การขยายพันธุ์กุหลาบด้วยวิธีตัดชำทำได้อย่างไร

2.  การตัดชำ(Cutting)

การขยายพันธุ์กุหลาบด้วยวิธีตัดชำนี้  ทำได้ทั้งการตัดชำราก (root cutting)ตัดชำใบ (leaf cutting) และตัดชำต้น (stem cutting)

การตัดชำราก  ไม่นิยมทำกันเพราะสาเหตุหลายประการ  การตัดชำใบก็เช่นกัน  ทั้งนี้เนื่องจากออกรากช้า  เปอร์เซ็นต์ความเสียหายสูง และอัตราการเจริญเติบโตในระยะแรก ๆ ต่ำมาก  จึงนิยมใช้การตัดชำต้นเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

ก. การตัดชำกิ่งอ่อน (softwood cutting)  กิ่งที่ใช้ในการปักชำไม่ควรมีอายุเกิน 45 วัน  ส่วนมากมักจะได้จากกิ่งที่กำลังบานดอก  หรือหลังจากบานดอกแล้วประมาณ 7 วัน

การตัดกิ่งควรจะทำให้ตอนเช้าความยาวของกิ่งมีประมาณ 12-15 ซม.  รอยตัดควรจะอยู่ใต้ข้อพอดี  มีใบติดประมาณ 5 ใบ ในที่อยู่ตรงโคนกิ่งด้วยมีดหรือกรรไกรคม ๆ เป็นรูปปากฉลาม ทำมุม 45-60 องศา

กรีดโคนกิ่งด้วยมีด 2 รอย ตรงข้ามกัน รอยกรีดยาวประมาณ 1 – 1 ½ ซม.  แล้วจุ่มฮอร์โมนเรียกราก(เร่งราก)  โดยใช้กรดแนพธาลีน อะซีติค (Napthalene Acetic Acid = NAA) ผสมกับ กรดอินโดล บิวทิริค(Indole Butyric Acid = IBA) ความเข้มข้นอย่างละ 4,500 ส่วนต่อล้าน(ppm)ในอัตราส่วน ผึ่งให้แห้งแล้วนำไปปักชำในแปลงพ่นหมอก  อาจจะใช้เครื่องพ่นน้ำรดสนามหญ้าแทนก็ได้  โดยใช้คนปิดเปิดน้ำเป็นระยะ ๆ ตามความจำเป็น  ถ้าอากาศร้อน(ในตอนกลางวัน) อาจละทิ้งช่วงปิดน้ำเพียง 2-3 นาที แล้วเปิดน้ำ 2-3 นาที  สลับกันไป  โดยมีหลักว่าอย่าให้ใบกุหลาบแห้งเป็นใช้ได้  กิ่งตัดชำจะออกรากใน 12-15 วัน  แล้วแต่พันธุ์

การใช้กิ่งอ่อนตัดชำนี้  นิยมทำกันมากในหมู่ผู้ปลูกกุหลาบตัดดอกเป็นการค้าในเมืองไทยปัจจุบันนี้  เพราะได้จำนวนต้นมากในระยะเวลาสั้น  ค่าใช้จ่ายน้อย  คือใช้คนสเปรย์น้ำแทนเครื่องพ่นหมอกก็ยังไหว

ข.  การตัดชำกิ่งแก่ (hardwood cutting) การตัดชำกิ่งแก่ มักใช้กับกุหลาบบางพันธุ์ที่ใช้เป็นต้นตอทางการค้าเช่น กุหลาบพันธุ์ โพลี่แอนธ่า(Polyantha) และ ไฮบริด เพอร์เพทชวล (Hybrid Perpetual) เป็นต้น

กิ่งที่ใช้ปักชำจะต้องมีอายุพอสมควร  ส่วนมากมักจะเลือกกิ่งที่มีการเจริญเติบโตในฤดูที่ผ่านมาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งประมาณ ¾ นิ้ว  ความยาวของกิ่ง 6-8 นิ้ว ที่สำคัญที่สุดจะต้องมีอาหารสะสมอยู่ในกิ่งเพียงพอ  จึงควรจะตัดชำในขณะที่กิ่งอยู่ในระยะการพักตัว  ยังไม่มีการแตกยอดใหม่  เพราะถ้ารอจนกิ่งแตกใบใหม่ยอดใหม่แล้ว  มันจะใช้อาหารในกิ่งไป  อาหารสะสมจะไม่เพียงพอในการออกราก  ทำให้การออกรากล้มเหลวได้  อาจจะปักชำในแปลงปลูกโดยตรงเลย  หรือชำในถุงในแปลงเพาะชำก่อน  แล้วย้ายปลูกก็ได้  เพื่อเตรียมไว้เป็นต้นตอสำหรับพันธุ์ดีต่อไป

ส่วนมากการปักชำแบบนี้  นิยมทำในหมู่ผู้ปลูกที่ปลูกกุหลาบล้างรากขาย  การตัดชำกิ่งเพื่อทำต้นตอนี้ มักจะทำในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน เพื่อที่จะได้ติดตาพันธุ์ดีในช่วงเดือนธันวาคม