การเพาะกุ้งเครฟิชและวิธีเลี้ยง

กุ้งเครฟิช เป็นกุ้งที่มีสีสันสวยงาม เช่น สีส้ม สีขาว สีฟ้า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้คนหันมาเลี้ยงกันมากขึ้น

ประวัติของกุ้งเครฟิช (Crayfish)กุ้งเครฟิช
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Crayfish
มักใช้เรียกกุ้งน้ำจืดจำพวกหนึ่ง ที่มีลำตัวใหญ่ เปลือกหนาก้ามใหญ่และดูแข็งแรง

ถิ่นกำเนิดของกุ้งเครฟิชอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนีย และบริเวณใกล้เคียง เช่น อีเรียน จายา และ เอเชียตะวันออก ปัจจุบันได้มีการจัดจำแนกกุ้งเครฟิชออกเป็น 500 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยชนิดที่ยังไม่ได้รับการจำแนก และหลายชนิดก็ยังมีสีสันที่หลากหลายมากอีกด้วย

กุ้งเครฟิชจะมีเปลือกที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ชุดเกราะคลุมลำตัว ส่วนหัวและส่วนกลาง เอาไว้ปกป้องอวัยวะภายในที่บอบบาง เช่น เหงือกหายใจบริเวณใกล้ๆปาก ที่มีลักษณะคล้ายขนนก และทำหน้าที่ในระบบหายใจที่สำคัญคือ เป็นทางผ่านของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือก

ส่วนขาของกุ้งเครฟิช จะมีอยู่สองหน้าที่คือ ขาเดิน และขาว่ายน้ำสำหรับขาเดินจะมีอยู่ 5 คู่ด้วยกัน โดยขาเดินคู่แรกสุดถูกพัฒนาขึ้นเป็นก้ามที่แข็งแรงใหญ่โต ส่วนขาว่ายน้ำนั้นจะเป็นแผ่นแบนๆ มีไว้สำหรับโบกน้ำที่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อการหายใจ รวมทั้งโบกพัดแพลงค์ตอนเข้าหาลำตัวสำหรับใช้เป็นอาหารอีกด้วย สำหรับกุ้งตัวเมียขาว่ายน้ำจะมีความสำคัญมาก เพราะมันจะใช้ขาว่ายน้ำเป็นที่อุ้มไข่ที่ถูกปฏิสนธิแล้วเอาไว้

แหล่งอาศัย
กุ้งเครฟิชมักจะอาศัยอยู่ตามโขดหินหรือใต้ขอนไม้ตามลำธาร หนองน้ำ หรือทะเลสาป ซึ่งคนเรามักรู้จักกุ้งเครฟิชกันในนามของกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืด

วิธีการเพาะพันธุ์ กุ้งเครฟิช
การผสมพันธุ์กุ้งเครฟิช สามารถทำได้ตลอดทั้งปี ด้วยวิธีง่ายๆ ในตู้เลี้ยง โดยไม่ต้องมีเทคนิคพิเศษอะไรเหมือนกับการเพาะพันธุ์ปลาหางนกยูง
เพียงแค่ปล่อยตัวผู้และตัวเมียที่แข็งแรง มีอายุประมาณ 6-7 เดือนขึ้นไปซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ให้อยู่ด้วยกัน และต้องมีเนื้อที่กว้างขวางพอสำหรับกุ้งด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการแย่งที่อยู่ หรือเกิดการแบ่งถิ่นกันก็ได้ ควรจะเลือกกุ้งเครฟิชที่มีสปีชีส์เดียวกัน เพศผู้และเพศเมียที่มีลักษณะทางกายภาพที่สมบูรณ์ มีก้ามและขาอยู่ครบ มีขนาดประมาณ 2.5 นิ้วขึ้นไป แม้ว่ากุ้งขนาด 2 นิ้ว จะเป็นวัยเจริญพันธุ์แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ควรนำมาผสมพันธุ์ เพราะจะได้ไข่น้อย

ในแต่ละครั้งของการผสมพันธุ์ ตัวเมียจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน จึงฟักไข่ออกเป็นตัว แม่กุ้งสามารถให้ลูกได้ประมาณ 50-400 ตัวไม่ควรเลี้ยงร่วมกับปลาเพราะกุ้งเครฟิชอาจจับกินเป็นอาหารได้ โดยธรรมชาติของกุ้งเครฟิช มักมีพฤติกรรมการกินกันเอง จึงควรจัดหาที่หลบซ่อน เช่น ขอนไม้, ถ้ำ, กระถางดินเผา, ท่อพีวีซี ฯลฯ เอาไว้ให้กุ้งอย่างพอเพียง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการลอกคราบ ลูกกุ้งจะต้องการที่หลบซ่อนอย่างมาก แต่พ่อแม่กุ้งจะไม่กินลูกกุ้งเป็นอาหาร และลูกกุ้งเองก็อาศัยไม่ไกลจากพ่อแม่นัก เพื่อคอยเก็บกินเศษอาหารจากพ่อแม่
วิธีการเลี้ยงกุ้งเครฟิช
หลักการเลี้ยงกุ้งเครฟิชจะดัดแปลงมาจากอุปนิสัยและการอยู่อาศัยของมันเองคือ

1. กุ้งทุกชนิดโดยธรรมชาติ จะชอบออกหากินในเวลาคืน ไม่ชอบแสง ในตอนกลางวันอาจจะนอน หรือหลบอยู่ทั้งวัน จึงต้องมีที่หลบซ่อนและปิดบังได้

2. กุ้งตัวผู้จะมีขนาดของก้ามที่ใหญ่โตสง่างาม สีสรรสวยงามและแข็งแรงกว่ากุ้งตัวเมีย ไว้ใช้เป็นอาวุธต่อสู้ป้องกันตัวเอง

3. เวลาลอกคราบกุ้งจะอ่อนแอที่สุด และมักจะถูกรุมทำร้าย หรือจับกิน อาหารสำหรับกุ้งจึงต้องพอเพียง บริเวณที่อาศัยต้องกว้างเพียงพอและที่หลบซ่อนต้องปลอดภัยด้วย

4. ไม่ควรเลี้ยงกุ้งปนกันหลายตัวในที่แคบๆ เพราะมันจะแยกกันกินแยกกันอยู่หรืออาจจับคู่ในระยะสั้นๆ ส่วนมากถ้ากุ้งหิวหรือลอกคราบอาจทำร้ายกันได้เสมอ โดยที่กุ้งจะไม่จำว่าเป็นคู่ของมัน

ตู้เลี้ยงและอ่างเลี้ยงกุ้ง
1. เราสามารถเลี้ยงกุ้งเครฟิช ในที่มีการถ่ายเทน้ำดีในภาชนะใดๆ ก็ได้ มีอุณหภูมิน้ำประมาณ 23 -28 องศา หรืออาจจะเป็นครึ่งบกครึ่งน้ำก็ได้ ปริมาณน้ำจะใส่ครึ่งตู้ หรือเต็มตู้ก็ได้ กุ้งขนาด 3-4 นิ้ว 1 ตัว จะใช้พื้นที่อย่างน้อยประมาณ 1 ฟุต ดังนั้น หากต้องการจะเลี้ยงหลายๆ ตัว จะต้องใช้พื้นที่อย่างกว้างขวางเพียงพอ

2. ถ้าจะเลี้ยงกุ้งหลายตัวเพื่อให้มันสามารถปกป้องตัวเองได้ ควรเลือกเลี้ยงกุ้งในสายพันธุ์เดียวกัน ขนาดไล่เลี่ยกัน เพื่อป้องกันกุ้งตัวเล็กถูกรังแก หรือถูกจับกินได้

3.ที่หลบซ่อนเพื่อให้กุ้งหลบอาศัยในเวลากลางวัน ให้ใช้ขอนไม้ กระถางดินเผา กระถางต้นไม้แตกๆ อุปกรณ์ที่เจาะเป็นโพรง หรือท่อพีวีซีตัด เป็นท่อนๆ

4. ปิดฝาหรือจุดที่กุ้งจะปีนหนีได้

วัสดุปูรองพื้นตู้ที่ใช้เลี้ยงกุ้งเครฟิช ควรปูหินกรวดเล็กรองพื้นตู้เพื่อความสวยงาม และมีประโยชน์ต่อกุ้งหลายประการคือ

1. ทำให้มีสีสรรสวยงามมากขึ้น ทำให้กุ้งไม่ตื่นตกใจ และกุ้งสามารถปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมได้ จะทำให้กุ้งมีสีเข้มขึ้นถ้าเน้นหินสีดำหรือน้ำตาล

2. กุ้งป่า ส่วนมากที่หลบซ่อนจะเป็นการขุด กรวดหิน

3. หินกรวดทำให้น้ำในตู้ใสอยู่เสมอ เนื่องจากช่วยดูดซับตะกอนและเศษอาหาร

การให้อากาศและระบบกรองน้ำ
ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องให้อากาศก็ได้ ถ้าเราเลี้ยงกุ้งแค่ตัวเดียวและมีพื้นที่กว้างและดูแลน้ำได้ดี แต่การให้อากาศก็ยังจำเป็นอยู่มากในระบบตู้เลี้ยง ซึ่งเน้นความสวยงามและมีการเลี้ยงกุ้งหลายตัว หรือกั้นตู้

แต่สามารถใช้หัวทรายจุ่มลงในน้ำ 3-4 นิ้ว กันฟุ้ง หรือใช้กรองในตู้ กรองแขวน กรองกล่องได้ เพราะกุ้งใช้อากาศน้อยกว่าปลา ยกเว้นกรองแผ่นพื้นที่มักจะโดนกุ้งขุด และกรองฟองน้ำที่อาจโดนกุ้งแทะเล่นได้

น้ำที่ใช้สำหรับเลี้ยง
ในการเลี้ยงกุ้งเครฟิช อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมคือช่วง 23-28 องศาเซลเซียล มีค่า PH ที่เหมาะสมประมาณ 7.5 – 8.5 ที่มีความกระด้างสูง โดยสามารถใส่เกลือลงไปในตู้ได้เล็กน้อย เนื่องจากเกลือช่วยเสริมแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการลอกคราบและสร้างเปลือกใหม่ด้วย

ผู้เลี้ยงควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 30 -50% สัปดาห์ละครั้ง แต่ควรปรับอุณหภูมิน้ำให้ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับการเลี้ยงและการให้อาหาร

อาหารของกุ้งเครฟิช
กุ้งเครฟิชกินอาหารได้แทบทุกชนิด และกินอาหารได้ทั้งวัน มักกินเศษอาหารที่มาจากทั้งพืชและสัตว์ แต่ในธรรมชาติมันจะกินอาหารประเภทพืชผัก รากไม้ ใบไม้ ผลไม้เป็นหลัก ผู้เลี้ยงอาจเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปชนิดจมสูตรต่างๆ สำหรับกุ้ง หนอนแดง เนื้อ ไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อกุ้งทะเลหรือกุ้งฝอยหั่นชิ้นเล็กๆ ผักต่างๆ เช่น แครอท มันฝรั่ง แตงกวา ข้าวโพด ถั่วลันเตา ฟักทอง แอปเปิ้ล ฯลฯ ก็ได้ กุ้งเครฟิชอาจรื้อทึ้งพรรณไม้น้ำที่ใช้ตกแต่งในตู้เป็นอาหารได้ด้วย

การเลี้ยงรวมกับปลาสวยงาม
ถึงแม้ว่ากุ้งเครฟิชในธรรมชาตินั้นจะเก็บเศษซากพืชซากสัตว์กินเป็นอาหารหลัก แต่ในที่เลี้ยงที่มีอาหารจำกัด มันก็จะจับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กินเป็นอาหารได้ โดยเฉพาะกุ้งขนาด 1.5 – 2.5 นิ้ว ที่มักจะชอบไล่จับปลากินเป็นอาหาร ส่วนกุ้งที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะลดนิสัยนี้ลง แต่หากต้องการเลี้ยงปลากับกุ้งด้วยกันให้ยึดหลักดังนี้

1. ขนาดตู้ ต้องกว้างอย่างน้อย 24 นิ้ว น้ำลึกประมาณ 1 ฟุตเป็นอย่างน้อย

2. ปลาที่ว่ายน้ำช้า ปลาที่มีครีบยาวๆ ปลาที่มีนิสัยนอนพื้นตู้ ไม่ควรนำมาเลี้ยงเด็ดขาด ควรเลือกปลาชนิดที่มีขนาดเล็กที่ว่ายน้ำเร็ว หรือหากินกลางน้ำ

3. ปลาซัคเกอร์ น้ำผึ้ง ปลาจิ้งจก เป็นปลาเทศบาลที่สามารถเลี้ยงได้

การเลือกซื้อกุ้งเครฟิช
1. ควรเลือกกุ้งที่มีอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น ดวงตาและก้ามครบ 2 ข้าง ขาเดินครบทั้ง 4 คู่

2. ควรเลือกตัวที่มีความแข็งแรง ไม่อยู่ในระยะลอกคราบ มีเปลือกลำตัวแข็ง

3. ควรเลือกกุ้งที่มีการตอบสนองป้องกันตัวเมื่อถูกรบกวน เช่น การยกก้ามคู่ป้องกันตัวเอง เมื่อจับนำมาใส่ภาชนะจะหลบหนีด้วยการดีดลำตัวอย่างว่องไวหรือพยายามปีนป่ายหนี

4. เลือกซื้อกุ้งที่มีคุณภาพ โดยการสังเกตจากสภาพน้ำและภาชนะที่วางขาย หรือซื้อจากร้านและฟาร์มที่ไว้ใจได้

5. ควรได้รับการปรับสภาพ พักและเปลี่ยนถ่ายน้ำแล้วอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ในกรณีที่เป็นกุ้งนำเข้าจากต่างประเทศ