โรคและศัตรูของลำไย

โรคและศัตรูของลำไย

โดย  ดร.นุชนารถ  จงเลขา

ผู้เขียนได้ไปตรวจดูสวนลำไยที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน  กับคุณปิยนันท์  ศิริวรรณ  ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดลำพูน และคุณพิพัฒน์  เกษตรตำบล คุณปิยนันท์รู้สึกกังวลกับอาการผิดปกติของลำไยที่เกิดขึ้นในสวนหลายแห่งในอำเภอนี้ เนื่องจากต้นลำไยออกช่อผิดปกติ บางช่อสั้นเป็นกระจุก  ซึ่งทำให้เข้าใจว่าเกิดโรคพุ่มแจ้  หรือไม้กวาดแจ้(witches’ broom) ซึ่งเกิดจากเชื้อมายโคพลาสม่า (mycoplasma) ระบาด นอกจากนี้ใบลำไยบางต้นไม่โต ต้นโทรมใบม้วนงอลง ส่วนใบอ่อนไม่คลีและม้วน  นอกจากนี้ยังมีอาการใบเป็นจุดสีเทาบ้าง สีสนิมบ้าง ต้นมีอาการเป็นขี้กลาก เป็นดอกสีขาวสีเทาอมเขียวบ้าง เมื่อตรวจไปเรื่อย ๆ ก็พบอาการยอดไหม้หรือปลายกิ่งแห้งตาย เปลือกของกิ่งมีรอยแทะ  สำหรับอาการต้นเหลืองและทรุดโทรมไม่พบในวันที่ออกสำรวจ แต่สองวันต่อมาคุณปิยนันท์  ก็นำกิ่งที่ตัดจากต้นที่แสดงอาการดังกล่าว  ซึ่งคุณปิยนันท์พบที่สวนอื่นผ่าดูมีสีดำอยู่ภายใน  สงสัยว่าจะเป็นโรค

ผู้เขียนได้ตรวจดูอาการของลำไยแล้วพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากศัตรูหลายชนิดระบาด ศัตรูที่สำคัญคือไรขาว (Polyphagotarsonemus latus) ซึ่งระบาดทำความเสียหายให้มาก  และอาจมีไรขาวชนิดอื่นอยู่ด้วย  แต่ผู้เขียนไม่เชี่ยวชาญทางจำแนกชนิดของศัตรู จึงได้นำไปถามผู้ช่วยศาสตราจารย์ จริยา วิสิทธิพานิช  ซึ่งเป็นอาจารย์สอนกีฏวิทยา  ที่คณะเกษตรศาสตร์ อาจารย์สนใจเรื่องศัตรูลำไย  จึงได้ข้อมูลย้ำความเข้าใจว่าเป็นอาการจากไรขาวแน่นอน  สำหรับอาการที่เกิดช่อสั้นเป็นกระจุก  อาจเกิดจากโคนช่อลำไยถูกหนอนเจาะกิ่ง เนื่องจากหนอนชนิดนี้เข้าไปเจริญและหากินภายในกิ่งถ่ายมูลไว้ มูลของมันมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำอยู่ภายในเนื้อไม้  สำหรับบางช่อที่ไม่ปรากฎร่องรอยของการเจาะ หรือไม่พบมูลของแมลง มีลักษณะของช่อที่แตกเป็นฝอย  ไม่พัฒนาให้เห็นเป็นดอกหรือใบที่ชัดเจน  จึงมีอาการคล้ายโรคพุ่มแจ้  ลักษณะนี้มีน้อย  ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเพราะหากเป็นโรคมายโคพลาสม่าแล้ว คงยากแก่การรักษา เพราะเท่าที่ทราบสารเคมีที่สามารถควบคุมมายโคพลาสม่าคือ เตตระไซคลิน(tetracycline) แต่วิธีการใช้สารนี้ในการปฏิบัติจริงที่ไม่ใช่ระดับวิจัยจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนยังไม่ทราบ

สำหรับอาการยอดแห้งตาย  โดยมีเปลือกของกิ่งถูกแทะออกไป  ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากคุณพิพัฒน์ว่าเขาเห็นตั๊กแตนมันกัด แต่เมื่อถามนักกีฏวิทยาบอกว่าที่จริงเป็นด้วงหนวดยาว (Aristobiaapproximater)

ศัตรูอีกชนิดที่พบคือ เพลี้ยไก่ฟ้าหรือไก่แจ้ (Cornegenapsylla sinica) มองเห็นเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงเรียงกัน โดยส่วนหัวทิ่มลง ส่วนท้ายชี้ขึ้น พบเห็นเฉพาะในบางสวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนที่พบปัญหาแมลงศัตรูระบาดมาก ๆ

สำหรับศัตรูลำไยที่สำคัญมาก ๆ คือ มวลลำไยหรือแมงแกง (Tessaratoma papillosa) พบเพียงไม่กี่ตัว อยู่ในระยะตัวอ่อน  แต่บางสวนอาจมีระบาดอยู่ก็ได้

โรคที่พบมีอาการจุดสีสนิมและสีเทาตามใบที่พบเกิดจากสาหร่ายหรือตะไคร่ (algal spot) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เซพฟาลูโรส ไวเรสเซนส์ (Cephaleuros virescens) จุดกลม ๆ สีสนิมหรือสีเทาที่พบทั่วไปบนผิวของใบแต่มีไม่มากนัก  ไม่นับว่าเป็นปัญหาสำคัญ

ความจริงโรคของลำไยที่เกิดจากรามีหลายชนิดด้วยกัน เช่นโรคใบจุด ซึ่งเกิดจากเชื้อราเพสต้าโลเทีย(Pestalotia), ฟิลโลสติ๊คต้า (Phyllosticta) และ ไฟอะโลโฟร่า (Phialophora)โรคเหล่านี้อาจจะพบเห็นในสวนที่ปฏิบัติดูแลไม่ดี  พบมากในฤดูฝน แต่ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่สำคัญ เกษตรกรไม่สนใจและไม่เคยใช้สารเคมีใด ๆ เพื่อควบคุมโรคแห้งตายเกิดจากเชื้อรา แบรคซี่สปอเรียม (Brachysporium sp.) โรคนี้ก็พบเฉพาะส่วนที่ต้นแก่ ลำไยต้นโทรมไม่ได้รับการดูแล เนื่องจากการไปดูสวนช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอากาศหนาว เริ่มเข้าฤดูแล้งจึงไม่พบโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้

สำหรับศัตรูที่เห็นว่าอาจะเป็นปัญหาต่อไปคือ เพลี้ยแป้ง ลำตัวสีขาวคล้ายแป้ง มองเห็นง่าย เกาะดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชบริเวณใต้ใบและตามช่อ

เมื่อมาคำนึงถึงการปราบศัตรูพืชในขณะที่ลำไยกำลังดอกบาน เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะการพ่นสารเคมีต้องระวังแมลงที่มาผสมเกสร  โดยเฉพาะพวกผึ้ง ดังนั้นที่จะทำได้ก็คือ พ่นสารประเภทที่ใช้กำจัดไรและไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง เช่นสารประเภท เฮกซี่ไธอะซ๊อก (hexythiazox) มีค่าความปลอดภัยค่อนข้างสูง คือมีค่าแอลดี 50(LD 50) ทางปากมากกว่า 5000 มก./กก.  สารนี้ช่วยกำจัดไข่และตัวอ่อนของไร  ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง อีกชนิดหนึ่งคือสารที่มีชื่อสามัญว่า  โปรพาไจท์(propargite) สารชนิดนี้เป็นชนิดถูกตัวตาย  มีผลกับตัวแก่ของไรมากกว่า ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง ค่าความปลอดภัยต่ำกว่าเฮกซี่ไธอะซ๊อก คือมีค่าแอล 50 ทางปาก 2200 มก./กก.  สารที่น่าสนใจนำมาใช้กำจัดไรอย่างมากคือพวกกำมะถัน  เพราะถือว่าไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ แต่จะต้องระวังการใช้ไม่พ่นในขณะมีแดดจัด เพราะจะทำให้ใบไหม้ได้ ไม่ผสมกับสารใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารฆ่าแมลงหรือฆ่าเชื้อรารวมทั้งปุ๋ยทางใบด้วย

