คำแนะนำในการปลูกถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ  ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งเสริม ให้เพิ่มผลผลิต เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ

พันธุ์ สาขาพืชน้ำมัน  สถาบันวิจัยพืชไร่ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง พันธุ์มาตรฐาน  เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรปลูกจำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งมีลักษณะประจำพันธุ์ ต่าง ๆ ดังนี้

1.  ส.จ. 1 (ย่อมาจากสถานีกสิกรรมแม่โจ้หรือสถานีทดลองพืชไร่แม่โจ้ หรือศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ปัจจุบัน พันธุ์ที่ 1)  เป็นถั่วเหลืองซึ่งได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกมานานเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เมล็ดมีตาสีดำ

2.  สจ. 2 เป็นพันธุ์ซึ่งได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกพร้อมกับพันธุ์ ส.จ.1 โดยเฉพาะทางภาคเหนือนิยมปลูกในฤดูแล้ง  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงเช่นเดียวกับ ส.จ.1 เมล็ดสีน้ำตาลแก่

3. สจ. 4 เป็นถั่วเหลืองพันธุ์ใหม่  ซึ่งได้จากการ ผสมพันธุ์และคัดเลือกสายพันธุ์  ของสาขาพืชน้ำมัน  สถาบันวิจัยพืชไร่เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง  เมล็ดโต  มีตาเล็กชัดสีน้ำตาลอ่อน เปลือกค่อนข้างบาง ต้านทานต่อโรคราสนิม

4.  สจ. 5 เหมือน สจ. 4 แต่เหมาะที่จะปลูกในฤดูฝน มากกว่าฤดูแล้ง

ฤดูปลูก ถั่วเหลืองสามารถปลูกได้ 3 ฤดู ในหนึ่งปีคือ ต้นฝนปลูกประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนใหญ่ปลูกกันในเขตอำเภอสวรรคโลก  จังหวัดสุโขทัย ปลายฤดูฝนปลูกระยะระหว่างเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม ในแถบต่าง ๆ ของภาคกลาง และฤดูแล้งหลังฤดูการทำนาในเขตที่มีการชลประทาน  ปลูกระหว่างกลางเดือนธันวาคม ถึงกลางเดือนมกราคม

การเตรียมดินปลูก  ถั่วเหลืองขึ้นในดินแทบทุกชนิดที่มีการระบายน้ำดี  ตั้งแต่ดินทรายจนกระทั่งดินเหนียวที่มีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร  และมีความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.4-7.0 แต่จะไม่เจริญเติบโตในดินที่เป็นเกลือ  การเตรียมดินปลูกถั่วเหลือง ควรจะไถให้ลึกประมาณ 6 นิ้ว ทำการพรวนและปรับหน้าดินให้สม่ำเสมอ  และทำร่องระบายน้ำเพื่อให้สามารถระบายเข้าออกได้สะดวก  สำหรับการปลูกในตอซังหลังฤดูการทำนาไม่ต้องเตรียมดินแต่ควรตัดตอซังให้เหลืออยู่เหนือผิวดินเล็กน้อยและขุดร่องระบายน้ำตามระยะที่เหมาะสมที่จะระบายน้ำเข้าออกได้ดี

วิธีปลูก การปลูกถั่วเหลืองให้ได้ผลดีจะต้องปลูกให้เป็นแถว  โดยมีระยะระหว่างต้นที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโต สำหรับพันธุ์มาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำในขณะนี้ คือพันธุ์ สจ.1, สจ.2 และสจ.4 สจ.5 นั้น  ใช้ระยะระหว่างแถว 50 ซม. ระยะระหว่างหลุม 20 ซม. แล้วปลูกหลุมละ 3-4 เมล็ด  หลุมลึกประมาณ 3-4 ซม.  แล้วกลบดินถอนให้เหลือหลุมละ 2-4 ต้น  เมื่องอกแล้วประมาณ 7 วัน หรือระหว่างแถว 50 ซม. แล้วโรยเมล็ดปลูก งอกแล้วถอนให้เหลือ 10-20 ต้น ต่อ 1 เมตร หรือให้ได้จำนวนต้นอยู่ระหว่าง 32,000 ถึง 64,000 ต้น/ไร่  ซึ่งจะใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกประมาณ 5-12 กก. ต่อไร่ การปลูกถั่วเหลืองเป็นแถวเช่นนี้จะทำให้สะดวกต่อการบำรุงรักษา เช่น การพรวนดิน ดายหญ้า  ใส่ปุ๋ยและการพ่นยาป้องกันและกำจัดโรคแมลง  เป็นต้น  สำหรับการปลูกในตอซังนั้น  ก่อนปลูกเอาน้ำเข้าให้ทั่วแปลงก่อนแล้วจึงใช้ไม้ทิ่มตามตอซังทำหลุมปลูก หยอดเมล็ดหลุมละ 3-4 เมล็ด ความชื้นในดินจากการเอาน้ำเข้าก่อนปลูกจะเพียงพอสำหรับถั่วเหลืองงอกโดยไม่ต้องให้น้ำซ้ำอีก

การบำรุงรักษา การบำรุงรักษาที่ดีจะทำให้ต้นถั่วเหลืองเจริญงอกงาม  ให้ผลผลิตสูงคุ้มค่าใช้จ่ายและแรงงานที่เสียไป  การบำรุงรักษาที่จำเป็นมี

1.  การกำจัดวัชพืชและพรวนดิน เพื่อมิให้วัชพืชขึ้นรกรุงรัง  แย่งอาหารต้นถั่วเหลืองและเป็นที่อาศัยของโรคแมลง  นอกจากนี้  การพรวนดินยังทำให้รากสามารถหาอาหารและหายใจได้สะดวก  การปลูกถั่วเหลืองในฤดูหนึ่ง ๆ ต้องทำการดายหญ้า 2 ครั้ง คือหลังจากปลูกแล้ว 15 วัน และ 30 วัน  เมื่อถั่วเหลืองเริ่มออกดอกไม่ควรดายหญ้าพรวนดิน  เพราะจะกระทบกระเทือนระบบรากทำให้ดอกร่วงได้  การป้องกันและกำจัดวัชพืชในไร่ถั่วเหลืองอาจใช้สารเคมี (Lasso) พ่นหลังจากหยอดถั่วเหลืองแล้ว  โดยใช้ยาอัตรา 500-700 ซีซีต่อไร่ สำหรับดินร่วน 750-1,000 ซีซี/ไร่  สำหรับดินเหนียว  ซึ่งสามารถคุมหญ้าได้ประมาณ 85 วัน  จึงไม่จำเป็นต้องดายหญ้าอีก  เพราะถึงระยะเวลาที่ถั่วเหลืองออกดอกพอดี  แต่ในบางท้องที่มีวัชพืชมาก  อาจจะต้องทำการดายหญ้าเพิ่มเติมสักครั้งหนึ่ง

2.  ปุ๋ย ถั่วเหลืองเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความเป็นกรดและด่าง (pH) ระหว่าง 5.5-70. และความเป็นกรด เป็นด่าง ของดินยังมีความสัมพันธ์ต่อการละลาย เป็นประโยชน์ของอาหารธาตุในดินอีกด้วย  ดังนั้นจึงควรปรับความเป็นกรด เป็นด่าง ของดินก่อนปลูก คือ ถ้า (pH) ต่ำกว่า 5.5 ควรใส่ปูนขาว 200-300 กก./ไร่  หว่านให้ทั่วแล้วไถหรือพรวนกลบทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เดือน  จะช่วยให้การเป็นกรดน้อยลง  ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่แนะนำสำหรับถั่วเหลือง คือ ปุ๋ย N. P2O5.K2O อัตรา 3-9-6 กก./ไร่  ซึ่งจะเป็นปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต  จำนวน 15 กก.  ปุ๋ยดับเบิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต จำนวน 22.5 กก. ปุ๋ยโปรแตสเซียมคลอไรด์จำนวน 10 กก. แต่ปุ๋ยสูตรดังกล่าวหาซื้อยากในตลาดทั่วไป  จึงอาจใช้ปุ๋ยที่หาง่าย  เช่น ปุ๋ยสำหรับข้าวสูตร 16-20-0 หรือ 20-20-0 ใส่อัตรา 30 กก./ไร่  การใส่ปุ๋ยจะใส่ทั้งหมดก่อนปลูก  โดยวิธีหว่านลงในแปลงปลูกแล้วพรวน หรือคราดกลบก่อนปลูก 1 วัน  หรือจะใส่แบบโรยข้างแถวต้นถั่วเหลืองหลังจากดายหญ้าครั้งแรกแล้วกลบดินพูนโคนต้นก็ได้

3.  การป้องกันและกำจัดศัตรูของถั่วเหลือง

โรค โรคที่สำคัญที่ระบาดและทำความเสียหายแก่ถั่วเหลือง ในปัจจุบัน คือ โรคราสนิม ซึ่งระบาดเมื่อถั่งเหลืองเริ่มติดฝัก  จะมีลักษณะเป็นจุดกลมเล็ก ๆ สีน้ำตาลคล้ายสนิมที่ใบ  และอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดใบจะร่วงหมด  ฝักและเมล็ดจะลีบและเก็บผลผลิตไม่ได้เลย  การป้องกัน โดยใช้พันธุ์ต้านทาน  คือ พันธุ์ สจ.5  การใช้ยาป้องกันและรักษานั้น  เป็นการสิ้นเปลืองมาก เนื่องจากยามีราคาแพง

แมลง ระยะถั่วเหลืองเริ่มงอกประมาณ 7-10 วัน  จะมีแมลงวันเจาะโคนต้นระบาด ต้องพ่นยาจำพวกไดเมทโธเอท(ชื่อการค้ามีหลายอย่าง เช่น ไลเม่ ไซกอน เป็นต้น) ป้องกันไว้ก่อนโดยใช้ 2 ช้อนแกง (30 ซีซี) ต่อน้ำ 1 ปีบ (20 ลิตร) เพราะถ้าแมลงดังกล่าวเจาะที่โคนต้นอ่อนแล้วจะไม่มีทางป้องกันกำจัดได้เลย  อีกระยะหนึ่ง  คือระยะถั่วเหลืองกำลังออกดอก และเริ่มติดฝักจะมีแมลง พวกหนอนผีเสื้อกัดกินใบ หนอนม้วนใบ และหนอนเจาะฝักหรือดูดฝักทำลายถั่วเหลือง  ซึ่งถ้าพบว่ามีหนอนพวกนี้ระบาดควรพ่นยาป้องกัน  และกำจัด เช่น อโซดริน ฟอสดริน เป็นต้น โดยใช้ยา 2 ช้อนแกง(30 ซีซี) ต่อน้ำ 1 ปีบ (20 ลิตร) พ่น 7-10 วันต่อครั้ง

การเก็บเกี่ยว ถั่วเหลืองมีอายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90-100 วัน ระยะเวลาที่ถั่วเหลืองแก่เก็บเกี่ยวได้จะสังเกตได้จาก  ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นไปเป็นส่วนมาก  ฝักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  การเก็บเกี่ยวอาจใช้มีดหรือเคียวเกี่ยวทั้งต้น  และนำมาตากให้แห้ง  ประมาณ 2-3 แดด แล้วนำมานวด  โดยนำมากองแล้วใช้ไม้ฟาดหรือใช้แทรกเตอร์แล่นทับ  หรือใช้เครื่องนวดติดเครื่องยนต์ก็ได้ เสร็จแล้ว จึงนำมาร่อนหรือฝัดเอาแต่เมล็ดที่สะอาด เมล็ดถั่วที่จะใช้ทำพันธุ์จะต้องนำไปตากให้แห้งสนิท  ข้อควรระวังคือ  เวลาเก็บเกี่ยวไม่ควรให้ถั่วเหลืองถูกฝน  เพราะจะทำให้เมล็ดบวม เน่า เสียหาย และความงอกจะลดน้อยลงด้วย  การเก็บรักษาเมล็ดถั่วเหลืองไว้ทำพันธุ์นั้น  วิธีเก็บที่ให้มีความงอกสูงได้นาน 10 เดือน  คือตากเมล็ดให้แห้งสนิทและเก็บไว้ในห้องเย็น  แต่สำหรับกสิกรทั่วไป  วิธีที่เหมาะสม คือ เก็บเมล็ดที่แห้งไว้ในภาชนะที่ปิดฝาได้สนิท เช่น ปีบสังกะสีหรือพลาสติก มัดปากถุงให้แน่นและเก็บไว้ในห้องที่ไม่ชื้นจะเก็บไว้ได้นานประมาณ 5 เดือน  โดยที่มีความงอกมากกว่า 70 % สามารถนำไปใช้ปลูกได้

4.  ประโยชน์

4.1  ถั่วเหลืองใช้สำหรับหีบสกัดเอาน้ำมันมาบริโภค  ที่เหลือเป็นกากใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์  ซึ่งมีโปรตีนสูง  อื่น ๆ ก็มี ทำเต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซีอิ้ว และนมถั่วเหลือง  และขนมต่าง ๆ รวมทั้งทำเป็นเนื้อเทียมด้วย ฯลฯ

4.2  ถั่วเขียว ส่วนมากจะใช้ทำถั่วงอก และวุ้นเส้น และขนมต่าง ๆ