โรคจุดแผลของถั่วลันเตา

โรคจุดแผล

โรคจุดแผลของต้น ใบและฝักของถั่วลันเตา (bacterial blight of peas)

เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในถั่ว pea และ cow pea ต่างๆ เช่น ถั่วลันเตา (field & garden pea) ถั่วหวาน (sweet pea) ถั่วฝักยาว ถั่วข้าว ถั่วดำ ถั่วกระด้าง

อาการโรค

อาการของโรคจะเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนของต้นถั่ว เช่น ใบ ต้น กิ่ง เถา ดอกและฝัก บนใบจะเกิดแผลจุดรูปร่างไม่แน่นอน เมื่อขยายโตขึ้นจะมีสีนํ้าตาลแดง ถ้าเป็นมากอาการจะลามไปถึงก้านใบ ทำให้ก้านใบแห้งเหี่ยวย่นกลายเป็นสีนํ้าตาลไปด้วย แผลบนกิ่ง เถา จะมีลักษณะเป็นจุดยาว สีเขียวซีดปนนํ้าตาล หากอากาศชื้นจะปรากฏหยดเมือกสีเหลืองซีดของเชื้อแบคทีเรียเกิดให้เห็นอยู่ที่แผล กิ่งก้าน ที่แสดงอาการพวกนี้ในที่สุดจะแห้งเหี่ยวย่นเป็นสีดำ บนดอก และฝักอ่อนอาจถูกเชื้อเข้าทำลาย จะก่อให้เกิดอาการแห้งเหี่ยวและเน่าเสียขึ้นได้เช่นกัน

ในกรณีที่เชื้อเข้าทำลายฝักถั่วที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็จะเกิดแผลซึ่งมีรูปร่างไม่แน่นอนขึ้น แผลเหล่านี้บางทีอาจจะแตกออกมีลักษณะเป็นสะเก็ด (cankerous) พร้อมกับมีเมือกของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคสีเหลืองจางๆ ฉาบ หรือเป็นหยดเกาะติดอยู่เช่นเดียวกับที่กิ่งก้าน ฝักที่แสดงอาการโรครุนแรงจะเหี่ยวลีบ และเชื้ออาจทำลายลึกเข้าไปยังเมล็ดถั่วที่มีอยู่ภายใน ทำให้เกิดผลสีดำเกิดขึ้นที่เมล็ด ทำให้เกิดอาการเหี่ยวย่นขึ้นกับเมล็ดดังกล่าว บางครั้งเชื้ออาจจะเพียงไปเคลือบเกาะติดอยู่ที่ผิวเมล็ดเฉยๆ โดยไม่เข้าทำลาย และเมล็ดพวกนี้ หากนำไปปลูกภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 เดือน เชื้อที่ติดอยู่ก็จะเข้าทำลายต้นอ่อนทันทีที่งอก ก่อให้เกิดอาการเหี่ยวเฉาและตายได้

สาเหตุโรค : Pseudomonas syringae pv. pisi

เป็นเชื้อแบคทีเรียพวกเดียวกันกับโรคใบไหม้แห้ง แต่เป็นคนละ species กัน โดยตัวนี้จะเข้าทำลายเฉพาะถั่ว peas เท่านั้น ลักษณะโดยทั่วไปก็คล้ายๆ กัน ทั้งรูปร่าง ขนาด ชนิดของหางและสีเขียวเรืองแสงที่สร้างขึ้นในอาหารขณะเจริญเติบโต มีช่วงของอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโต อยู่ระหว่าง 27 – 28 ∘ซ.

การเข้าทำลายพืช เข้าได้ทั้งโดยผ่านทางช่องเปิดธรรมชาติ และแผลที่เกิดขึ้นที่ผิวพืช ระบาดแพร่กระจายโดยเมือก (slime) ที่ติดอยู่ตามแผล โดยการจับต้องสัมผัส นํ้าฝน หรือนํ้าที่ใช้รดและแมลง อยู่ข้ามฤดูปลูกได้ โดยเกาะกินอยู่บนต้น ถั่วที่เป็นโรคที่ปล่อยทิ้งไว้หรือต้นที่งอกเองหลังเก็บเกี่ยวแล้ว ที่สำคัญคือเกาะติดอยู่กับเมล็ดที่เก็บจากต้นเป็นโรค

การป้องกันกำจัด

1. เก็บเผาทำลายเศษซากต้นถั่วที่เป็นโรคให้หมด

2. หลีกเลี่ยงการปลูกถั่ว pea ลงในดินที่เคยมีโรคระบาดอย่างน้อย 2-3 ปี

3. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อติดอยู่

4. หลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดแผลกับพืชโดยไม่จำเป็น

5. การปลูกพืชให้ช้าหรือล่ากว่าฤดูปลูกปกติเล็กน้อย อาจลดความเสียหายจากโรคลงได้