การเลี้ยงไก่

ก. การเลี้ยงไก่เนื้อ (ไก่กระทง) ไก่กระทง คือ ไก่เนื้อที่เลี้ยงไว้เพียง 8-10 อาทิตย์ ก็ขาย และมีน้ำหนักประมาณ 1-1.2 กก.

1. การเริ่มต้น ในขณะนี้มีบริษัทใหญ่ๆ ทำการผลิตลูกไก่กระทงออกมาสู่ตลาด มากมายหลายบริษัท เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ แหลมทองสหการ ศรีไทยปศุสัตว์ เซ็นตาโก ฯลฯ บริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้ทำสัญญาส่งลูกไก่ อาหาร ยา และการตลาดไว้แก่ผู้เลี้ยงไก่ ดังนั้นผู้เลี้ยงไก่จำนวนมากจึงไปรับลูกไก่จากบริษัทหรือตัวแทนในอำเภอต่าง ๆ เมื่อไก่โตได้ขนาด ทางบริษัทก็ส่งรถมารับไปจากฟาร์ม จึงนับว่าเป็นความสะดวกวิธีหนึ่ง

นอกจากนั้นผู้เลี้ยงอาจซื้อลูกไก่มาเลี้ยงและหาตลาดเอาเอง         หรือจะฟักและเลี้ยงไก่เนื้อเองก็ได้

2. พันธุ์ไก่ที่ควรเลี้ยง ไดแก่พันธุ์คอร์นิช ไว้ท์ร๊อค  และลูกไก่ผสมต่าง ๆ เช่น ไฮ-ไลน์, อาร์เบอร์, เอเคอร์, พิลช์, คอบ, ฮับบาร์ด, เชฟเวอร์ ฯลฯ

3. โรงเรือนและอุปกรณ์ โรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้ออาจทำเองจากวัสดุท้องถิ่นใช้ หลังคามุงจากหรือมุงซิเหร็ง ถ้าจะทำให้ถาวรควรจะใช้หลังคามุงสังกะสี หรือมุงกระเบื้อง พื้นอาจเป็นดินอัดแน่น หรือเทพื้นคอนกรีตก็ได้ ขนาคของโรงเรือนอาจกว้าง 6-10 เมตร ยาวตามใจชอบ และจะต้องมีฝาไม้ไผ่ ไม้รวก จากและตาข่ายที่สามารถป้องกันแมว  สุนัข หนู งู เหยี่ยว ฯลฯ ได้ วัตถุรองพื้นควรใช้ขี้กบ หรือขี้เลื่อย แกลบ หรือฟาง

การเลี้ยงไก่กระทง อาจเลี้ยงแบบปล่อยลาน ขังเล้า หรือขังกรงรวมก็ได้ แต่ที่นิยมทำกันมาก คือเลี้ยงแบบปล่อยลาน หรือขังเล้ารวมกันเป็นจำนวนมาก ๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงไก่กระทงได้แก่  เครื่องกกลูกไก่ (แบบฝาชี ใช้ไฟฟ้า ตะเกียง) รางน้ำและรางอาหาร รางอาหารอาจเป็นถาด รางไม้ รางโลหะ หรือพลาสติคและอาจจะใช้แบบตั้งงหรือแขวนก็ได้

4. การเลี้ยงดูและการให้อาหาร เมื่อลูกไก่มาถึงใหม่ ๆ จะต้องใหความร้อน เพิ่มเติม อุณหภูมิของเครื่องกกในอาทิตย์ที่ 1-4 ควรลดลงจาก 95-90-85-80 องศาฟาเรนไฮต์ และเลิกกกเมื่อสิ้นอาทิตย์ที่ 4

อาหารสำหรับไก่กระทง อาจใช้อาหารสำเร็จรูปของบริษัทต่าง ๆ หรือจะผสมขึ้นใช้เอง แต่อย่างไรก็ดีเราจะต้องเลือกอาหารและเปอร์เซ็นต์โปรตีนให้เหมาะกับอายุของลูกไก่ โดยในอาทิตย์แรกลูกไก่ควรจะได้รับอาหารที่มีโปรตีน 20% แล้วค่อย ๆ ลดจำนวนโปรตีนลงเหลือ 15-16% ในระยะขนส่งตลาด อนึ่งการเลี้ยงไก่กระทง เราควรให้ไก่ได้กินกรวดบ้าง โดยใช้กรวดหรือทรายเม็ดใหญ่ใส่ภาชนะให้ไก่กิน ระหว่าง 0-30 วันหลังจากนั้นจึงหยุด แสงสว่างก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไก่กระทง เราควรเปิดไฟเพื่อเร่งให้ไก่กินอาหารโดยในระยะ 3 อาทิตย์แรก อาจใช้ไฟขนาด 60 แรง และหลังจากนั้นใช้ไฟขนาด 15 แรงเทียนตามให้สว่างทั่วทั้งคอก

ข. การเลี้ยงไก่ไข่

1. การเริ่มต้น การเลี้ยงไก่ไข่อาจเริ่มต้นด้วย การซื้อลูกไก่พันธุ์ดีมาเลี้ยง หรือเริ่มจากไก่สาวหรือจะซื้อไข่ที่ผสมแล้วมาฟักเอาเองก็ได้ แต่ที่นิยมกันมาก คือการซื้อลูกไก่พันธุ์ ไข่จากฟาร์มและบริษัทต่าง ๆ มาเลี้ยง

2. พันธุ์ไก่ไข่ ได้เเก่พันธุ์ไก่โรดสีแดง ไก่บาร์ นิวแฮมป์เชียร์ ฮาร์โก เชฟ เวอร์ ฯลฯ ซึ่งให้เปลือกไข่สีน้ำตาล และไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาว ซึ่งให้เปลือกไข่สีขาว

3. การฟักไข่ ไข่ไก่จะฟักออกเป็นตัวใน 21 วัน และในการฟักไข่อาจทำได้หลายวิธี เช่น วิธีธรรมชาติ โดยการให้เเม่ไก่ฟักเอง (ได้ 10-16 ฟอง) และวิธีฟักเทียม โดยใช้เครื่องฟักแบบน้ำร้อน หรือเครื่องฟักแบบไฟฟ้า ตามหลักการฟักไข่ในอาทิตย์แรกจะใช้อุณหภูมิ 102.5 องศาฟาเรนไฮต์ อาทิตย์ที่สอง 101 อาศาฟาเรนไฮต์ อาทิตย์ที่สาม 100 องศาฟาเรนไฮต์และควรมีความชื้นสัมพัทธ์ 60% แต่การใช้เครื่องฟักไฟฟ้าแบบถาดเดี่ยว จะมีลวดร้อนแต่ไม่มีพัดลม อุณหภูมิจะตั้งไว้คงที่ที่ 101 องศาฟาเรนไฮต์ตลอดเวลา ถ้าเป็นชนิดตู้มีถาดหลายชั้นจะต้องมีพัดลมด้วย ตั้งอุณหภูมิไว้ระหว่าง 99.5-100 องศาฟาเรนไฮต์

ในการฟักไข่ เราจะต้องเลือกไข่ที่มีเชื้อ คือต้องมาจากฝูงที่มีการผสมพันธุ์เป็นประจำ ไข่ต้องมาจากฝูงที่ปลอดโรคขี้ขาว ขนาดไม่โตหรือเล็กเกินไป รูปทรงเป็นรูปไข่สม่ำเสมอ และในการฟักไข่ เราจะต้องทำการกลับไข่วันละ 3-5 ครั้ง นับจากวันที่ 2 ถึงวันที่ 18 หลังจากนั้นต้องหยุดกลับไข่ การส่องไข่เพื่อดูว่าไข่มีเชื้อหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำในช่วงวันที่ 7 และวันที่ 14

4. การเลี้ยงดูลูกไก่อ่อน เมื่อลูกไก่ออกจากไข่และขนแห้งแล้ว ก็รีบนำไปเข้าเครื่องกก เครื่องกกที่นิยมใช้กันมากคือเครื่องกกแบบฝาชี ซึ่งมีหลอดไฟอยู่ 2-3 ดวง และมีกระเปาะสำหรับขังลูกไก่ให้อยู่ในเครื่องกก เครื่องกกเครื่องหนึ่งควรใส่ลูกไก่ประมาณ 350 ตัว และต้องมีรางนํ้า รางอาหาร เพื่อหัดให้ลูกไก่กินน้ำตั้งแต่เริ่มอยู่ในเครื่องกก ตามปกติลูกไก่ ยังมีอาหารสำรองอยู่ในท้อง ดังนั้นในวันแรกลูกไก่จะยังไม่กินอาหารแต่ต้องจัดเตรียมน้ำไว้ให้ เพียงพอ ขึ้นวันที่ 2 จึงเริ่มให้อาหาร อาหารที่ให้อาจเป็นอาหารถุงสำเร็จรูป หรืออาหารที่ผสมเองก็ได้ อาหารไก่ในระยะต่าง ๆ ควรมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนดังนี้

5. การเลี้ยงดูไก่รุ่นและไก่สาว ตามปกติเราจะต้องฉีดวัคซีนให้แก่ลูกไก่ตามตารางที่สัตวแพทย์แนะนำ และเมื่อลูกไก่โตข้น ก็อาจจะเลี้ยงแยกเป็นฝูง ๆ โดยจะเลี้ยงแบบปล่อย รวมเป็นคอก ๆ หรือขังกรงรวมยกพื้นก็ได้ ไก่รุ่นไก่สาวมักจะเลี้ยงรวมกัน และจะต้องระวังอย่าให้ไก่จิกกัน บางคนนิยมตัดปากไก่ด้วย แต่ลูกไก่ยังเล็กเพื่อป้องกันโรคจิกกัน แต่การให้ไก่กินผัก กรวด ทราย และเพิ่มธาตุเกลือจะสามารถลดอันตรายจากโรคจิกกันได้

6. การเลี้ยงดูไก่ไข่ ไก่สาวเมื่ออายุได้ 5.1/2-6 เดือนก็จะเริ่มไข่ โดยไม่จำเป็นต้องมีการผสมกับไก่ตัวผู้ ไข่ที่ได้เรียกว่าไข่ลม ไก่พันธุ์หนัก เช่น ไก่โรด บาร์ ฮาร์โก จะเริ่มไข่ เมื่ออายุได้ 6 เดือน การเลี้ยงในตอนนี้อาจเลี้ยงแบบปล่อยลานในคอก ขังรวมเป็นเล้า ๆ หรือ ขังเดี่ยวในกรงตับ ก่อนที่จะขึ้นกรงตับควรเลือกไก่ที่มีลักษณะดีไว้ แล้วทำการถ่ายพยาธิ อาบน้ำหรือโรยยาฆ่าพวกเหาไรให้หมด

อาหารสำหรับไก่ไข่ อาจเป็นอาหารป่นผสมหรือาหารอัดเม็ดและอาจใช้อาหารสำเร็จรูปของบริษัท หรือจะผสมเองก็ได้ แต่ควรจะมีโปรตีน 15-16% มีแร่ธาตุและไวตามินพร้อมแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างมากในระยะนี้ คือธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และไวตามินดี การให้อาหาร ควรให้วันละ 2 ครั้ง คือตอนเช้าและตอนบ่าย ไก่ไข่จะกินอาหารประมาณตัวละ 90-130 กรัมต่อวัน นํ้าจะต้องมีเพียงพอตลอดเวลา รางน้ำสำหรับการเลี้ยงแบบกรงตับควรเป็นรางพลาสติคหรือรางเหล็กฉาก 3 เหลี่ยม วางไว้หน้ากรง และปล่อยน้ำให้ไหลอยู่ตลอดเวลา ไก่จะออกไข่ตอนเวลาหัวรุ่ง ตอนเช้า หรืออย่างช้าไม่เกินบ่าย 3 โมง ไก่ตัวใดที่ไม่ไข่ในระหว่าง 2-4 โมง ก็จะงดไข่ในวันนั้น

การเลือกแม่ไก่ไว้ทำพันธุ์ ต้องดูสถิติการไข่โดยดูตับไข่ ถ้าไก่มีตับไข่ถี่ เช่น ไข่ติดกัน 5-6 วัน หยุด 1 ครั้ง แสดงว่าเป็นไก่ไข่ดก ถ้าไก่ตัวใดไข่วันเว้นวัน แสดงว่าใน 1 ปี จะไข่ได้ประมาณ 150-180 ฟองเท่านั้น ไก่ที่ไข่ดกควรไข่ได้ 300 ฟองขึ้นไป และฟองไข่ก็ไม่เล็กเกินไป การคัดไข่เลวออกจากฝูงทำได้ยากกว่าไก่ในกรงตับ แต่เราก็มีวีธีตรวจหาไก่เลว และไก่ไข่ดกได้ดังนี้

6.1 ดูหงอนและตุ้มหู แม่ไก่ที่ให้ไข่จะมีหงอนและตุ้มหูสีแดงเป็นมันและเต่งใหญ่ ถ้าหงอนซีดและแห้งแสดงว่าไม่ไข่

6.2 ดูก้น แม่ไก่ที่ไข่จะมีก้นถ่างกว้าง รูปรี มีสีขาวน้ำ ตัวที่ไม่ไข่ก้นจะหด เหี่ยว ขนาดเล็กและมีสีเหลือง

6.3 ดูผิวและขน แม่ไก่ที่ไข่ดีผิวหนังบริเวณท้องจะหย่อน หลวมและอ่อนนุ่ม ขนไม่สวยและดูรุงรัง

6.4 ดูกระดูกก้นกบ แม่ไก่ที่ไข่ดีจะมีช่องว่างระหว่างกระดูกก้นกบ หรือช่องว่างระหว่างกระดูกก้นกบกับกระดูกอกกว้างและห่างกันมาก ส่วนตัวที่ไม่ ไข่กระดูกก้นกบแคบ

7. การผสมพันธุ์ไก่ อาจใช้วิธีผสมแบบฝูงใหญ่คือใช้พ่อหลายตัวต่อแม่หลายตัว (10 ต่อ 100) หรือผสมแบบฝูงเดี่ยว คือใช้พ่อ 1 ตัวคุมฝูงตัวเมีย 10-15 ตัว หรือจะใช้วิธีการผสมเทียม (ส่วนมากใช้กับไก่ขังกรง) ถ้าแม่ไก่ได้รับการผสมแล้ว ไข่ฟองแรกหลังการผสม 24 ช.ม. จะเป็นไข่ที่มีเชื้อ แต่ถ้าผสมไก่เป็นฝูงควรปล่อยตัวผู้ให้ลงคุมฝูงสัก 7 วัน จึงจะเก็บไข่ไปฟัก และเมื่อเอาไก่ตัวผู้ออกจากฝูง ไข่ก็ยังมีเชื้อต่อไปอีก 6-7 วัน บางทีอาจนานถึง 21 วัน

หลักการป้องกันกำจัดโรคและพยาธิเป็ดไก่

1. โรคนิวคาสเซิล

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส มีระยะฟักตัว 5-6 วัน ระบาดโดยทางน้ำ อาหาร และทางอากาศ

อาการ ไก่เล็กจะไอหรือจาม อ้าปากหายใจ ปีกตก หงอย ซึม คอบิด หมุนตัว ตัวสั่น ชักกระตุก ไก่เดินหงายคอ เดินเป็นวงกลม ขาเป็นอัมพาตข้างเดียวหรือสองข้าง และตาย ไก่ใหญ่ จะไอ มีเสียงครางในคอ ไข่ลด และเปลือกอ่อน เบื่ออาหาร หงอย ซึม ระบบประสาทและการทรงตัวเสีย คอบิดเบี้ยว ปีกตก แต่ไม่รุนแรงนัก ท้องเดิน อุจจาระเหลวและมักมีสีเขียว ทำให้ไก่อ่อนเพลีย เสียน้ำมากและตาย

การรักษา ไม่มี  หากพบไก่ป่วยควรทำลายโดยการฝัง หรือเผาเสีย ห้ามนำเนื้อไก่มากิน เพราะโรคนี้ติดต่อถึงคนได้

การป้องกัน ฉีดวัคซีนให้กับไก่ดังนี้

ก.  วัคซีนสะเตรนเอฟ  ใช้หยอดจมูกหรือตาของลูกไก่ตั้งแต่ 1-5 วัน และควรหยอดจมูกซ้ำ เมื่อลูกไก่อายุได้ 28 วัน วัคซีนชนิดนี้ให้ภูมิคุ้มโรคได้เพียง 6 เดือน  ดังนั้นจึงควรทำวัคซีนสะเตรนเอฟทุก ๆ 6 เดือน

ข.  วัคซีนสะเตรน เอ็ม. พี. ใช้กับไก่อายุ 3 เดือน ขึ้นไปโดยใช้เข็มจุ่มวัคซีนแทงที่ผนังปีกด้านใน วัคซีนชนิดนี้ให้ความคุ้มโรคได้ 1 ปี  ดังนั้นถ้าใช้วัคซีนชนิดนี้จะต้องปลูกวัคซีนซ้ำทุก ๆ 1 ปี

หมายเหตุ ขณะให้วัคซีน อย่าให้ไก่ถูกลมโกรก และควรให้น้ำมันตับปลาบ้าง เพื่อเมความต้านทาน

2.  โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่ติดต่อร้ายแรงของไก่ และสัตว์ปีกหลายชนิด

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส มีที่สำคัญ 4 ชนิดคือ เชื้อโรคฝีดาษไก่ นกพิราบ ไก่งวง และนกคีรีบูน โรคนี้มีระยะฟักตัว 4-14 วันมียุงเป็นพาหนะนำโรคที่สำคัญมาก

อาการ โรคนี้เป็นมากที่ผิวหนัง และในลำคอ จะสังเกตุเห็นจุดน้ำใส ๆ สีเทาพุพอง นูนขึ้นมาบนหงอนและเหนียง จุดน้ำพุพองนี้จะแห้งกลายเป็นสะเก็ดสีน้ำตาล  หากแกะดูจะมีเลือดไหลออกมา แผลพุพองนี้จะเกิดอยู่ 2-3 แห่ง หรืออาจอยู่เต็มบริเวณหน้าหงอน เหนียง ตุ้มหู มุมปาก เปลือกตา และอาจทำให้ตาปิดข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง ถ้าไก่เป็นโรคอย่างหนัก จะหงอย ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไข่ลดและหยุดไข่

อาการของฝีดาษที่เป็นในลำคอนั้น ภายในปากและลำคอจะมีเยื่อเมือกสีเหลืองเป็นแผ่นฝ้าซึ่งเกิดจากเนื้อตาย  ถ้าดึงให้หลุดจะมีเลือดออกมา  ยิ่งนานเข้าเยื่อเมือกจะโตขึ้น ๆ ทำให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงครืดคราด กินอาหารไม่สะดวก ร่างกายซูบผอม บางครั้งอาจเป็นที่นัยตาด้วย คือ ตาจะอักเสบ มีน้ำตาไหล ต่อมาจะมีขี้ตาเกรอะกรัง

การป้องกันและการรักษาโรค

ก.  ช่วยลอกเยื่อที่ติดแน่นในลำคอออก ทาแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน หรือยาแดง

ข.  ทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่  เมื่อไก่มีอายุตั้งแต่ 1-4 สัปดาห์  โดยใช้เหล็กแหลมจุ่มวัคซีนแทงที่ผนังปีกด้านในอีก 7-10 วัน  ถ้าพบว่ามีตุ่มขึ้นที่รอยแทงก็แสดงว่าวัคซีนนี้ใช้ได้  ไก่ที่ทำวัคซีนแล้วจะมีภูมิคุ้มโรคไปตลอดชีวิต

ค.  แกะสะเก็ดฝีดาษออก  แต้มแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน หรือเกลือเงิน

ง.  หาวีไล่ยุงและพาหะอื่น ๆ

3.  โรคอหิวาต์ไก่

เป็นดรคร้ายแรงของไก่ และสัตว์ปีกอื่น ๆ เช่น เป็ด ห่าน ไก่งวง นกพิราบ

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีระยะฟักตัว 2-4 วัน

อาการ ถ้าเป็นมากไก่จะตายอย่างฉับพลัน มีดลหิตออกตามอวัยวะภายใน และแสดงอาการลงท้องอย่างแรง ในรายที่ไม่ร้ายแรง ไก่จะป่วย แยกตัวจากฝูง ปีกตก ไม่กินอาหารและน้ำ หงอน เหนียง ตุ้มหูซีด มีน้ำมูก น้ำตา น้ำลายไหลฟูมปาก ท้องเดินอย่างแรง อุจจาระมีสีเหลือง ต่อมามีสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นจัด ไก่มีไข้สูง ขนหยอง ไก่อาจตายหลังจากเป็นโรค 1-3 วัน  ถ้าไม่ร้ายแรงจะเป็นโรคอยู่ 7-10 วัน ในรายที่เป็นอย่างเรื้อรัง ไก่จะท้องเดิน อ่อนเพลีย ข้อบวม เดินลำบาก และอาจตายหลังจากนั้นเป็นอาทิตย์ ๆ

การป้องกันและรักษา

ในการป้องกันโรค  ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ไก่ ทุก ๆ 6 เดือน โดยฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ (โคนขา หน้าอก) เมื่อไก่อายุได้ 1 เดือนขึ้นไป เมื่อพบไก่เป็นโรคต้องรีบแยกตัวอื่น ๆ ไปเลี้ยงต่างหากแล้วทำความสะอาดเล้าด้วยยาฆ่าเชื้อ เอาสัตว์ตายไปเผาเสีย  สัตว์ที่นำมาใหม่ต้องเลี้ยงกักไว้ต่างหาก 2 อาทิตย์ ก่อนนำเข้าฝูง

การรักษา  ใช้ยาจำพวกซัลฟาและยาปฏิชีวนะ ในระยะที่สัตว์เริ่มเป็นโรค

4.  โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ

เป็นโรคทางระบบหายใจ ทำให้อัตราการตายสูง และทำให้ไข่ลด

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส  ที่สามารถอยู่ในหลอดลมของไก่ที่ตายแล้ว ถึง 24 ช.ม.  แต่ไวรัสตายได้ง่ายเมื่อถูกน้ำยาฆ่าเชื้อ

อาการและสภาพพิการ

1.  เยื่อตาอักเสบ มีน้ำตาน้ำมูกไหล ไอ จาม กรน

2.  ไก่แสดงอาการยืดคอหายใจ หายใจมีเสียงและเสมหะในคอ อ้าปากหายใจส่งเสียงดัง

3.  มีเสมหะปนมากับโลหิตจากลำคอติดตามกรงตับหรือโรงเรือน

4.  ไก่หน้าเขียวคล้ำ ซากไก่มีโลหิตและเสมหะเกรอะกรังภายในหลอดคอ ปากและจงอยปาก

ไก่ตายเพราะหายใจไม่ออก เนื่องจากมีเสมหะ โลหิต มาคั่งอยู่ในกล่องเสียงและหลอดลม โดยเฉลี่ยจะตายราว 13-14% และทำให้ไข่ลด 12-60%

การป้องกันและรักษา

การรักษา ไม่มียารักษา

การป้องกัน

1.  ทำวัคซีนป้องกันโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อให้กับไก่  โดยเอาวัคซีนละลายน้ำเกลือ แล้วใช้แปรงอ่อน ๆ หรือไม้พันสำลีชุบวัคซีนทาที่ก้นไก่ หลังจากนั้น 4-5 วัน ถ้าพบว่าก้นบวมแดง  แสดงว่ามีภูมิคุ้มโรคเกิดขึ้นแล้วและคุ้มโรคได้ 1 ปี  ถ้าก้นไม่บวมแดงต้องทำใหม่

2.  ทำความสะอาดเล้าและอุปกรณ์ด้วยยาฆ่าเชื้อ และไม่ควรนำไก่ที่เป็นพาหะของโรคจากฝูงอื่น ๆ เข้ามา

5.  โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ

เป็นโรคที่รุนแรงมากในลูกไก่

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส ที่ระบาดเร็ว มีระยะฟักตัวสั้น (1-2 วัน)

อาการและสภาพพิการ

1.  โรคแพร่ไปทั่วฝูง  และระบาดรวดเร็วมาก มีระยะเป็นโรคอยู่ราว 7-14 วัน

2.  ไก่เล็ก จะอ้าปากหายใจ  หายใจเร็ว และมีเสียงดังในคอ ไก่แสดงอาการจามและมีน้ำมูกไหล บางครั้งตาแฉะ หน้าบวมและมีอาการชัก ลูกไก่เล็กอาจตายสูงถึง 90%

3.  ไก่รุ่นและไก่ใหญ่ จะอ้าปากหายใจ ไอ และจาม และส่งเสียงร้องดัง หรือได้ยินเสียงวี๊ด ๆ เวลาไก่หายใจ ไก่ไข่จะเบื่ออาหาร ไข่ลด ไข่มีรูปผิดปกติเปลือกบางและขรุขระ สีของเปลือกอ่อนลง และไข่ขาวเหลวเป็นน้ำ

4.  ซากไก่มีน้ำเมือกคั่งในหลอดลมเล็กในปอด  และตอนล่างของหลอดลมใหญ่ ปอดมีสีแดงเข้ม อาจมีน้ำในปอดและหนองข้นอุดหลอดลม จึงหายใจไม่ออก

การป้องกันและรักษา

การรักษา ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ

การป้องกัน

1.   ทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบให้ไก่

2.  ทำความสะอาดโรงเรือน

3.  แยกตู้ฟักออกจากตู้เกิดและควรนำลูกไก่ไปกกต่างหาก

4.  ถ้าพบโรคระบาดในลูกไก่ชุดใด อาจทำลายทิ้งให้หมด แล้วทำความสะอาดอุปกรณ์โรงเรือนให้ทั่ว

6.  โรคหวัดติดต่อ

สาเหตุ เกิดจากเชื้อเฮโมฟิลัส แกลลินนารั่ม

อาการ โรคแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และเป็นกับไก่ทุกอายุ ไก่มีน้ำมูกไหล แสดงอาการหน้าบวมและมีน้ำตาไหล ไก่ตายน้อย แต่ทำให้ไก่ชงักการเจริญเติบโต ไข่ลด หยุดไข่ หรือเปอร์เซ็นต์ไข่ดก

การป้องกันและรักษา

ใช้ยาซัลฟา หรือซัลฟาควบคู่กับยาปฏิชีวนะ เช่น ยาซัลฟาไทอาโซลและปฏิชีวนะ พวกอ๊อกซีเตตร้าไซคลิน คลอเตตร้าไซคลิน หรือไดไอโดรสเตร๊ปโตมัยซิน ทุกครั้งที่รักษาควรละลายไวตามินให้ไก่กินด้วย

7.  โรคระบบหายใจเรื้อรัง (ซี.อาร์.ดี)

เป็นโรคของระบบทางเดินของลมหายใจของไก่และไก่งวง

สาเหตุ  เกิดจากเชื้อ มัยโคพลาสมา แกลลินารั่ม (แกลลิเซพติคัม)

อาการ  ไก่ป่วยแสดงอาการแก้มบวม ตาปิด น้ำมูกไหลและไอ เวลาหายใจมีอาการขัด ๆ และเสียงดังครืดคราดในลำคอ ถุงลมมีอาการอักเสบ เมื่อผ่าซากดูจะเห็นน้ำมูกอุดอยู่ในช่องจมูก หลอดลมและถุงลม และมีอาการปอดบวม โรคนี้มักเป็นอย่างเรื้อรังทำให้ไก่ตายมาก น้ำหนักลด อกแหลม ไข่ลด และคุณภาพเนื้อตกต่ำ

การป้องกันและรักษา

1.  กำจัดตัวที่เป็นพาหะของโรคและไม่นำไก่ที่เป็นโรคเข้ามาเลี้ยงในฝูง

2.  ใช้ยาปฏิชีวนะประมาณ 300-400 กรัม ผสมลงในอาหาร 1 ตัน

3.  ใช้ยาซัลฟา เช่น ไดมีตอน (0.05-0.1% ติดต่อกัน 3-5 วัน) ควบกับปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรค ซี.อาร์.ดี โดยเฉพาะเช่น โรวามัยซิน หรือใช้ยาไวบร้าเวตละลายน้ำให้ไก่กิน

4.  การรักษาโรค ซี.อาร์.ดี  โดยใช้ยาไทแลน ให้ใช้ยา 12.5 กรัม (1 ขวด) ผสมกับ สเตร็บโตมัยซินซัลเฟต 100 กรัม เติมน้ำกลั่นให้ครบ 500 ซี.ซี. ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (ท้ายทอย) จำนวน 1 ซี.ซี. ต่อ น.น. 1 ก.ก. หลังฉีดยาควรละลายไว้ตามินให้กิน 2-3 วัน

5.  การรักษาโดยใช้ยาโรวามัยซิน ให้ใช้ยานี้ 35 กรัม(1 ขวด) ผสมยาสเตร็ปโตมัยซิน ซัลเฟต 50 กรัม เติมน้ำกลั่น เขย่าผสมกัน แล้วเติมน้ำกลั่นจนครบ 500 ซี.ซี. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ซี.ซี. ต่อ น.น.ไก่ 1 ก.ก.

8.  โรคขี้ขาว

สาเหตุ เกิดจากเชื้อซาลดมเนลลา พูลโลรั่ม เชื้อโรคนี้อยู่ในรังไข่ของแม่ไก่ แล้วถ้ายทอดลงสู่ไข่ และลูกไก่ในโอกาสต่อมา โรคนี้เกิดกับไก่ ไก่งวง เป็ด นกกระจอก นกกระทา นกพิราบ และไก่ต๊อกด้วย

อาการ มักเกิดการระบาดในลูกไก่อายุน้อย ๆ หลังจากฟัก ลูกไก่จะยืนสุมกัน ปีกตก หงอยซึม ตาปิด ท้องเดิน อุจจาระเป็นยางเหนียว มีสีขาวปนเขียว หรือเหลืองอ่อน อุจจาระติดเกรอะกรังอยู่รอบทวาร ไก่ป่วยจะเซื่องซึม ไก่กินอาหาร และมักจะหอบ ถ้าผ่าซากดูจะพบว่า ตับ ม้าม หัวใจและปอดโตและมีสีผิดปกติ

การป้องกันและรักษา

1.  ทำการทดสอบโรคขี้ขาวในไก่ใหญ่ โดยใช้พลูโลรั่ม แอนติเย่น (ซื้อได้จากสถานีตรวจโรคสัตว์และร้านสัตวแพทย์) แล้วฆ่าและขายไก่ที่เป็นพาหะของโรคออกไป

2.  เผาหรือฝังซากสัตว์ที่ตาย

3.  ใช้ยาฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ทุกชนิด

4.  รมตู้ฟักและห้องเก็บไข่ด้วยแก๊สฟอร์มัลดีไฮด์  โดยใช้ด่างทับทิม 17.5 กรัม และฟอร์มาลิน 35-40 ซี.ซี. ต่อปริมาตรตู้ฟัก 100 ลูกบาศก์ฟุต  ถ้าตู้มีขนาดเล็กก็ลดยาลงตามส่วน รมยานาน 24 ชั่วโมงหรือกว่า

5.  ใช้ยาซัลฟารักษา เช่น ซัลฟาเมอราซีน ซัลฟาเมธาซีน ยาฟิวราโซลิโดน (เอน.เอฟ.180) ยาไดมีตอน และอื่นๆ

9.  โรคมาเร็กซ์(มะเร็งไก่)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส (เฮิร์ฟเปส ไวรัส)

อาการ มักเกิดการระบาดในไก่อายุ 30-120 วัน  โดยทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่ผิวหนัง (เป็นเม็ดตุ่มตามขาและปีก ทั้ง 2 ข้าง) ตับ ม้าม ไต และอวัยวะเพศขยายใหญ่ รังไข่ ตับ ม้าม กระเพาะและปอดมีเม็ดตุ่มเป็นมะเร็ง ขากะเผลกและกระตุก นั่งเหมือนสุนัข ปีกตกเนื่องจากหมดความรู้สึก คอส่ายไปมา ไก่มักซุกคออยู่ระหว่างขา ไก่ตายน้อย มักตายเมื่ออายุ 3-5 เดือน

การป้องกันและรักษา

1.  คัดเลือกพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคนี้

2.  ทำลายไก่ที่ติดโรคนี้ทันที

3.  ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ในลูกไก่ ตั้งแต่อายุ 1 วัน โดยฉีด 0-2 ซี.ซี. เข้าใต้ผิวหนัง บริเวณหลังหรือหน้าอก

10.  กาฬโรคเป็ด(ดัคเพล็ก)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส  ซึ่งแพร่กระจายได้ทางน้ำ อาหาร อากาศ สัตว์ป่วย และอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์

อาการ โรคนี้เป็นโรคระบาดที่ติดต่อกันอย่างรวดเร็ว เป็ดอาจตายได้ภายใน 1-3 วัน อาการที่ควรสังเกตุคือ เป็ดจะแสดงอาการป่วยเหมือน ๆ กันหลายตัว เป็ดจะอ่อนเพลียซูบผอมอย่างเร็ว และตายในระยะต่อมา อาการเฉพาะตัวเริ่มแรกคือ เป็ดจะถ่ายอุจจาระค่อนข้างเหลว มีสีเขียวปนขาว ตาปิด น้ำตาไหล อ่อนเพลีย ไม่ค่อยเดินหรือเดินหลังสุด ชอบหมอบกับพื้น บางรายปีกตก เดินโซเซ หัวเหยียดไปข้างหน้า ขนพอง กระหายน้ำ ขนที่ก้นเปื้อนดิน เพราะขี้เหลว ปลายปากจะมีสีม่วงหรือสีน้ำเงิน บริเวณก้นอาจจะมีเลือดออกมาเปื้อน

เป็ดที่ใกล้จะตายหรือตายใหม่ ๆ จะมีหนังตาสีแดงจัด ถ้าปลิ้นทวารดูลึก ๆ จะเห็นเยื่อเมือกของทวารมีสีแดงช้ำเป็นเลือด ลำไส้และหลอดลมมีสีแดงช้ำ มีเลือดค้างในช่องท้อง ตับมีสีซีด หรือมีจุดขาวหรือจุดเลือดที่ตับ ลำไส้(เมื่อผ่าดู) จะพบแถบสีแดง กว้าง 2 มิลลิเมตร ขวั้นขวางด้านในของลำไส้เป็นแห่ง ๆ

การป้องกันและกำจัด

1.  คัดเลือกเป็ดที่แข็งแรงไว้ทำพันธุ์

2.  กำจัดสัตว์ป่วยออกจากเล้าให้หมด

3.  ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ด้วยยาฆ่าเชื้อ ยาล้างคอก

4.  ทำอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือใช้น้ำฝนครึ่งถังผสมกับน้ำส้มสายชู 1 ขวดแม่โขง วางไว้หน้าคอกเพื่อจุ่มเท้า

5.  ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ (ติดต่อสัตวแพทย์จังหวัดหรืออำเภอ และร้านสัตวแพทย์ใกล้บ้านท่าน) เพราะดรคนี้ไม่มียารักษา

11.  โรคบิดไก่

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไอเมอเรีย ทีเนลลา และเนคาทริกซ์

อาการ โรคนี้มักพบในไก่อายุ 1-2 เดือน  ไก่ป่วยจะแสดงอาการท้องร่วง มีมูกขาวปนเลือด ถ้าท้องร่วงติดต่อกัน 2-3 วัน จะอ่อนเพลีย ขนยุ่ง ซุกตัว หมอบ หลับตา ไก่มักจะตาย ทรากไม่ผอม แต่มีสีซีดเพราะโลหิตจาง พบจุดเลือดออกในลำไส้ไก่ตอนล่าง ไส้ตันบวมแดง มีเลือดเป็นลิ่ม มีสารคล้ายเนยตามผนังลำไส้

การป้องกันและรักษา

1. การป้องกันโรคบิดทำได้โดยการรักษาพื้นคอกและโรงเรือนให้แห้ง สะอาด อาจใช้ยาพวกซัลฟา ยาไดมีตอน ยาอาร์ซีน ยาแอมโพรล 25% ผสมอาหารให้ไก่กิน เช่น ใช้ยาอาร์ซีน ผสมในอาหาร ในระดับ 0.002%

2.  รักษาโดยใช้ยาซัลฟา เช่น ยาซัลเมท ยาไดมีตอน 0.05-0.2% ผสมน้ำหรืออาหารให้กินติดต่อกัน 3-5 วัน

12. พยาธิตัวกลมในไก่

สาเหตุ เกิดจากพยาธิ แอสคาริเดีย แกลไล

อาการ มักเกิดการระบาดในไก่อายุ 1 เดือนขึ้นไป ไก่จะถ่ายอุจจาระเป็นมูกและมีลักษณะเป็นก้อน ไก่แคระแกรน ขนสกปรก แสดงอาการโรคโลหิตจาง

การป้องกันและกำจัด

1.  ป้องกันโดยใช้ยาไฮโกรมัยซิน 680 กรัมต่ออาหาร 1 ต้น

2.  ถ่ายพยาธิไก่ด้วยตัวยาพิพเปอราซีน เช่น ฮ๊อกโทซานไก่และยาเวอร์บาน เป็นต้น

13. พยาธิภายนอก

สาเหตุ พยาธิภายนอกได้แก่ เหา ไร หมัด เห็บ

อาการ พวกพยาธิภายนอก ซึ่งอาศัยอยู่บนตัวไก่ จะเกาะกินโดยการทำลายผิวหนังและขน ทำให้คันและอักเสบ ไก่ผอม ไข่ลด

การป้องกันและกำจัด

1.  โรยฝุ่นยาบนตัวไก่แล้วลูบทวนขน  โดยใช้ผงโลติ๊น ผงยาสูบผง กำมะถันเป็นต้น

2.  ใช้ยาฆ่าแมลงเช่น (มาลาไธออน) ผสมน้ำมันแล้วทาที่ขนหัวขนหางและใต้ปีก

3.  พ่นด้วยยาฆ่าแมลงเช่น ใช้มาลาไธออน 0.5% ดี.ดี.ที. 2.5% ดีลดริน 1-2% และยาเซฟวิน-85

4.  อาบน้ำไก่ในอ่างโดยใช้น้ำยาโล่ติ๊น ดี.ดี.ที. ดีลดริน หรืออื่น

สรุปโปรแกรมการทำวัคซีนในเป็ดไก่

อายุ วิธีทำและวัคซีนที่จำเป็น หมายเหตุ
วิธีของกรมปศุสัตว์
ไก่ 1-5 วัน หยอดจมูกด้วยวัคซีนนิวคาสเซิล(ชนิดเอฟ) 1-2 หยด –       
7 วัน แทงผนังปีกด้านใน 1-2 ครั้ง ด้วยวัคซีนฝีดาษไก่
14 วัน หยอดจมูกด้วยวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ 1-2 หยด ทำซ้ำเมื่ออายุ 3-5 เดือน
21-28 วัน หยอดจมูกด้วยวัคซีนนิวคาสเซิล(ชนิด เอฟ) ซ้ำ
2 ½ – 3 เดือน หยอดจมูกด้วยวัคซีนนิวคาสเซิลอีก

ก. ถ้าใช้ชนิดเอฟ(หยอดจมูก) ต้องทำซ้ำ ทุก ๆ 5- ½ เดือน

ข. ถ้าใช้ชนิดเอ็ม.พี.(แทงปีก) จะคุ้มโรคได้ 1 ปี

เป็ดไก่ 1 เดือนขึ้นไป ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ โดยฉีดใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้าม(โคนขา,หน้าอก) ตัวละ 2 ซี.ซี. ควรฉีดซ้ำทุก ๆ 3-4 เดือน
วิธีของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์
1-3 วัน หยอดจมูกหรือตาด้วยวัคซีนนิวคาสเซิลชนิด บี1 ไก่ไข่และไก่กระทง
7 วัน แทงปีกด้วยวัคซีนฝีดาษ(พร้อมตัดปาก) ไก่ไข่และไก่กระทง
14 วัน หยอดตาด้วยวัคซีนนิวคาสเซิล ชนิด บี1 ร่วมกับหลอดลมอักเสบ ไก่ไข่และไก่กระทง
6 อาทิตย์ หยอดตาด้วยวัคซีน กล่องเสียงอักเสบ ไก่ไข่
8 อาทิตย์ หยอดตาด้วยวัคซีนนิวคาสเซิล ชนิดบี 1 ร่วมกับหลอดลมอักเสบ ไก่ไข่
16 อาทิตย์ หยอดตาด้วยวัคซีนนิวคาสเซิล ชนิด บี 1 และละลายน้ำกินด้วยวัคซีนสมองและไขสันหลังอักเสบ ไก่ไข่
18 อาทิตย์ หยอดตาด้วยวัคซีนกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ ไก่ไข่
20 อาทิตย์ หยอดตาด้วยวัคซีนนิวคาสเซิล ชนิด บี1 หรือแทงปีก โดยใช้ชนิด เอ็ม.พี.สะเตรน ไก่ไข่

หมายเหตุ (วิธีของกรมปศุสัตว์)

วัคซีนนิวคาสเซิลและวัคซีนหลอดลมอักเสบติดต่อนิยมผสมเข้าด้วยกันและใช้พร้อมกันแบบ 1:1 ละลายในน้ำยาละลาย 5 ซี.ซี. หรือแบบ 2:1 ละลายในน้ำยาละลาย 10 ซี.ซี.

ลูกไก่กระทง  ให้วัคซีนนิวคาสเซิลและวัคซีนหลอดลมอักเสบ ได้ตั้งแต่อายุ 1 วัน ให้ครั้งเดียว ให้วัคซีนฝีดาษไก่ตั้งแต่อายุ 1 วัน ให้ครั้งเดียว

ลูกไก่ไข่ ไก่พันธุ์ ให้วัคซีนนิวคาสเซิลและวัคซีนหลอดลมอักเสบได้ตั้งแต่อายุ 1 วัน ให้ซ้ำเมื่ออายุ 21-28 วัน ต่อไปให้ซ้ำเมื่ออายุ 3 เดือน และให้ทุก ๆ 3 เดือน วัคซีนฝีดาษไก่ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 วัน ให้ครั้งเดียว

วัคซีนอหิวาต์ เป็ด-ไก่ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน และให้ซ้ำทุก ๆ 3 เดือน (เหมาะสำหรับไก่เลี้ยงปล่อยหรือเลี้ยงในคอกดิน)