โรคพืช

ที่มา:ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิชัย ก่อประดิษฐ์สกุล, อาจารย์อดิศักดิ์ บ้วนกียาพันธุ์

ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตราสตร์

ความสำคัญของโรคพืช

ระบบการปลูกพืชในปัจจุบันที่เน้นการปลูกเพื่อการค้า โดยพยายามเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ปลูกเท่าเดิม และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้มากขึ้นนั้น ปรากฏว่า โรคพืช เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทางเศรษฐกิจมากมาย ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล และเมื่อเกิดโรคบางชนิดขึ้นแล้ว ก็ไม่มีทางรักษา นอกจากจะทำลายพืชที่เป็นโรคทิ้งไป เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น ๆ อีก ดังนั้นเราจึงต้องมีความรู้ทางด้านโรคพืชอย่างดีว่าพืชที่เราปลูกเป็นโรคอะไร และระบาดในระยะใดบ้าง เพื่อใช้วางแผนการป้องกัน กำจัดตั้งแต่ก่อนลงมือปลูกพืชและคอยติดตามดูแลพืชอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดโรคพืชขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินแก้ ในอดีตเคยมีโรคของพืชระบาดจนทำให้เกิดความอดอยากกับมวลมนุษย์มาแล้ว เช่น โรคใบไหม้ของมันฝรั่งและโรคราสนิมของข้าวสาลี เป็นต้น

ในประเทศไทยเราเคยมีโรครากเน่าของพริกไทย ระบาดในเขตจังหจัดจันทบุรี จนต้องหยุดปลูกไประยะหนึ่ง เราต้องประสบปัญหากับโรครานํ้าค้าง ของข้าวโพดอยู่หลายปี กว่าจะมีพันธุ์ข้าวโพดสุวรรณ 1 ซึ่งต้านทานโรคมาปลูกแทนพันธุ์เดิม โรคใบด่างวงแหวนของมะละกอ ทำความเสียหายให้กับมะละกอมาก จนบางแห่งต้องเลิกปลูกไปเลย แต่บางแห่งยังปลูกได้ แต่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โรครากเน่าทุเรียน ที่ทำความเสียหายในทุกท้องที่ที่เพาะปลูก จะเห็นว่า โรคพืช นอกจากจะทำให้ผลผลิตลดลงหรืออาจไม่ได้ผลผลิตเลยแล้วโรคพืชยังอาจทำให้คุณภาพของผลผลิตที่ได้มีคุณภาพตํ่า และไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น พืชผัก ผลไม้ ที่เน่าเสียก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค เชื้อโรคพืชบางชนิดยังสร้างสารพิษที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ เช่น เชื้อรา แอสเปอจิลลัส ฟลาวัส ที่สร้างสารพิษ อัฟลาทอกซินบนเมล็ดข้าวโพด และถั่วลิสง

ดังนั้น โรคพืชจึงเป็นเสมือนส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ของชีวิตมนุษย์ที่ควรต้องศึกษาเรียนรู้ เพื่อชีวิตและอนาคตของทุกคน

ลักษณะอย่างไรจึงจะเรียกว่าพืชเป็นโรค

ก่อนจะทราบว่าพืชเป็นโรคมีลักษณะอย่างไรนั้น จำเป็นที่เราจะต้องมีสิ่งเปรียบเทียบ คือ เราต้องรู้จักว่าพืชปกติเป็นอย่างไรเสียก่อน

พืชปกติ หมายถึงพืชที่มีการทำงานของระบบต่าง ๆ เป็นปกติ เช่น ระบบการทำงานของราก ในการที่จะดูดแร่ธาตุอาหารและนํ้าจากดิน เพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ใบซึ่งทำหน้าที่ปรุงอาหารโดยอาศัยแสงอาทิตย์ แล้วส่งอาหารที่สร้างได้ไปเก็บไว้ยังแหล่งสะสมอาหาร เช่น ผล หัว เหง้า เป็นต้น ลำต้นทำหน้าที่เป็นทางลำเลียงของนํ้าและอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช กระบวนการสืบพันธุ์ นั่นคือ มีการออกดอกติดผล เป็นไปตามปกติ

พืชเป็นโรค หมายถึงพืชที่มีลักษณะผิดปกติไป นั่นคือถ้าพืชถูกรบกวนโดยเชื้อโรคต่าง ๆ หรือถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น แห้งแล้ง อากาศ ร้อนจัด นํ้าท่วม แมลงศัตรูพืชรบกวน รวมทั้งการดูแลปฎิบัติทางเขตกรรมไม่ถูกต้องทันเวลาก็ย่อมจะทำให้ต้นพืชเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ คือ ระบบการทำงานของราก ลำต้น ใบ ดอก ผิดปกติไป การเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงไปจากที่ควรจะเป็น

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พืชผิดปกติ

สาเหตุที่ทำให้พืชผิดปกติไปจากเดิมหรือเป็นโรคนั้น แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. สาเหตุที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต

2. สาเหตุที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต

1. สาเหตุที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต เกิดจากการปฎิบัติดูแลไม่ถูกต้องหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้พืชผิดปกติไป ตัวอย่าง เช่น

อุณหภูมิสูงเกินไปหรือถูกแดดเผา เกิดอาการไหม้ลวก บริเวณด้านที่ถูกแสงแดดจัดเกินไป อาจเกิดบนใบหรือผลก็ได้ อุณหภูมิผิวดินที่สูงเกินไปอาจทำลายต้นกล้าอ่อน หรือเกิดอาการแผลแห้งตกสะเก็ดบริเวณโคนต้นแก่ได้

แสงไม่เพียงพอ ใบสีเขียวซีด ลำต้นยืดยาวผิดปกติ พืชไม่แข็งแรง ไม่ออกดอกผลตามปกติ

ความชื้นในดินสูงเกินไป พืชไม่แข็งแรง ใบล่าง ๆ เหลือง โดยเริ่มจากเส้นกลางใบก่อน รากเน่าตาย และในที่สุดพืชทั้งต้นจะตายไป

ความชื้นในอากาศต่ำ ปลายใบหรือทั้งใบไหม้ ใบบิดเบี้ยว ช่อดอกแห้งร่วง ผลเหี่ยว ด้นพืชเหี่ยว แบบชั่วคราวหรือเหี่ยวแบบถาวรและตายในที่สุด

ปริมาณออกซิเจนต่ำ รากไม่เจริญและเซลล์รากตาย ต้นพืชแคระแกร็น

อากาศเป็นพิษ (มลภาวะ) เกิดอาการใบไหม้ การเจริญและผลผลิตลดลง เช่น มีหมอกควัน ฝุ่นละอองจากถนนปกคลุมใบ ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง ใบเป็นจุดสีขาวซีด หรือใบเปลี่ยนสี เช่น การเป็นพิษ เนื่องจากโอโซน เป็นต้น

การขาดธาตุอาหาร อาการเกิดขึ้นบนส่วนหนึ่งส่วนใดของพืขก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของธาตุอาหารที่พืชขาด เช่น

ขาดไนโตรเจน ใบพืชมีสีเขียวอ่อน ใบล่างเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือนํ้าตาลอ่อน ต้นผอมและเตี้ยแคระ การเจริญเติบโตของพืชลดลง

ขาดฟอสฟอรัส ใบพืชมีสีเขียวเข้ม ขอบใบสีม่วง ใบล่างเป็นสีบรอนซ์ มีจุดสีม่วงหรือนํ้าตาล ยอดสั้น

ขาดโพแทสเซียม ส่วนยอดผอม หรือเกิดอาการตายจากปลายใบแก่มีสีซีด และไหม้ที่ปลายใบ

ขาดธาตุอาหารรอง และอาหารเสริมอื่น ๆ เช่น ขาดธาตุเหล็ก สังกะสี และโบรอน เป็นต้น

แร่ธาตุในดินมากเกินไป ทำให้พืชเจริญผิดปกติไป เช่น ได้รับไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ต้นอวบ เฝือใบ ไม่ออกดอก ไม่ติดผล

โซเดียมมากเกินไป จะชักนำให้เกิดอาการขาดธาตุแคลเซียม การเจริญเติบโตช้า และต้นพืชจะตายอย่างช้า ๆ

ดินเป็นกรดหรือด่างจัด ทำให้พืชไม่สามารถใช้ปุ๋ยได้ตามปกติ ดินกรด จะละลายเกลือแร่ออกมา มากจนเป็นพิษกับพืชโดยตรง หรือขัดขวางการดูดซึม แร่ธาตุชนิดอื่น ทำให้เกิดอาการขาดธาตุต่าง ๆ

พิษจากสารเคมีกำจัดวัชพืช เกิดอาการต่าง ๆ ผันแปรไปตามชนิดของสารเคมี เช่น ทำให้ใบบิดเบี้ยว ใบด่าง ผิวใบย่น ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือนํ้าตาล และใบแห้งตาย

พิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เกิดอาการใบไหม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใช้สารที่มีกำมะถัน และทองแดงเป็นองค์ประกอบกับพืชตระกูลแตง ในวันที่แดดจัด

การปฎิบัติดูแลไม่ถูกต้อง เช่น การพรวนดิน โดนรากขาด ต้นพืชเหี่ยว การให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ไม่ถูกวิธี ไม่ได้ไถระเบิดดินดานทำให้นํ้าขัง การปลูกพืชในที่ ไม่เหมาะสม เช่น นำพืชที่ชอบนํ้าไปปลูกในที่แห้งแล้ง นำพืชที่ชอบแล้งไปปลูกที่ชื้นแฉะ หรือนำไม้ดอกปลูกในที่ร่ม ทำให้ไม่ออกดอก นำไม้ใบที่ชอบร่มรำไร ไปปลูกในที่แดดจัด หรือแม้แต่การไม่แกะผ้าพลาสติกที่พันกิ่งทาบออกนานไปจะทำให้ลำต้นคอดกิ่วไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

2. โรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต มีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น

การทำลายของพืชชั้นสูง เช่น กาฝากที่ขึ้นบนกิ่งไม้ จะแย่งดูดกินอาหาร ทำให้ไม่มีดอกผล และในที่สุดกิ่งแห้งตาย และฝอยทองที่ดูดกินอาหารจากพืชหลักที่เราปลูกทำให้ต้นพืชแคระแกร็น

การทำลายของสาหร่าย จะทำให้พืชแสดงอาการคล้ายใบจุด มีลักษณะเป็นแผลสีเขียวถึงสีน้ำตาล ฟูคล้ายกำมะหยี่ ถ้าเป็นมาก ๆ ทำให้ใบเหลือง ร่วงหล่นก่อนกำหนด ส่วนมากพบบนไม้ผลที่ปลูกในสภาพที่มีความชื้นสูง

เชื้อรา เป็นพืชชั้นต่ำชนิดหนึ่งที่สังเคราะห์แสงไม่ได้ ส่วนมากมีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวแตกกิ่งก้านสาขาหรืออยู่เป็นกลุ่ม มีขนาดแตกต่างกันมาก สืบพันธุ์แบบไม่ใช้เพศโดยการสร้างสปอร์และแบบใช้เพศ เมื่อเจริญภายในพืชสามารถดูดซึมฮาหาร จากเซลล์พืชมาเลี้ยงตัวเองได้

เชื้อแบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ๆ จะเห็นแบคทีเรียรูปร่างกลม หรือเป็นท่อนสั้น ๆ บางชนิดมีหางหนึ่งหาง หรือหลายหางก็ได้

ไวรัส เป็นอนุภาคที่ก่อให้เกิดโรคซึ่งมีขนาดเล็กมาก โปร่งแสงไม่สามารถมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา เพิ่มจำนวนอนุภาคได้ภายในเซลล์ของพืชที่ยังคงมีชีวิตอยู่

ไวรอยด์ เป็นอนุภาคที่เล็กกว่าไวรัส และมีองค์ประกอบต่างจากไวรัสบางส่วน ในปัจจุบันพบว่ามีเพียงไม่กี่ชนิดที่ทำให้เกิดโรคพืชได้เพียงเล็กน้อย เท่านั้น

มายโคพลาสมา เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่มีผนังเซลล์ ลักษณะรูปร่างต่าง ๆ กันจากกลมจนถึงเป็นเส้น มีขนาดระหว่างเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

ไส้เดือนฝอย เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวไม่เป็นข้อหรือปล้อง ขนาดเล็กมาก (ยาว 0.3-0.4 มิลลิเมตร) รูปร่างผอมยาวหรือโป่งพอง จนถึงกลม โดยทั่วไปเราไม่สามารถมองเห็นไส้เดือนฝอยได้ด้วยตาเปล่าได้ ต้องมองใต้กล้องสเตอริโอหรือกล้องจุลทรรศน์

ลักษณะอาการของโรคพืช

ลักษณะของพืช เมื่อถูกรบกวนโดยสาเหตุของโรคพืชแล้ว จะแสดงลักษณะอาการผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งอาจเกิดอาการได้หลายแบบในเวลาเดียวกันในพืชต้นเดียวกันก็ได้ โดยจะเกิดได้ตั้งแต่ราก ลำต้น กิ่งก้าน ใบ ดอก ผล เมล็ด หรือแสดงอาการผิดปกติ ทั้งต้น ซึ่งพอจะแยกอาการที่เกิดกับส่วนต่าง ๆ ของพืช คือราก ลำต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด ตลอดจนอาการที่เกิดกับพืชทั้งต้น ดังนี้

1. อาการที่ราก

1.1 โรครากเน่า รากเกิดอาการเน่าดำหรือสีนํ้าตาล เปลือกล่อนหลุดติดมือออกมาเนื่องจากเชื้อโรคเข้าทำลาย เช่น โรครากเน่าของส้ม ทุเรียน มะละกอ เป็นต้น

1.2 โรครากปม รากจะมีอาการพองออกเป็นปม โดยจะพองออกจากภายในราก มิใช่พองออกมาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เช่น โรครากปมของมะเขือเทศ มะละกอ ผักต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอย

1.3 โรครากแผล เกิดแผลไปตามความยาวของราก โดยมีรอยสีนํ้าตาล หรือน้ำตาลเข้ม ต่อมาจะเป็นช่องทางให้เชื้อต่าง ๆ เข้าทำลายซ้ำเติมได้ดีขึ้น สาเหตุของรากแผลส่วนมากเกิดจากการทำลายของไส้เดือนฝอย

1.4 โรครากกุด รากกุดสั้นเป็นกระจุก ไม่ยืดยาวออกตามปกติ เช่น โรครากกุดของข้าวฟ่าง ซึ่งเกิดจากการทำลายของไส้เดือนฝอย

2. อาการที่ลำต้นและกิ่งก้าน

2.1 โรคเน่าคอดิน อาการแบบนี้ใช้เรียกเฉพาะกรณีที่เกิดกับต้นกล้า โดยจะพบแผลเน่าบริเวณโคนต้นที่อยู่ติดกับผิวดิน ทำให้ต้นหักล้มและแห้งตายเป็นหย่อม ๆ เช่น ต้นกล้าของผักที่พบเน่าตายในแปลงเพาะกล้า โรคนี้เกิดจากเชื้อรา

2.2 โรคโคนเน่า อาการเน่ามีแผลเป็นสีนํ้าตาล บริเวณโคนต้นถ้าถากเปลือกดูจะเห็นว่าใต้เปลือกมีอาการเน่าเป็นสีนํ้าตาล เช่น โรคโคนเน่าของส้ม ทุเรียน เป็นต้น ส่วนมากโรคนี้จะเกิดจากเชื้อรา

2.3 โรคลำต้นเน่า แผลที่พบบริเวณโคนต้น จะขยายลุกลามไปรอบลำต้น ทำให้เปลือกรอบ ๆ ลำต้นเน่าและต้นไม้ตายทั้งต้น หรือบางครั้งเชื้อเข้าทำลายบริเวณลำต้นที่มีความชื้นสูงอยู่เสมอ เช่น บริเวณคาคบไม้ โรคนี้ส่วนมากเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคลำต้นเน่าของทุเรียน เป็นต้น

2.4 โรคยางไหล จะมีอาการยางไหลออกมาจากลำต้น โดยบริเวณดังกล่าวจะมีรอยแผลซํ้า มียางไหลออกมาตามรอยแผลนั้น เช่น โรคยางไหล ของส้ม ซึ่งเกิดจากเชื้อรา และโรคยางไหลของพืชบางชนิดยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน เช่น มะม่วง

2.5 โรคปุ่มปม เกิดอาการเป็นก้อนปุ่มปมขึ้นบริเวณกิ่งและลำต้น ส่วนมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปุ่มปมของยาสูบ โรคปุ่มปมของมะกอก เป็นต้น

2.6 โรคยอดแห้งตาย อาการแห้งตายจะพบที่ยอดก่อน ต่อมาจะลุกลามมาตามกิ่งก้าน จนในที่สุดอาจตายทั้งกิ่งหรือทั้งต้นได้ โรคนี้ส่วนมากเกิดจาก เชื้อรา เช่น โรคยอดแห้งของส้มและมะนาว เป็นต้น

3. อาการที่ใบ

3.1 โรคใบจุด เกิดจุดแผลที่ใบรูปร่างแตกต่างกันไปในรายละเอียดแล้วแต่สาเหตุที่เข้าทำลายขนาดของแผลเป็นเพียงจุดบนใบอาจเกิดกระจายกัน ทั่วทั้งใบ ถ้าเกิดจุดแผลมาก ๆ อาจจะทำให้ใบแห้งได้ เช่น โรคใบจุดของพืชส่วนมากเกิดจากเชื้อราและ แบคทีเรีย เช่น โรคใบจุดของถั่วเขียว โรคใบจุดของ่ขึ้นฉ่าย โรคใบจุดของถั่วผักยาว และโรคใบจุดนูนของถั่วเหลือง เป็นต้น

3.2 โรคใบไหม้ เกิดแผลแห้งตายมีขนาดของแผลใหญ่กว่าอาการใบจุด ขอบเขตของแผลจะกว้างขวางกว่าการไหม้อาจเกิดที่กลางใบ ปลายใบ หรือขอบใบก็ได้ ส่วนมากเกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคใบไหม้ของข้าวโพด ใบไหม้ของข้าว เป็นต้น

3.3 โรคราสนิมเหล็ก แผลขนาดเล็ก สีสนิม โผล่ออกมาจากใบพืชลักษณะคล้าย ๆ กับสีสนิมเหล็ก เมื่อเอามือลูบดูจะมีสปอร์ของเชื้อราติดมือ เป็นสีสนิมได้ชัด โรคนี้เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมของถั่วผักยาว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวโพด และอ้อย เป็นต้น

3.4 โรครานํ้าค้าง อาการของโรคนี้ แตกต่างกัน ซึ่งพอจะแยกออกได้ดังนี้คือ อาการรานํ้าค้างในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มักพบใบลายสีเหลืองเขียวสลับกันตามความยาวของใบ ถ้าอากาศชื้น ๆ อุณหภูมิพอเหมาะ จะพบผงสปอร์ของเชื้อสีขาว ๆ เกาะติดที่ใบ ในพืชตระกูลแตงจะเห็นใบมีอาการเป็นแผลจุดเหลี่ยมสีนํ้าตาล ส่วนในพืชพวกผักคะน้า จะเห็นเป็นใบจุดแผลสีเหลืองด้านบนใบ แต่ใต้ใบจะพบขุยสปอร์สีขาว ๆ ติดอยู่ โรคนี้เกิดจากเชื้อรา โดยพบ บนพืชต่าง ๆ เช่น โรครานํ้าค้างข้าวโพด โรครานํ้าค้างของผักคะน้า โรครานํ้าค้างขององุ่น โรครานํ้าค้างพืชตระกูลแตง เป็นต้น

3.5 โรคราแป้งขาว โรคนี้เกิดจากเชื้อรา โดยจะพบผงแป้งสีขาว ๆ เกาะติดที่ใบคล้าย ๆ กับ เอาแป้งไปโรย ขึ้นปกคลุมกระจายตามส่วนต่าง ๆ ของใบ หรือทั่วทั้งใบ ต่อมาใบจะเหลืองและแห้งตาย เช่น โรคราแป้งขาวถั่วเขียว ถั่วลันเตา และโรคราแป้งของกุหลาบ เป็นต้น

3.6 โรคแคงเคอร์ โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยพบบริเวณที่เป็นโรค เกิดเป็นจุดแผล สะเก็ดสีน้ำตาลนูนขึ้นมาบนผิวใบทั้งสองด้าน นอกจากเกิดที่ใบแล้วอาจเกิดที่กิ่งและผลได้ด้วย เช่น โรคแคงเคอร์ของส้ม มะนาว เป็นต้น

3.7 โรคสแคบ อาการคล้ายแคงเคอร์ แต่จะเกิดเฉพาะที่ผิวใบด้านบนเท่านั้น โรคนี้เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคสแคบของส้ม มันฝรั่ง

3.8 โรคเขม่าดำ โรคนี้มีลักษณะเป็นเขม่าดำคล้ายผงถ่านตามส่วนที่เกิด เช่น ที่ยอด ช่อดอก เมล็ด เมื่อเคาะดูจะมีผงสีดำคล้ายผงถ่าน ซึ่งเป็นสปอร์ของเชื้อราหลุดออกมา เช่น โรคแส้ดำของอ้อย โรคสมัทของลูกเดือย เป็นต้น

3.9 โรคแอนแทรคโนส ใบที่เกิดโรคนี้ จะเป็นแผลแห้งสีนํ้าตาล ส่วนมากจะเห็นเชื้อรา มีลักษณะเรียงเป็นวงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ค่อนข้างชัดเจน ในบางพืช โรคนี้เกิดได้ทั้งบนใบกิ่งและผล สาเหตุเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนสของมะละกอ มะม่วง กล้วยไม้ องุ่น เป็นต้น

3.10 โรคราดำ ใบที่เกิดโรคนี้จะมีผงคล้ายเขม่าดำ คลุมผิวใบหรือส่วนอื่น ๆ ของพืช เมื่อใช้มือลูบจะหลุดออก เพราะเชื้อราชนิดนี้จะไม่แทงเข้าไป ในใบพืช เพียงแต่ขึ้นปกคลุมผิวใบ ส่วนมากพบหลังการทำลายของเพลี้ยจั๊กจั่นและแมลงหวี่ขาว เพราะราชนิดนี้จะขึ้นเจริญบนนํ้าหวานที่เพลี้ยขับถ่าย ออกมา

3.11 โรคเน่าเละ อาการเน่าเละสีนํ้าตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็นรุนแรง เกิดได้ทั้ง ผล ราก หัว และ ใบ ของพืชผัก เมื่อเป็นโรคนี้ผักจะเน่าเละทั้งต้น หรือทั้งหัว สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคเน่าเละของผักกาดหัว กะหล่ำปลี กะหลํ่าดอก ผักกาดขาว และแตงกวา โรคเน่าเละของอากาเว่

3.12 โรคใบด่าง อาการใบด่างมีหลายลักษณะ แล้วแต่สาเหตุที่ทำให้ด่าง อาจเกิดจากเชื้อไวรัส ขาดธาตุอาหาร หรือลักษณะกลายพันธุ์ของพืช สำหรับอาการใบด่างที่เกิดจากไวรัส ส่วนมากสีเหลืองสลับเขียว เนื้อใบไม่เรียบเป็นคลื่น และใบมีรูปร่างไม่แน่นอน เช่น โรคใบด่างเหลืองของถั่วผักยาว โรคใบด่างของยาสูบ และโรคใบด่างของผักต่าง ๆ

3.13 โรคใบหงิก ใบจะหงิกงอม้วนตัวเป็นคลื่น ต้นพืชจะแคระแกร็น ยอดหงิก และพืชทั้งต้นจะมีขนาดเล็กลงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นปกติ โรคนี้เกิดจากไวรัส (อาการดูดกินจากแมลงก็มักมีอาการใบหงิกงอได้) เช่น โรคใบหงิกของมะเขือเทศ โรคใบหงิกของยาสูบ เป็นต้น

3.14 โรคใบขาว ใบจะมีสีขาวซีด และต้นแคระแกร็น เนื่องจากพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ เช่น โรคใบขาวของอ้อยที่เกิดจากเชื้อมายโคพลาสมา ทำให้อ้อยมีลำน้อย และนํ้าหนักลดลงมาก

3.15 โรคพุ่มไม้กวาด บริเวณยอดจะแตกใบมากกว่าปกติแต่ใบไม่สมบูรณ์ มีขนาดเล็กเป็นพุ่ม กระจุกคล้ายไม้กวาด หากพืชต้นใดเป็นโรครุนแรงก็จะไม่ออกดอกหรือติดผล โรคนี้เกิดจากเชื้อมายโคพลาสมา เช่น โรคพุ่มไม้กวาดของลำไย

3.16 โรคแตกพุ่มฝอย บริเวณยอดจะแตกเป็นพุ่มฝอยโดยมีใบเล็ก ๆ รวมกันเป็นกระจุก โรคนี้เกิดจากเชื้อมายโคพลาสมา เช่น โรคแตกพุ่มฝอยของ ถั่วผักยาว งา และถั่วเขียว เป็นต้น

4. อาการที่ดอก พบอาการคล้าย ๆ กับที่เกิดบนใบ เช่น โรคดอกจุด ดอกไหม้ ดอกด่าง ดอกบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ดอกเน่า และแอนแทรคโนส เป็นต้น โรคพวกนี้ส่วนมากเกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส เช่น โรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคดอกด่าง ของแคทลียา โรคดอกเน่าของหน้าวัว เป็นต้น

5. อาการที่ผล

5.1 โรคผลจุด ลักษณะของแผลแตกต่างกัน บางครั้งจะพบเชื้อราตรงบริเวณแผลชัดเจน แผลอาจเกิดกระจายกันทั่วผลหรืออาจขยายใหญ่รวมกัน ทำให้ผลเน่าก็ได้ โรคนี้ส่วนมากเกิดจากเชื้อรา เช่น โรคผลจุดของฝรั่ง เป็นต้น

5.2 โรคผลเน่า ผลจะเกิดแผลสีน้ำตาล จนถึงสีนํ้าตาลดำ ต่อมาแผลจะขยายลุกลามต่อไป ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม อาการนี้จะพบตั้งแต่ผลอยู่บนต้น จนถึงหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนมากเกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคผลของขนุนอ่อนเน่า กล้วย และมะละกอ เป็นต้น

5.3 โรคผลแตก ผลจะมีอาการแตกแยก เป็นร่อง ซึ่งมักเกิดจากการได้รับนํ้าไม่สม่ำเสมอ หากพืชขาดนํ้านาน ๆ แล้วต่อมาฝนตกหนักกะทันหัน ก็จะทำให้ผลแตกไดเ

6. อาการที่เมล็ด

6.1 โรคเมล็ดเน่า—เมล็ดด่าง เมล็ดจะเน่า และไม่สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ เพราะมีเชื้อโรคหลายชนิดเข้าทำลาย เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย เป็นต้น มักเกิดขึ้นในกรณีที่เก็บรักษาเมล็ดไม่ดี คือเมล็ดได้รับความชื้นสูง

6.2 โรคเมล็ดมีสีผิดปกติ เมล็ดมีสีผิดปกติไปจากเดิม เช่น เมล็ดถั่วเหลืองมีสีด่างลายสีน้ำตาล หรือมีสีม่วง หรือมีคราบสีขาว ๆ เกาะติดอยู่ ส่วนมาก เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคเมล็ดสีม่วงของถั่วเหลือง โรคเมล็ดด่างของถั่วเหลือง โรครานํ้าค้างของถั่วเหลือง เป็นต้น

7. อาการที่เกิดกับพืชทั้งต้น

7.1 โรคเหี่ยว ต้นพืชจะแสดงอาการเหี่ยวเฉา ในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น การเหี่ยวเนื่องจากการขาดนํ้า เมื่อได้นํ้าก็จะฟื้นปกติ อาการเหี่ยวใบเหลืองลู่ เนื่องจากเชื้อราไปทำลายท่อนํ้าและอาหารของพืช อาการเหี่ยวแต่ใบยังเขียวอยู่ระยะหนึ่ง คือเมื่อแดดจัดก็จะเหี่ยว ต่อมาเมื่ออากาศเย็นลงก็จะฟื้นปกติ เป็นอยู่ ระยะหนึ่งก็จะเหี่ยวอย่างถาวร ซึ่งเกิดจากการทำลายของเชื้อราหลายชนิด และเชื้อแบคทีเรีย ตัวอย่างเช่น โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ โรคเหี่ยวของพืชตระกูลแตง โรคเหี่ยวของกล้วย เป็นต้น

7.2 ต้นพืชแคระแกร็น ต้นพืชจะแสดงอาการแคระแกร็นเมื่อเปรียบเทียบกับต้นปกติ ทั้งนี้อาจเนื่องจากการปฎิบัติดูแลรักษาไม่ดีพอ มีไส้เดือนฝอย หรือแมลงกัดทำลายราก หรือมีเชื้อโรคบางชนิด เช่น ไวรัสเข้าทำลาย ทำให้ต้นพืชไม่สามารถเจริญเติบโตตามปกติได้ มีดอกและผลน้อย

7.3 ต้นพืชเติบโตผิดปกติ โดยต้นที่เป็นโรค จะยืดสูงกว่าต้นปกติ สีเขียวอ่อน และไม่ออกดอกหรือติดเมล็ด เช่น โรคถอดฝักดาบของข้าว หรือต้นพืชที่ ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ก็จะทำให้ข้าวเฝือใบไม่ออกรวงและไม่มีเมล็ด ไม้ดอกจะไม่ออกดอก เป็นต้น

การแพร่ระบาดของโรค

เชื้อโรคพืชสามารถแพร่ระบาดไปยังต้นพืชอื่น ได้หลายทางคือ

1. ติดไปกับส่วนขยายพันธุ์ เชื้อโรคหลายชนิด สามารถติดไปกับเมล็ดหรือส่วนขยายพันธุ์ได้ เช่น โรคที่ติดไปกับเมล็ด ได้แก่ โรคใบด่างของถั่วฝักยาว โรคแอนแทรคโนสของพริก โรคที่ติดไปกับท่อนพันธุ์ เช่น โรคใบขาวของอ้อย โรคบางชนิดถ่ายทอดไปกับกิ่งพันธุ์ เช่น โรคกรีนนิ่งของส้ม ซึ่งเกิดจากเชื้อมายโคพลาสมา โรคทริสเทซ่าของส้มและมะนาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส

2. ลม สปอร์ของเชื้อราเกือบทุกชนิดปลิวไปกับลมได้ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กปลิวไปกับลมได้ง่าย ๆ ฝุ่นเหล่านี้จะพาเอาเชื้อแบคทีเรียและไส้เดือนฝอย แพร่กระจายไปด้วย

3. นํ้า นํ้าจะช่วยแพร่กระจายเชื้อโรคไป โดยพาสปอร์ของเชื้อไป หรือนํ้าฝนตกลงมาแรง ๆ ก็จะทำให้ดินกระเด็นพาเอาเชื้อขึ้นไปด้วย

4. แมลง แมลงเป็นพาหะสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไป โดยเชื้อบางชนิดอาจติดไปกับส่วนของอวัยวะแมลง แมลงบางชนิดดูดกินพืชที่เป็นโรค ก็จะพาเชื้อโรคติดไปด้วย เมื่อไปดูดกินพืชปกติก็จะทำให้เชื้อโรคติดไปยังพืชปกติ เช่น เชื้อไวรัสและ มายโคพลาสมา

5. สัตว์อื่น ๆ เช่น ไส้เดือนฝอยบางชนิด สามารถถ่ายทอดเชื้อโรคไปยังพืชอื่น ๆ ได้ ไรและไส้เดือนฝอยสามารถพาเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ที่ติดอยู่บริเวณลำตัวแพร่ระบาดต่อไปด้วย

6. กาฝากและฝอยทอง สามารถถ่ายทอดเชื้อโรคจากพืชเป็นโรคไปยังพืชปกติได้

7. มนุษย์ มนุษย์เป็นตัวการแพร่กระจายโรคไปยังที่ต่าง ๆ โดยไม่มีขอบเขต เช่น การเคลื่อนย้าย ส่วนขยายพันธุ์ของพืช จากต้นพืชที่มีโรคติดอยู่ ดินที่มีเชื้อโรค ผลิตผลการเกษตรที่มีเชื้อโรคติดอยู่ หรือแม้แต่การปฎิบัติต่อต้นพืชโดยใช้เครื่องมือทางการเกษตร เซ่น จอบ เสียม มีด กรรไกร ก็สามารถพาเชื้อโรคแพร่ระบาดจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ได้เช่นกัน

เราจะป้องกันกำจัดโรคพืชได้อย่างไร

การป้องกันกำจัดโรคพืชนั้นมีข้อควรพิจารณา เพื่อดำเนินการหาทางป้องกันกำจัด คือต้องวางแผนตั้งแต่ยังไม่ลงมือปลูกพืช เพราะโรคบางอย่างเมื่อ เกิดขึ้นแล้วจะไม่มีทางแก้ไขได้เลย หลักการอีกข้อหนึ่ง ก็คือเราจะอาศัยหลาย ๆ วิธีประกอบกันอย่างผสมผสานเหมาะสมกับโอกาสและเป็นขั้นตอน วิธีการในการป้องกันกำจัดมีหลายวิธีดังนี้

1. การเตรียมดิน จะต้องมีการขุด หรือไถพลิกดินบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อตากดิน แสงแดดจะช่วยทำลายเชื้อโรคในดินได้บ้าง โดยเฉพาะเชื้อราบางชนิด ไข่ของไส้เดือนฝอย เป็นต้น การตากดินครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 10-15 วันก็พอ จะทำให้ดินร่วนแล การระบายนํ้าดีขึ้นด้วย

2. การปรับปรุงดิน ดินบางครั้งเป็นกรดมากเกินไป หรือที่เรียกว่าดินเปรี้ยว ซึ่งทำให้ต้นพืชที่ปลูกลงไปแล้วไม่โต เนื่องจากรากหาอาหารไม่ได้และ รากไม่โตเท่าที่ควร ฉะนั้นควรทำการตรวจดูความเป็นกรดเป็นด่างของดินเป็นครั้งคราว ถ้าทำเองไม่ได้ก็ควรส่งตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร หรือภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเราทราบว่าดินเป็นกรด วิธีที่จะแก้ไขคือการใส่ปูนขาวแล้วคลุกกับดินให้ดีไม่ควรโรยที่ผิวหน้า เพราะเมื่อปูนขาวถูกนํ้าจะจับกันเป็นก้อนแข็ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการปลูกพืช การใส่ปูนขาวจะมากหรือน้อย่ขึ้นอยู่กับว่าดินของเราเป็นกรดมากแค่ไหนเป็นสำคัญ

3. การเลือกเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์ เป็นสิ่งสำคัญอีกอันหนึ่ง เพราะว่าถ้าเราเลือกหรือคัดเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีโรคติดมาแล้ว ก็จะช่วยป้องกันโรคในระยะแรกได้ การเลือกเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ เช่น กิ่งตอน ถ้าเราสามารถสอบถามถึงต้นตอได้ว่า ในไร่หรือสวนที่เราจะนำมาใช้ขยายพันธุ์ไม่เคยมีโรคระบาด ต้นพืชเติบโตแข็งแรงดี ใบไม่ด่าง ต้นไม่ทรุดโทรม มีการบำรุงรักษาดีก็จะเป็นการดี ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีโรคหลายชนิดที่ติดไปกับเมล็ดหรือ กิ่งตอนได้ ฉะนั้นหากเราไม่แน่ใจว่าของเขาดีจริง ก็ไม่ควรนำมาใช้ทำพันธุ์ ถ้าจะให้ดีควรคัดเลือกจากต้นของเราเองดีกว่า โดยเลือกจากต้นที่ดีที่สุด แต่ถ้าในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ โดยสามารถหาพันธุ์ได้และ เราไม่แน่ใจว่ามีโรคติดมาหรือไม่ก็ควรทำการใช้ยาคลุกเมล็ดก่อนนำไปปลูก เพื่อทำลายเชื้อหรือป้องกันเชื้อโรคก่อนก็จะให้ผลดียิ่งขึ้น

4. การหาพืชพันธุ์ต้านทานโรคมาปลูก จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ คือไม่ต้องคอยฉีดยาป้องกันโรคหรือแมลง ไม่ต้องเสียค่ายา ปัจจุบันในบ้านเราก็มีพืชพันธุ์ต้านทานโรคที่ใช้ได้ผลแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ เช่น ข้าวพันธุ์ ก.ข. 1, 3, 5 ต้านทานโรคใบสีส้ม ข้าวพันธุ์ ก.ข. 7 ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ข้าวโพด พันธุ์ “สุวรรณ 1” ต้านทานโรครานํ้าค้าง ถั่วเหลือง สจ 4, สจ 5 หรือเชียงใหม่ 60 ต้านทานต่อโรคราสนิม หรือถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1, 2 ต้านทานต่อโรคใบจุด และโรคราแป้ง เป็นต้น

5. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เหมาะต่อการเกิดโรค เช่น ไม่ให้นํ้าชื้นแฉะเกินไป ไม่เพาะกล้าแน่นเกินไป เป็นต้น

6. การตัดกิ่งเป็นโรค หรือขุดต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย ในกรณีที่เป็นโรคเพียงเล็กน้อยบนกิ่ง หรือใบ ถ้าใช้ยาพ่นจะไม่คุ้มกับการลงทุน ฉะนั้นถ้าพบเพียงเล็กน้อยก็ควรเก็บหรือตัดส่วนที่เป็นโรคออกนำมาเผาทำลาย ไม่ควรกองทิ้งเอาไว้ในสวน แม้พืชหลุดจากต้นแล้วเชื้อโรคยังไม่ตาย การเผาไฟหลังจากที่แห้งแล้วจึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ส่วนในกรณีที่ต้องขุดต้นออกทิ้งนั้นเกิดจากที่เชื้อเข้าทำลายจนทำให้ต้นทรุดโทรม รักษาให้หายได้ยากก็จำเป็นต้องตัดทิ้ง ตัวอย่างโรครากเน่าของทุเรียน โรครากเน่าของส้ม เป็นต้น

7. ควรใช้เครื่องมือที่สะอาดปราศจากเชื้อ โดยพยายามทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น มีด กรรไกร ด้วยความร้อนจากเปลวไฟ หรือใช้สารเคมีบางชนิด เช่น ไตรโซเดียมฟอสเฟต ในกรณีของเชื้อไวรัส เป็นต้น

8. การเลือกที่ปลูก ไม่ควรปลูกพืชเดิมซํ้าที่เก่า ที่เคยมีโรคเกิดขึ้นทันที ควรจะเว้นระยะปลูกให้นานหน่อย หรือควรเลือกที่ที่ไม่เคยมีโรคเกิดขึ้นมาก่อน จะช่วยลดการเกิดโรคลงได้มาก โดยเฉพาะโรคนั้น เป็นเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดินได้

9. การเลือกเวลาปลูก โรคบางอย่างอาจหลีกเลี่ยง หรือหนีโรคได้ ถ้าเราเลือกเวลาปลูกให้ดี เช่น ถ้าพืชนั้นมักเกิดโรครุนแรงในฤดูฝน ก็ควรเลี่ยงมาปลูกต้นหรือปลายฤดูฝน ถ้าเกิดโรคมากในฤดูหนาว ก็ควรเลี่ยงมาปลูกต้นหรือปลายฤดูแทน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

10. การปลูกพืชสลับหรือหมุนเวียน ก็จะช่วยป้องกันความเสียหายเนื่องจากโรคบางชนิดได้ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดินได้การที่จะพิจารณาว่าจะใช้พืชอะไรมาสลับนั้น ส่วนมากไม่ควรใช้พืชพวกเดียวกัน เช่น ปลูกพริกแล้วเป็นโรคเหี่ยวก็ควรใช้ข้าวโพด ถั่ว หรือผักมาปลูกสลับสัก 1-2 ปี แล้วจึงหันปลูกพริกใหม่ แต่ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามในกรณีที่พบโรคบนใบ หรือบนผล การปลูกพืชอื่นสลับจะได้ผลดี ถ้าโรคนั้นเกิดกับต้นกล้า หรือเกิดกับรากทำให้รากเน่า โคนเน่าหรือโรคเหี่ยวทั้งต้น

11. การฉีดยาฆ่าแมลงเพื่อทำลายแมลงนำเชื้อโรค โรคพืชที่เกิดจากไวรัสหรือมายโคพลาสมาหลายชนิดที่มีแมลงพวกเพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยกระโดดแมลงหวี่ขาว เป็นตัวนำเชื้อโรคไปยังต้นปกติที่อยู่ข้างเคียงหรือที่ที่แมลงบินไปถึง ฉะนั้นการฉีดยาฆ่าแมลงเป็นครั้งคราวก็จะช่วยลดการระบาดของโรคลงได้ ตัวอย่างเช่น โรคใบสีส้มของข้าว มีจั๊กจั่นสีเขียวเป็นตัวนำ โรคใบหดของยาสูบ โรคใบหงิกมะเขือเทศ มีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวนำโรค เป็นต้น

12. ป้องกันโรคโดยการฉีดสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะสารเคมีที่เคยใช้ได้ผลดี การฉีดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นโรคมากและรุนแรงควรฉีดถี่หน่อย แต่ถ้าต้นไม้เป็นโรคแล้วไม่ค่อยมีความเสียหายแก่พืชก็นาน ๆ ฉีดครั้งหนึ่งได้ แต่การใช้สารเคมีนั้นจะต้องทราบ เสียก่อนว่ามีสารเคมีอะไรบ้างที่ฉีดแล้วได้ผล ไม่ใช่ไปขอซื้อยาตามตลาดซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายก็ไม่ทราบว่าจะเอาไปฉีดป้องกันโรคอะไร ใช้แล้วได้ผลหรือไม่ ซึ่งเป็นการเสี่ยงมาก ที่กล่าวเช่นนี้เพราะถ้าใช้ผิด นอกจากใช้ไม่ได้ผลแล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ฉะนั้นการจะพิจารณาใช้สารเคมี อะไร ควรสอบถามผู้รู้ให้รอบคอบเสียก่อน จึงตัดสินใจ

13. การรักษาต้นพืชที่เป็นโรค พืชบางชนิด โดยเฉพาะพวกที่มีราคาแพง หรือหายาก ถ้าเป็นโรคจะเผาทิ้งหรือก็เสียดาย จึงหันมารักษากัน เช่น กล้วยไม้ ไม้ยืนต้นบางชนิด แต่โดยหลักการปฎิบัติ ในการป้องกันกำจัดโรคนั้น จะต้องยึดถือหลักที่ว่า ควรทำการป้องกันไม่ให้พืชเป็นโรคมากกว่าการรักษา เพราะเราจะรักษาพืชให้หายดี เช่นพืชปกตินั้นย่อมทำได้ยาก

โปรดสงเกตว่าเราจะเน้นที่การป้องกัน และกำจัดโดยไม่ใช้คำว่ารักษา คือ เราพยายาม ป้องกันไม่ให้เกิดโรคทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้ายังเกิดโรค เราก็พยายามกำจัดเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาดกว้างขวางออกไป