กาแฟอราบิก้า

(Arabica Coffee)
กาแฟอราบิก้า มีถิ่นกำเนิดจากป่าธรรมชาติของเทือกเขาเอธิโอเปีย มีความสูง ๑,๐๐-๑,๘๐๐ เมตร และได้ถูกนำแพร่กระจายไปตามแหล่งต่างๆ มีการใช้เมล็ดกาแฟในรูปแบบต่างๆ กันไป แต่การค้นพบวิธีการคั่ว และชงกาแฟเป็นครั้งแรกนั้น ในอาราเบียคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ กาแฟที่ได้จากแหล่งนี้จึงเรียกว่า กาแฟอราบิก้า และเมื่อได้แพร่หลายไปปลูกในแหล่งต่างๆ ก็ได้ เกิดมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมออกไป (Mutation) ทำให้เกิดลักษณะที่ดีขึ้น ลักษณะสีของใบยอดความถี่ห่างของข้อ และขนาดของใบ ใช้ในการจำแนกพันธุ์
กาแฟอราบิก้าเป็นไม้ยืนต้นลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุของกาแฟขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ในบราซิลมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๓๐-๔๐ ปี แต่มีบางต้นอายุถึง ๘๐-๑๐๐ ปี ในบางแห่งมีอายุ ๕๐-๗๐ ปี โดยทั่วไปประมาณ ๑๐-๑๕ ปี หรือน้อยกว่า
การเจริญเติบโตของกาแฟแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ
๑. การเจริญทางสูงขึ้นไป (Orthotropic growth) ต้นจะเจริญเติบโตสูงขึ้นไป หรือเรียกว่าการเจริญทางกิ่งตั้ง
๒. การเจริญทางข้าง (Plagcothropic growth) เป็นการเจริญของกิ่งข้างหรือเรียกว่ากิ่งนอน
กิ่งกาแฟที่จะติดดอกออกผลนั้น ต้องมีอายุแล้ว ๑ ปี กาแฟจะเจริญเติบโตทางกิ่งก้านในช่วยฤดูฝน เมื่อย่างเข้าฤดูแล้ง จะพักการเจริญเติบโตทางกิ่งก้าน เริ่มสร้างตาดอกจนตาดอกสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อเข้าฤดูฝนใหม่ ดอกจะบานและติดผล กาแฟจะเจริญเติบโตทางกิ่งก้านพร้อมกับเลี้ยงผลไปด้วยพร้อมกัน ทำให้อาหารไม่เพียงพอในการสร้างตาดอก ทำให้ปีต่อไปติดผลน้อย เมื่อติดผลน้อย ต้นกาแฟจะมีอาหารไปใช้สร้างตาดอกมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดผลดกในปีต่อไป ลักษณะนี้ทำให้กาแฟออกผลดกปีเว้นปี แต่ถ้าดกมากเกินไป และขาดความอุดมสมบูรณ์ หลังการเก็บเกี่ยว ต้นอาจเกิดอาการแห้งตายจากยอดลงมา (Die-back) ซึ่งเป็นเพราะต้นกาแฟทรุดโทรมและถูกเชื้อราเข้าแทรก กาแฟเป็นพืชที่เลี้ยงลูกจนต้นตายก็ไม่ยอมทิ้งให้ผลร่วงหล่นเหมือนพืชบางชนิด ต้นที่เกิดการตายยอดนี้เกือบจะไม่มีประโยชน์ เพราะจะไม่ให้ผลในปีต่อไป เพราะเนื้อไม้ที่เจริญออกไปสำหรับเกิดตาดอกนั้นไม่มี ปกติใช้เวลา ๒ ปี ในการฟื้นตัว ซึ่งวิธีแก้ไข คือ การตัดแต่งกิ่งและการให้ร่มเงาเพิ่มขึ้น
ที่มา:อนันต์  อิสระเสนีย์