โดยสรุปก็คือถ้าเห็นว่าไรระบาดมาก จำเป็นจะต้องกำจัดก็ต้องเลือกใช้สารที่ปลอดภัยต่อผึ้ง  และที่สำคัญอย่าพ่นสารมาก  เพราะอาจมีผลต่อการผสมเกสร  ทางที่ดีควรพ่นสารเคมีช่วงที่ดอกยังตูม  ตั้งแต่เริ่มแทงช่อจนถึงก่อนดอกบาน  โดยใช้สารเคมีที่สามารถควบคุมได้ทั้งไรและหนอนต่าง ๆ เช่นการใช้สารประเภทมาลาไธออน (malathion) สารประเภทคาบารีล (carbaryl) และครั้งสุดท้ายก่อนดอกบานให้พ่นด้วยสารประเภทดูดซึมประเภทโมโนโครโตฟอส(monocrotophos) ทั้งนี้ขอแนะนำเฉพาะสวนที่มีการระบาดของศัตรูเท่านั้น  นอกจากนี้ยังอยากจะแนะนำให้ใช้สารที่ปลอดภัยต่อมนุษย์ เช่น สารสกัดจากเมล็ดสะเดา ที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด แต่สารนี้ไม่ควรฉีดพ่นในช่วงดอกบานเช่นกัน เพราะอาจะเป็นพิษต่อผึ้งได้

อยากจะขอเพิ่มเติมเรื่องลำไย  ซึ่งคุณปิยนันท์พบว่ามีอาการต้นโทรมเหลือง แล้วตัดกิ่งมาให้ผู้เขียนดู ผู้เขียนผ่าดูตามกิ่งพบร่องรอยการเข้าทำลายของหนอน ผ่าดูตรงกลางพบขุยดำ ๆ ซึ่งเป็นมูลของหนอนเจาะกิ่งลำไย จึงสามารถบอกได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการดังกล่าว  แต่อาการต้นโทรมและเหลืองอาจเป็นผลจากรากลำไยไม่ดี  รากไม่เจริญ เช่นเคยถูกน้ำขังนาน ๆ จนรากเน่า  ซึ่งมักจะเกิดในสภาพที่ดินไม่ดี ดินแน่น เมื่อถึงหน้าแล้งดินแน่นแข็ง เมื่อถึงหน้าฝนน้ำขังแฉะ การระบายออกยาก สำหรับคำแนะนำในเรื่องนี้คือ พยายามปรับปรุงดิน โดยการให้ปลายรากบริเวณทรงพุ่มแข็งแรง  ด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์ ควรใช้ฟางข้าง แกลบผุ ใบไม้ผุ ใส่บริเวณโคนต้นให้ห่างจากต้นพอสมควร และให้คลุมจนเลยทรงพุ่มออกมา  พยายามรดน้ำให้มากในหน้าแล้ง  พยายามพูนโคนหรือยกร่องในหน้าฝน เชื่อมั่นว่าปัญหาจะหมดไปอย่างแน่นอน

ผู้เขียนได้แวะบ้านคุณจำลอง ซึ่งใช้ปุ๋ยโบกาชิที่ใช้อีเอ็ม โบกาชินี้จะประกอบด้วยแกลบดิบ รำข้าว มูลสัตว์ และอีเอ็ม หมักไว้ 24 ชั่วโมง ก็สามารถนำมาใช้ได้ เขาต้องควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเกิน 45 องศาเซลเซียส ใช้โบกาชิเพียง 1 กำมือต่อ 1 ต้น โรยรอบ ๆ ตรงชายพุ่ม ปรากฎว่าต้นเจริญเติบโตดี ออกช่อดีกว่าที่ไม่ได้ใช้โบกาชิ คุณจำลองกล่าวว่าสวนใกล้ ๆ กันใช้ปุ๋ยเคมีมากถึง 60 กระสอบต่อพื้นที่เพียงสิบกว่าไร่  ลำไยไม่ค่อยโตและไม่ค่อยมีช่อ  อย่างไรก็ดีบางส่วนที่ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ที่ได้ผลดีก็มีนี่เป็นคำบอกเล่าของเกษตรตำบล

ขอส่งท้ายว่าการบำรุงดินให้ดีมีอินทรียวัตถุสูง  จะช่วยให้รากของพืชได้รับอาหารครบถ้วน การระบายอากาศดี รากแข็งแรง ต่อต้านเชื้อโรค จึงหมดปัญหาเรื่องรากเน่าและต้นโทรมได้ โรคและศัตรูของลำไยมีหลายชนิดมากกว่าที่กล่าวมาแล้ว จึงต้องพยายามสังเกตให้ดี จะได้หาทางป้องกันกำจัดได้เร็ว  การสุมไฟให้เกิดควันไล่แมลงศัตรู  ควรนำมาใช้บ้างและถ้าจะโรยผงกำมะถันลงไปด้วย ก็จะช่วยไล่ศัตรูได้มากขึ้น  ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิ่งเป็นโรคหรือกิ่งที่แมลงเจาะ อย่าให้สวนรก ทั้งหมดนี้จะช่วยให้สวนปลอดโรคและศัตรู