มะกอกป่า

(Hog Plum)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias pinnata (L.f.) Kurz
ชื่อวงศ์ AMACARDIACEAE
ชื่ออื่น กอก กอกเขา กูก มะกอก
ถิ่นกำเนิด ตอนใต้ของจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10- 15 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมกว้าง ค่อนข้างโปร่ง เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับที่ปลายกิ่ง แกนกลาง ใบประกอบยาว 20-30 ซม. ใบย่อย 4-6 คู่ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. ปลายใบติ่งแหลม โคนใบสอบ เบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้มเรียบเกลี้ยงใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง


ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 20-30 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่แคบ ปลายแหลมโค้ง เกสรเพศผู้สีเหลืองเป็นกระจุก 8-10 อัน เส้นผ่าน ศูนย์กลางดอก 0.3-0.5 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมหรือรูปไข่ กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 3-4.5 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลือง มีเนื้อและชั้นหุ้มเมล็ด แข็งรูปไข่ ผิวเป็นเสี้ยนขรุขระ ซึ่งภายในมีแกนเป็นรูปดาว เมล็ดรูปรี สีน้ำตาล ติดผลเดือน เม.ย.-มิ.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามที่ราบชายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณและป่าทุ่ง
การใช้ประโยชน์ ยอดอ่อนและใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสด กินกับส้มตำ ลาบ ยำ อาหารที่มีรสจัด ผลสด มีรสเปรี้ยวใช้ตำน้ำพริก ส้มตำ และปรุงอาหารอื่นๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เผ่ากะเหรี่ยงใช้ใบเคี้ยวกินแก้ท้องเสีย ผล เปลือก ใบ กินเป็นยาบำรุงตา ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำเลือดออกตามไรฟัน เนื้อในผล แก้ธาตุพิการ เปลือก ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย