มะเขือเทศกับโรคใบจุดสีนํ้าตาล

(early blight)

ใบจุดสีนํ้าตาลจัดเป็นโรคสำคัญที่ระบาดแพร่หลายและรู้จักกันดีโรคหนึ่งของมะเขือเทศ มันฝรั่ง มะเขือยาวโดยจะพบได้ในเกือบทุกเเห่งที่มีการปลูกพืชพวกนี้

อาการโรค

การเกิดโรคจะได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ ต้นอ่อนที่งอกจากเมล็ดที่มีเชื้อเกาะติดมาจะเกิดอาการคล้าย damping-off โดยเชื้อจะเข้าทำลายส่วนของลำต้นบริเวณโคนเกิดเป็นแผลยาวๆ สีดำจมยุบตัวลงไปจากผิวปกติเล็กน้อยโดยแผลเหล่านี้อาจเกิดเพียง 1หรือ 2-3 แผล ขึ้นอยู่กับปริมาณและความรุนแรงของเชื้อ ผลที่เกิดตามมา คือทำให้ต้นกล้าหักล้มแห้งตายหรือไม่ก็ชะงักการเจริญเจริญเติบโต ส่วนในต้นโต อาการจะเกิดขึ้นได้ทั้งที่ใบ ต้นและกิ่งก้าน บนใบอาการจะเริ่มจากจุดแผลสีนํ้าตาล-ดำเล็กๆ อาจกลมหรือเป็นเหลี่ยมขนาดตั้งแต่ 2 – 4 มม. แผลจะมีลักษณะเป็นแอ่งจมยุบลงไปจากผิวปกติเล็กน้อยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ใบแก่ซึ่งอยู่ส่วยล่างๆ ของต้นก่อน แผลเหล่านี้จะขยายโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นแผลแห้งสีน้ำตาลอาจมีขนาดใหญ่ 1 -2 ซม. พร้อมทั้งมีจุดสีดำเล็กๆ เกิดเป็นวงกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ โดยมีจุดศูนย์กลางร่วมกัน (concentric ring) ขึ้น ทำให้ มีชื่อเรียกโรคนี้เป็นภาษาอังกฤษอีกอย่างหนึ่งคือโรค target spot ใบที่เกิดแผลจะเหลืองเหี่ยวแล้วแห้งตายในลักษณะที่เรียกว่า blight ขึ้น ส่วนบนต้น กิ่งก้าน หรือก้านใบแผลจะมีลักษณะเช่นเดียวกับต้นกล้า แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า และเมื่อเป็นรอบต้นหรือกิ่งจะทำให้ต้นหรือกิ่งดังกล่าวหักพับลงกิ่ง หรือต้นที่ล้มหรือหักพับลงนี้หากส่วนของใบที่มีอยู่ยังไม่ตาย หากโน้มกิ่งดังกล่าวลงมาให้แตะกับผิวดินแล้วใช้ดินอีกส่วนหนึ่งกลบทับส่วนของกิ่งให้เหนือแผลขึ้นมาเล็กน้อย ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์จะมีการสร้างรากใหม่ขึ้นทำหน้าที่ดูดน้ำอาหารขึ้นตรงส่วนที่ดิบกลบทับอยู่ทำให้เจริญงอกงามต่อไปได้อีก ในต้นที่กำลังให้ดอกหากเกิดโรคขึ้นส่วนของดอกอาจจะถูกเชื้อทำลายได้ ทำให้ดอกร่วงไม่ติดลูก

ปกติแล้วโรคนี้จะไม่ทำลายผลมะเขือเทศนอกจากในกรณีที่พืชอ่อนแอมากๆ เช่นเป็นโรคอื่นอยู่ก่อน ขาดน้ำขาดธาตุอาหารจำเป็นบางชนิดโดยเฉพาะแมกเนเซี่ยม (Mg) หากได้รับไม่พอจึงจะเกิดอาการขึ้นบนผลโดยเกิดแผลเป็นแอ่งยุบตัวลง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลมสีน้ำตาลแก่หรือดำ ขนาดและจำนวนไม่แน่นอนอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ หรือโตขนาดเท่าเหรียญหนึ่งบาท จำนวนอาจจะมีเพียงแผลเดียวไปจน 5-6 แผล แล้วแต่ความรุนแรงของโรคและก็เช่นเดียวกับที่ใบเมื่อแผลแห้งจะเกิดวงกลมของ fruiting body ขึ้นเรียงซ้อนกันเป็นวงๆ เห็นได้ชัดเจน อาการที่เกิดขึ้นที่ผลนี้หากเป็นในขณะที่ยังอ่อนอยู่ อาจจะแห้งแล้วร่วงหลุดออกจากขั้วในที่สุด

สาเหตุโรค: Alternaria solani

เป็นเชื้อราที่พบว่ามีสปอร์หรีอโคนีเดียปลิวปะปนอยู่ในอากาศทั่วๆ ไปมากที่สุดตัวหนึ่ง โคนีเดียจะมีสีเข้ม ลักษณะปลายเรียวท้ายป้านคล้ายพินโบว์ลิ่ง มีผนังกั้น แบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยหลายเซลล์ทั้งตามยาวและตามขวางอาจเกิดเดี่ยวๆ หรือหลายเซลล์ต่อเชื่อมกันเป็นสายบนก้านโคนิดิโอฟอร์ ที่มีสีเข้ม เช่นเดียวกันราตัวนี้จะเจริญขยายพันธุ์ และเข้าทำลายพืชก่อให้เกิดโรคได้ดีต่อเมื่ออากาศมีความชื้นสูง เช่น ในช่วงที่มีหมอกน้ำค้างจัด หรือฝนตกพรำติดต่อกันนานๆ ส่วนอุณหภูมินั้นพบว่าโคนีเดียจะงอกได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 1.4-35 °ซ. เข้าทำลายพืชได้ตั้งแต่ 15.5-32.2°ซ. แต่จะดีที่สุดระหว่าง 24-30 °ซ.

การระบาดและเข้าทำลายพืช

โดยธรรมชาติเชื้อ Alternaria spp. เกือบทุกชนิด เป็นทั้งพาราไซท์ และแซฟโปรไฟท์คืออาศัยเกาะกินเจริญเติบโตได้ทั้งบนพืชที่ยังมีชีวิตอยู่และตายแล้ว ด้วยเหตุนี้หลังฤดูปลูกเชื้อบางส่วนอาจมีชีวิตเจริญเติบโตต่อไปได้บนเศษซากพืชที่ปล่อยทิ้งไว้ตามดินแปลงปลูก และบางส่วนอาจไปอาศัยอยู่ในพืชถาวรบางชนิด เมื่อปลูกพืชลงไปใหม่ก็จะกลับมาก่อให้เกิดโรคได้อีกนอกจากนั้นการระบาดข้ามฤดูปลูกที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งก็โดยการที่เชื้อหรือโคนีเดียติดปะปนอยู่กับเมล็ดพันธุ์พวกนี้เมื่อนำไปเพาะพองอกเป็นต้นเชื้อก็จะงอกด้วยแล้วเข้าทำลายต้นที่อยู่ใกล้ทันที ส่วนการระบาดระหว่างต้นในช่วงการปลูก ส่วนใหญ่เกิดจากสปอร์หรือโคนีเดีย ซึ่งมีการสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากตามบริเวณแผลที่ต้น กิ่ง ใบ เมื่อ แก่ก็จะหลุดออกจากก้านปลิวไปตามลม นํ้า แมลง มนุษย์ สัตว์ และสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ทุกชนิด ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เมื่อตกลงบนพืชสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกเส้นใยเจริญเติบโตเข้าไปภายในพืชโดยผ่านทางช่องเปิดธรรมชาติ เช่น stomata การเข้าทำลาย จะเป็นไปอย่างช้าๆ หากพืชแข็งแรงเจริญเติบโตเป็นปกติโดยจะใช้เวลาประมาณ 8-10 วัน แต่ถ้าพืชอ่อนแอหรือมีแผลเกิดขึ้นเวลาอาจจะสั้นลงเหลือเพียง 4-5 วัน

การป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อปะปน หากไม่แน่ใจให้นำมาจุ่มในสารละลายไทแรม 0.2% นาน 24 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยนำไปเพาะ

2. หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วให้เก็บทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคให้หมดโดยการเผาหรือฝังดินลึกๆ

3. ปลูกพืชหมุนเวียนโดยใช้พืชอื่นที่ไม่ใช่พวก Solanacious ปลูกสลับอย่างน้อย 3 ปี

4. หลีกเลี่ยงการย้ายกล้าอ่อนของมะเขือเทศไปปลูก ใกล้มะเขือเทศ มันฝรั่งหรือมะเขือยาวที่ปลูกอยู่ก่อน

5. หากเกิดโรคขึ้นในแปลงปลูกอาจป้องกันต้นที่ยังดีและลดความเสียหายของโรคลงได้โดยการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น ไดเทนเอ็ม-45 แคปแตน แมนโคเซ็บ 20-30 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือคูปราวิท ไธแรม ซีเน็บ มาเน็บ 40-50 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บ โดยให้เลือกใช้สารเคมีเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งทำการฉีดพ่นให้กับต้นมะเขือเทศทุกๆ 7-10 วัน ถ้าเกิดโรครุนแรง หรือสิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการทำลายของโรค ก็ให้ร่นระยะเวลาฉีดให้เร็วขึ้นเป็น 3-5 วันต่อครั้ง