การเพาะเลี้ยงปลาจีน

ชาวจีนได้รู้จักวิธีการเลี้ยงปลาโดยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน มากกว่า 2000 ปี สำหรับพันธุ์ปลาจีนที่ได้ทำการคัดเลือกขึ้นมาใช้ในการเพาะเลี้ยงจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ปลาเฉา ลิ่น ซ่ง สร้อยน้ำเงิน วูซัง และหลีฮื้อ (ไน) ส่วนในด้านวิธีการเลี่ยงนั้น ชาวจีนได้ยึดหลักการเลี้ยงปลาแบบรวมกันในบ่อเดียว Polyculture) โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางชีววิทยาในการก่อให้เกิดอาหารปลาและผลผลิตปลา การใช้ประโยชน์จากอาหารที่เกิดขึ้นในบ่ออย่างเต็มที่ ส่วนพันธุ์ปลาดังกล่าวในอดีตชาวจีนต้องรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำเพิล ทางภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ ปัจจุบัน เกษตรกรจีนสามารถเพาะปลาดังกล่าวขึ้นได้ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนเร่งให้ปลาผสมพันธุ์กันเองในบ่อ หรือด้วยวิธีผสมเทียมแล้ว

สำหรับการนำพันธุ์ปลาจีนดังกล่าวเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่านำเข้ามาโดยชาวจีนอพยพที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วมา ภายหลังที่กรมประมงสามารถเพาะปลาไนได้ด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติในปี 2490 และปลาจีนชนิดอื่น เช่น เฉา ลิ่น ซ่ง ได้ด้วยวิธีผสมเทียมครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2509 การนำปลาจีนเข้ามาจากต่างประเทศก็ลดลงตามลำดับ ปัจจุบัน เกษตรกรไทยก็สามารถเพาะพันธุ์ปลาจีนขึ้นได้ด้วยวิธีผสมเทียม ดังนั้น กรมประมงจึงได้ออกระเบียบห้ามนำพันธุ์ปลาจีนเข้ามาในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมอาชีพนี้แก่เกษตรกรไทยให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น และเป็นการลดค่าใช้จ่ายเงินตราที่รัฐบาลจะต้องใช้ในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาจีนรวม 697 ฟาร์ม (สถิติกรมประมง ปี 2528) เนื้อที่ประมาณ 9,185 ไร่ มีผลผลิตรวม 1,011 ตัน มูลค่า 12.92 ล้านบาท สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้เลี้ยงปลาจีนน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากประชาชนไม่นิยมบริโภคปลาจีนชนิด เฉา เล่ง ซ่ง เพราะเป็นปลาชนิดใหม่ในภูมิภาคนี้ ส่วนปลาไน กรมประมงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงมาเป็นเวลาช้านานจึงไม่มีปัญหา และเนื่องมาจากปลาไนเป็นปลาที่เกษตรกรใช้เลี้ยงในนาได้ผลดี เพราะเป็นปลาที่แข็งแรง อดทน และเจริญเติบโตดี ปลาที่มีขนาด 10-15 ซม. ก็ใช้ประกอบอาหารพื้นเมืองสำหรับบริโภคได้แล้ว จึงนับได้ว่าเป็นปลาที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ส่วนปลาเฉา ลิ่น ซ่ง นั้น มีข้อจำกัดในด้านการเลี้ยง เพราะต้องใช้เนื้อที่บ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ และเมื่อผลิตได้มากก็ไม่มีตลาดจำหน่าย กับทั้งราคาที่จำหน่ายได้ก็ค่อนข้างต่ำ แต่ข้อดีของปลาทั้ง 3 ชนิด ก็คือมีความเหมาะสมที่จะผลิตและปล่อยลงในหนองบึง จำนวน 583 แห่ง เนื้อที่ 1,031,704 ไร่ และอ่างเก็บน้ำจำนวน 5,435 แห่ง เนื้อที่ 362,189 ไร่ ทำนบปลา บ่อปลา ประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีเนื้อที่รวมกันประมาณ 1,393,893 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์จากอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ และในนแง่ของการเพิ่มอาหารโปรตีนประเภทปลา ตลอดจนอาชีพในทางการประมงแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชีวประวัติ

เพื่อทราบรูปร่างและลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ของปลาจีน ในด้านนิเวศวิทยา เช่น นิสัยในการกินอาหาร การผสมพันธุ์ การวางไข่และฟักไข่ ตลอดจนขบวนการที่ใช้ในการผลิตจากการเพาะเลี้ยง ซึ่งจะได้ดำเนินการต่อไปในแต่ละชนิดของปลาจีน

ปลาเฉา


รูปร่างลักษณะปลาเฉา

ส่วนหัวค่อนข้างแบน ปากอยู่ปลายสุดเฉียงขึ้นเล็กน้อย ขากรรไกรล่างสั้นกว่าขากรรไกรบน ตาเล็ก ซี่เหงือกจะติดต่อกับแก้ม ซี่กรองเหงือกห่างและสั้น ฟันคอหอยมอยู่ 2 แถวคล้ายหวี ข้างซ้ายมี 2-5 ซี่ ข้างขวามี 2-4 ซี่ ครีบหลังสั้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 7 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 8 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยว 2 ก้าน ก้านครีบแขนง 14 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน ครีบแขนง 8 ก้าน เกล็ดขนาดใหญ่บริเวณเส้นข้างตัว 34-35 เกล็ด ลำตัวรูปกระสวยคล้ายรูปทรงกระบอก หางแบนข้าง-ส่วนหลังสีดำน้ำตาล ส่วนท้องขาว

ปลาลิ่น


รูปร่างลักษณะปลาลิ่น

ส่วนหัวมีขนาดปานกลาง ปากเชิดขึ้นเล็กน้อยอยู่ปลายสุดของส่วนหัว ขากรรไกรล่างเฉียงขึ้นบนเล็กน้อย ตาค่อนข้างเล็กและอยู่ใต้แนวระดับกึ่งกลางลำตัว ส่วนหนังของเหงือกไม่เชื่อมสนิทกับแก้ม ส่วนล่าง มีอวัยวะ Super branchial ซี่กรองเหงือกติดต่อกันเหมือนตะแกรงที่มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ฟันที่คอหอยมีข้างละแถวๆ ละ 4 ซี่ พื้นหน้าตัดของฟันแบนเป็นร่องละเอียด ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 7 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 12-13 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 17 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 8 ก้าน เกล็ดบน เส้นข้างตัวมี 110-123 เกล็ด ลำตัวรูปกระสวยแบนข้าง ส่วนท้องเป็นสันยาวจากอกถึงรูก้น ลำตัวส่วนหลัง สีดำเทา ส่วนอื่นๆ สีเงิน

ปลาซ่ง


รูปร่างลักษณะปลาซ่ง

ส่วนหัวใหญ่มีความยาวประมาณ 1 ใน 3 ของลำตัว ปากอยู่ปลายสุดและเชิดขึ้นข้างบน ขากรรไกรล่างเฉียงขึ้นข้างบนเล็กน้อย ตาค่อนข้างเล็กอยู่ต่ำเยื้องมาทางส่วนหน้า ผิวหนังเหงือกไม่ติดกับแก้ม มี Super branchial ซี่กรองเหงือกถี่และมีขนาดเล็กแต่ไม่ติดกัน ที่คอหอยมีฟันข้างละแถวๆ ละ 4 ซี่  หน้าตัดของฟันแบนและเรียบ ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 7 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 11-14 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 17 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 8 ก้าน เกล็ดเล็กที่เส้นข้างตัวมี 95-105 เกล็ด ลำตัวรูปกระสวย ส่วนท้องบริเวณหางแบนข้างและเป็นสัน ส่วนหลังจะดำคล้ำบางแห่ง ส่วนท้องเหลือง

ปลาตูลิ่น


รูปร่างลักษณะปลาตูลิ่น

ส่วนหัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ปากอยู่ปลายสุดและเฉียงขน มีหนวด 2 คู่ คู่หนึ่งอยู่ตรงจะงอยปาก อีกคู่หนึ่งอยู่ที่ขากรรไกรล่าง คู่แรกจะยาวกว่าคู่หลัง ซี่กรองเหงือกถี่และมีขนาดเล็ก ฟันคอหอยมี 3 แถว ส่วนปลายจะตัดเฉียง ผิวบนจะเรียบครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 12 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 6 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 15-16 ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว 1 ก้าน และก้านครีบแขนง 8 ก้าน เกล็ดเส้นข้างตัว 40 เกล็ด ลำตัวแบนข้าง ส่วนท้องค่อนข้างกลม ส่วนหลังสีเทาปนเขียว ส่วนท้องสีเงิน ระหว่างเกล็ดที่ 14 และ 15 เหนือครีบหน้าอกจะมีแถบสีเขียวปนน้ำเงินเป็นรูปวงเดือนแบน ฐานของเกล็ดข้างลำตัวมีแถบสีเขียว ครีบทั้งหมดสีม่วง

ปลาไน


รูปร่างลักษณะปลาไน

รูปร่างคล้ายปลาตะเพียน มีเกลีดกลมใหญ่ทั่วตัว ยกเว้นปลาไนบางชนิดมีเกล็ดไม่ทั่วตัว ปากเล็กมีฟัน 3 แถวในลำคอ ริมฝีปากหนาและยืดหดได้ มีหนวดคู่หนึ่งยาว และอีกคู่หนึ่งเป็นตุ่มเล็กๆ ครีบ หลังเป็นครีบเดี่ยวยาว สีของปลาไนจะต่างกันตามภูมิประเทศที่อยู่ของมัน แต่โดยมากจะมีสีเงินปนเทา อาจมีสีเหลืองอ่อนปน บางตัวก็มีสีทอง

ลักษณะเพศ

ลักษณะเพศของปลาจีนที่โตเต็มวัยจะสามารถคัดเพศ โดยการเปรียบเทียบจากลักษณะภายนอกของปลาตัวผู้และตัวเมีย ดังตารางต่อไปนี้

เปรียบเทียบลักษณะของปลาเพศผู้และเพศเมีย

ปลาเฉา

เพศผู้ เพศเมีย
ตุ่มเล็กๆ รูปกรวยของ Pearl organ จะแผ่กระจายส่วนบนของครีบอกหลายอัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนครีบอก 3 อันแรก เมื่อสัมผัสดูจะหยาบ จะปรากฎขึ้นในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น มีตุ่ม Pearl organ เล็กน้อย อยู่ส่วนบนครีบอก ตุ่มจะมีแถวสั้นและมีน้อย
จะมีตุ่ม Pearl organ มากมายบนส่วนหัว และส่วนแก้มเมื่อถุงน้ำเชื้อเติบโตเต็มที่ ไม่มีตุ่มบนหัวหรือแก้ม
น้ำเชื้อขาวจะไหลออกเมื่อสัมผัสส่วนท้องเบาๆ ส่วนท้องจะบวมเป่งและนิ่ม

ปลาลิ่น

เพศผู้ เพศเมีย
จะมีหนามแหลม (Ctenoid teeth) ขึ้นอยู่เป็นแถวบนก้านครบส่วนหน้าของครีบอกหลายอัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก้านครีบแข็ง เมื่อสัมผัสหนามแหลมจะรู้สึกคม หนามแหลมเหล่านี้งอกมาแล้วจะไม่หายไป หนามแหลม(Ctenoid teeth) จะขึ้นอยู่ตรงปลายของครีบอกส่วนอื่นจะเรียบ
ส่วนท้องเล็ก เมื่อรีดเบาๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา ส่วนท้องจะขยายใหญ่ นิ่ม มีรูก้น ยื่นสีแดง

ปลาซ่ง

เพศผู้ เพศเมีย
หนามแหลมที่ขึ้นเป็นแถวจะย้อนกลับมีอยู่บนก้านครีบส่วนหน้าของครีบอก เมื่อสัมผัสจะรู้สึกคม หนามแหลมจะมีอยู่ตลอดไป ครีบอกจะเรียบ
มีจุด Pearl organ ตุ่มสากๆ ปรากฎบนส่วนหัวและส่วนแก้มของปลาที่โตเต็มวัย ส่วนหัวและครีบอกจะเรียบ
ส่วนท้องเล็ก เมื่อรีดส่วนท้องเบาๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา ส่วนท้องจะพองและนิ่ม รูก้นจะยื่นและมีสีแดง

ปลาตูลิ่น

เพศผู้ เพศเมีย
จะมีตุ่ม Pearl organ อยู่บนส่วนบนของครีบอก เมื่อสัมผัสดูจะหยาบและจะหายไปหลังจากฤดูผสมพันธุ์ ครีบอกเมื่อสัมผัสดูจะเรียบ
น้ำเชื้อขาวจะไหลออกเมื่อสัมผัสเบาๆ ส่วนท้องใหญ่ บางทีรูก้นจะมีสีแดง และยื่นเล็กน้อย

ปลาไน

เพศผู้ เพศเมีย
ตัวผู้จะมีต่อมสิวตามบริเวณแก้ม บริเวณแก้มเรียบ
เกล็ดบนลำตัวสาก เกล็ดบนลำตัวไม่สาก
เอามือรีดท้องไปทางทวารจะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา ท้องอูมเป่งออกทั้งสองข้าง พื้นท้องนิ่ม
ลำตัวเรียวยาว ลำตัวป้อม ช่องท้องตอนล่างอวบใหญ่

อุปนิสัยและพฤติกรรมบางประการ

ความเป็นอยู่

1. ที่อยู่อาศัย ปลาเฉา ลิ่น ซ่ง สร้อยนํ้าเงิน และไน จะอยู่อาศัยในระดับความลึกของน้ำแตกต่างกัน เนื่องจากนิสัยการกินอาหารต่างกันคือ ปลาเฉาอยู่ระหว่างกลางน้ำหรือต่ำลงไปและชอบว่ายอยู่ใกล้ๆ ฝั่ง ปลาลิ่นและซ่งอาศัยเหนือระดับกลางน้ำเล็กน้อย ปลาสร้อยน้ำเงินและปลาไนอาศัยอยู่ที่พื้นก้นบ่อ

2. อุณหภูมิ อุณหภูมิในน้ำที่เหมาะต่อการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตที่ดีคือ ระหว่าง 25-30°ซ. เมื่ออุณหภูมิของน้ำต่ำกว่า 15°ซ. ปลาจีนจะกินอาหารลดลง และจะหยุดกินอาหารเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 10°ซ.

3. คุณสมบัติของน้ำ

-ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) 7-8.5 ดีที่สุด

-ปริมาณออกซิเจนในน้ำจะต้องสูงกว่า 2 ppm. เมื่อปริมาณของออกซิเจนต่ำกว่า 2 ppm. ปลาจะกินอาหารน้อยลงและจะหยุดกินอาหารเมื่อออกซิเจนต่ำกว่า 1 ppm. ปลาจะลอยหัวและตายเมื่อออกซิเจนในน้ำอยู่ในระดับ 0.2-0.5 ppm.

นิสัยในการกินอาหาร

1. ปลาเฉา เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภทกินหญ้าหรือวัชพืชในน้ำ มีลักษณะพิเศษคือฟันที่คอหอยมีลักษณะงุ้มคล้ายเล็บเสือขนาดใหญ่ 4 ซี่ และขนาดเล็ก 2 ซี่ มี 2 แถวประสานกันคล้ายหวี ซึ่ง

สามารถใช้บดและตัดหญ้าได้ ปลาวัยอ่อนจะกินอาหารจำพวกแพลงก์ตอน และเมื่อปลาโตขึ้นมีขนาด 10 ม. ฟันที่คอหอยเจริญแข็งแรงก็สามารถจะกินอาหารพวกหญ้าและพันธุ์ไม้น้ำชนิดต่างๆ ได้ ปลาเฉาที่เลี้ยงในบ่อขนาด 15 ซม. จะกินอาหารสมทบได้หลายชนิด เช่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง รำข้าว กากเบียร์ มันฝรั่ง ธัญญพืช ใบและลำต้นของผัก หญ้า และใบอ้อยสด

2. ปลาลิ่น เป็นปลาที่จัดอยู่ในประเภทปลากินแพลงก์ตอน โดยมีซี่เหงือกละเอียดและถี่ สำหรับกรองอาหารธรรมชาติขนาดเล็ก ปลาชนิดนี้จะกินพวกแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) เป็นส่วนใหญ่ เเละแพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) เป็นส่วนน้อย คือมีอัตราส่วนประมาณ 248 : 1 นอกจากนี้ปลาที่เลี้ยงในบ่อยังกินอาหารสมทบอื่นๆ ได้อีก เช่น กากถั่ว ปลายข้าว รำ เป็นต้น

3. ปลาซ่ง เป็นปลาประเภทกินแพลงก์ตอนเช่นเดียวกับปลาลิ่น แต่จะกินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหารหลักและแพลงก์ตอนพืชเป็นอันดับรอง และอาหารสมทบอื่นๆ เช่น กากถั่ว ปลายข้าว ละรำ ฯลฯ

4. ปลาสร้อยน้ำเงิน ในวัยอ่อนจะกินอาหารเช่นเดียวกับปลาเฉาเมื่อปลาโตเต็มวัยจะพัฒนาเหงือกให้ละเอียดและหนาทึบ เหมาะที่จะใช้กรองอาหารเล็กๆ โดยใช้ริมฝีปากล่างและบนดูดอาหาร จำพวกพืชน้ำขนาดเล็ก (Diatoms) ตะไคร่น้ำที่เกาะติดอยู่กับหิน พวกเศษไม้ เศษเหลือจากก้นบ่อ ไรน้ำ ในลำไส้ของปลาจะพบโคลนและทรายด้วย เมื่อเลี้ยงในบ่อจะกินอาหารจำพวกเศษผักและเนื้อต่างๆ

5. ปลาไน อาหารของปลาไนเป็นพวกตัวอ่อนของแมลง หนอนแดงหลายชนิด พวกพืช เช่น แหนเป็ด รวมทั้งเศษพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย จึงจัดเป็นปลาจำพวกที่กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ (Omnivorous fish) นิสัยของปลาไนโดยทั่วไปจะกินอาหารตั้งแต่ระดับผิวน้ำ กลางน้ำ จนถึงหน้าดิน โดยใช้ปากชอนไชไปตามพื้นและขอบบ่อ จึงมักจะทำให้น้ำขุ่นและขอบบ่อพังได้ ปลาไนจะกินอาหารทั้งกลางวัน และกลางคืนอย่างสม่ำเสมอตลอดปี

ฤดูกาลวางไข่

ปลาจีนที่เลี้ยงในมณฑลกวางตุ้งของจีน จะเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่วนปลาจีนที่เลี้ยงในประเทศไทย คือ ปลาเฉา ลิ่น ซ่ง จะเริ่มวางไข่ได้ในเดือนพฤษภาคม ดังนั้น การขุนอาหารเพื่อเลี้ยงพ่อแม่ปลาสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรริเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนปลาไนถ้าเลี้ยงในอัตราส่วนที่ถูกต้องและให้อาหารอุดมสมบูรณ์จะวางไข่ได้ตลอดปี

ลักษณะของไข่ ไข่ปลาเฉา ลิ่น ซ่ง เมื่อได้รับการผสมแล้วจะดูดซึมน้ำ และเริ่มพองตัวขึ้นมีขนาด 3.0-4.5 มม. ไข่จะมีลักษณะครึ่งจมครึ่งลอย เมื่อได้รับกระแสน้ำพัดเพียงเล็กน้อยก็จะลอยไปมาตามกระแสน้ำ ส่วนไข่ของปลาไนมีลักษณะกลม สีเทาอ่อน มีเมือกเหนียว ไข่จะติดกับพันธุ์ไม้น้ำหรือหญ้าที่อยู่ในน้ำ ไข่ของปลามีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มม. จะฟักออกเป็นตัวภายใน 48 ชั่วโมง ภายใต้อุณหภูมิของน้ำ 25°ซ.

การเพาะฟักและอนุบาล

เนื่องจากพันธุ์ปลาจีนที่ได้นำมาเลี้ยงในประเทศไทยแบบรวม โดยให้หญ้าเป็นอาหารและใส่ปุ๋ยเป็นหลัก ปรากฎว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตดีในสภาวะลม ฟ้า อากาศของประเทศไทย แต่มีปลา 3 ชนิดที่สำคัญไม่วางไข่ในบ่อคือ ปลาเฉา ลิ่น และซ่ง จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาและหาวิธีเลี้ยงพ่อแม่ปลาดังกล่าวให้มีไข่และน้ำเชื้อแก่ถึงขั้นที่จะฉีดฮอร์โมนเร่งให้วางไข่ตามธรรมชาติหรือใช้วิธีผสมเทียม ส่วนปลาไนนั้นสามารถเพาะขึ้นได้ด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งแยกวิธีดำเนินการ ดังต่อไปนี้

การเพาะด้วยวิธีผสมเทียม (เฉา ลิ่น ซ่ง)

1. การเลี้ยงพ่อแม่ปลา พ่อแม่ปลาที่จะเลี้ยงไว้เพาะพันธุ์จะต้องเป็นปลาที่มีอายุ 1 ½ ปี น้ำหนักเฉลี่ย 3-4 กก. การเลี้ยงพ่อแม่ปลาใช้วิธีเลี้ยงแบบรวมและแยกเพศได้ผลดีกว่าเลี้ยงรวมไม่แยกเพศ บ่อขนาด 1 ไร่ ปล่อยปลาลงเลี้ยงประมาณ 100 ตัว หรือมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 400 กก. มีอัตราส่วนของปลาเฉา : ลิ่น: ซ่ง: ไน = 2: 1 : 1 : 1 โดยใช้หญ้าเป็นอาหารและใส่ปุ๋ยเป็นหลัก นอกจากนี้ความจำเป็นที่จะต้องให้อาหารสมทบ เช่น ข้าวเปลือกงอกที่แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง สำหรับปลาเฉาเพื่อเร่งพัฒนาให้ไข่และน้ำเชื้อดีขึ้น เพราะข้าวงอกมีโปรตีนประมาณ 5% สูงกว่าหญ้า 1 เท่า และให้อาหารผสมประเภทรำข้าว ปลาป่น และปลายข้าวที่มีโปรตีนประมาณ 30% แก่ปลาจีนชนิดอื่นในอัตราส่วนวันละ 1-2% โดยน้ำหนักตัว พร้อมนี้จะต้องมีการถ่ายเทนํ้าในบ่อตามความเหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำให้มีสภาพดีอยู่เสมอ รังไข่และถุงน้ำเชื้อของพ่อแม่ปลาจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และจะแก่สุกใช้ผสมเทียมได้โดยใช้ ฮอร์โมนฉีดกระตุ้นในเดือนพฤษภาคม ส่วนปลาไนสามารถจะนำมาเพาะได้ตลอดปีโดยวิธีเพาะแบบธรรมชาติ

2. การคัดเลือกพ่อแม่ การคัดปลาเพื่อนำมาฉีดฮอร์โมนเร่งให้วางไข่แบบธรรมชาติหรือใช้ผสมเทียม สำหรับปลาตัวผู้ใช้มือตรวจดูตัวที่มีน้ำเชื้อดี ส่วนปลาตัวเมียคัดเลือกปลาที่มีท้องอูมและนิ่ม ช่องเพศมีสีแดงหรือสีชมพู การคัดแม่ปลานั้นต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก อาจมีการผิดพลาดได้ง่าย เพราะบางทีแม่ปลาที่ท้องอูมนั้นอาจเนื่องจากกินอาหารเต็มท้องหรือมีไขมันมาก ดังนั้น ก่อนที่จะทำการ คัดเลือกนำมาเพาะ ควรงดอาหารสัก 2-3 วัน นอกจากนี้วิธีการทำให้ไขมันในปลาลดลงและเพิ่มความอดทนแก่พ่อแม่ปลานั้น ทำได้โดยนำปลามาใส่ในบ่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร ลึก 1 เมตร แล้วปล่อยให้น้ำไหลวนสัก 2 วัน ปลาจะขับถ่ายสิ่งปฏิกูลออกมา และเพิ่มความปราดเปรียว แข็งแรงขึ้น เมื่อนำไปใช้เพาะจะมีความทนทานและมีอัตราการอดตายสูงที่สำคัญก็คือเมื่อเวลารีดไข่และน้ำเชื้อจะไม่มีอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นสิ่งปนเปื้อนในขณะยามผสมไข่และน้ำเชื้อ ทำให้ไข่ได้รับการผสมดีและได้เปอร์เซ็นต์สูง

3. อัตราส่วนเพศ อัตราส่วนพ่อแม่ปลาที่จะใช้ในการเพาะแต่ละครั้ง ถ้าเป็นการเพาะแบบผสมเทียมจะใช้อัตราส่วนของตัวเมียและตัวผู้ 1 :1 หรือ 2 : 3 และในการเพาะเลียนแบบธรรมชาติ โดยการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นจะใช้อัตราส่วน 1 : 2 หรือ 2 : 3 สำหรับปลาเฉา ลิ่น และซ่ง

4. ฮอร์โมนใช้ในการผสมเทียม มี 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนที่เก็บสดหรือแห้งจากต่อมใต้สมองปลาจีน เช่น ปลาเฉา ลิ่น ซ่ง และปลาไน และฮอร์โมนสกัดที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาเคมี ได้แก่ Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ซึ่งเป็นผงสีขาวบรรจุในขวดขนาดเล็ก และมีฉลากแจ้งจำนวนฮอร์โมนตั้งแต่ 2,500-5,000 IU เมื่อจะใช้ก็นำยามาละลายด้วยน้ำกลั่น 5 ซีซี

5. อัตราส่วนการใช้ฮอร์โมนที่ปฏิบัติได้ผลดีในประเทศไทย สำหรับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองปลาสดใช้ฉีด 2 ครั้งๆ แรกประมาณ 0.7 โดส ทิ้งระยะเวลาประมาณ 8 ชั่วโมง จึงฉีดครั้งที่สอง ใช้ประมาณ 1.5-2.5 โดส หลังจากฉีดครั้งที่สองประมาณ 4 ชั่วโมง ควรตรวจดูแม่ปลาซึ่งจะมีช่วงที่ใช้ผสมเทียมได้ในระยะเวลา 4-7 ชั่วโมง หลังจากฉีดครั้งที่สอง

สำหรับการใช้ฮอร์โมนสกัด โดสแรกใช้ 200-400 IU/น้ำหนัก ปลาที่จะฉีด 1 กก. หลังจากนั้น 6 ชั่วโมง จึงฉีดครั้งที่สอง ใช้ฮอร์โมน 800-1,500 IU/กก. และถ้าปลาตัวผู้อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์อาจจะฉีดฮอร์โมน 200 IU/กก. พร้อมกับการฉีดปลาตัวเมียครั้งที่สอง ส่วนระยะเวลาที่ตรวจไข่ และผสมเทียมปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีการใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง

6. การฉีดฮอร์โมน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อโคนครีบหูหรือบริเวณส่วนท้ายของครีบหลัง

7. การผสมไข่และน้ำเชื้อ ดังได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่าระยะเวลาหลังจากฉีดฮอร์โมน ในครั้งที่สอง 4-7 ชั่วโมง ปลาพร้อมที่จะใช้ผสมเทียมได้ โดยการตรวจปลาที่นำมาขังไว้ในอวนเปล แต่ในกรณีที่พ่อแม่ปลาขังไว้ในบ่อซีเมนต์กลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ลึก 1 เมตร จะสังเกตการแสดงออกของปลาที่พร้อมจะวางไข่ได้โดยปลาตัวผู้จะไล่ตัวเมียไปรอบๆ โดยติดต่อกันเป็นระยะเวลา ½-1 ชั่วโมง ดังนั้น ในช่วงนี้จึงเหมาะที่นำปลาดังกล่าวมารีดไข่และน้ำเชื้อผสมเทียมด้วยวิธีแบบแห้ง ซึ่งจะใช้น้ำธรรมดา ในการผสมหรือน้ำเกลือ 0.7% ก็ได้ การใช้น้ำเกลือจะได้ผลดีกว่าในแง่ของการต่ออายุและความเคลื่อนไหวของน้ำเชื้อที่มีโอกาสจะผสมไข่ได้มากขึ้นเป็น 2-3 นาที เปรียบเทียบกับการใช้น้ำธรรมดาเพียง 20-31 วินาทีเท่านั้น

ก่อนที่จะทำการผสมเทียมจะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการผสมเทียมไว้ให้พร้อม เช่น กะละมังพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว จำนวนหลายใบ เพราะปลาจีนที่เพาะเป็นปลาขนาด 3-4 กก. มีไข่จำนวนมาก การผสมไข่และน้ำเชื้อถ้าจะให้ใด้ผลดีจะต้องแบ่งไข่ที่รีดออกมาโดยใช้กะละมังรองรับ 3-5 ใบ/ปลาตัวเมีย 1 ตัว เพราะถ้ารีดไข่ทั้งหมดลงในกะละมังใบเดียวปริมาณไข่จะมากเกินไป เปอร์เซ็นต์ไข่ที่ได้รับการผสมจะน้อย เมื่อรีดน้ำเชื้อลงบนไข่แล้วใส่น้ำผสมแล้วจะต้องใช้ขนไก่คนเบาๆ พร้อมเอียงกะละมังไปมาช้าๆ เพื่อให้น้ำเชื้อมีโอกาสผสมไข่ได้โดยทั่วถึง ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที หลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง แล้วเติมน้ำสะอาดสักครึ่งกะละมังแช่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จึงนำไปเพาะฟักในโรงเพาะฟัก

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะฟัก

1. โรงเพาะฟักซึ่งมีหลังคาและฝาผนัง ภายในโรงมีบ่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5x10x1 เมตร สูง 1 เมตร และควรมีเครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกซิเจนทุกบ่อ ประเภทของบ่อดังกล่าว จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณลูกปลาจีนที่จะผลิตในรอบ 1 ปี หรือตามขนาดของฟาร์ม

2. น้ำและระบบของน้ำเป็นหัวใจสำคัญของการเพาะฟักลูกปลาจีน น้ำที่ใช้ในโรงเพาะฟักต้องเป็นน้ำที่ใสสะอาด จะโดยปล่อยเข้ามาด้วยระบบชลประทานหรือสูบจากแม่น้ำ ลำธาร ถ้าน้ำขุ่นก็ควรผ่านบ่อตกตะกอนหรือเครื่องกรองเสียก่อน อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะประมาณ 24-28 ∘ซ. ความเป็นกรด-ด่าง 7.0-8.5 ระบบของน้ำในบ่อซีเมนต์กลม ควรมีอุปกรณ์ปล่อยให้น้ำไหลหมุนเวียนเพื่อใช้ พักปลาที่ฉีดฮอร์โมนสำหรับการผสมเทียม หรือใช้เป็นบ่อเพาะตามธรรมชาติ โดยฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้วางไข่ ปริมาณของน้ำที่ใช้ในการเพาะฟักต้องมีเพียงพอตลอดการเพาะฟักไข่แต่ละครั้ง

3. อุปกรณ์และวิธีการฟักไข่มีหลายชนิด เช่น บ่อฟักกลม ระบบน้ำหมุนเวียน อวน ฟักไข่ ถังฟักไข่ แต่ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรคือกรวยเพาะฟักซึ่งทำด้วยผ้าขาวบางตาถี่โครงเป็นเส้นลวดขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 ซม. ลึกประมาณ 50 ซม. ตอนก้นเป็นรูปกรวยยาว 35 ซม. กรวยดังกล่าวสามารถบรรจุไข่ปลาจีนที่หลังจากผสมเทียมได้ประมาณ 50,000 ฟอง โดยนำไปผูกแขวนไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาด 10 ม.2 ได้ครั้งละ 10 กรวย ปล่อยให้น้ำไหลช้าๆ ผ่านสายยางเข้าทางกรวยด้านล่าง ไข่ของปลาจีนที่ฟักก็จะหมุนเวียนไปมาภายในกรวยและฟักเป็นตัวปลาประมาณ 18 ชั่วโมง ในอุณหภูมิของน้ำประมาณ 28°ซ. การฟักเป็นตัวจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะมีขนาด 2.5-4.0 มม. มีลักษณะบอบบาง และยังไม่มีปากอวัยวะต่างๆ เช่น ปาก ท่ออาหาร และระบบภายในต่างๆ จะพัฒนาขึ้นโดยใช้อาหารจากถุงไข่แดงของตัวปลาเองภายในระยะเวลาประมาณ 3 วัน (70- 76 ชั่วโมง)

การอนุบาลลูกปลา (เฉา ลิ่น ซ่ง)

1. อนุบาลในกระชังผ้า เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง จึงย้ายลงเลี้ยงในกระชังโอล่อนแก้วตาถี่ขนาดกว้าง 80 ซม. ยาว 1 เมตร ลึก 80 ชม. ซึ่งมีท่อเอสลอนขนาด 1 นิ้ว เจาะรูเป็นโครงก้นกระชังโดยรอบ เปิดน้ำเข้าท่อให้น้ำไหลออกตามรูที่เจาะไว้และเป่าฟองอากาศตรงจุดกึ่งกลางกระชัง กระชังผ้าดังกล่าวจะใช้อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนได้กระชังละ 50,000 ตัว

การให้อาหารใช้ไข่แดงจากไข่ไก่ที่ต้มให้สุกดี ผสมน้ำเล็กน้อยแล้วบดนำมากรองด้วยผ้าขาวบาง แล้วเติมน้ำอีก 10 เท่าของน้ำที่กรอง นำไปเลี้ยงลูกปลาวันละ 4-6 ครั้ง เป็นระยะเวลา 3-7 วัน หลังจากนั้นจึงย้ายลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อดินอนุบาล

2. อนุบาลในบ่อดิน ขนาดของบ่อดินที่ใช้อนุบาลลูกปลาจีนวัยอ่อนควรมีขนาดตั้งแต่ 200-800 ม.2 น้ำลึกประมาณ 1 เมตร การเตรียมบ่ออนุบาลลูกปลาจีนต้องทำด้วยความประณีต โดยสูบน้ำกำจัดวัชพืช และเมื่อระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 5 ซม. ก็ใช้ปูนขาว 1 กก./พื้นที่ผิวน้ำ 10 ม.2 ผสมน้ำแล้วสาดให้ทั่วเพื่อกำจัดศัตรู และปรับปรุงคุณสมบัติของน้ำให้อยู่ในระดับเป็นกลางหรือเป็นด่าง เล็กน้อย (pH 7-8.5) แช่ปูนขาวตากแดดไว้ 1 วัน ตอนเย็นสูบหรือปล่อยน้ำเข้าบ่อผ่านเครื่องกรองให้มีระดับสูงประมาณ 80 ซม. แล้วจึงใส่ปุ๋ยคอกแห้งประมาณ 300 กก./ไร่ เพื่อเพาะอาหารธรรมชาติจำพวกแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ การเตรียมบ่ออนุบาลดังกล่าวทำล่วงหน้าเพียง 1 วัน เสร็จแล้วจึงย้ายลูกปลาที่เลี้ยงในกระชังผ้าลงปล่อยทันที อัตราส่วนที่ปล่อยปลาประมาณ 200,000 ตัว/เนื้อที่ 1/2 ไร่ ให้ไข่แดงบด และกรองผสมน้ำ แป้งสาลี รำละเอียดปุ๋ยกากถั่วบดละเอียดโปรยเป็นอาหารสมทบวันละ 3 ครั้ง ภายหลัง 1 สัปดาห์ จึงหยุดให้ไข่แดง เมื่อเลี้ยงไปได้ 3 สัปดาห์ ลูกปลาจะโตขึ้นมีขนาด 2-3 ซม. อัตราการรอดประมาณ 50% และมีความจำเป็นต้องย้ายลูกปลาบางส่วนนำไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลอื่นเพื่อลดความหนาแน่นลง และเลี้ยงให้เป็นปลาขนาด 5-7 ซม.ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในการเลี้ยงขุนเป็นปลาใหญ่

3. การระมัดระวังศัตรูของลูกปลา ในกรณีที่เตรียมบ่อดินอนุบาลไว้นานวันมักจะมีแมลงกรรเชียง ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของลูกปลาจีนที่จะนำมาเลี้ยง ดังนั้น จึงควรใช้น้ำมันโซลาประมาณ 5 ลิตร/พื้นที่ 1 ไร่ สาดให้ทั่วบ่อ เพื่อกำจัดแมลงกรรเชียงเสียก่อนในตอนเช้า และปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในตอนเย็น และพร้อมนี้ก็จะต้องคอยสังเกตดูแมลงชนิดนี้ในบ่ออนุบาล ถ้าปรากฎว่ามีมากก็ต้องใช้น้ำมันโซลา อัตราส่วนดังกล่าวกำจัด โดยปกติจะเป็นเวลาหลังจากการใช้ครั้งแรกประมาณ 7-10 วัน การใช้น้ำมันโซลาควรเป็นตอนเช้าในระยะเวลาที่มีแสงแดดขึ้นแล้ว เมื่อเลี้ยงลูกปลาเป็นระยะเวลา 1 เดือนแล้ว ไม่จำเป็นต้องกำจัดแมลงกรรเชียง เพราะลูกปลาโต แข็งแรง แมลงกรรเชียงทำอันตรายไม่ได้

การเพาะด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ (ปลาไน)

1. การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ปลาไนนั้นอาจจะคัดเลือกจากบ่อที่เลี้ยงปลาชนิดอื่น ดังได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น และหรือจากการเลี้ยงปลาชนิดนี้แบบเดี่ยวด้วยวิธีแยกเพศกันไว้คนละบ่อก็ได้ อาหารสำหรับพ่อแม่ปลาควรเป็นอาหารผสมประเภทปลายข้าว รำ และปลาป่น มีอัตราส่วนของโปรตีนประมาณ 30% โดยให้อาหารวันละ 1-2% ของน้ำหนักปลา นอกจากนี้ควรใช้แหนเป็ดเป็นอาหารสมทบอีกด้วย เพราะจะทำให้ปลาไม่อ้วน และมีไขมันมาก สำหรับปลาที่เลี้ยงไว้ทำพันธุ์ควรเป็นปลาอายุ 1-2 ปี น้ำหนัก 2-3 กก./ตัว

2. การเตรียมบ่อเพาะ บ่อที่ใช้เพาะอาจจะใช้บ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ก็ได้ ขนาดของบ่อประมาณ 50-200 ม.2 น้ำลึก 1.00 เมตร ขนาดของบ่อเพาะขึ้นอยู่กับจำนวนความมากน้อยของพ่อแม่ปลา ที่จะใช้เพาะแต่ละครั้ง

