อาการโรคราน้ำค้างของแตง

โรครานํ้าค้าง (downy mildew)

โรคราน้ำค้างของแตงตามรายงานมีผู้พบครั้งแรกในประเทศคิวบา เมื่อราวปี ค.ศ. 1864 หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าเป็นโรคที่ระบาดแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีความชื้นสูงอุณหภูมิต่ำ แตงที่ได้รับความเสียหายจากโรคนี้มากได้แก่ แตงกวา แตงร้าน แคนทาลูป แตงไทย ส่วนพวกฟักทอง สคว๊อช ฟักแฟง บวบ เสียหายรองลงมา สำหรับแตงโมพบเป็นบ้างแต่ไม่มากและร้ายแรงนัก

อาการโรค

อาการส่วนใหญ่จะเกิดบนใบ โดยจะเริ่มจากจุดแผลสีเขียว

ซีดขึ้นก่อน ต่อมาจะค่อยๆ ขยายโตขึ้นเป็นสีเหลืองและมีขอบเขตเป็นเหลี่ยมตามแนวหรือข่ายของเส้น vein ขณะเดียวกันหากความชื้นในอากาศสูง เช่น ในระยะที่มีฝนปรอย หรือหมอกนํ้าค้างจัด ทางด้านใต้ใบตรงกับจุดแผลที่เกิดขึ้น จะพบกลุ่มของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อสาเหตุลักษณะเป็นขุย หรือผงสีเทา ซึ่งเมื่อแก่หรือแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ในกรณีที่เกิดโรครุนแรงและสิ่งแวดส้อมเหมาะสม ใบส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในต้นอาจถูกเชื้อเข้าทำลายอย่างรุนแรง ทำให้ใบทั้งใบแห้งตาย ต้นจะโทรมอาจถึงตายได้ทั้งต้น สำหรับลูกแตงมักจะไม่ถูกเชื้อเข้าทำลายโดยตรง แต่เมื่อต้นเป็นโรคก็จะมีผลทางอ้อม เช่น เจริญเติบโตไม่เต็มที่ แกร็น คุณภาพและรสเสียไป

สาเหตุโรค : Pseudoperonospora cubensis

เป็นราชั้นต่ำใน Class Phycomycetes ซึ่งขยายพันธุ์ได้ทั้งมีและไม่มีการผสมทางเพศ โดยการเกิดสปอร์ที่มีหางเคลื่อนไหวได้ ผงหรือขุยสีเทาและน้ำตาลที่เกิดขึ้นด้านใต้ใบตรงกับจุดแผลสีเหลืองด้านบน คือ กลุ่มของสปอร์ที่มีรูปร่างคล้ายมะนาวฝรั่ง (lemon-shaped) ซึ่งเกิดบนก้าน (sporangiophore) ที่มีปลายแยกออกเป็นคู่ (dichotomously branches) สปอร์เมื่อแก่ก็จะหลุดออกจากก้านปลิวไปตามลม นํ้า เครื่องมือกสิกรรม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของกสิกรผู้ปลูก หรือผู้ปฏิบัติเกี่ยวกับต้นแตงดังกล่าว เมื่อตกลงบนพืชสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกเป็น zoospore หรือ swarm cell มีทาง 2 เส้น ว่ายน้ำเคลื่อนไหวอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงทิ้งหางเข้าซีสต์ (cyst) เป็นเม็ดกลมๆ ต่อมาจึงจะงอกออกมาเป็นเส้นใย (germ tube) เข้าทำลายพืชได้ กระบวนการทั้งหมดนี้ จะกินเวลาราว 24 ชั่วโมง หลังจากเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในพืชแล้วก็จะสร้างสปอร์ใหม่ขึ้นได้อีกภายใน 4-5 วัน

สำหรับการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ เนื่องจากราน้ำค้างเป็น obligate parasite ไม่สามารถอาศัยเกาะกินเศษซากพืช เพื่อความอยู่รอดชั่วคราวได้เหมือน parasite ธรรมดาอื่นๆ เมื่อหมดฤดูปลูกพืชจริง จึงต้องหาวัชพืชหรือต้นแตงที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ต้นที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยว ต้นที่งอกขึ้นมาเอง (volunteer seedling) สำหรับอาศัยอยู่ชั่วคราว นอกจากนั้นก็มีผู้พบว่าเชื้อ P. cubensis มีการสร้าง sexual spore คือ oospore ที่มีผนังหนาคงทนต่อสิ่งแวดล้อมที่ผิดปกติ เช่น ความร้อน ความแห้งได้นานกว่าสปอร์ธรรมดา จึงเชื่อกันว่าเชื้ออาจอยู่ข้ามฤดูได้ในลักษณะนี้อีกวิธีหนึ่ง

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดและความรุนแรงของโรค

ก็เช่นเดียวกับราน้ำค้างทั่วๆ ไป คือ ชอบอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็นและความชื้นสูงในการเกิด และการเข้าทำลายพืช โรคราน้ำค้างของแตงจะเจริญเติบโตระบาดได้ดีในช่วงของอุณหภูมิระหว่าง 16 – 27° ซ. แต่จะดีที่สุดที่ 20° ซ. ส่วนความชื้นนั้นต้องสูงเกินกว่า 86% ขึ้นไป

การป้องกันกำจัด

1. ขจัดทำลายวัชพืชพวกแตงต่างๆ และต้นที่งอก หรือหลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวให้หมดจากบริเวณหรือแปลงปลูก

2. เมื่อปรากฏมีโรคเกิดขึ้นในแปลงปลูกให้รีบป้องกันการระบาดเพื่อรักษาต้นที่ยังดีอยู่โดยการใช้สารเคมี เช่น

ก. แมนโคเซ็บ (หรือไดเทนเอ็ม 45) 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ข. คูปราวิท (หรือคอปปิไซด์) 30 – 40 กรัม ต่อนํ้า 1 ปี๊บ

ค. นาแบม (หรือพาราเซท) 50 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บ

ง. ซีเน็บ (หรือโลนาโคล) 25 – 30 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ

จ. เบนเลท 50 – 75 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ

ฉ. แมนเซทดี 50 – 75 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ

การฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าว ควรทำทันทีเมื่อเริ่มมีโรคเกิดขึ้น สำหรับการป้องกันควรทำหลังจากต้นแตงเกิดใบจริงแล้ว 2 – 5 ใบ โดยทำการฉีดทุกๆ 5 วัน หรือ 2 ครั้งใน 1 อาทิตย์ หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสม และทำต่อเนื่องไปจนกระทั่งพืชแข็งแรงพ้นระยะการระบาดของโรค

3. วิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือเลือกปลูกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค