ว่านหางจระเข้มีสรรพคุณดังนี้


ชื่อวิทยาศาสตร์ 1. Aloe perryi Baker
2. A. barbadensis Mill.
3. A. ferox Mill.
4. Aloe spp.
ชื่ออื่นๆ ว่านไฟไหม้ (เหนือ) หางตะเข้ (กลาง) นำเต็ก (จีน)
ชื่ออังกถษ Aloe, Star Cactus, Aloin, Jafferabad, Barbados.


ลักษณะ เป็นไม้ล้มลุก มีอายุหลายปี สูง 0.5-2 เมตร ข้อและปล้องสั้น ใบหนาอุ้มนํ้า ภายในใบมีเป็นวุ้นใสสีเขียวอ่อนๆ และนํ้ายางสีเหลือง ใบยาวแหลมเรียงรอบลำต้น ใบกว้าง 6-12 ซ.ม. ยาว 30-80 ซ.ม. ขอบใบมีหนาม ใบอ่อนสีใบ เขียวอ่อนมีประขาว ดอกช่อจะออกตรงกลางต้นก้านช่อดอกยาวมากชูตั้งตรง ดอกสีแดงหรือสีส้มเป็นหลอดบานจากล่างไปบน ถ้าปลูกว่านหางจระเข้ในที่มีอากาศร้อนและอยู่ริมทะเลจะให้ปริมาณของนํ้ายางสีเหลืองมาก
ส่วนที่ใช้ นํ้ายางสีเหลือง วุ้นจากใบ
สารสำคัญ ในใบจะให้ยาดำ คือ ส่วนที่เป็นนํ้ายางสีเหลือง ยาดำมีสารไกลโคไซด์พวก anthraquinone เป็น barbaloin (aloe-emodin anthrone C-10 glucoside) และ chrysophanic acid. ในวุ้นหรือ mucilage มีสาร aloctin A. หรือ lectin P-2 เป็นสารพวก glycoprotein มี enzymes และมีน้ำตาลหลายชนิด
การทำให้ได้สาร barbaloin
นำใบว่านหางจระเข้สดที่โตเต็มที่ตัดด้านโคนใบเป็นรูปตัว V รองน้ำยางสีเหลืองให้ไหลลงในภาชนะ เทนํ้ายางใส่ลงในหม้อทองแดงนำไปต้มให้ระเหยแห้งพอควรเทลงในพิมพ์ ทิ้งไว้ให้เย็นจะได้ยาดำเป็นก้อนสีดำๆ แข็ง ผิวเป็นมัน มีกลิ่นชวนอาเจียน
ถ้าเป็นว่านหางจระเข้ที่ปลูกกันเป็นไม้ประดับ จะไม่มีนํ้ายางมากพอที่จะหยด จึงต้องปอกเปลือกนอกของส่วนของใบ ขยำแล้วกรองเอากากออก จึงนำส่วนที่ได้ไปเคี่ยว
มีผู้แยกสาร aloctin A ได้ในปี 1979 จาก Aloe arborescense

ประโยชน์ทางยา ยาดำใช้เป็นยาถ่ายจะออกฤทธิ์ที่ลำไส้ใหญ่ ขนาดที่ใช้ 250 มิลลิกรัม วุ้นจากใบใช้รักษาแผลไฟไหม้ การอักเสบของผิวหนัง รักษาแผลที่เกิดจากการไหม้ของเอกซเรย์และแสงแดด เนื่องจากสาร aloctin A จะออกฤทธิ์สมานแผลและลดการอักเสบ ช่วยกระตุ้นให้เซลล์ที่แผลเจริญเร็วขึ้น ใช้ผสมในขี้ผึ้ง ใช้ทากันผิวหนังถูกแสงแดดป้องกันเนื้อไหม้เกรียม และป้องกันรังสี แก้คัน ใบสด ฝานหนาๆ ทาปูนแดงด้านหนึ่ง และเอาด้านที่ทาปูนแดงปิดขมับ แก้ปวดศีรษะ
อื่นๆ ใช้วุ้นจากใบสด เตรียมเป็นเครื่องสำอาง เช่น แชมพู ครีมกันแดด โลชั่น สบู่ แป้งฝุ่นและอื่นๆ
วุ้นทาแก้ฝ้า จุดด่างดำบนใบหน้า
ใช้วุ้นลอยแก้ว และเตรียมเป็นนํ้าว่านหางจระเข้ ใช้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
ข้อควรระวัง ใบว่านหางจระเข้ที่ตัดออกจากต้น สารสำคัญในใบจะสลายตัวหมดไปเรื่อยๆ ดังนั้นจะใช้ต้องตัดมาจากต้นใหม่ๆ จึงจะได้ผลดี
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