3. การเตรียมที่วางไข่ เนื่องจากปลาไนเป็นปลาที่ไข่ติดกับรากของพันธุ์ไม้น้ำในธรรมชาติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างวัสดุที่เหมาะสมสำหรับให้ไข่ปลายึดเกาะวัสดุที่ให้ไข่ปลายึดเกาะจะต้องเป็นวัสดุที่ไม่เน่าเปื่อยได้ง่าย เช่น สาหร่ายหางกระรอก นำมามัดเป็นกำด้วยเชือกตรงโคนประมาณกำละ 5-10 ต้น ความยาวของสาหร่ายแต่ละกำประมาณ 50 ซม.ใช้ไม้รวก 4 ลำ ประกอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ยาว 3-5 เมตร ผูกโยงด้วยเชือกเพื่อนำสาหร่ายที่ได้เตรียมไว้นำมาผูกกับเชือกดังกล่า ระยะห่างกันแต่ละกำประมาณ 30 ซม. จัดให้ส่วนปลายกำของสาหร่ายอยู่ในด้านวงเชือก พร้อมกับจัดแผ่สาหร่ายให้กระจายอยู่ต่ำกว่าผิวน้ำประมาณ 3-5 ซม. เมื่อได้ดำเนินการแล้วเสร็จเรียกว่าแพรังไข่ปลาไน 1 ชุด เพื่อสะดวกต่อปลาที่จะผสมพันธุ์และไข่ติดกับสาหร่ายดังกล่าว ส่วนจำนวนชุดของแพรังไข่จำนวนกี่ชุดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของบ่อเพาะ หรือจำนวนพ่อแม่ปลาที่ใช้เพาะแต่ละครั้งเป็นหลัก อนึ่งในท้องที่บางแห่งอาจไม่มีพันธุ์ไม้น้ำประเภทสาหร่ายดังกล่าว จะใช้เส้นใยของต้นจากที่ใช้ทำแซ่ปัดยุงหรือฝอยของกาบตาลแทนก็ได้ นอกจากนี้เชือกพลาสติกขนาดเล็กนำมาตัดให้ยาว 50 ซม. แล้วมัดเป็นกำใช้แทนสาหร่ายได้เช่นกัน รังไข่ปลาไนที่ทำด้วยเส้นใยและเชือกพลาสติก เมื่อไข่ปลาไนฟักเป็นตัวหมดแล้วก็ล้างทำความสะอาด ตากแดดแล้วเก็บไว้ใช้ต่อไปเป็นระยะเวลาหลายปี

4. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ พ่อแม่ปลาที่สมบูรณ์พร้อมที่จะวางไข่นั้นทำการตรวจสอบ โดยใช้มือบีบรีดที่ท้องเบาๆ ถ้าเป็นปลาตัวผู้ก็จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมาทางช่องเพศ ส่วนปลายตัวเมียจะมีไข่เคลื่อนออกมาจุกที่บริเวณช่องไข่ และมีไข่หลุดออกมาบ้าง นอกจากนี้ลักษณะของแม่ปลาที่ไข่จะแก่นั้นจะต้องมีท้องนิ่มและป่องออกมาทั้งสองข้างของลำตัว

5. อัตราส่วนเพศที่ปล่อยลงเพาะ ถ้าใช้ตัวเมียขนาดใหญ่น้ำหนักตัวละ 2-3 กก. ควรใช้ปลาตัวผู้ 2-3 ตัว น้ำหนักตัวละ 1-2 กก. สำหรับอายุของปลาในช่วงที่เหมาะในการเพาะ คือ อายุตั้งแต่ 1 1/2 -3 ปี

6. การผสมพันธุ์และวางไข่ บ่อที่ใช้เพาะปลาไนสามารถจะใช้บ่อดิน บ่อซีเมนต์ กระชัง คูน้ำ และร่องสวน โดยกั้นด้วยเชือกหรืออวนให้เป็นสัดส่วนพอเหมาะกับปริมาณของปลาที่จะใช้เพาะ ปัจจัยที่สำคัญก็คือต้องปรับปรุงสภาพของน้ำที่ใช้เพาะให้เป็นน้ำที่ปล่อยหรือสูบเข้ามาจากแหล่งน้ำธรรมชาติใหม่ๆ ถ้ามีฝนตกลงมาด้วยก็จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ปลาวางไข่มากขึ้น และจะต้องจัดเตรียมพันธุ์ไม้หรือวัสดุให้ปลาวางไข่เกาะติด เพื่อเคลื่อนย้ายน้ำเอาไปเพาะฟักในบ่ออื่นได้ โดยปกติเมื่อปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะในตอนเย็นวันรุ่งขึ้นปลาจะวางไข่ในระหว่างเวลาประมาณ 04.00-08.00 น.โดยปลาตัวผู้จะไล่ตัวเมีย คลอเคลียกันไปและรัดกัน พร้อมกับวางไข่และปล่อยน้ำเชื้อผสมกันภายนอกบริเวณพันธุ์ไม้น้ำ ไข่ปลาจะกระจายและยึดเกาะติดกับวัสดุที่ได้เตรียมไว้

7. ความดกของไข่และปริมาณที่วางไข่ แม่ปลาขนาด 1-2 กก. จะมีไข่ประมาณ 100,000- 400,000 ฟอง ส่วนปริมาณที่วางไข่แต่ละครั้งขึ้นอยู่กับขนาดของปลา โดยปกติถ้าเป็นแม่ปลาขนาดดังกล่าว จะวางไข่ครั้งละ 30,000-60,000 ฟอง ในช่วงเวลา 1 ปี จะวางไข่ได้ประมาณ 3-4 ครั้ง

8. การขนย้ายไข่นำไปเพาะฟัก เมื่อปลาหยุดวางไข่แล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงเริ่มทำการขนย้ายไข่ ทั้งนี้เพื่อให้ไข่ปลามีความต้านทานและเกาะติดกับวัสดุให้แน่นเสียก่อน ลำเลียงไข่โดย เช้ถังเปลหรือกะละมังพลาสติกขนาดใหญ่ใส่น้ำและแช่สาหร่ายหรือวัสดุที่ไข่เกาะติดใต้น้ำ และจะต้องระวังความร้อนจากแสงแดดด้วย สำหรับอุณหภูมิของน้ำในบ่อที่จะนำไข่ไปฟักควรมีระดับใกล้เคียงกันกับน้ำในบ่อเพาะฟัก โดยปกติบ่อที่ใช้ฟักไข่ปลานั้นจะใช้บ่ออนุบาลที่เตรียมการเพาะอาหารธรรมชาติไว้ล่วงหน้าแล้ว

การอนุบาลลูกปลา (ไน)

1. อนุบาลในบ่อดิน การเตรียมบ่อดินอนุบาลปฎิบัติเช่นเดียวกันกับการเตรียมบ่ออนุบาลลูกปลาจีนชนิด เฉา ลิ่น ซ่ง ไข่ปลาไนจะฟักเป็นตัวภายใน 48 ชั่วโมง ภายใต้อุณหภูมิของน้ำประ- มาณ 27 องศาเซลเซยส ในระยะเวลา 2-3 วัน ลูกปลาจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงของตัวเอง หลังจากนั้นจึงให้ไข่แดงจากไข่ไก่ต้มสุก ซึ่งปฎิบัติการเช่นเดียวกับปลาจีนชนิดอื่นๆ

2. อนุบาลในนาข้าว นาข้าวที่ใช้เลี้ยงปลาเมื่อได้กำจัดศัตรูต่างๆ และดำเนินการตามขั้นตอนของการเตรียมบ่ออนุบาลลูกปลาจีนแล้ว ก็สามารถจะใช้เป็นบ่อฟักไข่ และอนุบาลลูกปลาไนได้เป็นอย่างดี แต่ควรมีรั้วอวนมุ้งไนลอนสูงประมาณ 1 เมตร กั้นโดยรอบเพื่อป้องกันศัตรูจำพวกกบ เขียด และงู

3. บ่อซีเมนต์ ก็สามารถจะใช้เป็นบ่ออนุบาลลูกปลาได้เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นบ่อขนาดใหญ่ก็เตรียมการเพาะอาหารธรรมชาติไว้ในบ่อล่วงหน้า ถ้าเป็นบ่อขนาดเล็กเนื้อที่ประมาณ 5-20 ม.2 ก็ให้ไข่แดงและไรน้ำเป็นอาหารสมทบวันละ 3-4 ครั้ง ภายหลังจากถุงไข่แดงยุบ ควรมีเครื่องเป่าลมช่วย เพิ่มออกซิเจนช่วยด้วยจะสามารถเพิ่มความหนาแน่นของลูกปลาที่อนุบาลได้มาก และมีอัตราการรอดตายสูง

การเลี้ยง

ก่อนที่จะพิจารณาเลี้ยงปลาจีนโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะะต้องใช้ดุลพินิจข้อดีข้อเสียของการเลี้ยงปลาจีนเสียก่อน ทั้งในด้านชีววิทยา อาหารและปุ๋ยที่จะใช้ต้นทุน และผลผลิตที่จะได้ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่น ในด้านตลาด ซึ่งในปัจจุบันได้มีพ่อค้าคนกลางนำปลาจีน ที่ผลิตขึ้นได้จากฟาร์มเลี้ยงปลาบริเวณกรุงเทพฯ แช่น้ำแข็ง ลำเลียงโดยรถยนต์บรรทุกขึ้นไปจำหน่ายแทบทุกจังหวัดในภาคอีสาน เพราะสามารถจำหน่ายปลาจีนได้ราคาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 เท่าของราคาที่ซื้อจากฟาร์มปลาในกรุงเทพฯ อนึ่ง ปลาจีนชนิดเฉา ลิ่น และซ่ง ก็นิยมบริโภคกันในหมู่คนจีนเท่านั้น ความต้องการบริโภคจึงอยู่ในขีดจำกัด อย่างไรก็ตามข้อดีและข้อเสียในการเลี้ยงปลาจีนมีปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณา ดังนี้

ข้อดี ข้อเสีย
นิสัยในการกินอาหารสอดคล้องกับอาหาร รรมชาติที่มีในปอ โดยใช้หญ้าเป็นอาหารของปลาเฉา มูลของปลาเฉาและการใช้ปุ๋ยคอกก่อให้เกิดอาหารจำพวกแพลงก์ตอนเป็นประโยชน์ต่อปลาลิ่น ซ่ง และมีปลาไนกินอาหารตามก้นบ่อ

 

การเลี้ยงปลาแบบนี้ เป็นแบบดั้งเดิมที่ไม่เหมาะสม ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะได้ผลผลิตต่ำเพียงไร่ละ 300-500 กก. และหากจะเพิ่มผลผลิตโดยให้อาหารสมทบ เช่น รำ ปลายข้าว และกากถั่ว ก็มีผลตอบแทนน้อยกว่าการเลี้ยงปลาชนิดอื่น

 

โดยทั่วไป บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาจีนเป็นบ่อเก่าขนาดใหญ่ที่ขุดดินไปถมที่ การจัดการในเรื่องสูบน้ำ เข้า-ออกทำไม่ได้ จึงเป็นบ่อที่มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติแต่สามารถจะดำเนินการเลี้ยงปลาจีนได้ โดยปล่อยปลาขนาดใหญ่ 10-15 ซม. และจับปลาโตด้วยแหหรืออวน ข้อดีที่สำคัญก็คือปัญหาเรื่องทุนที่จะใช้ขุดบ่อ และจ่ายเงินลงทุนเป็นค่าเช่าบ่อประจำปีเท่านั้น

 

การเลี้ยงปลาจีนต้องใช้บ่อขนาดใหญ่ เนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป อัตราการปล่อยก็หนาแน่นไม่ได้ เพราะน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาจีนต้องมีคุณภาพดี มีปริมาณออกซิเจนสูง ส่วนการขุดบ่อขนาดใหญ่ก็ต้องใช้ทุนสูงไม่คุ้มค่าที่จะเลี้ยงปลาจีนแบบรวม

 

ปลาที่จำหน่ายได้ราคาดี ต้องเป็นปลาเป็นที่กรุงเทพฯ มีย่านตลาดเยาวราชเป็นศูนย์กลางของการจำหน่ายปลาจีน เพียงแห่งเดียว

 

การจำหน่ายปลาใหญ่ถ้าเป็นปลาตายราคาต่ำมากคือมีราคาเท่าๆ กับปลานิลหรือปลาสวาย บางทีราคาก็ต่ำกว่าอีกด้วย ทั้งนี้เพราะคนไทยไม่นิยมบริโภคปลาจีน

 

ปลาจีนเหมาะที่จะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีจำนวนมากนับล้านไร่ แหล่งน้ำดังกล่าวอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้น้ำซึ่งเป็นวัชพืช และก่อให้เกิดความตื้นเขินและเสื่อมโทรม ปลาเฉาจะกินวัชพืช ถ่ายมูลเป็นปุ๋ยแก่ปลาลิ่น ซ่ง และปลาอื่นๆ จะทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเป็นอาหารโปรตีนของประชาชน และอาชีพการประมงในภูมิภาคนี้

 

ปลาไนที่เลี้ยงในบ่อดิน มักจะใช้ปากชอนไชเชิงลาดของบ่อ ทำให้เกิดพังทลายของดิน

 

ปลาไนเป็นปลาที่เหมาะสมจะเลี้ยงในนาข้าว ซึ่งเกษตรกรในภูมิภาคนี้ยอมรับและนิยมประกอบอาหารพื้นเมืองได้หลายชนิด ปลาที่เลี้ยงในนาขนาด 10 ซม. ก็ใช้บริโภคได้ นอกจากนี้การเลี้ยงปลาในนาข้าวยังได้ผลดีทั้งปลาและข้าวเพิ่มปริมาณสูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในด้านการกำจัดวัชพืชและศัตรูของข้าวในนาอีกด้วย

 

ปลาไนชอบขุดคุ้ยพื้นดินบ่อทำให้น้ำขุ่นเป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของแพลงก์ตอนในบ่อปลา

 

  ปลาไนที่เลี้ยงในบ่อดินแบบเดี่ยวโดยให้อาหารสมทบ จะได้ผลผลิตต่ำ

 

 

เมื่อได้พิจารณาข้อดีและข้อเสียจากการที่จะพิจารณาเลี้ยงปลาจีนโดยทั่วไปแล้ว ก็พอสรุปเป็นแนวทางที่จะนำไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนา ทั้งในด้านของรัฐและเกษตรกร กล่าวคือ ในด้านของรัฐก็ควร ผลิตปลาจีน โดยเฉพาะปลาเฉาปล่อยลงในแหล่งน้ำให้มากขึ้น ส่วนในข้อดีของเกษตรกรก็ควรนำเอานิสัยในการกินอาหารของปลาจีนแต่ละชนิดไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการเพิ่มพูนผลผลิตปลาที่เลี้ยงแบบรวมในบ่อด้วยวิธีพัฒนา (Intensive culture) โดยพิจารณาปล่อยปลาแต่ละชนิดจำนวนมากน้อยสอดคล้องกับปริมาณอาหารที่มีอยู่ในบ่อที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์

การเลี้ยงปลาจีนแบบรวม ใช้บ่อขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป ปล่อยปลาเฉา ลิ่น ซ่ง และไน อัตราส่วน 7 : 2 : 2 :1 หรือ 2 :1:1:1 อัตราส่วนที่ปล่อย 4 ม.2/ปลา 1 ตัว สำหรับขนาดของปลาที่ปล่อย ถ้าเป็นบ่อขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถกำจัดศัตรูได้ก็ปล่อยปลาโตขนาด 10-15 ซม.โดยใช้หญ้าสดเป็นอาหาร และใส่ปุ๋ยเป็นหลัก การเลี้ยงปลาจีนแบบดั้งเดิมดังกล่าวนี้ ถ้าจะใช้พ่อแม่ปลาในการเพาะผสมเทียม ควรให้อาหารสมทบ เช่น กากถั่วสิสงแช่น้ำ 1 คืน หรืออาหารผสมมีปลายข้าว รำ และปลาป่น มีอัตราส่วนของโปรตีน 30% ให้วันละ 1-2% ของน้ำหนักปลาด้วย

การเลี้ยงปลาจีนในคอก ซึ่งอาจจะทำได้โดยเลือกที่ในแหล่งน้ำที่เป็นอ่าว มีความลึกของน้ำ ในระดับ 3-5 เมตร (ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มีมากกว่า 60 แห่งที่เหมาะสม) และในที่ดังกล่าวควรมีระดับน้ำตํ่าสุดประจำปีประมาณ 1 1/2 เมตร หรือทำการกั้นคอกในบริเวณชายฝั่งที่มีกันลมพายุได้ ขนาดของคอกควรมีพื้นที่ประมาณ 200-1,600 ม.2 เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยใช้อวนพลาสติกขนาดช่องตาประมาณ 2.5-5 ซม. ตามขนาดของปลาที่จะเลี้ยง ใช้เสากระทู้ไม้ไผ่หรือไม้จริงปักเป็นหลักห่างกันประมาณ 3 เมตร แล้วใช้ไม้ไผ่ผูกติดยึดตรึงให้แน่นเพื่อใช้เป็นโครงยึดเนื้ออวน

ปลาจีนที่ปล่อยลงเลี้ยงควรใช้ปลาเฉาเป็นหลัก เพราะในแหล่งน้ำต่างๆ มีพันธุ์ไม้น้ำที่นำมาใช้เป็นอาหารได้มากมาย และขนาดของปลาเฉาที่ปล่อยเลี้ยงควรมีขนาดไม่ต่ำกว่า 15 ซม.เพราะปลาขนาดดังกล่าว มีฟันที่คอหอยที่สมบูรณ์พอที่จะบดตัดหญ้า หรือวัชพืชน้ำได้ ส่วนปลาชนิดอื่นๆ เช่น ลิ่น ซ่ง และไน ควรปล่อยรวมกันประมาณ 30% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติที่เหมาะสมกับนิสัยของปลาแต่ละชนิด สำหรับอัตราส่วนที่ปล่อยต่อพื้นที่ประมาณ 1-2 ตัว/ม.2

การเลี้ยงปลาจีนแบบรวมและพัฒนา ปัจจุบันเป็นที่นิยมและได้ผลดีในการเพิ่มผลผลิตของปลาในบ่อที่เลี้ยงปลาแบบรวมโดยใช้ปลาจีนเลี้ยงรวมด้วย เพื่อใช้ประโยชน์จากอาหารที่มีเหลือในบ่อ เช่น หญ้าหรือวัชพืชน้ำ แพลงก์ตอน ตัวอ่อนของแมลง ฯลฯ ตัวอย่างได้แก่ การเลี้ยงปลาสวายในบ่อร่วมกับปลานิล โดยใช้เศษอาหารเหลือจากภัตตาคาร ในการนี้จะปล่อยปลาเฉา ลิ่น ซ่ง และไน เพิ่มขึ้นอีกไร่ละประมาณ 20 ตัว นอกจากนี้ยังใช้ลูกปลาช่อนหรือปลาบู่อีกไร่ละ 20 ตัว เพื่อควบคุมประชากรของปลานิล ทั้งนี้เมื่อรวมลูกปลาทั้งหมดที่จะปล่อยประมาณ 5 ตัว/1 ม.2 และดำเนินการเลี้ยงแบบพัฒนา โดยมีการจัดการที่ดีในด้านอาหารปลา การรักษาคุณสมบัติของน้ำในบ่อ ตลอดจนการคัดเลือกจับปลาที่มีขนาดใหญ่จำหน่าย และการปรับปรุงบ่อภายหลังที่ใช้เลี้ยงปลามาแล้วในระยะ 1 ปี ผลผลิตของปลาโดยการเลี้ยงปลา แบบรวมดังกล่าวนี้จะได้ประมาณ 1,000-2,000 กก./ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาและสถานที่ตั้งของบ่อที่อยู่ในทำเลที่ดี เช่น อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง สามารถสูบน้ำถ่ายเทได้สะดวกทุกฤดูกาล

การเลี้ยงปลาไน  ปลาไนนอกจากจะใช้เลี้ยงรวมกับปลาจีนชนิดอื่นในบ่อดังกล่าวแล้ว ปลาชนิดนี้ยังสามารถที่จะเลี้ยงแบบเดี่ยวได้ดีทั้งในนา บ่อน้ำไหล (Race Way) และในกระชัง เพราะปลาชนิดนี้สามารถปรับปรุงตัวเองได้ดีทุกสภาวะแวดล้อม คือ เป็นปลาที่อดทน แข็งแรง กินอาหารได้แทบทุกชนิด (Omnivorus) ในอดีตกรมประมงได้เคยปรับปรุงพันธุ์ปลาไนหลายครั้ง โดยสั่งปลาไนชนิดที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงในนาและในบ่อ คือ Sijonya และ Punten Carps จากประเทศอินโดนีเซีย และ Israeli Carps จากประเทศอิสราเอล บัดนี้ ปลาไนดังกล่าวได้ผสมพันธุ์กับปลาไนพื้นเมืองที่นำเข้ามาจากประเทศจีน และกลายพันธุ์ไปหมดสิ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พันธุ์ปลาที่มีอยู่ก็นับว่าพอใช้เป็นพันธุ์หลักได้ ถ้าได้มีการปรับปรุงพันธุ์โดยคัดปลาไนที่โตเร็ว และใช้ปลาขนาด 2-3 กก.เป็นพ่อแม่ในการเพาะ และในอนาคตควรมีแผนการปรับปรุงพันธุ์ปลาชนิดนี้ในด้านพันธุกรรมด้วย

การเลี้ยงปลาไนในนาข้าว

การเลี้ยงปลาไนในบ่อน้ำไหล ในประเทศไทยยังไม่มีการเลี้ยงปลาไนด้วยวิธีดังกล่าวนี้ แต่สามารถจะดัดแปลงเอาวิธีการเลี้ยงปลาชนิดนี้มาใช้ได้ในประเทศไทยในบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำที่มีการชลประทานแบบ gravity flow คือทำบ่อคอนกรีตหรือบ่อที่เรียงหินยาแนวกว้างประมาณ 5-6 เมตร ลึก 2 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร พื้นก้นบ่อเทคอนกรีต ถ้าเลือกที่ได้บริเวณพื้นก้นบ่อเป็นหินก็ไม่ต้องเทคอนกรีต สร้างประตูอัตโนมัติชักน้ำเข้าบ่อดังกล่าวทางหัวบ่อ และประตูปล่อยน้ำทิ้งทางท้ายบ่อ ปล่อยให้น้ำไหลเข้า บ่อได้ระดับ 2 เมตร และปล่อยทิ้ง ทำให้เกิดกระแสน้ำไหลช้าๆ ตลอดเวลา บ่อดังกล่าวนี้เหมาะที่จะใช้ขุนเลี้ยงปลาไนขนาด 10-15 ซม. โดยใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูง 30% วันละ 5-6 ครั้ง อัตราส่วนที่ปล่อย 100-200 ตัว/ม.2 ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน ปลาจะโตขึ้นมีขนาดตัวละประมาณ 1 กก. ปลาไนที่เลี้ยงด้วยวิธีนี้จะได้ผลผลิตสูง เพราะคุณภาพของน้ำดีมีออกซิเจนประมาณ 5 ppm. ตลอดระยะ เวลาการเลี้ยง ประกอบกับใช้ปลาไนขนาดวัยรุ่น (juvenile) และอาหารดี ดังนั้น การเลี้ยงจึงใช้เวลาช่วงสั้น แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องตลาดที่จะจำหน่ายปลา ตลอดจนการลงทุน ค่าอาหารปลา และต้องใช้ปริมาณน้ำมาก

การเลี้ยงปลาไนในกระชัง กระชังที่ใช้เลี้ยงปลาควรใช้เนื้ออวนพลาสติก ขนาดกว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 5 เมตร ลึก 1.50 เมตร ช่องตาประมาณ 2.5 ซม. ปลาไนที่ใช้เลี้ยงควรเป็นปลาที่มีขนาด 6-7 ซม. อัตราที่ปล่อยประมาณ 100 ตัว/ม.2 และต้องใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูป อาหารที่ใช้วันละ 5-6 ครั้ง โดยให้แต่น้อยและบ่อยครั้ง จะทำให้ปลาที่เลี้ยงแข็งแรง ปราดเปรียว และกินอาหารดี ปลาไนถึง แม้ว่าจะเลี้ยงในกระชังได้ แต่ก็ต้องใคร่ครวญเกี่ยวกับด้านลงทุนและปัญหาเรื่องตลาด เพราะปลาไนจำหน่ายได้ราคาไม่สูง และความต้องการของตลาดมีน้อย