นมผึ้ง:การผลิตนมผึ้ง(รอยัลเยลลี่)

รอยัลเยลลี่หรือที่เรียกว่า “นมผึ้ง” นั้น คืออาหารสำหรับตัวอ่อนผึ้งและผึ้งนางพญา มีลักษณะคล้ายครีม หรือนมข้นหวาน หรือแป้งเปียกข้น ๆ มีกลิ่นออกเปรี้ยว และรสค่อนข้างเผ็ดเล็กน้อย ผลิตขึ้นโดยผึ้งงานซึ่งมีอายุประมาณ 5-15 วันหรือเราเรียกว่า ผึ้งพยาบาลซึ่งมีหน้าที่เป็นผึ้งพี่เลี้ยง เลี้ยงดูตัวอ่อน ผึ้งวัยนี้จะมีต่อมไฮโปฟาริงจ์คู่หนึ่งอยู่ในส่วนหัวต่อมนี้อยู่ติดกับต่อมน้ำลายในบริเวณส่วนหัว ทำหน้าที่ผลิตรอยัลเยลลี่ รอยัลเยลลี่จะถูกผลิตออกมาทุกวันในระยะนี้ผึ้งงานจะคายรอยัลเยลลี่ออกจากปากใส่ลงในเซลล์ตัวอ่อน และป้อนให้กับผึ้งนางพญาในขณะที่ผึ้งงานรุมล้อมทำความสะอาดด้วยการเลีย และป้อนอาหารด้วยปากให้กับผึ้งนางพญา

ผึ้งงานจะนำรอยัลเยลลี่ที่ผลิตขึ้นมาได้นี่ไปเลี้ยงตัวอ่อนของผึ้งทุกชนิดที่อายุไม่เกิน 3 วัน ตัวอ่อนของผึ้งแม่รังนั้นจะได้รับอาหารชนิดนี้อย่างมากจนเกินพอ ทำให้ตัวอ่อนผึ้งแม่รังเจริญเติบโตรวดเร็วกว่า ตัวอ่อนผึ้งงานและตัวอ่อนผึ้งตัวผู้และทำให้การพัฒนาทางสัณฐานวิทยาและทางสรีระผิดไป ฮอร์โมนบางชนิดที่ขับปนออกมาด้วย อาจมีส่วนเสริมพัฒนาการของผึ้งแม่รัง

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทางด้านชีวเคมีพบว่า รอยัลเยลลี่มีส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สมบูรณ์มาก องค์ประกอบทางเคมีของสารต่าง ๆ ในรอยัลเยลลี่ ได้แก่

คาร์โบไฮเดรท โปรตีน ไขมัน เถ้าหรือธาตุอื่น ๆ และ นอกจากนี้ก็พบว่า ในรอยัลเยลลี่มีวิตามินอยู่หลายชนิดด้วยกัน ได้แก่

วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 5 ไบโอติน อินโนสิตัล กรดโฟลิค และกรดแพนโทเธนิค

ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่พบด้วย เช่น ฮีสตามีน ตลอดจนฮอร์โมน และเอนไซม์บางชนิด

ที่สำคัญคือ ไม่พบว่ามีสารใดที่จะมีคุณสมบัติในการรักษาโรค แต่พบว่มีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้บางชนิด

อย่างไรก็ตาม มีผู้บริโภคในเอเซียบางประเทศ ยังคงเชื่อถือว่าอาหารตัวอ่อนผึ้งคงจะมีคุณสมบัติทางด้านบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ เป็นสารกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ สารเสริมความงามยับยั้งรอยเหี่ยวย่นของผิวหนัง ฯลฯ จึงทำให้คนเลี้ยงผึ้งในบางประเทสผลิตรอยัลเยลลี่ออกจำหน่ายตามความต้องการของตลาด ซึ่งราคาที่จำหน่ายกันอยู่นั้นค่อนข้างสูงมาก คิดเป็นกิโลกรัมละนับเป็นพันบาท

การผลิตอาหารตัวอ่อนผึ้ง (นมผึ้ง หรือ รอยัลเยลลี่) จากรังผึ้งนั้นเป็นกรรมวิธีที่ใช้แรงงานของผึ้งและคนเลี้ยงผึ้งมากอาศัยหลักการเลี้ยงผึ้งแม่รังมาดัดแปลง โดยใช้ถ้วยไขผึ้งหรือถ้วยพลาสติกเล็ก ๆ เป็นที่สำหรับย้ายตัวอ่อนผึ้งงานลงไปในลักษณะเดียวกันกับการตักตัวอ่อนเพื่อเลี้ยงผึ้งแม่รังเสร็จแล้วนำไปใส่ในรังผึ้งที่มีประชากรหนาแน่นเป็นพิเศษ และมีน้ำหวานกับเกสรสะสมอยู่ในปริมาณมาก ผึ้งงานพี่เลี้ยงภายในรังผึ้งก็จะระดมให้อาหารตัวอ่อนใส่ลงในถ้วยเหล่านั้นเมื่อสิ้นสุดวันที่ 3 นับจากที่ได้ย้ายตัวอ่อนใส่ลงไปในรังผึ้งแล้วจึงนำถ้วยเลี้ยงผึ้งแม่รังเหล่านั้นออกจากรังใช้ปากคีบคีบเอาตัวอ่อนผึ้งทิ้งแล้วจึงใช้ช้อนเล็ก ๆ ตักรอยัลเยลลี่ หรืออาหารตัวอ่อนผึ้งรวบรวมไว้ โดยปกติต้องตักจากถ้วยเลี้ยงผึ้งแม่รังถึงพันกว่าถ้วย กว่าจะได้อาหารตัวอ่อนในปริมาณครึ่งกิโลกรัม

เนื่องจากรอยัลเยลลี่เป็นสิ่งที่หายาก ผลิตได้เพียงวันละ 1.5-3.3 กรัมเท่านั้น (ผึ้งงานมากกว่ารังละ 60,000 ตัว) การทำรอยัลเยลลี่เพื่อการค้านั้นจะเก็บทุก 3 วัน (วันละ 5-10 กรัม) เพราะเป็นระยะที่ผึ้งงานนำรอยัลเยลลี่มาเก็บไว้ในเซลล์ให้ตัวหนอนผึ้งแม่รังกินมากที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาแพงมาก และต้องเก็บไว้ในตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส จะเสื่อมคุณภาพได้อย่างรวดเร็ว ถ้าถูกแสงแดด หรือเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติของห้อง ได้มีการผลิตออกมาขายในรูปแบบของแคปซูล หรือผสมน้ำผึ้ง เรียกว่านมน้ำผึ้ง เพื่อง่ายต่อการรับประทานและไม่ทำให้เสียง่าย