อายุปักแจกันไม้ดอก


การใช้ประโยชน์จากไม้ตัดดอกในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น และสามารถส่งออกทำรายได้เข้าประเทศปีละมากๆ ราคาของไม้ตัดดอกเหล่านี้ค่อนข้างสูง แต่อายุการใช้ประโยชน์ค่อนข้างสั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับการใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงได้มีความพยายามที่จะยืดอายุการใช้งานไม้ตัดดอกเหล่านี้ให้นานขึ้น โดยขั้นแรกจำเป็นต้องหาสาเหตุของการเสื่อมสภาพของไม้ตัดดอกเหล่านี้เสียก่อน ในที่สุดจึงพบว่าสาเหตุสำคัญอันหนึ่งของการเสื่อมสภาพคือเอทิลีนที่ดอกไม้สร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม เอทิลีนไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยหลายประการเมื่อนำสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้ดอกไม้เสื่อมสภาพมาประมวลเข้าด้วยกันแล้วหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุเหล่านี้ จึงทำให้เราใช้ประโยชน์จากไม้ตัดดอกได้นานขึ้น

การเสื่อมสภาพของดอก
ดอกไม้ในขณะที่ยังอยู่บนต้นจะได้รับธาตุอาหารและนํ้าซึ่งส่งขึ้นมาจากราก ใบที่ติดอยู่บนกิ่งจะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อเลี้ยงกิ่งนั้น เมื่อมีการตัดดอกออกมาจากต้นจะทำให้ระบบการส่งน้ำและอาหารถูกตัดขาดออก ดอกไม้นั้นจะเข้าสู่ระยะชราภาพอย่างรวดเร็วและแห้งเหี่ยวไป การนำก้านดอกแช่ในนํ้าเป็นเพียงการช่วยรักษาความเต่งของเซลล์เท่านั้น โดยไม่ได้ทำให้กระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชราภาพเกิดช้าลง

ฮอร์โมนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพดอกคือเอทิลีน ผลจากเอทิลีนที่ดอกสร้างขึ้นจะทำให้กลีบดอกมีสีซีดลง กลีบดอกเหี่ยว และหมดสภาพการใช้งานโดยปกติกลีบดอกทำหน้าที่ล่อแมลงเพื่อให้เข้ามาดูดนํ้าหวาน ซึ่งจะก่อให้เกิดการผสมเกสร เมื่อการผสมเกสรเกิดขึ้น แล้วกลีบดอกก็จะหมดหน้าที่ไป และจะเกิดการขยายขนาดของรังไข่ขึ้นมาแทนและเจริญต่อไปกลายเป็นผล ในขณะที่เกิดการผสมเกสรจะพบว่ามีการสร้างเอทิลีนขึ้นมามากในบริเวณรังไข่ ซึ่งก๊าซเอทิลีนนี้จะแพร่กระจายออกมาทำให้กลีบดอกเหี่ยวและหมดสภาพ ดังนั้นดอกที่ตัดออกมาจากต้น ถ้าผ่านการผสมเกสรแล้วจะทำให้อายุการปักแจกันสั้นลงกว่าปกติ ในบางกรณีที่ดอกไม่เกิดการผสมเกสร แต่เกสรตัวผู้หรือตัวเมียถูกทำลาย ก็จะเกิดการเหี่ยวของกลีบดอกได้เช่นกัน โดยเป็นผลมาจากเอทิลีนในสภาวะเครียดที่ดอกสร้างขึ้นเมื่อเกิดบาดแผล นอกจากนั้นการตัดก้านดอกออกมาจากต้นก็จะเกิดการสร้างเอทิลีนในสภาวะเครียดที่บริเวณรอยแผลนั้น ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการทำให้ก้านดอกอุดตัน และกลีบดอกเหี่ยว

ปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่มีผลต่อการเสื่อมสภาพของดอกคือ การอุดตันของท่อนํ้าภายในก้านดอกเนื่องจากจุลินทรีย์ เซลล์ของก้านดอกบางส่วนที่แช่อยู่ในนํ้าจะตายไปตามอายุและเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ซึ่งจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและกระจายไปทั่วในนํ้าที่ใช้ปักแจกัน จุลินทรีย์เหล่านี้ อาจสร้างสารบางอย่างขึ้นมาและเป็นสาเหตุให้ท่อน้ำอุดตัน และตัวจุลินทรีย์เหล่านี้ ถ้ามีปริมาณมากก็จะขัดขวางทางเดินน้ำได้ จึงมีผลให้ก้านดอกดูดนํ้าไม่ได้และเหี่ยวอย่างรวดเร็วเนื่องจากการขาดนํ้า

จากสาเหตุที่กล่าวมานี้จึงใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเสื่อมสภาพของดอก โดยมีหลักการสำคัญ คือเพิ่มสารอาหาร ลดการสร้างและการทำงานของเอทิลีน และลดปริมาณจุลินทรีย์ เพื่อให้อายุปักแจกันของดอกยาวนานขึ้น การผสมสารละลายเพื่อยืดอายุการปักแจกันของดอกไม้ ถึงแม้จะมีสูตรและส่วนผสมแตกต่างกันไป ก็ยังต้องยึดถือหลักการที่กล่าวมานี้เป็นสำคัญ

บทบาทของนํ้าตาล
นํ้าตาลเป็นผลิตผลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงของพืช และจะถูกสลายโดยกระบวนการหายใจเพื่อปลดปล่อยพลังงานออกมา เมื่อดอกไม้ถูกตัดออกมาจากต้นก็จะมีการใช้อาหารสะสมภายในก้านเท่านั้น ถ้ามีการใส่นํ้าตาลลงในสารละลายปักแจกันดอกไม้ก็จะเป็นการเพิ่มอาหารให้ แก่ดอกไม้นั้น นํ้าตาลที่ใช้ส่วนใหญ่คือนํ้าตาลซูโครส (นํ้าตาลทรายขาว) นอกจากนี้นํ้าตาลกลูโคสและฟรุคโตสก็อาจใช้ได้เช่นกัน นํ้าตาลที่ใช้ใส่ในสารละลายปักแจกันนอกจากจะเป็นอาหารสำหรับดอกไม้แล้ว ยังทำหน้าที่รักษาสมดุลของนํ้าภายในดอกและก้านดอก ช่วยให้ก้านดอกดูดนํ้าได้ดีขึ้นและยังป้องกันการระเหยนํ้าออกจากใบหรือดอกได้โดยมีผลทำให้ปากใบปิด การใช้น้ำตาลในสารละลายปักแจกันจึงช่วยยืดอายุของดอกไม้ได้เป็นอย่างดี

บทบาทของฮอร์โมนและ PGRC
เอทิลีนเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้ดอกไม้หมดอายุการใช้งาน ดอกไม้แต่ละชนิดมีความทนทานต่อเอทิลีนได้ไม่เท่ากัน เช่นดอกคาร์เนชั่นถ้าได้รับเอทิลีนความเข้มข้นเพียง 50 ส่วนในอากาศพันล้านส่วนเท่านั้นจะทำให้อายุปักแจกันสั้นลงอย่างมาก ดังนั้นการใช้สารที่มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างหรือยับยั้งการทำงานของเอทิลีนใส่ลงไปในสารละลายปักแจกัน จึงมีประโยชน์อย่างมาก สารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมีหลายชนิด แต่ที่ใช้กันมากและรู้จักกันดีได้แก่

1. 8-hydroxyquinoline citrate (HQC) เป็นสารที่มีผลยับยั้งการสร้างเอทิลีนได้ในพืชบางชนิด และยังมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของจุสินทรีย์ได้ด้วย มีการทดลองใช้ HQC ความเข้มข้นตั้งแต่ 200 ถึง 600 มก/ ล ผสมนํ้าตาลซูโครส 10 เปอร์เซ็นต์ แช่ก้านดอกกุหลาบ พันธุ์คริสเตียน ดีออร์ (Christian Dior) จะทำให้อายุปักแจกันเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 วัน เป็น 6 วัน และแทบไม่เกิดการเปลี่ยนสีของดอก แต่ถ้าใช้น้ำตาลซูโครสหรือ HQC อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวจะไม่ช่วยให้อายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น

2. rhizobitoxine และสารใกล้เคียง สารในกลุ่ม rhizobitoxine มีผลยับยั้งการสร้างเอทิลีน จึงสามารถยืดอายุดอกไม้ได้นานขึ้น สารสำคัญในกลุ่มคือ aminoethoxyvinylglycine (AVG) ซึ่งสามารถยืดอายุการปักแจกันของไม้ดอกหลายชนิดเช่นคาร์เนชั่น เบญจมาศ ลิ้นมังกร แดฟโฟดิล (daffodil) แต่ใช้ไม่ได้ผลกับกุหลาบ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการทดลองใช้สารนี้ในประเทศไทยและข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือต้นทุนการผลิตสารนี้ค่อนข้างสูง จนกระทั่งไม่อาจนำมาใช้ทางการเกษตรได้คุ้มค่า

3. aminooxyacetic acid (AOAA) เป็นสารยับยั้งการสร้างเอทิลีนเช่นกัน ใช้ได้ผลดีกับดอกคาร์เนชั่น Wang และ Baker (1980)ได้ทดลองใช้สาร AOAA 0.5 mM (หรือความเข้มข้น ประมาณ 55 มก/ ล) ผสมกับนํ้าตาลซูโครส 2 เปอร์เซ็นต์และ HQC 200 มก/ ล แช่ก้านดอก คาร์เนชั่น จะช่วยยืดอายุปักแจกันจากเดิม 7 วัน เป็น 24 วัน สารนี้มีราคาไม่แพงและใช้ได้ผลดีไม่ต่างจาก AVG แต่มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์สูงมาก และยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

4. เกลือเงิน (silver salt) มีผลยับยั้งการทำงานของเอทิลีน ถึงแม้พืชจะสร้างเอทิลีนขึ้นมาแต่ถ้ามีอนุภาคเงิน (silver ion) อยู่ด้วยจะทำให้เอทิลีนนั้นไม่สามารถทำปฏิกริยากับพืชได้ จึงใช้ได้ดีในการยืดอายุปักแจกันไม้ดอกหลายชนิด เกลือเงินที่นิยมใช้ในกรณีนี้คือ เงินไนเตรท (silver nitrate) และเงินไทโอซัลเฟต (silver thiosulfate)
เกลือเงินไนเตรทเคลื่อนที่ในพืชได้น้อยมาก จึงเคลื่อนที่ไปถึงส่วนบนของดอกได้ช้ามาก จนกระทั่งบางกรณีการใช้เงินไนเตรทจะไม่สามารถยืดอายุการปักแจกันของไม้ดอกบางชนิดได้ ในทางตรงกันข้ามการใช้เงินไทโอซัลเฟตจะได้ผลดีกว่า เนื่องจากเคลื่อนที่ได้เร็วมาก ในปัจจุบันใช้ในเชิงพาณิชย์กับดอกคาร์เนชั่น โดยแช่ก้านดอกในสารผสมของเงินไทโอซัลเฟตนาน 1 ถึง 24 ชั่วโมง ก่อนขนส่งไปจำหน่ายหรือก่อนนำไปปักแจกัน เงินไทโอซัลเฟตใช้ได้ผลดีกับไม้ดอกหลายชนิด แต่ไม่มีผลต่อกุหลาบเช่นเดียวกับการใช้สาร AVG

5. เกลือโคบอลท์ (cobalt salt) มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเอทิลีนและช่วยให้ดอกไม้ดูดนํ้าได้ดีขึ้น รักษาสมดุลของนํ้าภายในดอกได้ดี เกลือโคบอลท์ชนิดต่างๆ เช่น โคบอลท์อาซีเตท (cobalt acetate) โคบอลท์คลอไรด์ (cobalt chloride) หรือโคบอลท์ไนเตรท(cobalt nitrate) ให้ผลไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการยับยั้งการสร้างเอทิลีนเป็นผลของอนุภาคโคบอลท์ (cobaltous ion) เป็นสำคัญ เกลือโคบอลท์ใช้ยืดอายุปักแจกันไม้ดอกบางชนิดได้ แต่จากการทดลองกับกุหลาบพันธุ์คริสเตียน ดิออร์ โดยแช่ก้านดอกในสารละลายโคบอลท์คลอไรด์นาน 6 ถึง 12 ชั่วโมง ไม่ว่าจะใส่ซูโครสหรือไม่ก็ตาม ก่อนที่จะนำไปปักแจกันในน้ำกลั่น พบว่าวิธีการดังกล่าวไม่สามารถยืดอายุปักแจกันของกุหลาบได้ แต่ถ้าแช่ก้านดอกตลอดเวลาในสารละลายโคบอลท์คลอไรต์กับน้ำตาลซูโครส 10 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้อายุการปักแจกันเพิ่มขึ้นจาก 3 วัน เป็น 8 วัน ดอกไม้ชนิดอื่นเช่น เบญจมาศ ดาวเรือง ก็มีรายงานว่าการใช้เกลือโคบอลท์จะช่วยยืดอายุปักแจกันได้เช่นกัน

สารที่กล่าวมานี้ไม่ได้จัดเป็น PGRC แต่เป็นสารที่มีผลต่อเอทิลืนโดยตรง ฮอร์โมนชนิดอื่นภายในดอกรวมทั้งการใช้ PGRC บางชนิดผสมในสารละลายปักแจกัน ก็อาจช่วยยืดอายุการปักแจกันได้ บทบาทของ PGRC ชนิดอื่นนอกเหนื่อจากเอทิลีน มีดังนี้

1. abscisic acid (ABA) เป็นสารที่มีคุณสมบัติจัดอยู่ในกลุ่มสารยับยั้งการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นฮอร์โมนพืชชนิดหนึ่ง หน้าที่ของ ABA ที่สำคัญคือบังคับการปิดของปากใบเพื่อลดการคายนํ้า เคยมีงานทดลองใช้ ABA 1 มก/ ล ผสมในสารละลายปักแจกันดอกกุหลาบจะช่วยยืดอายุการปักแจกันได้เนื่องจากการคายน้ำลดลงแต่ถ้าใช้ความเข้มข้น 10 ถึง 100มก/ล กลับมีผลทำให้อายุปักแจกันสั้นลง เนื่องจาก ABA มีผลเร่งการแก่ชราของพืช ในปัจจุบันยังไม่มีการใช้ ABA ทางการเกษตร แต่มีข้อที่น่าสนใจคือการใช้สาร ABA ความเข้มข้นตํ่าจะช่วยลดการคายนํ้าได้ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต

2. ไซโตไคนิน คุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของไซโตไคนินคือ ชะลอการชราภาพของพืช มีการค้นพบว่าปริมาณไซโตไคนินในกลีบดอกคาร์เนชั่นและกุหลาบจะลดน้อยลงเมื่อดอกมีอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ดอกหมดอายุเร็วขึ้น ไซโตไคนินยังมีผลยับยั้งการสร้างและการทำงานของเอทิลีนได้ด้วย ดังนั้นการเพิ่มสารไซโตไคนินลงไปในสารละลายปักแจกัน จะทำให้อายุการปักแจกันเพิ่มมากขึ้น BAP เป็นไซโตไคนินที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปเนื่องจากเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถยืดอายุปักแจกันไม้ดอกได้หลายชนิดเช่น คาร์เนชั่น เบญจมาศ กุหลาบ โดยมีผลลดอัตราการหายใจและมีข้อดีอีกประการหนึ่งคือช่วยป้องกันการเหลืองของใบและกลีบเลี้ยง จากการทดลองของ Cook และผู้ร่วมงาน (1985) โดยใช้ BAP 5มก/ ล ผสมในสารละลายปักแจกันซึ่งประกอบด้วยนํ้าตาลซูโครส 5 เปอร์เซ็นต์ และ HQC 300 มก/ ล โดยทดลองกับดอกคาร์เนชั่น พบว่า BAP จะยับยั้งการสร้างเอทิลีนในดอกคาร์เนชั่นโดยสิ้นเชิง และทำให้อายุการปักแจกันเพิ่มขึ้นจาก 6 วัน เป็น 17 วัน ได้ทดลองกับดอกคาร์เนชั่นในประเทศไทยโดยใช้ BAP 50 มก/ล ผสมในสารละลายนํ้าตาลซูโครส 10 เปอร์เซ็นต์และเงินไทโอซัลเฟต แล้วแช่ก้านดอกในสารผสมดังกล่าวเป็นเวลา 16 ชั่วโมง ก่อนนำไปปักแจกันในนํ้าเปล่า ผลปรากฎว่าอายุการปักแจกันจะเพิ่มขึ้นจาก 3 วันเป็น 6 วัน เหตุที่อายุการปักแจกันในกรณีนี้สั้นกว่าที่ทำการทดลองของต่างประเทศอาจเป็นเพราะว่าวิธีการที่ใช้ และชนิดของสารที่ผสมแตกต่างกัน รวมทั้งสภาพอากาศของประเทศไทยร้อนกว่าต่างประเทศซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดอกไม้เสื่อมสภาพได้ง่าย มีข้อสังเกตว่าการใช้ BAP เป็นสารยืดอายุการปักแจกันเพียงอย่างเดียว มักจะไม่ได้ผลดี แต่ถ้าใช้ร่วมกับน้ำตาลจะทำให้อายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น นั่นคือสารทั้ง 2 ชนิด มีผลในทางสนับสนุนซึ่งกันและกัน และถ้าปรับระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของสารละลายให้เท่ากับ 3.5 ก็จะมีผลในทางสนับสนุนกันมากขึ้น

3. ออกซิน มีผลต่อพืชในด้านการชะลอการแก่ การหลุดร่วง และการสลายตัวของคลอโรฟิล แต่การนำมาใช้ประโยชน์เพื่อยืดอายุปักแจกันนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากผลที่ได้จากการใช้ออกซินยังไม่เด่นชัดเท่าสารอื่นๆ ที่กล่าวมา ออกซินอาจมีประโยชน์บ้างในการป้องกันการหลุดร่วงของดอกไม้บางชนิด ซึ่งโดยธรรมชาติมีการหลุดร่วงได้ง่าย เช่น บีโกเนีย ในดอกไม้ทั่วๆ ไปแล้ว ออกซินมีผลกระตุ้นการสร้างเอทิลีนจึงมักทำให้อายุการปักแจกันสั้นลง เช่นการใช้ NAA กับคาร์เนชั่น แต่ถ้ามีการให้สาร NAA ร่วมกับ BAP จะช่วยยืดอายุการปักแจกันได้แต่ไม่ดีเท่าที่ควร

4. จิบเบอเรลลิน ผลของจิบเบอเรลลินที่มีต่ออายุปักแจกันของดอกไม้มักเป็นไปในทางลบ การใช้ GA3 กับดอกคาร์เนชั่น นอกจากจะทำให้อายุปักแจกันสั้นลงแล้ว ยังทำให้คุณภาพของดอกด้อยลง เช่น กลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีสีซีดลงจึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ผสมในสารสะลายปักแจกันโดยทั่วๆ ไป

5. สารชะลอการเจริญเติบโต ช่วยยืดอายุปักแจกันของไม้ดอกบางชนิดได้ เช่น การใช้ daminozide หรือ chlormequat กับดอกคาร์เนชั่น และลิ้นมังกร (snapdragon) สารกลุ่มนี้มีผลชะลอการสร้างเอทิลีนในดอก ชะลอการทำลายอาหาร และทำให้ดอกใช้นํ้าน้อยลงและ aminozide ยังมีผลในการฆ่าจุลินทรีย์ได้ จึงลดปัญหาการอุดตันของทางเดินนํ้าภายในก้านดอก ความเข้มข้นที่เหมาะสมสำหรับการยืดอายุปักแจกันไม้ดอกทั่วๆ ไป คือ 10 ถึง 500 มก/ล และจะได้ผลดียิ่งขึ้นถ้ามีการผสมนํ้าตาลซูโครส และสารยับยั้งการสร้างเอทิลีนบางชนิดเช่น HQC ลงไปในสารละลายด้วย

บทบาทของสารทำลายจุลินทรีย์
จุลินทรีย์ที่ติดมากับก้านดอกสามารถเจริญเติบโตได้ดีและขยายจำนวนอย่างรวดเร็ว เมื่อนำก้านดอกไปแช่นํ้าหรือในสารละลายปักแจกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้นํ้าตาลซูโครสเป็นส่วนผสม จุลินทรีย์เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาการอุดตันของทางเดินนํ้าภายในก้านดอก มีสารหลายชนิดที่ใช้ทำลายหรือจำกัดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์เหล่านี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิยมใช้กันมากได้แก่ HQC เกลือโคบอลท์ โซเดียมเบนโซเอท (sodium benzoate) เกลือเงิน สารเหล่านี้นอกจากจะมีผลกำจัดจุลินทรีย์ได้แล้ว ยังมีผลยับยั้งการสร้างหรือการทำงานของเอทิลีนได้ด้วย สารที่มีผลกำจัดจุลินทรีย์โดยตรงเช่น thiabendazole หรือสารกำจัดโรครา และบักเตรีหลายชนิด ถึงแม้จะมีผลในการทำลายจุลินทรีย์ได้ แต่ไม่นิยมใช้เนื่องจากมีผลต่อการทำลายจุลินทรีย์เพียงอย่างเดียว ระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของสารละลายที่ใช้ปักแจกันก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ โดยทั่วไปมักจะปรับระดับความเป็นกรด-ด่างให้เท่ากับ 3.5 หรือ 4 โดยใช้กรดนํ้าส้ม (acetic acid) หรือกรดซิตริก (citric acid) ผสมลงไปในสารละลาย ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์เจริญ เติบโตช้าลงและลดการอุดตันในก้านดอก

การยืดอายุการปักแจกัน
จากหลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เมื่อนำมาพิจารณาเพื่อผสมสารละลายยืดอายุปักแจกัน จะได้ส่วนผสมต่างๆ นับร้อยสูตร โดยที่แต่ละสูตรจะมีความเหมาะสมต่อดอกไม้แต่ละชนิดแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามสารละลายเหล่านี้มักจะมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วนคือ

1. น้ำตาล
2. สารยับยั้งการสร้างหรือการทำงานของเอทิลีน
3. สารกำจัดหรือป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์

สูตรที่เหมาะสมที่สุดสำหรับดอกไม้แต่ละชนิดยังไม่อาจระบุให้แน่ชัดลงไป แต่อาจเสนอแนวทางที่จะผสมสารละลายเหล่านี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์โดยใช้ความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารแต่ละชนิดเป็นเกณฑ์ได้ดังนี้

ความเข้มข้นของสารที่ผสมในสารละลายปักแจกันโดยทั่วๆ ไป
ชนิดของสาร                                  ช่วงความเข้มข้น (มก/ล)
นํ้าตาลซูโครส                                  5-1096
8-hydroxyquinoline                200-600
เงินไนเตรท                                      10-50
โคบอลท์คลอไรด์                           60-250
โซเดียมเบนโซเอท                         100-300
AVG                                                10-20
AOAA                                             20-200
BAP                                                 5-250

การผสมสารละลายดังกล่าวควรมีนํ้าตาลซูโครสอยู่ด้วยทุกครั้ง และมีสารยับยั้งเอทิลีนเพียง 1-2 ชนิด ผสมอยู่ด้วย ถ้าสารยับยั้งเอทีลีนมีผลในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ด้วย ก็ไม่จำเป็นต้องใส่สารยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์โดยตรงลงไปอีก

การยืดอายุปักแจกันดอกไม้โดยใช้สารละลายที่กล่าวมา มีวิธีการทำได้ 2 วิธีคือ การแช่ก้านดอกทิ้งไว้ในสารละลายจนกระทั่งหมดอายุการใช้งาน กับการแช่ก้านดอกในสารละลายเพียงระยะหนึ่งก่อนนำไปปักแจกันในนํ้าเปล่าหรือที่เรียกว่าพัลซิ่ง (pulsing) วิธีการทั้ง 2 แบบนี้มีข้อดีและเสียแตกต่างกันไปคือวิธีแรกมักจะใช้สารละลายความเข้มข้นตํ่ากว่า และมักจะทำให้ดอกไม้มีอายุปักแจกันนานขึ้นกว่าการทำพัลซิ่ง แต่การใช้ประโยชน์จากสารละลายเหล่านี้ตามบ้านเรือนมีโอกาสเป็นไปได้ยาก ส่วนการทำพัลซิ่งนั้นมักจะทำทันทีหลังจากตัดดอกออกมาจากต้น โดยแช่ก้านดอกทิ้งไว้ในสารละลายประมาณ 1 ถึง 24 ชั่วโมง ก่อนขนส่งไปจำหน่าย หลังจากที่ทำพัลซิ่งแล้ว ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดอกไม้นั้นได้โดยแช่ในนํ้าเปล่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะดวกกว่าการแช่ก้านดอกตามวิธีแรก แต่อายุปักแจกันมักจะสั้นกว่า อย่างไรก็ตามการใช้สารละลายเหล่านี้ไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตามจะทำให้อายุปักแจกันยาวนานขึ้นกว่าการใช้นํ้าเปล่า อย่างน้อยที่สุดถ้าไม่มีสารยับยั้งเอทิลีนดังที่กล่าวมา การใช้นํ้าตาลทรายเพียงอย่างเดียวก็ช่วยยืดอายุดอกไม้ได้ดี

ที่มา:พีรเดช  ทองอำไพ