ทุเรียน:การฟื้นฟูต้นทุเรียนภายหลังการเข้าทำลายของเชื้อไฟทอปธอร่า

วันทนีย์  ชุ่มจิตต์  และคณะ..ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ต้นทุเรียนที่ถูกเชื้อไฟทอปธอร่า(โรคโคนเน่า) เข้าทำลายจะทรุดโทรมเนื่องจากระบบรากและระบบลำเลียงเสียหาย นอกจากนี้เชื้อที่อยู่ในลำต้นยังสามารถทำลายต้นทุเรียนได้อย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ต้นตายได้ การแก้ไขปัญหาเรื่องโรคโคนเน่านี้ไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยการใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ควรใช้หลายวิธีเช่นกัน ซึ่งแนวทางการแก้ไขมีดังนี้

1.  เพิ่มความสมบูรณ์ของต้นเพื่อให้ต้นสามารถต้านทานต่อโรคได้

2.  ทำลายเชื้อที่ยังอยู่ในต้นเพื่อหยุดยั้งการทำลาย

3.  หยุดยั้งการเจริญของเชื้อที่ยังอยู่ในดิน เพื่อป้องกันการเข้าทำลายครั้งต่อไป

4.  ปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรค

ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกันทดลองใช้เชื้อจุลินทรีย์และสารเคมีกับต้นทุเรียนที่เป็นโรครากเน่าโคนเน่า รวมทั้งการเพิ่มความสมบูรณ์ของต้นทุเรียนโดยการให้ปุ๋ยทางใบ เนื่องจากทุเรียนที่เป็นโรค ระบบรากของทุเรียนมักจะไม่สามารถดูดธาตุอาหารได้ตามปกติ การให้ปุ๋ยทางใบจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูสภาพต้นไม้ได้เร็วขึ้น

จากการทดลองพ่นปุ๋ยทางใบ (น้ำตาลมอลตานิค อัตรา 20 ซีซี+ปุ๋ยเกร็ด 15-30-15 อัตรา 60 กรัม+ฮิวมิค แอซิด อัตรา 20 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร) รวม 3 ช่วงห่างกัน 4 ครั้ง โดยช่วงที่ 1 พ่น 3 ครั้งห่างกัน 7 วัน ช่วงที่ 2 และ 3 ฉีดพ่น 1 ครั้ง ร่วมกับการใช้สารเมตาแล็กซิล พ่นอัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร รวม 3 ครั้งห่างกัน 15 วัน ราดอัตรา 200 กรัม/ต้น รวม  ครั้ง ห่างกัน  วัน และทาแผลอัตรา 100 กรัม/น้ำ 1 ลิตร ตามความจำเป็นรวม 3 ช่วงห่างกัน 4 เดือน โดยช่วงที่ 1 พ่น ราดและทาแผล 3 ครั้ง ช่วงที่ 2 และ 3 พ่น ราดและทาแผล 1 ครั้ง ร่วมกับการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) หว่านใต้ทรงพุ่มอัตรา 100 กรัมต่อตารางเมตร รวม 3 ช่วงห่างกัน 4 เดือน โดยช่วงที่ 1 หว่าน 3 ครั้งห่างกัน 1 เดือน

จากการทดลองพบว่า ภายหลังการใช้วิธีการทั้ง 3 วิธีคือ การใช้ปุ๋ยทางด่วนร่วมกับการใช้สารเคมีและการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาร่วมกันแล้ว 6 เดือน ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ของต้นสูงกว่าวิธีที่ไม่ใช้ทั้งเชื้อราและสารเคมีถึง 41℅มีพื้นที่ใบสูงกว่าวิธีที่ไม่ใช้สาร 17℅ และมีจำนวนประชากรของเชื้อโรคลดลงกว่าวิธีที่ไม่ใช้ทั้งเชื้อราและสาร 36℅

แต่อย่างไรก็ตาม การตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคและทำลายเชื้อโรคเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย การใช้วิธีการต่างๆ เหล่านี้รวมกันน่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต้นโทรม เนื่องจากการเข้าทำลายของโรค และเป็นการฟื้นฟูสภาพของต้นได้