อาการโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

เชื้อราทำให้พืชเป็นโรค แสดงอาการเฉพาะแห่ง หรือทั่วทั้งต้นพืชขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อสาเหตุ และชนิดของพืช อาจเกิดกับพืชเฉพาะบางชนิด หรือหลายชนิด โดยทั่วไปพืชแสดงอาการแบบ necrosis,hypertrophy & hyperplasia และ hypoplasia & hypotrophy
อาการแบบ necrosis ที่พบทั่วไปมีดังนี้
1. ใบจุดเป็นอาการแผลเฉพาะแห่งบนใบพืช เนื่องจากเซลตาย
2. แห้งหรือไหม้ เป็นอาการที่เกิดบนใบ กิ่งก้านและช่อดอก ทำให้กลายเป็นสีน้ำตาลอย่างรวดเร็วและตายได้
3. Canker เป็นแผลเกิดจากเซลตายเฉพาะแห่ง มักทำให้ลำต้นของไม้บริเวณใต้แผลช้ำ ชุ่มน้ำ
4. รากเน่า เป็นการทำลายระบบรากของพืชทั้งหมด
5. โคนเน่าระดับดิน (damping-off) เป็นอาการที่เกิดกับพืชระยะต้นกล้าบริเวณโคนต้นที่อยู่ระดับดิน เนื่องจากเซลตาย และยุบตัวอย่างรวดเร็ว พืชมักล้มและเหี่ยว
6. โคนเน่า เป็นอาการที่เกิดบริเวณส่วนล่างของพืช เนื่องจากเซลหรือเนื้อเยื่อแยกออกจากกัน
7. เน่าเละ และเน่าแห้ง เนื่องจากบริเวณที่เป็นโรคอ่อนตัวเซลหรือเนื้อเยื่อหลุดแยกออกจากกัน มักพบกับผลไม้ ราก หัว ใบพืชที่อวบน้ำ
8. แอนแทรกโนส เป็นแผลที่เกิดจากเซลตาย แผลบุ๋ม เกิดที่ใบ ลำต้น ผล และดอก
9. scab เป็นแผลเฉพาะแห่ง ปกตินูนเล็กน้อย หรือบุ๋มลง และแตกเป็นเสก็ด เกิดกับใบ ผล หัว ฯลฯ
อาการดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้พืชแคระแกรน มีอาการให้เห็นลักษณะเฉพาะ เช่น ราสนิม ราน้ำค้าง เหี่ยว เป็นต้น
อาการแบบ hypertrophy & hyperplasia พืชมีอาการส่วนใดส่วนหนึ่ง มีขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อมีเซลขนาดโตกว่าปกติ หรือเนื้อเยื่อนั้นมีการแบ่งเซลเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้พืชบางส่วนมีขนาดใหญ่ หรือบิดเบี้ยวไป อาการที่พบทั่วไป มีดังนี้
1. รากบวมคล้ายกระบอง (clubroot)
2. ปุ่ม ปม (gall) ปกติมักมีเส้นใยของเชื้ออยู่ภายใน
3. อาการคล้ายหูด (wartslike) มักพบกับหัวและลำต้นพืช
4. อาการแตกพุ่มแจ้ (witches’ brooms) ลักษณะแตกกิ่งเป็นพุ่ม
5. ใบหด (leaf curl) ลักษณะบิดเบี้ยว ใบหนาและงอ
อาการแบบ hypoplasia & hypotrophy เป็นอาการของพืชที่แคระแกรน ไม่เจริญเติบโตตามปกติของพันธุ์พืช
จากอาการของโรคทั้ง 3 แบบดังกล่าว มีอาการโรคที่มีลักษณะเฉพาะชัดเจน และเป็นโรคที่พบทั่วไปกับพืชหลายชนิด ได้แก่โรคดังนี้
1. โรคเหี่ยว (wilt) พืชมีอาการเหี่ยวเฉาเห็นได้ชัดที่ใบหรือยอด เป็นอาการที่เกิดตามมาภายหลัง จากที่ระบบท่อน้ำ ท่ออาหารของราก และลำต้นพืชได้รับความเสียหายจากเชื้อสาเหตุของโรค ทำให้พืชได้รับ น้ำ อาหารไม่พอเพียง
2. โรคราสนิม (rust) พืชมีแผลขนาดเล็กเป็นสีแดงคล้ายสนิม บนใบ หรือลำต้น
3. โรคราน้ำค้างและราแป้งขาว ใบ ลำต้น และผล มีอาการแบบ chlorosis หรือ necrosis เป็นหย่อมๆ ปกติอาจปกคลุมด้วยเส้นใบ หรือส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อ เช่น sporangium, conidium เป็นต้น
4. โรคเขม่าดำ (smut) พืชมีอาการที่ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอก ฝัก ตา ทำให้เป็นปม ต้นแคระแกรน และพืชอาจตายได้หากเป็นในระยะต้นกล้า ภายในส่วนที่เป็นโรค จะพบสปอร์เป็นผงสีดำ ต่อมา
เยื่อแตกปริ เห็นผงสปอร์หลุดออกมา
5. โรคแอนแทรกโนส เป็นโรคที่เกิดกับใบ ลำต้น และ/หรือ ผลมีลักษณะจุดขนาดเล็ก หรือใหญ่สีดำ แผลบุ๋มเล็กน้อย และขอบแผลนูน พืชที่เป็นโรคบางชนิด อาจเกิดที่กิ่งก้าน มีอาการแบบ die back
6. โรคโคนเน่าระดับดิน (damping-off) เป็นโรคที่เกิดกับกล้าพืชต่างๆ โดยเฉพาะผัก ไม้ดอก พืชไร่ต่างๆ ตรงโคนต้นระดับดินเน่า และเนื้อเยื่อพืชยุบตัวลง ทำให้คอด และพืชล้มตายในที่สุด
7. โรครากและโคนต้นเน่า (root and foot rot) พืชที่รากและโคนต้นเน่า เกิดได้กับพืชล้มลุกจนถึงพืชยืนต้น
การเกิดโรค (Pathogenesis)
เชื้อราเข้าสู่พืชทางแผล ทางช่องเปิดตามธรรมชาติ และ/หรือ ผ่านทาง cuticle และ epidermis โดยตรง หลังจากเชื้ออยู่ในพืชแล้ว เชื้อจะใช้อาหารจากพืชเพื่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของเชื้อเอง อาหารที่เชื้อเบียดเบียนไปนั้น ปกติเพียงพอสำหรับการใช้ของเซลพืชเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลของพืชอาศัยนั้นมีการเจริญผิดปกติ มีอาการของโรคเกิดเฉพาะแห่งหรือทั่วทั้งต้นขึ้น
เชื้อราที่ทำให้พืชเป็นโรค ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโดยตรงหรือทางอ้อมจากสารต่างๆ ที่เชื้อขับถ่ายออกมาไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกิจกรรม metabolism ของเซลและเนื้อเยื่อพืช
สารที่เชื้อราสร้างขึ้นดังกล่าวได้แก่ เอนไซม์ สารพิษ (toxins) สารควบคุมการเจริญเติบโต (growth regulators) polyosaccharide ปฏิชีวนะสาร (antibiotics) โดยเชื้อสามารถสร้างสารใดสารหนึ่ง หรือหลายสารมารวมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ สารต่างๆ เหล่านี้อาจทำลายเซลพืชโดยตรง หรือมีอิทธิพลทางอ้อมกับกลไกที่ควบคุมขบวนการทาง metabolism ต่างๆ ในเซล หรือทำให้เซลมีปฏิกริยาตอบโต้เชื้อ
เอนไซม์บางชนิด เช่น pectinases, cellulases และ hemicellulases จะทำให้สารประกอบโครงสร้างต่างๆ ของผนังเซลพืชแตกตัว เอนไซม์พวก proteinases, amylases, lipases ฯลฯ สามารถย่อยสารต่างๆ ในเซล และมีผลทำให้อัตราการหายใจของพืชเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากสภาพของพืชปกติ (ปกติทำให้พืชมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น)
สารพิษทำให้ความสามารถในการไหลของๆ เหลวผ่านเยื่อหุ้มเซล (permeability of membrane) เปลี่ยนแปลง อาจมีผลกระทบต่ออัตราการหายใจ เป็น antimetabolite ไปยับยั้งปฏิกริยาต่างๆ โดยไปยึดสารโลหะที่อยู่ในรูปของไอออนอิสระ (free ions) หรือในรูปของตัวร่วมของเอนไซม์ (enzyme cofactor)
เชื้อราอาจขับถ่ายสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิดเดียวกับที่พืชมี สร้างได้เองตามปกติ จึงทำให้พืชเกิดอาการ hyperplasia & hypertrophy ซึ่งเป็นปฏิกริยาของเชื้อกับพืชโดยตรง

ภาพวิธีการเข้าสู่พืชของโรคที่เกิดจากเชื้อรา (ที่มา:Agrios, 1978)
เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคทางอ้อม โดยสารที่เชื้อขับถ่ายนั้นมีปฏิกริยาเกิดการสะสมและ/หรือ ไปแตกตัวสารที่สนับสนุนการเจริญเติบโต และสารยับยั้งต่างๆ (inhibitors) ในพืช ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจไปเพิ่มของสารโฮโมนแก่พืชทำให้การเจริญเติบโตมากกว่าปกติและเปลี่ยนรูปไป หรือทำให้การเจริญเติบโตต่ำกว่าปกติ แคระแกรน ใบล่างบิดเบี้ยว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของสารโฮโมนต่างๆ
Polysaccharides มีผลไปอุดตันกลุ่มท่อลำเลียงของพืชโดยตรงจึงทำให้พืชเหี่ยวเฉา ปฏิชีวนะสารที่เชื้อราหลายชนิดสร้างขึ้นมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยทำให้พืชมีสารพิษบางชนิด มีผลต่อความสามารถในการไหลผ่านของๆ เหลวของเยื่อหุ้มเซลและอัตราการหายใจของพืชเปลี่ยนแปลงไป
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช