สำมะง่า

(Garden Quinine)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum inerme (L.) Gaertก.
ชื่อวงศ์ LABIATAE
ชื่ออื่น สำลีงา สำมะลีงา (ภาคตะวันออก), เขี้ยวงู (ภาคตะวันตก) ส้มเนรา สักขรีย่าน สำปันงา (ภาคใต้), สำมะลีงา (ทั่วไป)
ถิ่นกำเนิด อินเดีย
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูง 1-3 ม. มีขนนุ่มคลุมส่วนอ่อนๆ ทั้งหมด


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี-หรือรูปไข่ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 5-8 ซม. ปลายและโคนแหลม ก้านใบสีน้ำตาลแดง


ดอก สีขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่งกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีเขียว และจะคงอยู่จนเป็นผล กลีบดอก เป็นหลอดยาว 1.5-2.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก เมื่อบานเส้นผ่าน ศูนย์กลาง 1-2 ซม. เกสรเพศผู้สีม่วงแดง ยาวพ้นปากหลอดดอก 2-3ซม. ปลายเกสรตัวเมียสีม่วงแดง ยาวพ้นปากหลอดดอก 1-2 ซม.


ผล รูปค่อนข้างกลม สีเขียว เมื่อแก่เป็นสีดำ กว้าง 0.5-0.8 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. 1-4 เมล็ดต่อผล
นิเวศวิทยา พบตามพื้นล่างของป่าชายเลน ลำต้นตรงหรืออ่อนเอนพิงต้นไม้อื่นชอบขึ้นอยู่ทางด้านหลังของป่าชายเลนที่มีดินเลนค่อนข้างแข็งหรือปนทราย
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบสด รักษาโรคผิวหนัง บรรเทา อาการบวม ฟกซํ้าจากการหกล้ม หรือกระทบกระแทก เอวเคล็ดใช้ใบสด ตำผสมเหล้า แล้วอุ่นใช้ไฟอ่อนๆ ทาถูบริเวณที่มีอาการ แก้ฝี ผิวหนัง มีผื่นคัน มีน้ำเหลือง ใช้ใบต้มเคี่ยวเอาน้ำชะล้างบริเวณที่มีอาการ แก้โรคผิวหนังผื่นคัน โดยต้มน้ำอาบ ราก เป็นยาต้มแก้ไข้ ต้มเดี่ยว กับน้ำมันพืชใช้เป็นยาถูนวดแก้ปวดข้อ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย