เหรียง:รสมัน กลิ่นฉุน บำรุงร่างกาย แก้จุกเสียด

ลูกเหรียงหรือที่ชาวใต้นิยมเรียก หน่อเหรียง มาจากการนำเมล็ดในฝักเหรียง ซึ่งจะออกฝักในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี ในหนึ่งฝัก จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 20 เมล็ด วิธีการนำไปรับประทานจะนำเมล็ดที่แกะจากฝักไปเพาะในทราย เพื่อให้เมล็ดงอกรากและมีใบเลี้ยงโผล่ออกมาเหมือนกับถั่วงอก ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า เมล็ดเหรียงนั้นมีเปลือกที่แข็งมากไม่สามารถนำมาบริโภคโดยตรงได้

ลูกเหรียงหรือหน่อเหรียง จึงมีลักษณะคล้ายถั่วงอกหัวโตแต่หัวจะโตกว่าและมีสีเขียว รสมัน กลิ่นฉุน ใช้เป็นผักเหนาะ(ผักเครื่องเคียง) และนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด ทั้งผัดและแกง

หนึ่งในตำรับกับข้าวจากลูกเหรียงที่นิยม ก็คือ แกงหมูกับลูกเหรียง ซึ่งออกรสค่อนข้างเผ็ดตามรสปากของชาวใต้  โดยในตำรับแกงหมูกับลูกเหรียงนี้ จึงมีสรรพคุณไปในทางช่วยขับลมในกระเพาะ และทำให้เจริญอาหารยิ่งขึ้น

แกงหมูกับลูกเหรียง

เครื่องปรุง

หน่อหรือลูกเหรียงเด็ดหางออก 500 กรัม เนื้อหมูหั่นบาง 1 กก. มะพร้าวขูด 1 กก. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนชา

เครื่องแกง

ตะไคร้ 3-4 ต้น พริกขี้หนูสด 40 เม็ด กระเทียม 1 หัว หอมแดง 4 หัว ข่า 5 แว่น พริกไทยเม็ด 5 ช้อนชา เกลือป่น 1 ช้อนชา กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ ขมิ้น 1 นิ้ว

โขลกเครื่องแกงทั้งหมดรวมกันให้ละเอียด

วิธีทำ

คั้นมะพร้าว แยกหัวกะทิไว้ 1 ถ้วย นำหางกะทิตั้งไฟพอเดือดใส่เครื่องแกง พอน้ำเข้าเครื่องใส่เนื้อหมู น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ต้มจนหมูสุก แล้วจึงใส่ลูกเหรียง ใส่หัวกะทิ ตั้งไฟต่ออีกสักครู่ ปิดไฟยกลง เสิร์ฟพร้อมผักเหนาะ(ผักเครื่องเคียงต่าง ๆ )

สรรพคุณทางยา

ลูกเหรียง รสมัน กลิ่นฉุน ช่วยบำรุงร่างกาย แก้จุกเสียด

มะพร้าว รสมันหวาน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร

ตะไคร้ รสปร่า กลิ่นหอม แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร

พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร

กระเทียม รสร้อนฉุน แก้ไอ แก้จุกเสียด แน่น บำรุงธาตุ ขับโลหิต

หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข้เพื่อขับเสมหะ แก้โรคในปาก

ข่า รสเผ็ดปร่าและร้อน ช่วยขับลมในลำไส้ ขับพิษร้ายในมดลูก

ขมิ้น รักษาแผลในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม

พริกไทย รสเผ็ดร้อน ขับลม ขับเหงื่อ ช่วยเจริญอาหาร

คุณค่าทางอาหาร

แกงหมูกับลูกเหรียง 1 ชุด ให้พลังงานแก่ร่างกาย 4,453 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย

น้ำ 1,510 กรัม คาร์โบไฮเดรต 157.5 กรัม โปรตีน 244 กรัม ไขมัน 325.04 กรัม กาก 74.7 กรัม แคลเซียม 364.4 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 1086.6 มิลลิกรัม เหล็ก 50.8 มิลลิกรัม วิตามินเอรวม 3795.5 IU วิตามินบีหนึ่ง 117.42 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 3.35 มิลลิกรัม วิตามินซี 137 มิลลิกรัม ไนอาซิน 79.34 มิลลิกรัม เรตินอล 1.76 ไมโครกรัม

เอกสารอ้างอิง: หนังสือวิชาการชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2542