โสมมีสรรพคุณดังนี้


ชื่อวิทยาศาสตร์ 1. Panax ginseng C.A. Mey.
2. P. quinquefolius Linn.
ชื่ออื่นๆ 1. โสมญี่ปุ่น โสมจีน โสมเกาหลี
2. โสมอเมริกัน
ชื่ออังกฤษ 1. Asiatic Gingseng.
2. American Gingseng.
ลักษณะ ไม้ล้มลุก มีอายุเกินกว่า 2 ปี ปลูกในอเมริกา แคนาดาและจีน สมัยโบราณปลูกในป่าแถบเอเชียตะวันออก ปัจจุบันปลูกมากในญี่ปุ่น เกาหลี จีน และอเมริกา อเมริกายังคงเป็นแหล่งใหญ่ในการส่งโสมไปขายในจีน ลักษณะของต้นสูงประมาณ 2-3 ฟุต มีรากอวบใหญ่ยาวสีเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มี 3-5 ใบย่อย ใบกลางใหญ่ที่สุด ใบข้างนอกสุดมีขนาดเล็ก ใบย่อยกว้าง 3-5 ซ.ม. ยาว 8-12 ซ.ม. มีขน ดอก ช่อลักษณะคล้ายซี่ร่ม สีขาวอมเขียว ผล สุกมีสีแดง รากมีขนาดใหญ่ แตกเป็น 2 หรือ 3 แฉกขึ้นไป ราก กว้าง 3-5 ซ.ม. ยาว ½ -1 ½  ฟุต
การดูแลเพาะปลูกโสมนี้ต้องควบคุมแสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นอย่างดี ถ้ามิฉะนั้นจะไม่ได้รากที่สมบูรณ์ จะขุดรากได้เมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป และจะขุดได้จนกระทั่งต้นมีอายุถึง 6 ปี
ส่วนที่ใช้ ราก
สารสำคัญ มีไกลโคไซด์ชื่อ panaquilon, panaxin, panaxic acid, panacen, ginsenin ฯลฯ
ประโยชน์ทางยา panaquilon ใช้กระต้นต่อมไร้ท่อ endocrine gland, panaxin กระตุ้นสมองและบำรุงหัวใจ, panaxic acid ช่วยทำให้การไหลเวียนของโลหิตดี, panacen ใช้เป็นยาระงับปวดและกล่อมประสาท
จีนนิยมใช้เป็นยาบำรุง ทำให้ร่างกายแข็งแรง ปัจจุบันเรื่อง “โสม” ยังสับสนกันมาก เพราะมีพืชอื่นๆ หลายต้นที่มีชื่อพ้องและมีรากคล้ายคลึงกัน เช่น “โสมเกาหลี” หรือ “โสมจีน” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Talinum triangulare Willd. ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนขนาดเล็ก ต้นใบอวบนํ้า ถ้านำไปต้มจะเป็นเมือกเล็กน้อยใช้ทั้งต้นเป็นอาหาร ยาจีนบอกสรรพคุณว่าเป็นยาบำรุงกำลัง รากของพืชต้นนี้ใหญ่คล้ายคลึงกับโสม Panax แต่อยู่คนละวงศ์กัน คืออยู่ในวงศ์ Portulacaceae ยังมี “โสมไทย” หรือเรียกว่าว่านผักปัง (เชียงใหม่) ชื่อทางพฤกษศาสตร์ Talinum patens Willd. และมีอีกชนิดหนึ่งคือ โสมไทยด่าง T. patens Willd var. variegata ทั้งสองต้นนี้จะแตกต่างจากโสมจีน Talinum triangulare, Willd ตรงที่ว่าโสมจีนใบยาวเขียว ผิวใบมันเล็กน้อย ใบอวบนํ้า ดอกสีแดงใหญ่กว่าโสมไทย ออกเป็นกระจุกตรงยอด 2-4 ดอก ก้านช่อดอกสั้น ส่วนโสมไทยกับโสมไทยด่างเหมือนกันทุกอย่างต่างกันตรงใบ ใบของโสมไทยด่างจะไม่เขียวทั้งใบมีสีเหลืองอ่อนๆ คละกับสีเขียวอมเทาๆ แต่ไปต่างกับโสมจีนตรงที่รูปร่างของใบค่อนข้างกลมสั้นอวบนํ้า ใบจะมีแต่เฉพาะปลายกิ่ง โคนต้นไม่มี ดอกออกเป็นช่อใหญ่ ก้านช่อดอกยาวและก้านดอกย่อยแตกออกยาวดอกตูมกลมมีขนาดเล็ก เมื่อบานดอกเล็กสีชมพู
นอกจากโสมที่กล่าวแล้วยังมีโสมอีกต้นหนึ่งชื่อ โสมชบา หรือ ข้าวต้มเล็ก (นครสวรรค์) เป็นไม้ล้มลุกขนาดโตกว่าพวกโสมจีน โสมไทย โสมชบา เนื้อไม้แข็งเล็กน้อย ต้นใบมีขนคัน ใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึก ดอกเดี่ยวใหญ่สีแดงสด มีเกสรสีเหลือง ผลเป็นฝัก รากคล้ายคลึงกับ Panax เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Malvaceae วงศ์เดียวกับชบา มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Abelmoschus moschatus Medic var. tuberosus Borss
สำหรับโสมในวงศ์ Portulacaceae คือโสมจีน ใช้เป็นอาหาร ทั้งต้นมีเมือกช่วยเคลือบกระเพาะ ส่วนรากโสมไทย ยาโบราณใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงธาตุและบำรุงความกำหนัด สำหรับโสมชบาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