมในสภาพอุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำให้ผักกาดหอมมีรสขม และแทงช่อดอกเร็ว แต่อย่างไรก็ตามผักกาดหอมสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์

การเตรียมดิน

แปลงเพาะกล้า การเตรียมแปลงเพื่อทำการเพาะกล้านั้นจะทำสำหรับ การปลูกผักกาดหอมห่อหัว ส่วนการปลูกผักกาดหอมใบนั้นไม่ต้องทำการ เพาะกล้า ทำการหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง การเตรียมแปลงเพาะกล้าโดยขุดหรือไถพลิกดินให้ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้วตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสมลงในดิน พรวนย่อยหน้าดินให้ละเอียด แล้วทำการโรยเมล็ดลงเพาะ ถ้าต้องการปลูกผักกาดหอม 1 ไร่ ควรเตรียมแปลงเพาะกล้าขนาดประมาณ 2-2.5 ตารางเมตร

แปลงปลูก การเตรียมดินสำหรับปลูกผักกาดหอมใบซึ่งเป็นการเตรียมดินเพื่อหว่านเมล็ดโดยตรง หรือเตรียมดินสำหรับปลูกผักกาดหอมจากการเพาะกล้ามาแล้ว ควรขุดหรือไถพลิกดินลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 7-10 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ คลุกให้เข้ากับดิน แล้วพรวนย่อยหน้าดินให้ละเอียดพร้อมที่จะทำการหว่านเมล็ดหรือนำต้นกล้ามาปลูก

การเพาะกล้า

การเพาะกล้าจะทำเมื่อปลูกผักกาดหอมห่อ เพาะกล้าในแปลงขนาด 2-2.5 ตารางเมตร สำหรับปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 50 กรัม (ประมาณ 4 หมื่นเมล็ด) หลังจากเตรียมแปลงเพาะแล้วให้หว่านเมล็ดลงบน แปลงให้กระจายไปทั่วแปลง แล้วใช้ดินที่ผสมกับปุ๋ยคอกโรยทับบาง ๆ คลุม ด้วยฟางข้าว รดนํ้าให้ชุ่ม หรือจะใช้วิธีโรยเป็นแถว ให้แต่ละแถวห่างกัน ประมาณ 10 เซนติเมตร ดูแลรักษาจนกระทั่งกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ ให้ทำการ ถอนต้นกล้าออกบ้างเพื่อไม่ให้เบียดกันแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้ต้นกล้า เกิดโรคโคนเน่าและต้นกล้าอ่อนแอได้ เมื่อต้นกล้ามีอายุ 25-30 วัน หรือมีใบจริง 3-4 ใบ จึงทำการย้ายกล้าลงปลูกในแปลง

การปลูก

ผักกาดหอมสามารถปลูกได้ทั้งวิธีการหว่านเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรงและการย้ายกล้าปลูก มีทั้งการปลูกแบบแถวเดียวและแบบแถวคู่ มีวิธีการดังนี้

การปลูกโดยการหว่านเมล็ด เป็นวิธีการปลูกที่นิยมใช้กับผักกาดหอมใบ โดยการหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วทั้งผิวแปลงปลูกอย่างสมํ่าเสมอ หรือโรยเมล็ดลงในแปลงเป็นแถวก็ได้ แต่ก่อนหว่านเมล็ดควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น แคปแทนหรือไธแรม เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน หลังจาก หว่านเมล็ดแล้วให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายดัวดีแล้วหว่านกลบหนาประมาณ 5 – 1 เซนติเมตร แล้วคลุมดินด้วยหญ้าแห้งหรือฟางแห้งสะอาดบาง ๆ รดนํ้า ด้วยบัวฝอยละเอียด

เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ ให้รีบถอนแยกต้นที่อ่อนแอทิ้ง และจัดระยะระหว่างต้นให้พอเหมาะ ถ้าแน่นทึบเกินไปกล้าผักจะตายง่าย และทำการถอนแยกครั้งสุดท้ายเมื่ออายุได้ 3 สัปดาห์พร้อมกับจัดระยะระหว่างด้น 20 X 20 เซนติเมตร หรือ 30 X 30 เซนติเมตร หากปลูกในช่วงหน้าร้อนควรมีการคลุมแปลงปลูกเพื่อพรางแสงแดด จะทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น โดยใช้ไม้ไผ่หรือไม้ทำโครงสูง 2-2.5 เมตร แล้วใช้ไม้ไผ่พาดและมุงด้วยทางมะพร้าว

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ใช้หว่านในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ประมาณ 1-2 ลิตร แต่ถ้าใช้วิธีหยอดเมล็ดเป็นแถวโดยให้มีระยะระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 100-160 กรัมต่อไร่

การปลูกโดยการย้ายกล้าปลูก การปลูกด้วยวิธีนี้สามารถใช้ได้กับผักกาดหอมทุกพันธุ์ ประหยัดเมล็ดพันธุ์ เป็นการปลูกโดยการเพาะกล้าในแปลงเพาะเสียก่อน เมื่อต้นกล้ามีอายุ 25-30 วันหรือมีใบจริง 3-4 ใบ จึงทำการย้ายกล้าลงปลูกในแปลงปลูก โดยเลือกเฉพาะต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์ไปปลูก ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวที่เหมาะสมคือผักกาดหอมใบใช้ ระยะ 25 X 30 เซนติเมตร ผักกาดหอมห่อหัวใช้ระยะปลูก 40 X 40 เซนติเมตร ก่อนย้ายกล้าประมาณ 2-3 วัน ควรงดการให้นํ้า เพื่อให้ต้นกล้า แกร่งไม่เปราะง่าย ควรย้ายกล้าในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น หรือช่วงที่อากาศมืดครึ้ม ก่อนทำการย้ายต้นกล้าจากแปลงเพาะกล้าประมาณ 30 นาที ให้รดนํ้าต้นกล้าพอดินเปียก เพื่อให้ง่ายต่อการถอน การย้ายควรทำด้วยความระมัดระวังเพราะต้นกล้าบอบชํ้าง่าย การถอนไม่ควรใช้วิธีจับต้นดึงขึ้น ทางที่ดีควรหาแผ่นไม้บาง ๆ หรือเสียมเล็ก ๆ แทงลงไปในดินแล้วงัดขึ้นมาให้ดินเป็นก้อนติดกับต้นกล้าให้มากที่สุด แล้วรีบนำไปปลูกให้เร็วที่สุด

วิธีการปลูกโดยใช้มือจับใบเลี้ยงคู่แรกใบใดใบหนึ่งแล้วหย่อนโคนลงไป ในหลุม แล้วกลบดินลงไปให้เสมอระดับหลังแปลง กดดินให้จับรากพอสมควร จากนั้นใช้บัวฝอยละเอียดรดนํ้ารอบ ๆ ต้นให้น้ำค่อย ๆ ไหลไปหากันที่หลุม อย่ารดกรอกลงไปที่ต้น ถ้าเตรียมดินปลูกดีนํ้าจะซึมไหลลงหลุมเร็วที่สุด คลุมดินรอบ ๆ โคนต้นด้วยฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดบาง ๆ เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เมื่อปลูกเสร็จแล้วควรทำร่มบังแดดให้ในวันรุ่งขึ้น อาจใช้กะลาครอบ กาบกล้วยเสียบไม้บัง หรือใช้ไม้บังรอบ ๆ หรือใช้กระทงใบตองปิดก็ได้ ควรปิดบังแดดไว้ประมาณ 3-4 วันจึงเอาออก เพื่อช่วยให้ต้นกล้าฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

สำหรับฤดูปลูกผักกาดหอมในประเทศไทยนั้น ผักกาดหอมใบสามารถ ปลูกได้ตลอดปี ส่วนผักกาดหอมห่อหัวปลูกได้ผลดีในช่วงฤดูหนาวประมาณ เดือนตุลาคมถึงธันวาคม

การปฏิบัติดูแลรักษา

ผักกาดหอมเป็นผักที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างดีสมํ่าเสมอ เพราะเป็นผักที่ใช้ประโยชน์จากส่วนยอดและใบ หากยอดถูกทำลายแล้วถึงแม้จะมียอดเกิดขึ้นใหม่ก็ได้ขนาดไม่เท่ายอดเดิม ดังนั้นผู้ปลูกจะต้องปฏิบัติดูแลรักษาเป็นพิเศษอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งนอกเหนือจากการปฏิบัติดูแลรักษาตามปกติ

การให้น้ำ เนื่องจากผักกาดหอมเป็นผักรากตื้นจึงไม่สามารถดูดนํ้าในระดับลึกได้ จึงควรให้น้ำอย่างสมํ่าเสมอและเพียงพอ โดยในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังจากย้ายปลูกควรให้นํ้าทุกวันในตอนเช้าและเย็น โดยใช้บัวฝอยละเอียดรดรอบ ๆ โคนต้น ไม่รดจนแฉะเกินไป และให้น้ำแบบวันเว้นวันในสัปดาห์ต่อ ๆ มา สำหรับผักกาดหอมใบนั้นควรจะมีการให้น้ำอย่างสมํ่าเสมอและเพียงพอ เนื่องจากอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ส่วนผักกาดหอมห่อหัวนั้นควรดูจากสภาพความชื้นในดินเป็นสำคัญ แต่ในระยะที่กำลังห่อหัวอยู่นั้นไม่ควรให้นํ้าไปถูกหัวเพราะอาจทำให้เกิดโรคเน่าเละได้

การใส่ปุ๋ย ช่วงเตรียมดินควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองพื้นประมาณ 2-3 ตันต่อไร่ เมื่อผักกาดหอมอายุได้ 7 วันควรใส่ปุ๋ยยูเรีย โดยละลายนํ้ารดในอัตรา 1 ช้อนแกงต่อนํ้า 1 ปีบ ต่อเนื้อที่ 5 ตารางเมตร รดวันเว้นวัน เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก

เมื่อผักกาดหอมอายุได้ 15-20 วัน ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สำหรับพันธุ์ใบ และใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-3 สำหรับพันธุ์ห่อหัว ในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินแต่ละแห่งด้วย ผักกาดหอมต้องการธาตุโปแตสเซียมมากกว่าไนโตรเจน โปแตสเซียมจะทำให้ใบผักกาดหอมบางและไม่มีรอยจุดบนใบ ผักกาดหอมที่ได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไปจะทำให้ใบมีสีเขียวเข้ม รสชาติไม่อร่อย

การใส่ปุ๋ยผักกาดหอมพันธุ์ใบควรใส่ทั้งหมดในครั้งเดียวตอนเตรียมดินปลูก แต่สำหรับผักกาดหอมห่อหัวควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือครั้งแรกใส่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน โดยใส่ตอนปลูกแล้วพรวนดินกลบ ส่วนที่เหลือใส่เมื่ออายุได้ 21 วัน โดยโรยข้างต้นห่าง ๆ แล้วพรวนดินกลบ

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวของผักกาดหอมขึ้นอยู่กับพันธุ์เป็นสำคัญ อายุการเก็บเกี่ยวผักกาดหอมใบประมาณ 40-50 วันหลังจากหว่านเมล็ดลงแปลง การเก็บควรเลือกเก็บขณะที่ใบยังอ่อน กรอบ ไม่เหนียวกระด้าง ไม่ควรเก็บขณะต้นแก่เพราะจะมีรสขม วิธีการตัดโดยใช้มีดตัดตรงโคนต้น แล้วตัดแต่งใบเสียทิ้งไป ชุบนํ้าเพื่อล้างยางสีขาวออกและสลัดนํ้าออกให้หมด เพราะถ้ามีนํ้าขังอยู่จะเน่าเสียได้ง่าย หลังจากนั้นนำไปจัดเรียงใส่เข่งที่รองก้นด้วยใบตอง หรือใบไม้อื่นๆ ผลผลิตประมาณ 1,100-3,000 กิโลกรัมต่อไร่

สำหรับผักกาดหอมห่อหัวอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-70 วัน ควรเก็บขณะที่ห่อหัวแน่นไม่หลวม รูปร่างค่อนข้างกลมแบน ไม่ควรปล่อยให้แก่เกินไปเพราะหัวจะยืดตัวไปทางตั้งและแทงช่อดอก ทำให้เสียคุณภาพ วิธีการ เก็บเกี่ยวโดยใช้มีดตัดโคนต้นแล้วตัดแต่งใบรอบนอกที่เปื้อนดินสกปรกและถูกโรคแมลงทำลายออกเล็กน้อย จากนั้นนำไปผึ่งในที่ร่มที่อากาศถ่ายเทดีให้แผลที่ตัดแห้งเพื่อลดการเน่าเสียขณะขนส่ง ในการเก็บเกี่ยวผักกาดหอมควรเก็บในเวลาเย็นและฝนไม่ตก ถ้าเก็บในขณะฝนตกหรือนํ้าขังอยู่ตามใบจะทำให้ผักกาดหอมเน่าเสียได้ง่าย

โรคและแมลง

โรคเน่าเละ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia sp. เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทำให้ผลผลิตผักกาดหอมเสียหายอย่างมาก เป็นได้ทั้งในแปลงปลูกและโรงเก็บ นอกจากนั้นยังสามารถเกิดโรคได้ในขณะวางตลาด และเมื่อผู้บริโภคซื้อไปแล้วก็อาจเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

ลักษณะอาการ อาการทั่วไปที่เกิดกับผักกาดหอมห่อเริ่มจากแผลรอยชํ้าเล็ก ๆ เป็นจุดฉ่ำนํ้า เมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแผลจะขยายตัวทุกทิศทาง ทั้งด้านยาว กว้างและลึก เนื้อเยื่อของพืชส่วนนั้นจะอ่อนยุบตัวลงและเน่าอย่าง รวดเร็ว ทำให้ส่วนนั้นเปื่อยเละเป็นนํ้าภายในเวลาอันรวดเร็ว มีเมือกเยิ้ม มี กลิ่นแรงมาก กลิ่นนี้จะเป็นกลิ่นเฉพาะของโรคนี้ หลังจากนั้นผักจะเน่ายุบตายไปทั้งต้น ซึ่งอาจแห้งเป็นสีนํ้าตาลอยู่บนผิวดิน อาการเน่ามักจะเริ่มที่โคนก้านใบ หรือตรงกลางลำต้นก่อน

การป้องกันกำจัด ควรปฎิบัติดังนี้

1. ในการเก็บเกี่ยวควรใช้มีดคม ๆ ตัดให้ขาดเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลชํ้า เพื่อป้องกันการเกิดแผลซึ่งจะเป็นทางเข้าทำลายของเชื้อ

2. หลังจากเก็บเกี่ยวควรผึ่งผักไว้ในที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อให้แผลตรงรอยตัดแห้ง และทาปูนแดงที่แผลด้วย

3. การบรรจุภาชนะต้องระวังอย่าให้เกิดการเบียด ซึ่งจะทำให้เกิดแผลชํ้าหรือฉีกขาด ควรล้างหรือทำความสะอาดภาชนะเสียก่อน

4. ใช้สารเคมีปฏิชีวนะ เช่น อะกริมัยซิน อัตรา 10-20 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร พ่นทุก ๆ 7 วัน

โรคเน่าดำ นับเป็นโรคที่สำคัญของผักกาดหอม สาเหตุเกิดจากเชื้อ แบคทีเรีย Xanthomonas campestris พบระบาดทั่วไปตามแหล่งที่มีการปลูกผัก โดยเฉพาะในฤดูฝนหรือฤดูที่มีความชื้นสูง ชาวสวนบางแห่งรู้จักกันดี ในนามของโรคใบทอง เพราะลักษณะอาการที่พืชแสดงออกมาเมื่อเป็นมาก โดยทั้งแปลงจะมีใบแห้งเป็นสีนํ้าตาลหรือเหลืองคล้ายสีทอง เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคนี้จะอาศัยอยู่ในดิน เมื่อฝนตกจะระบาดไปทั่ว นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดไปกับเมล็ดได้อีกด้วย

 

ลักษณะอาการ เชื้อสาเหตุสามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ในระยะต้นกล้าหรือต้นอ่อนพืชมักจะตายทันที โดยจะพบว่าที่ขอบใบ หรือใบเลี้ยงมีอาการไหม้แห้ง เส้นใบเน่าเป็นสีดำ ใบที่แสดงอาการจะบางกว่าปกติ ต่อมาใบจะแห้งเป็นสีนํ้าตาลและหลุดออกจากต้น หากไม่ตายในระยะนี้ ก็จะเกิดการชะงักการเจริญเติบโต ใบที่อยู่ตอนล่าง ๆ ของต้นจะหลุดร่วงไป ส่วนใบที่เหลืออยู่จะมีสีเหลืองและเส้นใบมีสีดำ ในต้นที่โตแล้วจะพบอาการ บนใบแก่ที่อยู่ส่วนล่าง ๆ ของต้น โดยอาการจะเริ่มเหลืองและแห้งตายบริเวณขอบใบขึ้นก่อน แล้วค่อย ๆ ลามลึกเข้ามาในเนื้อใบตามแนวเส้นใบที่อยู่ระดับเดียวกันจนจรดแกนกลางของใบ ทำให้เกิดอาการเหลืองหรือแห้งสีนํ้าตาล เป็นรูปตัววี (V) ขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะอาการเฉพาะของโรคนี้ ในรายที่เป็นรุนแรงเชื้อจะเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ที่ก้านใบ เมื่อนำเอาใบเหล่านี้มาตัดหรือผ่าออกตามขวางจะเห็นส่วนที่เป็นท่อนํ้าเน่าเป็นสีดำ

การป้องกันกำจัด เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ งดปลูก ผักกาดหอมในดินที่เคยมีโรคระบาดมาก่อน เก็บทำลายเศษซากพืชที่แสดง อาการของโรคให้หมดโดยการฝังดินลึก ๆ หรือเผาไฟ สำหรับในแปลงปลูก หากมีโรคเกิดขึ้นกับต้นใดต้นหนึ่งแล้วต้องรีบป้องกันต้นอื่น ๆ ที่เหลือทันที โดยการฉีดพ่นสารเคมี เช่น สเตรปโตมัยซิน 400-800 ppm หรือพวกที่มีธาตุ ทองแดง เช่น คูปราวิท 40 กรัมต่อนํ้า 1 ปีบ ทุกๆ 5-7 วันต่อครั้ง

โรครานํ้าค้าง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Peronospona parasitica โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่เริ่มงอกจากเมล็ด จนกระทั่งโตเป็นต้นแก่ อาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นที่ด้านใต้ใบ โดยจะสังเกตเห็นกลุ่มผงสีขาวหรือสีเทาของสปอร์และเส้นใยของเชื้อราเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ ต่อมาด้านหลังใบตรงที่เดียวกันก็จะเกิดแผลสีเหลืองเนื่องมาจากมีเซลล์ตายขึ้น และจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลในที่สุด เนื้อใบตรงที่เกิดแผลจะมีลักษณะบางและขอบแผลมีขอบเขตไม่แน่นอน แต่ค่อนข้างจะเป็นรูปเหลี่ยม ในกรณีที่เป็นรุนแรง มีแผลเกิดขึ้นจำนวนมากทั่วไปอาจทำให้ทั้งใบเหลืองและแห้งตาย สำหรับใน ใบอ่อนหรือใบเลี้ยงเมื่อเริ่มมีแผลสีเหลืองขึ้นที่ด้านหลังใบ ใบมักจะหลุดร่วง ออกจากต้นก่อนที่จะแสดงอาการมากกว่านี้ หากเกิดโรคนี้ในระยะต้นกล้ามักจะรุนแรง ทำให้ต้นโทรม อ่อนแอ และอาจถึงตายได้

การป้องกันกำจัด เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ ควรปลูกพืชสลับหมุนเวียนกันบนแปลง และควรปลูกให้ระยะต้นห่างกันพอสมควร ไม่เบียดกันแน่นจนเกินไป ในกรณีที่เกิดโรคขึ้นกับผักในแปลงปลูกแล้วอาจป้องกันและลดความเสียหายจากโรคลงได้ โดยใช้สารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้ฉีดพ่นให้กับผักทุกๆ 3-5 วันต่อครั้ง เช่น มาเน็บ 50% หรือซีเน็บ อัตรา 30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร แคปแทน 50 % อัตรา 30-45 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร แคปตาฟอลหรือบราโว 75 % อัตรา 30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร เป็นต้น

โรคใบจุดของผักกาดหอม สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Cercospora longissima อาการมักพบที่ใบแก่และใบล่างของต้น โดยอาการเริ่มแรกจะเกิดเป็นจุดเล็ก ๆ สีนํ้าตาล โดยเริ่มจากขอบใบแล้วต่อมาจุดแผลจะขยายสู่ส่วนกลางของใบ ขอบแผลมีสีนํ้าตาลเข้ม ส่วนกลางของแผลจะแห้งและเป็นจุดสีฟางข้าว ทำให้ดูคล้ายตากบ เมื่อแผลลุกลามมารวมกันมาก ๆ จะทำให้เกิดอาการใบไหม้ ทั้งใบ

การป้องกันกำจัด โดยการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอยู่เสมอ และเก็บใบหรือส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย และใช้สารเคมีดังต่อไปนี้ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุกๆ 5-7 วัน เช่น เบนโนมิล 50% อัตรา 6 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร, แมนโคเซ็บ 80 % อัตรา 30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร, คาร์เบนดาซิม อัตรา 10 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร, มาเน็บ อัตรา 30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร, แคปตาฟอล อัตรา 30 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร เป็นต้น

