พะยูงหรือประดู่ลาย

(Siamese Rose Wood)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis Pierre
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่น กระยง กระยุง ขะยุง ประดู่ลาย พะยุง พะยูงไหม
ถิ่นกำเนิด พม่าและไทย


ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-25 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปไข่หรือแผ่กว้าง โปร่ง เปลือกต้นสีเทาเรียบ แตกไม่เป็นระเบียบและหลุดล่อนเป็นแผ่น
ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 10-15 ซม. ใบย่อย 7-9 ใบเรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-7 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่งทู่ โคนใบมนกว้าง ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวนวล


ดอก มีสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 10-15 ซม. ดอกย่อย คล้ายรูปดอกถั่วจำนวนมาก ยาว 0.8-1 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน เป็นรูประฆัง ขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก มีขนสั้น กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน ดอกร่วงพร้อมกัน ภายใน 2-3 วัน ออกดอกเดือน ก.พ.-พ.ค.
ผล ผลแห้ง เป็นฝักทรงแบนเกลี้ยง รูปขอบขนานและบาง กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 4-5 ซม. ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด เมล็ดเป็นรูปไตสีนํ้าตาลเข้ม 1-4 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือน มี.ค.-มิ.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบแล้งที่ความสูง 100-200 ม. จากระดับ นํ้าทะเล
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมม่วง ถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทานขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือนเกวียนเครื่องกลึง แกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย