พริกและคุณค่าทางอาหาร

พริก(CHILLI OR HOT PEPPER)

ชื่อของพริกที่มีปลูกกันในบ้านเรา มีผู้เรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภาค เช่น

พริกขี้หนู มีชื่อเรียกอื่นๆว่า…ดีปลี ดีปลีขี้นก พริกขี้นก พริกนก พริกแต้ พริกแด้ หมักเพ็ด

พริกชี้ฟ้า มีชื่อเรียกอื่นๆว่า…พริกหลวง พริกแล้ง พริกเดือยไก่ พริกหนุ่ม

พริกยักษ์ มีชื่อเรียกอื่นๆว่า…พริกหวาน พริกมะยม

ทุกคนคงทราบกันดีว่า “พริก” เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญและผูกพันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยเรามาตั้งแต่โบราณกาล ดังจะเห็นได้จากอาหารที่รับประทานกันในแต่ละมื้อของแต่ละวันนั้นต้องมีพริกเป็นส่วนประกอบในการปรุงแต่งรสอาหาร เครื่องแกงต่างๆ กันทุกครัวเรีอน นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมของยาต่างๆ ทั้งรับประทานและถูทาภายนอกร่างกาย เช่น ยาช่วยเจริญอาหารและขับลม ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด แก้ไอ ฯลฯ ตลอดจนใช้ผสมสุราทาบริเวณที่ถูกแมลงกัด หรือต่อย สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ และความเผ็ดร้อนจะช่วยให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในปัจจุบันนี้พริกเป็นพืชหนึ่งที่นิยมปลูกกันทั่วไป ทั้งเป็นพืชผักสวนครัวและมีการปลูกกันเป็นอาชีพในทุกภาคของประเทศ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับผู้ปลูกได้มากพอสมควร จากสถิติการปลูกพริกของประเทศไทยในปีเพาะปลูก ๒๕๒๕/๒๕๒๖ ของกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่าพริกเล็ก (พริกขี้หนู) มีการปลูกกันมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๗๙,๙๖๘ ไร่ และปลูกรองๆ ลงไปในภาคเหนือ ๗๖,๙๘๑ ไร่ ภาคดะวันตก ๔๓,๗๘๑ ไร่ ภาคใต้ ๓๕,๘๗๒ ไร่ ภาคตะวันออก ๗,๕๐๐ ไร่ และภาคกลางมีการปลูกน้อยที่สุดประมาณ ๖,๘๙๐ ไร่ นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีการปลูกพริกชนิดอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะพริกใหญ่(พริกชี้ฟ้า) เพื่อใช้ทำเป็นพริกแห้งอีกเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

คุณค่าทางอาหารของพริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้า ในส่วนที่รับประทานได้ ๑๐๐ กรัม (จากหนังสือคู่มือเกษตรกร: ๒๕๒๔) มีดังนี้

พลังงาน                    ๑๐๓.๐                     แคลอรี่

ไขมัน                             ๒.๔                     กรัม

คาร์โบไฮเดรต            ๑๙.๙                     กรัม

เยื่อใย                            ๖.๕                      กรัม

โปรตีน                           ๔.๗                      กรัม

แคลเซียม                  ๔๕.๐                   มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส                 ๘๕.๐                   มิลลิกรัม

เหล็ก                             ๒.๕                     มิลลิกรัม

ไวตามินเอ         ๑๑,๐๕๐.๐                 หน่วยสากล

ไวตามินบี ๑          ๐.๒๔                   มิลลิกรัม

ไวตามินบี ๒         ๐.๒๙                    มิลลิกรัม

ไนอาซีน               ๒.๑๐                    มิลลิกรัม

ไวตามินซี             ๗๐.๐                    มิลลิกรัม