กานพลู

กานพลู

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ดอกจันทน์ จันจี่

ชื่ออังกฤษ Clove

ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (Linn.) Merr.

วงศ์ Myrtaceae

กานพลูเป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศมานานแล้ว คนจีนใช้กานพลูเป็นเครื่องเทศมาตั้งแต่ 260 ปีก่อนคริสต์ศักราช กานพลูเป็นพืชเมืองร้อน เป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะ Molucca แต่มีผู้นำมาปลูกในประเทศต่างๆ มากมาย เช่น เกาะปีนัง เกาะสุมาตรา หมู่เกาะมาดาคาสกา หมู่เกาะอินเดียตะวันตก อินเดีย ศรีลังกา รวมทั้งประเทศไทย

กานพลูเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เป็นพืชที่แตกกิ่งก้านสาขาเป็นระเบียบ ใบเรียวยาว สีเขียวเข้มและเป็นมัน ดอกอ่อนๆ มีสีเขียว ดอกแก่มีสีแดงเข้ม ช่อดอกออกที่ยอดของลำต้นหรือกิ่ง ชอบอากาศร้อนและความชื้นสูง การเก็บดอกกานพลูเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ นิยมเก็บเมื่อดอกยังตูม คือ ตอนที่ดอกเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง ถ้าเก็บเร็วเกินไปจะได้กานพลูที่มีคุณภาพไม่ดี นำดอกที่เก็บได้มาตากแดดจนกระทั่งสีของดอกตูมเปลี่ยนจาก แดงเป็นนํ้าตาลเข้ม และแยกเอาก้านดอกและดอกตูมออกจากกัน

สารสำคัญ

ในดอกกานพลูมีนํ้ามันหอมระเหยอยู่ประมาณร้อยละ 14 – 20, มีกรดแกลโลแทนนิค (gallotannic acid) ร้อยละ 10 – 13 นอกจากนี้ยังพบวานิลลิน (vanillin) และสารโครโมนส์(chromenes)บางชนิด นํ้ามันกานพลูประกอบด้วย ยูจีนอล (eugenol), ยูจีนอลอะซีเตท(eugenol acetate), แครีโอฟีลลีน (caiyophy llene ) และเมททิล-เอ็น-เอมิลคีโทน (methyl-N-amylketone)       ซึ่งเป็นสารที่ทำให้กานพลูมีกลิ่นเฉพาะ นํ้ามันกานพลูได้จากการนำดอกกานพลูแห้งมากลั่นด้วยไอนํ้า นํ้ามันที่กลั่นได้ใหม่ๆ จะไม่มีสี หรือมีสีนวล กลิ่นหอม รสเผ็ด เมื่อตั้งทิ้งไว้นานๆ สีจะเข้มขึ้น

นํ้ามันกานพลูจะใช้แต่งกลิ่นอาหารจำพวกเนื้อ เช่น แฮม ไส้ กรอก ใช้แต่งกลิ่นลูกกวาด ผักดอง ขนมเค้ก และแต่งกลิ่นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่งกลิ่นสบู่ ยาบ้วนปาก ยาสีฟัน ยาดับกลิ่น และใช้ป้องกันการหืนของนํ้ามันและไขมันได้อีกด้วย

ประโยชน์ทางยา

นํ้ามันกานพลูใช้เป็นยาแก้ปวดฟันเนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาชา เฉพาะที่ นอกจากนี้น้ำมันกานพลูยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายชนิด เช่น เชื้อไทฟอยด์ เชื้อบิดชนิดไม่มีตัว และเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก และตกขาว เป็นต้น

การใช้แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม

วิธีใช้ ใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก ต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน หรือใช้ดอกกานพลู 3 ดอก ทุบพอแตก แช่ในนํ้าเดือดที่จะใช้ชงนม ให้เด็กประมาณ 750 ซีซี จะช่วยไม่ให้เด็กท้องอืด ท้องเฟ้อได้

การใช้แก้ปวดฟ้น

วิธีใช้

1. ใช้นํ้ามันกานพลูใส่ตรงฟันที่ปวด หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวด

2. ใช้ดอกกานพลูตำพอแหลก ผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้อุด ฟันที่ปวด และใช้แก้โรครำมะนาดได้