สิ่งที่ช่วยเสริมให้ผักเกิดโรคได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น

การที่พืชผักจะเกิดเป็นโรคได้ง่าย เร็ว และรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยดังนี้

1. ลักษณะประจำพันธุ์ของพืช

กรรมพันธุ์หรือลักษณะประจำพันธุ์ของพืชนับว่ามีส่วนช่วยที่ทำให้พืชมีความอ่อนแอ (susceptible) หรือต้านทาน (resistance) ต่อการเกิดโรคต่างกันออกไป และคุณสมบัตินี้ยังสามารถถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลานหรือต้นที่เกิดใหม่ได้ เรื่องพันธุ์พืชที่มีความง่ายหรือยากต่อการเกิดโรคนี้ นอกจากลักษณะบางประการที่เกี่ยวกับพันธุกรรม (gene) เฉพาะที่มีอยู่ในพืชแต่ละต้นแล้ว ยังรวมไปถึงลักษณะทางรูปร่าง (morphology) ของพืช เช่น ต้นเป็นพุ่ม เตี้ย สูง หรือ เป็นเถาเลื้อย ลักษณะใบเล็กเป็นแผ่นกว้าง หรือเป็นเส้นเรียวจำนวนใบมากหรือน้อย รวมไปถึงลักษณะทางกายภาพของพืช เช่น ลำต้นมีเปลือกบางหรือหนาแข็ง มีเซลล์ cambium หรือ meristemetic ที่อ่อนแอ หรือแข็งแรง มีสารพวกไขมัน พวก wax หรือ cutin ฉาบเคลือบปิดอยู่ที่ผิวด้านนอกหนา หรือบางมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นลักษณะทางสรีระวิทยา ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมของพืช เช่นความช้า-เร็วในการสร้างความเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ อัตราความมากน้อยในการระเหยน้ำ (transpiration) การหายใจ (respiration) เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางหรือมีส่วนที่จะทำให้พืชผักง่ายหรือยากต่อการเกิดโรคได้ทั้งสิ้น

2. ขาดการเอาใจใส่ดูแลที่ดีต่อพืซชที่ปลูก

ในขณะที่พืชผักกำลังเจริญเติบโต หากปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลที่ดี เช่น ไม่ได้รับน้ำและธาตุอาหารจำเป็นเพียงพอและถูกต้องต่อความต้องการของพืช ปล่อยให้ดินปลูกแห้งหรือแฉะเกินไป มีวัชพืชขึ้นรกรุงรัง ไม่รีบทำลายต้นที่อ่อนแอหรือต้นที่พบว่าเป็นโรคเสียตั้งแต่แรกเริ่มเป็น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเริ่มต้นการปลูกพืชที่ไม่ดี ตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์ ตา กิ่งตอน ต้นตอ หัวหรือหน่อที่ไม่บริสุทธิ์มีเชื้อติดมาตลอดจนการปลูกพืชผักชนิดเดียวกันซ้ำซากติดต่อกันลงในดินแปลงเดิมที่เคยปลูกโดยเฉพาะที่เคยมีโรคเกิดขึ้นมาก่อน เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางที่ทำให้ผักมีโอกาสติดเชื้อ และเกิดโรคได้ง่ายขึ้นทั้งสิ้น

3. การเก็บเกี่ยวโดยปราศจากความระมัดระวัง

การเก็บเกี่ยวผลิตผลโดยวิธีที่ไม่เหมาะสมถูกต้อง และขาดความระมัดระวัง เช่น ใช้วิธีกระชาก ดึง หรือหัก อาจทำให้เกิดเป็นแผล ช้ำ ฉีกขาดหรือแตก ขึ้นกับผลิตผลที่เก็บหรือกับต้น กิ่ง ก้านที่ยังเหลืออยู่ในแปลงรอยแผลเหล่านี้ มักจะเป็นจุดเริ่มหรือบ่อเกิดของการติดโรคเนื่องจากจะมีอาหารจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไหลซึมออกมาอยู่ที่บริเวณแผลดังกล่าว ทำให้เชื้อโรคซึ่งมีโอกาสตกลงไปเจริญเติบโต เข้าไปภายในแล้วก่อให้เกิดโรคขึ้นในที่สุด ตัวอย่างโรคผักที่พบว่าเกิดโดยผ่านทางแผลช้ำฉีกขาดซึ่งเกิดจากการเก็บเกี่ยว ที่พบเสมอได้แก่โรคแอนแทรคโนสของพวกผัก ถั่วต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum sp. โรคเน่าของหัวมันเทศที่เกิดจากเชื้อรา Rhizopus sp. โดยที่สปอร์ของเชื้อนี้จะงอกทันทีเมื่อตกลงสู่แผลดังกล่าวจากนั้นเส้นใยที่งอก (germ tube) ก็จะแทรกผ่านเข้าไปภายในทางแผลนั้น ต่อมาก็จะเจริญเติบโตแพร่กระจายไปยังเซลล์หรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง แล้วก่อให้เกิดอาการเน่าขึ้นในที่สุด โรคเน่าเละ (soft rot) ของผักชนิดต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovora ก็เป็นโรคหนึ่งที่พบว่าเชื้อจะเข้าไปสู่ภายในพืชแล้วก่อให้เกิดอาการเน่าขึ้นได้ก็เฉพาะโดยผ่านทางแผลซึ่งเกิดขึ้นที่ผิวของพืชขณะทำการปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับพืชระหว่างการเก็บเกี่ยว และการขนส่งเท่านั้น

4. การใช้สารเคมีชนิดที่ไม่ถูกต้องกับพืช

การนำเอาสารเคมีชนิดต่างๆ มาใช้ประกอบในการปลูกพืชนั้นให้ทั้งประโยชน์และโทษ เช่นการให้ปุ๋ยในรูปของอาหารเสริมเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต เพิ่มปริมาณของผลผลิต การใช้ฮอร์โมนในการป้องกันกำจัดวัชพืช โรค และแมลงศัตรูพืชเหล่านี้หากใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมก็เกิดประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามหากใช้โดยปราศจากความระมัดระวังขาดความรู้ หรือใช้ผิดละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ถูกต้องก็กลับจะก่อให้เกิดผลเสียกับพืชได้ เช่น ทำให้พืชแสดงอาการผิดปกติในลักษณะเป็นแผล จุด ดวง ด่าง ต้นไหม้แห้ง เหี่ยวเฉา ผิดรูปผิดร่างอันเนื่องมาจากพิษของสารเคมีที่มีต่อพืชโดยตรง นอกจากนั้นสารเคมีอาจมีผลทางอ้อม โดยทำให้เนื้อเยื่อของพืชตรงที่ได้รับหรือถูกกับสารเคมีติดเชื้อเกิดโรคง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น สารพวก emulsifier (สารที่ช่วยทำให้สารเคมีที่มีลักษณะเป็นน้ำมันละลายเข้ากับนํ้าได้ดีขึ้น) จะทำให้ผักบล็อคโคลี ติดเชื้อ Peronospora sp. สาเหตุโรครานํ้าค้างได้ง่ายและเร็วขึ้น สารเคมีกำจัดราบางชนิดที่มีทองแดงเป็นส่วนผสมหากนำมาใช้กับต้นอ่อน หรือต้นกล้าผักที่เพิ่งย้ายมาปลูกรากยังไม่เข้าที่จะทำให้เกิดการเหี่ยวแห้งขึ้นกับต้น เนื่องจากทองแดงจะไปช่วยทำให้ผักระเหยน้ำเร็วขึ้น ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางอย่าง เช่น ไนโตรเจน ยูเรีย และแอมโมเนียมซัลเฟตหากใช้มากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะในระยะกล้าหรือต้นอ่อนจะทำให้เซลล์ของลำต้น อวบอ่อน ผิวบาง ง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อราที่ทำให้เกิด โรคเน่าคอดิน (damping-off) ที่เกิดจากเชื้อ Pythium sp. Phytophthora sp. Fusarium sp. และ Rhizoctonia sp. ยิ่งขึ้น

5. พืชมีความสมบูรณ์เกินไป

ความสมบูรณ์และเจริญเติบโตดีเกินไปของผักบางชนิดในบางครั้งกลับจะเป็นผลเสีย คือทำให้เกิดโรคบางอย่างได้ง่าย เช่น โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อ Septoria sp. โรคราแป้งขาวที่เกิดจากเชื้อ Erysiphe sp. ทั้งนี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงปริมาณแป้งและนํ้าตาลในพืช กล่าวคือหากพืชมีการเจริญเติบโตเป็นปกติภายในเซลล์พืชจะมีนํ้าตาลมากกว่าแป้ง โอกาสที่จะเกิดโรคก็น้อยหรือค่อนข้างยาก แต่ถ้าพืชมีความสมบูรณ์ดี เจริญเติบโตเร็วภายในเซลล์ก็จะมีแป้งมากกว่าน้ำตาล เมื่อถูกเชื้อเข้าทำลายในระยะนี้ เชื้อโรคก็จะใช้แป้งดังกล่าวเป็นอาหารได้เต็มที่ทำให้แพร่ทวีจำนวนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วสร้างอาการโรคได้รุนแรงยิ่งขึ้น

6. เมื่อพืชเป็นโรคหรือถูกเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่งเข้าทำลายมาก่อน

การที่พืชผักเป็นโรคใดโรคหนึ่งหรือมีเชื้ออย่างอื่นเข้าไปทำลายอยู่ก่อนย่อมทำให้พืชนั้นอ่อนแอลง เป็นช่องทางให้เชื้ออื่นตามเข้าไปก่อให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น มะเขือเทศหรือพริกที่ถูกไส้เดือนฝอยบางชนิดเข้าเกาะกิน บริเวณรากหรือโคนต้นอยู่ก่อนแล้วจะทำให้เกิดโรคเหี่ยวที่เกิดจากทั้งเชื้อราคือ Fusarium oxysporum และเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum ได้เร็วและดียิ่งขึ้น

7. สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมและขาดธาตุอาหารที่จำเป็น

หมายถึงการที่พืชผักอยู่ในสภาพที่ผิดปกติอันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม เช่นดินฟ้าอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น แสง ตลอดจนความเป็นกรดเป็นด่างของดินปลูกไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ขาดแร่ธาตุอาหารจำเป็นที่พืซต้องการ พืซก็จะอยู่ในสภาพที่อ่อนแอไม่มีความคงทนต่อการเข้าทำลายของเชื้อ หรือได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อยก็จะเกิดโรคขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง