สมุนไพรรักษาโรคลิ้วไหม


สนหมอก

ชื่อ
จีนเรียก    ซีลิ้ว ซาชุงลิ้ว Tamarix chinensis Lour.

ลักษณะ
อยู่ในวงศ์ต้นหางกระรอกพวกเดียวกับต้นสนหมอก โดยมากมีคนปลูก สูงประมาณ 10 ฟุต กิ่งก้านอ่อนใบเล็ก สีเขียวแกมนํ้าเงิน ยาวไม่เกิน 1 หุน ขึ้นตามกิ่ง ออกดอกหน้าร้อนและหน้าฤดูใบไม้ร่วงรวม 2 ครั้ง ดอกรูป 5 แฉก เกสรผู้ 5 เกสรเมีย 1

รส
รสหวานแกมฝาด ธาตุเย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
แก้ร้อนใน ขับลม ขับเหงื่อ แก้พิษ ฤทธิ์ยาเข้าถึงปอดและตับ

รักษา
เด็กออกหัด อีสุกอีใส แก้หวัดดับร้อน แก้ปวดร้อน มีอาการไอ เป็นหวัด
ตัวร้อน ปวดหัวตัวร้อน ขัดเบา

ตำราชาวบ้าน
1. แก้เด็กออกหัด อีสุกอีใสออกไม่ตลอด – ใช้กิ่งใบหนัก 1 ตำลึง ต้มกับกวยแชะ หรือต้มกับแห้ว 3 ตำลึง
2. เด็กเกิดอีสุกอีใส – ใช้กิ่งใบ 1 ตำลึง ต้มกวยแชะ
3. เด็กเป็นหวัดตัวร้อน – ใช้กิ่งใบ 1 ตำลึง ต้มกวยแชะหรือต้มกับเสือสามขา 1 ตำลึง
4. ไอเพราะปอดร้อน – ใช้กิ่งใบครึ่งตำลึง ต้มกับลูกพลับแห้ง 1 แว่น และน้ำตาลแดง
5. หวัดลมร้อน – ใช้กิ่งใบ ใบหม่อน ใบเก็กฮวย อย่างละ 1 ตำลึง ต้มเติมเกลือนิดหน่อย รับประทาน
6. ปวดหัวตัวร้อน – ใช้กิ่งใบและยอดใบไม้ไผ่ อย่างละ 1 ตำลึง ต้ม
7. เด็กขัดเบาถ่ายไม่คล่อง – ใช้กิ่งใบและรากหญ้าคา ใบบัวบก
อย่างละครึ่งตำลึง พร้อมยอดไม้ไผ่ 30 ยอด ต้มพร้อมกวยแชะ

ปริมาณใช้
สดไม่เกินครึ่งถึง 1 ตำลึง แห้ง 3 เฉียน ถึงครึ่งตำลึง

ข้อควรรู้
ห้ามกินเมื่อหัดหรืออีสุกอีใสออกหมดแล้ว

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช