นกแว่นสีเทา

ชื่อสามัญ Grey Peacock Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyplectron bicalcaratum

เรียกกันในหมู่ผู้เพาะเลี้ยงว่า “นกแว่นเหนือ” เพราะเป็นนกที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางเหนือสุดในจำนวนนกแว่นทั้ง 6 ชนิด มีอีกชื่อหนึ่งว่า Chinquis Peacock Pheasant มีถิ่นกำเนิดในสิกขิม ภูฐาน อัสส้ม พม่า ไปทางตะวันออกจนถึงตังเกี๋ยและไฮหนาน ตอนใต้จนถึงด้านเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี ทางเหนือของไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ แบ่งเป็น 5 ชนิดย่อย ซึ่งเหมือนกันมาก จำแนกค่อนข้างยาก ชนิดที่มีในเมืองไทยคือ Burmese Grey Peacock Pheasant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า p.b. bicalcaratum มีทางภาคตะวันตก, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นกแว่นเหนือชอบอาศัยอยูในป่าดงดิบซึ่งอยู่ค่อนข้างสูงจากระดับนํ้าทะเลจนถึงระดับ 5,000 ฟุต มักจะหากินตัวเดียวหรือบางทีก็เป็นคู่ กินอาหารแทบทุกอย่างเท่าที่จะหากินได้ เป็นนกที่ชอบหลบซ่อนตัว ทำให้พบเห็นตัวได้ยาก ในฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะร้องบ่อย ๆ โดยเฉพาะตอนเช้าตรู่ และตอนพลบค่ำฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน สร้างรังโดยเอาใบไม้มาสุมรวมกันตามโพรงไม้ วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง แต่ถ้าไข่ถูกเก็บไปมันจะเริ่มวางไข่ชุดใหม่อีก ใช้เวลาฟักไข่ 21-22 วัน

ถูกนำไปเลี้ยงในกรุงลอนดอนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1745 แต่กว่าจะเลี้ยงจนขยายพันธุ์ได้ต้องใช้เวลาจนถึงปี ค.ค. 1866 เป็นนกที่เพาะเลี้ยงกันแพร่หลายมาก ขยายพันธุ์ได้ดีกว่านกแว่นชนิดอื่นๆ ค่อนข้างเชื่อง ตัวผู้สีจะเต็มเมื่ออายุ 2 ปี แต่บางทีก็ให้ลูกได้เมื่อมีอายุเพียงปีเดียว