กะหล่ำดอก

กะหล่ำดอกเป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำมาประกอบอาหารของคนทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารระดับภัตตาคาร ระดับโรงแรมหรือในร้านข้าวแกง รวมไปถึงตามครัวใหญ่ ครัวเล็กของบ้านต่าง ๆ เหตุที่กะหล่ำดอกได้รับ ความนิยมจากผู้บริโภคมาก ก็เนื่องมาจากรสชาติอร่อยกรอบหวาน มีสีดอกเหลือง น่ารับประทาน ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่างทั้งผัด ทั้งแกง ทั้งใส่ก๋วยเตี๋ยวหรือวางเป็นเครื่องเคียงบนจานสเต๊ก หรืออื่น ๆ อีกมากมายบรรยายได้ไม่รู้จบ กล่าวในด้านผู้ปลูกแล้วผักกะหล่ำเป็นผักที่ขายได้ราคาดี ในด้านการขนส่งก็ไม่ค่อยเสียหาย สามารถเก็บเอาไว้ได้นานวันกว่าพืชผักอื่น ๆ หลายอย่างเพราะลำต้นมีความแข็งแรง เนื้อแน่น ไม่อวบน้ำ

การปลูกกะหล่ำดอกก็คล้าย ๆ กับการปลูกกะหล่ำดอกอิตาเลียน เพราะ ผักทั้ง 2 อย่างมีลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกัน จะต่างก็ตรงดอกของกะหล่ำดอกอิตาเลียน

มีช่อดอกสีเขียว ส่วนดอกกะหล่ำมีสีขาวออกเหลือง ทางด้านใบก็มีลักษณะต่างกัน ตรงใบของกะหล่ำดอกอิตาเลียนมีสีเขียวเข้มออกเทาใบของกะหล่ำดอกมีสีเขียวอ่อน กว่าและริมของใบหยักน้อยกว่า

กะหล่ำดอกเป็นพืชผักที่ปลูกได้ดีในเขตอากาศอบอุ่น ในประเทศไทยจึงปลูกได้ดีในที่ที่อากาศค่อนข้างเย็นหรือในช่วงฤดูหนาวคือช่วงประมาณเดือนตุลาคม- มกราคม แต่ถ้าเกษตรกรสามารถปลูกนอกฤดูได้ก็จะสามารถขายได้ราคาดี โดยมากมีปลูกนอกฤดูในแถบที่มีอากาศเย็นทางภาคเหนือในภาคอื่น ๆ ก็อาจจะปลูกได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย จึงควรจะคิดถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า หรือไม่

พันธุ

พันธุ์ของกะหล่ำดอกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.พันธุ์เบา เป็นพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-75 วัน ในบ้านเรานิยมปลูกพันธุ์ประเภทนี้ได้แก่

ก. Early Snowfall (อายุ 60-75 วัน)

ข. Burpeeana (อายุ 58-60)

ค.Snow Drift (อายุ 63-78 วัน)

2.พันธุ์กลาง มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 80-90 วัน ได้แก่

ก. Snowfall (อายุ 85 วัน)

ข. Halland Erfurt Improve (อายุ 85 วัน)

ค.Cauliflower Main Crop Snowfall (อายุ 90 วัน)

3.พันธุ์หนัก มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 90-150 วัน ได้แก่

ก. Winler (อายุ 150 วัน)

ข.Putna อายุ 150 วัน)

การเตรียมดิน

กะหล่ำดอกชอบดินที่มีค่าพีเอชประมาณ 6-6.8 ในการเตรียมดิน เตรียมเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้เพาะกล้าขุดลึกประมาณ 15 เซนติเมตร แปลงปลูกขุดพลิกดินลึก 20 เซนติเมตร พลังจากขุดพลิกแล้วตากดินประมาณ 7-10 วัน เก็บวัชพืชให้เกลี้ยง พรวนดินให้ก้อนเล็ก ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่ย่อยสลายดีแล้ว ลงไปคลุกเคล้าไปทั่ว

การเพาะกล้า

กะหล่ำดอกเป็นผักที่มีทรงพุ่มใหญ่ การปลูกแต่ละต้นจึงต้องใช้ระยะที่ห่างพอสมควร ดังนั้นจึงควรเพาะกล้าเสียก่อนแล้วจึงย้ายไปปลูกในแปลงปลูกจริง เพื่อจะได้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ ประหยัดปุ๋ยและเวลาในการดูแลในช่วงที่อยู่ในระยะต้นกล้าแปลงเพาะขนาด 5-10 ตารางเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ 100-150 กรัม สำหรับแปลงปลูกขนาด 1 ไร่ หากเกษตรกรต้องการปลูกในเนื้อที่จริงเท่าไรก็คำนวณลดเพิ่มจากอัตราส่วนดังกล่าว

และเนื่องจากกะหล่ำดอกชอบอากาศค่อนข้างเย็น เพราะฉะนั้นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการงอกของเมล็ดจึงอยู่ประมาณช่วง 7.2-29.4 องศาเซลเซียส

วิธีปลูก

หลังจากกล้ามีอายุได้ประมาณ 25-30 วัน หรือเมื่อต้นสูงประมาณ 1 คืบ ก็ถอนย้ายปลูกในแปลงปลูกได้ การถอนกล้าที่จะปลูกอาจจะถอนไว้ในตอนเช้าก่อนแดดจัด แล้วเอาใส่เข่งเอาผ้าชุบน้ำคลุมไว้ในที่ร่ม หรือหากมีแรงงานมากจะถอนกล้า แล้วนำมาปลูกเลยในตอนเย็นประมาณบ่าย 3-4 โมงเย็นก็ได้ กล้าที่ถอนจะต้องปลูกให้หมดในวันนั้น ไม่ควรทิ้งไว้ข้ามคืน ต้นที่ไม่แข็งแรงหรือเป็นโรคไม่ควรนำมาปลูก วิธีปลูกคือใช้นิ้วชี้ขุดดินตรงจุดที่จะปลูกเป็นรูปักต้นกล้าลงไป กดดินโคนต้นให้พออยู่ไม่ถึงกับแน่น ระยะปลูกระหว่างต้นห่าง 50 เซนติเมตร ระหว่างแถวห่าง 60 เซนติเมตร หลังจากปลูกเสร็จแล้วเอาฟางคลุมบาง ๆ เพื่อให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น และช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน รดน้ำให้ชุ่ม

หลังจากปลูกแล้วเมื่อพบต้นกล้าตายให้สังเกตดูอาการด้วยว่าตายเพราะเชื้อโรคหรือเปล่า หากพบว่าเป็นโรคเพราะเชื้อรา เมื่อถอนต้นไปทำลายทิ้งแล้วให้

ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรารดลงไปในบริเวณนั้น หากตายเพราะสาเหตุธรรมดาก็ปลูก กล้าใหม่ลงซ่อมในบริเวณนั้นได้

การให้น้ำ

ในระยะตั้งตัวของระบบรากใหม่หลังการย้ายปลูก ไม่ต้องการใช้น้ำมากนัก เพียงให้ดินมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมออย่างเพียงพอก็พอ สังเกตดูว่าดินแฉะเกินไปหรือ เปล่า ถ้าแฉะเกินไปก็ลดปริมาณน้ำที่รดแต่ละครั้งให้น้อยลง เพราะถ้าแฉะเกินไปจะทำให้ต้นผักเกิดโรคเน่าเละได้ง่าย การให้น้ำให้วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น เมื่อผักโตขึ้นก็ต้องการน้ำมากขึ้นเพราะมีการระเหยน้ำอย่างรวดเร็ว ช่วงที่เกิดดอกจะขาดน้ำไม่ได้และต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อให้การเจริญเติบโตของดอกเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ และได้ดอกที่สมบูรณ์

การปฏิบัติรักษา

เพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ในช่วงเกิดดอกนอกจากดูแลเรื่องแมลงซึ่งจะรบกวนดอกกะหล่ำและทำความเสียหายให้มาก หากปล่อยให้เกิดการทำลายแก่ดอกกะหล่ำได้ จึงควรมีการฉีดยาป้องกันกำจัดให้เด็ดขาดในช่วงเกิดดอกระยะแรก ๆ เพราะเมื่อดอกมีขนาดใหญ่ขึ้นใบจะโน้มบังดอก ทำให้การฉีดพ่นยารักษาดอกไม่ได้ผล

เมื่อดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ช่วยรวบปลายใบผูกเชือกไว้หลวม ๆ คลุมดอกไว้ดอกจะขาว ถ้าปล่อยให้โดนแดดมาก ๆ ดอกจะออกเหลืองซึ่งขายได้ราคาไม่ดี สำหรับพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะใบคลุมดอกเองโดยธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องรวบใบมาผูกไว้

การใส่ปุ๋ย

ปุ๋ยที่ใส่แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ปุ๋ยรองพื้นกับปุ๋ยแต่งหน้า

1. ปุ๋ยรองพื้น ใส่ก่อนปลูกต้นกล้า ในตอนเตรียมดินใส่ปุ๋ยขี้เป็ดผสมกากถั่วหรือปุ๋ยอินทรีย์ในอัตรา 300 กก./ไร่

2.ปุ๋ยแต่งหน้า ใส่ปุ๋ยสูตร 12-18-8 หลังจากย้ายปลูกได้ 2 สัปดาห์ ในอัตรา 200 กก./ไร่ สำหรับช่วงที่ออกดอกใส่ปุ๋ยที่มี P มากกว่า N