เพลี้ยอ่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lipaphis erysimi ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้ออกจากท้องแม่ได้โดยที่ไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์ ตัวอ่อนเมื่อออกจากแม่ใหม่ ๆ จะพบว่ามีลำตัวขนาดเล็กมากต้องส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน นัยน์ตาสีดำ ขาทั้ง 3 คูมีสีเดียวกับลำตัว หนวดสั้น รูปร่างคล้ายตัวเต็มวัย ระยะเป็นตัวอ่อนจะมีการลอกคราบ 4 ครั้ง ตัวอ่อนมีอายุประมาณ 5-6 วัน หลังจากนั้นก็จะเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยมีทั้งพวกที่มีปีก และไม่มีปีก ระยะตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-18 วัน ตัวเต็มวัยตัวหนึ่ง สามารถออกลูกได้ตลอดชีวิตประมาณ 75 ตัว

ลักษณะการทำลาย เพลี้ยอ่อนชนิดนี้สามารถทำลายพืชได้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการดูดกินนํ้าเลี้ยงจากพืชทั้งส่วนยอด ใบอ่อน และใบแก่ ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัดคือยอดและใบจะหงิกงอ เมื่อเพลี้ยอ่อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พืชก็จะเหี่ยว ใบที่ถูกทำลายจะค่อย ๆ มีสีเหลือง แคระแกร็น นอกจากนี้เพลี้ยอ่อนยังอยู่ตามซอกใบซึ่งเป็นที่รังเกียจของผู้บริโภคที่ต้องลอก กาบใบออกทุกใบเพื่อล้างนํ้าก่อนรับประทาน

การป้องกันกำจัด เมื่อพบเพลี้ยอ่อนเข้าทำลายควรใช้สารเคมีกลุ่ม มาลาไธออน มีชื่อการค้า เช่น มาลาเทน, มาลาไธออน 83 % ในอัตรา 30-55 ซีซี.ต่อนํ้า 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน นอกจากนี้ อาจใช้ในอัตรา 5 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ทำการพ่นเป็นครั้งคราว ยาชนิดนี้ เป็นยาที่เหมาะสำหรับสวนผักหลังบ้าน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

หนอนคืบกะหลํ่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichoplusia ni ตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อขนาดกลาง กางปีกเต็มที่ยาว 3 เซนติเมตร สีเทาดำ กลางปีกคู่หน้า มีจุดสีขาวข้างละ 1 จุด แม่ผีเสื้อจะวางไข่สีขาวนวลใต้ใบเม็ดกลมเล็ก ๆ ไข่จะถูกวางเดี่ยว ๆ ทั่วไป ไข่มีอายุ 3 วันจึงฟักออกเป็นตัวหนอน หนอนที่มีขนาดเล็กจะแทะผิวใบด้านล่าง หนอนในระยะนี้จะมีสีใส ต่อมามีสีเข้มขึ้น เมื่อโตเต็มที่มีสีซีดลง มีสีขาวพาดยาว หนอนเมื่อโตเต็มที่ยาว 4 เซนติเมตร อายุหนอนประมาณ 2 สัปดาห์จึงเข้าดักแด้ ดักแด้จะอยู่ใต้ใบคลุมด้วยใยบาง ๆ สีขาว ดักแด้ในระยะแรกจะมีสีเขียวอ่อน ต่อมามีบางส่วนเป็นสีนํ้าตาล มีขนาดยาวเกือบ 2 เซนติเมตร อายุดักแด้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงเข้าระยะตัวเต็มวัย ซึ่งตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์

ลักษณะการทำลาย หนอนคืบกะหลํ่าเป็นหนอนที่กินจุ เข้าทำลาย ผักกาดหอมในระยะที่เป็นตัวหนอน โดยจะกัดกินเนื้อใบจนขาดและมักจะเหลือเส้นใบไว้ หนอนชนิดนี้เมื่อเกิดระบาดแล้วจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก

การป้องกันกำจัด ตรวจดูไข่หรือตัวหนอนในระยะเล็ก ๆ หากพบให้ใช้สารกำจัดแมลงฉีดพ่น เช่น ฟอสดริล, แลนเนท เป็นต้น หากใช้ในขณะที่ หนอนยังมีขนาดเล็กจะได้ผลดี หากการระบาดมีอยู่ตลอดเวลาควรพ่นสาร กำจัดแมลงดังกล่าวทุกๆ 5-7 วันต่อครั้ง