พาร์สเลย์(Parsley)

ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชอายุยาวมาก ให้ผลผลิตทยอยเป็นเวลานาน เกษตรกรสามารถมีรายได้ไปเรื่อยๆ ตลอดฤดู ถ้ามีการจัดการดี น้ำหนักน้อย แต่ได้ราคาดี ตลาดค่อนข้างจำกัดยังไม่เป็นที่รู้จักกันดี เป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอดฤดูปลูก แต่ไม่ควรมีน้ำขังหรือมีความชื้นสูง จะทำให้เป็นโรคได้ง่าย
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Nakazota
ฤดูปลูก ตลอดปี
ระดับความสูง 600 เมตร ขึ้นไป
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    30×30 ซม.
ความลึก 5-7 ซม.
จำนวนต้น 10 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1 เมตร
การเตรียมกล้า
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    2×10 ซม.
ความลึก 1-2 ซม. 500 ต้น/ตร.ม.(คาดว่ากล้าจะเสีย 30%) เพียงพอสำหรับย้ายปลูกในพื้นที่ 30-35 ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 1 เมตร
อายุถึงวันเก็บเกี่ยว 55-60 วัน เก็บเกี่ยวได้นานถึง 12 เดือน
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน ไม่มี
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยอ่อน (Aphids) พบช่วงฤดูร้อน ดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ใบและต้นแคระแกร็น วิธีป้องกันแก้ไข ฉีดพ่น ฮอสตาไธออน (Hostathion) แลนเนท (Lannate) หรือ เซฟวิน 85 (Sevin 85) เมื่อพบแมลง 15 วัน/ครั้ง
หนอนกระทู้ดำ (Black Cut worm) พบช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว (ธ.ค.-มี.ค.) สังเกตจากการกัดกินลำต้น ระดับดิน หลังการย้ายปลูก ป้องกันโดยใช้ แลนเนท นูวาครอน (Nuvacron) หรือ คูมิฟอส (Kumiphos) ละลายน้ำรดดินบริเวณโคนต้นเมื่อย้ายปลูกหรือพบตัวหนอน 2-3 ครั้ง ทุก 7-10 วัน
โรค
ต้นเน่า (Stem Rot) พบช่วงฤดูฝน ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น โคแมค (Comac) หรือ คูปราวิท (Cupravit) ทุก 15 วัน ถ้าจำเป็น
โรคเน่าเละ (Soft Rot) มักเกิดขึ้นในฤดูฝน โดยน้ำพาเชื้อแบคทีเรียเข้าตามรอยตัดหรือแผลตามลำต้น ถ้าเก็บเกี่ยวใบบ่อย โอกาสเป็นโรคก็มาก ป้องกันแก้ไขด้วยการอย่าให้น้ำขัง หรือขุดทำลายต้นที่เป็นโรค ใช้โคแมค ผสมน้ำ ราดบริเวณโคนต้นที่เป็นโรคและฉีดพ่น โคแมค หลังเก็บเกี่ยวใบ
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงเตรียมกล้า
ขุดแปลง โรยปูนขาว ปุ๋ยคอก ปุ๋ย 0-4-0 และ 15-15-15 คลุกเคล้าลงในดิน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ใช้ไม้ขีดร่องขวางแปลงลึก 2-3 ซม. ห่างกัน 10 ซม. หยอดทีละเมล็ดห่างกัน 2 ซม. กลบดินบางๆ ใช้ เซฟวิน 85 และโคแมค ผสมน้ำรดแปลง ใช้โครงไม้ไผ่ค้ำตาข่ายสีฟ้าคลุมเหนือแปลงรักษาความชื้นและป้องกันฝนตกกระแทกย้ายกล้าลงถุงเมื่ออายุ 45 วัน อยู ในถุง 30 วัน จึงย้ายปลูก เมื่อย้ายกล้าลงถุง ค่อยๆ ขุด ไม่ให้รากกระทบกระเทือน ถุงเพาะกล้าบรรจุส่วนผสมของดินในอัตราดิน 1 ม.³ ขี้ไก่ 1 กก. ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 50 กรัม ปูนขาว 10-15 กรัม รดน้ำถุงเพาะกล้าทุก 2-3 วัน ฉีดพ่นสารเคมี ถ้ามีปัญหา
ข้อควรระวัง
1. รดน้ำทุกวันจนกว่าเมล็ดงอกสมบูรณ์
2. ช่วงฤดูฝน พบโรคโคนเน่า ก้านใบเน่า คล้ายโรคราเม็ดผักกาด
ช่วงปลูก
ขุดพลิกดิน ตากแดด 7 วัน ขุดหลุมลึก 10-15 ซม. ระยะห่าง 30 ซม. ย้ายกล้าจากถุงอายุ 25-30 วัน ลงหลุมซึ่งรองพื้นด้วยปูนขาว ปุ๋ยคอก ปุ๋ย 15-15-15 เติมดินให้หลุมลึกเพียง 10 ซม. รดน้ำให้ชุ่มแล้วจึงย้ายกล้าลงแปลงปลูก กลบดินจนหน้าแปลงเรียบ ใช้แลนเนทผสมน้ำรดแปลงป้องกัน หนอนกระทู้ดำ
ข้อควรระวัง
1.แปลงปลูกควรระบายน้ำดี
2. อย่าให้หลังแปลงแน่นเกินไป ระบบรากจะกระจายได้น้อย
ช่วงดูแลรักษา
ใส่ปุ๋ย 40-0-0 และ15-15-15 อัตราส่วน 1:2 เมื่อ 7-10 วันหลังย้ายปลูก ขุดรอบต้นความลึก 2-3 ซม. โรยปุ๋ยแล้วกลบดินพร้อมรดน้ำ หลังการให้ปุ๋ยครั้งแรก 2 สัปดาห์ ให้ปุ๋ย 15-15-15 สลับกับ 13-13-21 ทุกๆ 15-20 วัน จนหมดฤดูการผลิต (9-12 เดือน) ถ้าปรากฎใบเหลือง ใส่ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 50 กรัม/ตร.ม. ฉีดพ่นยาครั้งแรกเมื่อพืชตั้งตัว และถ้าจำเป็นฉีดต่อไปทุกๆ 15 วัน ในฤดูร้อน รดน้ำทุก 2-3 วัน
ข้อควรระวัง
1. ถ้าขาดน้ำ ก้านใบสั้นไม่ได้ขนาดตามตลาดต้องการ
2. พบเพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ดำ โรคเหี่ยวเฉา และก้านใบเป็นจุดดำ
3. การดูแลรักษาที่ดี ทำให้เก็บผลผลิตได้ระยะยาว
ช่วงเก็บเกี่ยว
เริ่มเก็บเกี่ยว 45-50 วัน หลังย้ายปลูก เลือกเก็บใบกลาง ทิ้งใบนอกไว้เลี้ยงต้น และเว้นต้นอ่อนที่จะเติบโตต่อไป ค่อยๆ เด็ดตรงโคนต้นให้ได้ก้านใบยาว 10-15 ซม. ในช่วงฤดูฝนให้ทำความสะอาดผลผลิตผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ตัดแต่งก้านใบ ห่อด้วยกระดาษครั้งละ 10-15 ก้านใบ บรรจุลงเข่งลำไย ทำการเก็บเกี่ยววันที่ขนส่ง ไม่ควรทิ้งข้ามคืน
ข้อควรระวัง
เก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวัง อย่าให้ต้นโยกคลอน
ที่มา: ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่