การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในต้นจามจุรีสีชมพู

ที่มา:รศ.ดร. สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ และ จิตตวดี รอดเจริญ

ต้นจามจุรีสีชมพู (Raintree, Samanea saman Merr.) มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่านำเข้ามาปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ.ใด จัดเป็นไม้ประดับยืนต้นที่มีค่าชนิดหนึ่งของประเทศไทย รูปทรงลักษณะและดอกสวยงาม ดอกจามจุรีเป็นแหล่งนํ้าหวานแก่แมลงที่มีประโยชน์ เช่น ผึ้ง แมลงภู่ เป็นต้น และยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจโดยเป็นพืชที่ใช้เพาะเลี้ยงครั่งได้ดี นอกจากนั้นที่สำคัญต้นจามจุรีมีประโยชน์ในการให้ร่มเงาแก่ถนนหนทาง สวนสาธารณะ บริเวณสถานที่ราชการ และบ้านเรือนทั่วไป โดยเฉพาะยังเป็นสัญลักษณ์ประจำสถาบันของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย เมื่อต้นไม้เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีอายุมากปลูกกันมาช้านาน และลำต้นขนาดใหญ่ต้องถูกทำลายลงโดยแมลงศัตรูต่าง ๆ ให้ตายได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง จำเป็นต้องหาวิธีการดำเนินการ ปกป้องและอนุรักษ์ไม้มีค่าเหล่านี้ไว้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เป็นต้นมา ต้นจามจุรีในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มปรากฏยืนต้นตาย เนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานทำให้แมลงศัตรูที่เจริญได้ดีในสภาวะแห้งแล้งลงทำลายอย่างหนาแน่น จนกระทั่งถึงต้นปี พ.ศ.2530 ต้องโค่นทิ้งไปกว่า 20 ต้น เมื่อทำการสำรวจระยะแรกพบเพลี้ยแป้ง ระบาดลงทำลายหนาแน่นมาก ซึ่งไม่เคยพบการระบาดเช่นนี้มาก่อน เพลี้ยแป้งชนิดนี้เคยพบบนต้นจามจุรีบ้าง แต่ไม่ระบาดทำความเสียหาย คณาจารย์ทางกีฏวิทยา และพฤกษศาสตร์ของจุฬาฯ จึงได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่แผนกสวนของมหาวิทยาลัย ดำเนินการลดการระบาดของเพลี้ยแป้งชนิดนี้โดยเร่งด่วนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2530 เป็นต้นมา เพลี้ยแป้งชนิดนี้ได้รับการจำแนกชนิดในเวลาต่อมาว่าคือ Dysmicoccus neobrevipes Beardsley ซึ่งเป็นแมลงปากดูดในอันดับ Homoptera ลักษณะการทำลายคือจะเกาะกลุ่มหนาแน่นดูดกินนํ้าเลี้ยงจากบริเวณกิ่งอ่อน ยอดอ่อน โคนใบ ใต้ใบ ตาอ่อน และฝักอ่อน เป็นต้น ทำให้พืชสูญเสียนํ้าเลี้ยง ใบไม่งอก และเหี่ยวแห้งตายไปในที่สุด การลงระบาดอย่างหนักจะสังเกตเห็นเกาะกลุ่มอย่างหนาแน่นซ้อนกันหลายชั้นจนขาวโพลนไปตลอดทั้งกิ่ง เพลี้ยแป้งชนิดนี้ ครั้งหนึ่งเคยระบาดทำความเสียหายอย่างหนักมาแล้วแก่สับปะรดในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากในบริเวณจุฬาฯ แล้วยังสำรวจพบเพลี้ยแป้งชนิดนี้ลงทำลายต้นจามจุรีสีชมพูในบริเวณอื่น ๆ อีกในกรุงเทพมหานครในเวลาเดียวกัน ได้แก่ ในบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดา สวนลุมพินี สถานทูต สหรัฐอเมริกา และถนนวิทยุ เป็นต้น ซึ่งทำให้สูญเสีย ต้นจามจุรีในบริเวณดังกล่าวไปหลายต้นเช่นกัน

การดำเนินการวิจัยและศึกษาทดลองเพื่อหยุดการระบาดของเพลี้ยแป้งโดยเร่งด่วนได้มุ่งให้ความสนใจไปที่การใช้สารเคมีและการควบคุมโดยวิธีกล ได้แก่ การตัดกิ่งเผาทำลาย และฉีดพ่นนํ้า ซึ่งเหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารเคมีกำจัดแมลงมากกว่า 10 ชนิด ทั้งในห้องปฏิบัติการและในภาคสนาม เพื่อคัดเลือกสารเคมีชนิดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ผลคือสารเคมีกำจัดแมลง

pirimiphos — methyl (แอคเทลิค® บริษัท ไอซีไอ

เอเชียติ๊ก (เกษตร) จำกัด) มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเมื่อใช้เดี่ยว ๆ สามารถกำจัดเพลี้ยแป้งได้ดีมาก และจัดอยู่ในประเภทสารที่มีพิษน้อย (LD50 oral,dermal rat > 2,000 mg/kg) ค่อนข้างปลอดกัยต่อ สิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม แต่การผสมสารเคมีชนิดนี้เข้ากับ petroleum base oil (Orchex 796®, บริษัท เอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด) ช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยอัตราของสารที่จะใช้ลดลง เหลือเพียง 20-50% ของอัตราที่ใช้เดี่ยว ๆ เนื่องจาก petroleum base oil ดังกล่าวช่วยทำให้สารเคมีติดตัวแมลงเพิ่มขึ้น และ Petroleum base oil คุณสมบัติในตัวเองในการฆ่าแมลงโดยการอุดรูหายใจอีกด้วย คณะผู้ดำเนินงานจึงใช้สารเคมีดังกล่าวกำจัดเพลี้ยแป้งเฉพาะในต้นที่ถูกทำลายอย่างรุนแรง และสามารถหยุดการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันได้ทำการตัดกิ่งที่มีตัวไปเผาทำลาย และฉีดพ่นนํ้าเปล่าเพื่อล้างตัวเพลี้ยแป้งออกเป็นประจำ ซึ่งช่วยเสริมกับการใช้สารเคมีให้ควบคุมได้รวดเร็วขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตามขณะเดียวกันก็ได้พยายามศึกษาหาสาเหตุอื่น ๆ อีกที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้ต้นจามจุรีตาย โดยทั่วไปแล้วไม้ยืนต้นจะสามารถเจริญไปได้เรื่อย ๆ ไม่ตายก่อนอายุถ้า 1) ไม่มีศัตรู ได้แก่ โรคและแมลง รบกวน 2) ไม่แบกนํ้าหนักมากเกินไป ถ้าได้รับการตัดแต่งกิ่งอย่างเหมาะสม และ 3) มีอาหารการกินบริบูรณ์ สาเหตุการระบาดของแมลงศัตรูทั้งหลายที่แท้จริงน่าจะเนื่องมาจากต้นไม้มีอายุมากขึ้นและการดูแลเอาใจใส่ไม่เพียงพอ จากการสำรวจต้นจามจุรีทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ พบแมลงศัตรูอื่นอีกที่ลงทำลาย ที่สำคัญได้แก่ แมลงหวี่ขาว ซึ่งเป็นแมลงปากดูดเช่นเดียวกัน เกาะดูดกินนํ้าเลี้ยงบริเวณใบ ด้วงบูเพรสติด ซึ่งระยะตัวอ่อนเจาะทำลายลำต้นและกิ่งสดของต้นจามจุรีขนาดเล็ก และด้วงหนวดยาวชนิด Xystocera globosa Olivier ระยะตัวอ่อนมีขนาดใหญ่เจาะทำลายเนื้อไม้บริเวณลำต้นของต้นจามจุรีขนาดใหญ่เป็นรูพรุน รอบลำต้น การทำลายเนื้อไม้ของด้วงเจาะลำต้นเหล่านี้มีผลให้สูญเสียระบบท่อลำเลียงนํ้าและอาหาร ทำให้ต้นอ่อนแอไม่เจริญเติบโตตามปกติ และยังถูกทำลาย โดยแมลงศัตรูอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การเจาะไชลำต้น ยังเป็นทางนำเชื้อโรคเข้าสู่ลำต้นอีกด้วย การอยู่อาศัยของด้วงเจาะลำต้นเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นชัด ต้องทำการสำรวจอย่างใกล้ชิด เช่น ในต้นเล็กถ้ามีด้วงบูเพรสติดเจาะทำลายจะสังเกตเห็นเป็นยางไหลออกมาตามผิวของลำต้นจากรอยเจาะ ในต้นใหญ่จะต้องแกะเปลือกไม้ออกดูจึงจะพบรูพรุนจากการทำลาย ซึ่งถ้าถูกทำลายมานานและต้นเริ่มจะตายแล้วจะสังเกตเห็นชัด เพราะเปลือกไม้ที่คลุมอยู่ภายนอกจะหลุดล่อนออกให้เห็นเนื้อไม้ตายที่มีรูพรุนชัดเจน ดังนั้นแม้ว่าจะสังเกตเห็นสภาพต้นส่วนบนคือ บริเวณทรงพุ่มฟื้นตัวและแตกใบแตกดอกออกเหมือนเป็นปกติแล้ว แต่ส่วนลำต้นและกิ่งอาจถูกทำลายอยู่ภายในมีผลในระยะยาวต่อการเจริญ เติบโตและความแข็งแรง อาจทำให้ต้นตายได้ในเวลาไม่นานนัก

ในการจัดการป้องกันและกำจัดด้วงเจาะลำต้นเหล่านี้อย่างเร่งด่วน ทางคณะผู้ดำเนินงานได้เลือกใช้สารเคมีตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เป็นยาประเภทดูดซึมสามารถซึมผ่านเนื้อเยื่อต่าง ๆและเปลือกไม้ของพืชได้คือ dicrotophos (ไบดริน® บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด) ใช้วิธีฉีดโดยใช้หลอดฉีดยาเข้าไปตามรูพรุนทุก ๆ รูเพื่อทำลายตัวอ่อน และดักแด้ที่อาศัยกัดกินอยู่ให้หมด (Tree injection method) และยายังซึมผ่านเนื้อไม้บริเวณรอบ ๆ ได้อีก เป็นพิษตกค้างที่จะทำลายตัวอ่อนที่กัดกินเนื้อไม้ ต่อไปต่อจากนั้นจะฉีดพ่นยาชนิดนี้บริเวณผิวรอบลำต้น โดยใช้แรงปะทะช่วยให้การแทรกซึมตามร่องเปลือกไม้เข้าสู่เนื้อไม้ได้ดียิ่งขึ้น ผลการควบคุมด้วงเจาะลำต้นเหล่านี้จะได้สำรวจและประเมินผลกันต่อไป

เราสามารถใช้สารเคมีกับต้นจามจุรีได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากไม่ใช่ไม้สำหรับบริโภค แต่ต้องระมัดระวังความปลอดภัยแก่ผู้ฉีดพ่นและสิ่งมีชีวิตใกล้เคียงในขณะฉีดพ่นด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไปเป็นประจำกับการป้องกันกำจัดแมลงศัตรู คือการตัดแต่งกิ่งเก่าออกไม่ให้ต้นแบกนํ้าหนักมาก และเพื่อไม่เป็นการเพิ่มแหล่งอาหารและอาศัยแก่ แมลงศัตรู พร้อมทั้งการรดนํ้าพรวนดิน ให้ปุ๋ยทางใบ และทางราก อย่างสมํ่าเสมอ เพื่อบำรุงต้นให้แข็งแรง และสามารถต้านทานต่อแมลงศัตรูและเชื้อโรคได้ดี

การควบคุมแมลงศัตรูในต้นจามจุรีนั้นควรเป็นวิธีผสมผสาน (Integrated pest control) หลังจากใช้สารเคมีเพื่อหยุดการระบาดแล้ว ต่อไปปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ตัวหํ้า ตัวเบียน และเชื้อโรค ที่จะทำลายแมลงศัตรู เป็นการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี (Biological control) ในธรรมชาติพร้อมทั้งศึกษาดำเนินงานเพิ่มจำนวนศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ ตามขั้นตอนของการควบคุม ศัตรูพืชโดยชีววิธีให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ขณะนี้สำรวจพบศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของเพลี้ยแป้งในธรรมชาติ คือ แมลงช้างในอันดับ Neuroptera เป็นตัวหํ้าซึ่งในระยะตัวอ่อนวัยต่าง ๆ จะกัดกินเพลี้ยแป้ง ในอัตราสูงมากต่อวันพบว่ามีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเพลี้ยแป้งชนิดนี้ จึงทำการศึกษาวิจัย ด้านชีววิทยาทั้งในห้องปฏิบัติการและในธรรมชาติเพื่อเลี้ยงเพิ่มพูนปริมาณและปล่อยไปควบคุมเพลี้ยแป้งต่อไป ขณะเดียวกันก็ทำการสำรวจหาศัตรูธรรมชาติชนิดอื่น ๆ อีกทั้งที่ทำลายเพลี้ยแป้งและแมลงศัตรูอื่น ๆ การควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีเขตกรรม ได้แก่ การตัดแต่งกิ่ง รดนํ้าพรวนดิน ใส่ปุ๋ย บำรุงรักษา ก็เป็นวิธีที่ต้องปฎิบัติเป็นประจำผสมผสานกับวิธีการใช้สารเคมีและการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี นอกจากนี้จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยสุ่มตัวอย่างต้นไม้มาตรวจสอบ เป็นประจำว่าขณะนั้น ๆ มีศัตรูชนิดใดรบกวนบ้างเป็นระยะ ๆ เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่สังเกตศัตรูพืชได้ยาก อันจะทำให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ก่อนที่จะมีอาการหนักเสียแล้วและตายไปในที่สุด

อัตราการใช้สารเคมี

ปกติต้นจามจุรีสีชมพู 1 ต้น  ใช้สารเคมีที่ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นกิ่งและใบในทรงพุ่มด้านบนทั่วทั้งหมดประมาณ 200 ลิตร  มากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับขนาดของลำต้น

1.  pirimiphos-methyl(แอดเทลิค®) อัตรา 200-300 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร (20-30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร) อาจผสมยาจับใบ (ลิสซาปอนเอ็น®) ในอัตรา 100 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร โดยเติมยาจับใบ 100 ซีซี  ลงในส่วนผสมของแอดเทลิค กับน้ำ 200 ลิตรนั้น

2.  petroleum base oil (Orchex 796®) อัตรา 2,000 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร (100 ซีซี/น้ำ 10 ลิตร)

3.  แอดเทลิค® 60-150 ซีซี (20-50℅ ของอัตราเดิม) ผสมกับ Orchex 796 2,000 ซีซีในน้ำ 200 ลิตร

4.  dicrotophos (ไบดริน®) 200-400 ซีซี/น้ำ 200 ลิตร (20-40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร)