การเพิ่มผลผลิตไรแดงในบ่อซีเมนต์

สำรวย  เสร็จกิจ(หัวหน้างานผลิตอาหารธรรมชาติ กลุ่มวิจัยอาหารสัตว์น้ำ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ กรมประมง ๒๕๓๐)

สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ

ชีวประวัติของไรแดง

ไรแดง เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง เป็นอาหารธรรมชาติประเภทสัตว์ที่มีขนาดเล็ก มีขนาด ๐.๔-๑.๘ มิลลิตเมตร สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีคุณค่าทางอาหารสูง เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งจะทำให้มีอัตราการอยู่รอดและอัตราการเจริญเติบโตสูง ไรแดงที่ทำการผลิตกันมี ๒ ชนิด มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก มีลำตัวสีแดงเรื่อ ๆ ถ้าอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากจะเห็นสีแดงชัดเจน ในบ่อผลิตที่มีออกซิเจนต่ำไรแดงจะมีสีแดงมากกว่าในบ่อผลิตที่มีออกซิเจนสูง ตัวอ่อนของไรแดงจะมีสีจางกว่าตัวเต็มวัย ไรแดงเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าไรแดงเพศผู้ มีลำตัวอ้วนเกือบกลม ขนาดเฉลี่ย ๑.๒๕ มิลลิเมตร

ไรแดงมีการสืบพันธุ์ได้ ๒ แบบ คือ

๑)  การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยเพศเมียจะไข่แล้วฟักเป็นตัว (เพศเมีย) โดยไม่ต้องผสมกับเพศผู้

๒)  การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เมื่อสภาวะผิดปกติ เช่น อาหารขาดแคลน ความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสมหรืออุณหภูมิต่ำ ไรแดงจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยไรแดงจะเพิ่มปริมาณเพศผู้มากขึ้นแล้วสร้างไข่อีกชนิดหนึ่งไข่ชนิดนี้จะต้องได้รับการผสมจากเพศผู้ หลังจากนั้นตัวเมียก็จะตายและทิ้งไข่ที่ผสมแล้วนี้ไว้ ไข่ชนิดนี้จะทนต่อสภาวะแวดล้อมได้นาน และจะฟักออกเป็นตัวเมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสมและอาหารอุดมสมบูรณ์

โดยปกติไรแดงจะมีอายุระหว่าง ๔-๖ วัน โดยจะแพร่พันธุ์ได้ ๑-๔ ครั้ง หรือเฉลี่ย ๒ ครั้ง ครั้งละ ๘-๑๔ ตัว โดยจะต้องลอกคราบก่อนจึงจะแพร่พันธุ์ได้

อุปกรณ์ในการผลิต ไรแดง

๑.  บ่อผลิตใช้บ่อขนาดต่าง ๆ ตามแต่จะหาได้

๒.  อาหารผสม ใช้ปลาป่น กากถั่วเหลือง และรำละเอียด

๓.  ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยเอ็นพีเคสูตร (๑๕-๑๕-๑๕) และปุ๋ย ไนโตรเจนสูตร (๔๕-๐-๐)

๔.  ถุงกรองน้ำ ใช้ผ้าเนื้อแข็งเพื่อจำกัดชนิดของแพลงค์ตอนพืชและป้องกันศัตรูไรแดง

๕.  อุปกรณ์ตรวความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ใช้กระดาษตรวจวัดความเป็นกรดเป็นด่าง(กระดาษพีเอช)หรือกระดาษลิสมัส

๖.  สารเคมี ใช้ปูนขาวด่างทับทิม

๗.  แม่พันธุ์ไรแดงหรือหัวเชื้อไรแดง

๘.  กระชอนช้อนไรแดงขนาดต่าง ๆ

๙.  อุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น

การเพิ่มผลผลิต ไรแดงในบ่อซีเมนต์โดยใช้อาหารผสม

จากชีวประวัติเราทราบว่า ไรแดงเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งจึงต้องการอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน อันได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน เกลือแร่และวิตามิน ดังนั้น การผลิตไรแดงให้ได้ปริมาณมากจึงมีเคล็ดลับอยู่เพียงแค่การให้อาหารที่เหมาะสมในปริมาณเพียงพอ และการควบคุมสภาวะแวดล้อมในบ่อผลิตให้เหมาะสม หากอาหารน้อยเกินไปก็จะทำให้ผลผลิตไรแดงต่ำลง และหากอาหารมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการเน่าสลายมากเกินไป จะมีผลทำให้คุณสมบัติของน้ำในบ่อผลิตเลวลง ไรแดงไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ผลผลิตไรแดงจะต่ำลง

วิธีการผลิตไรแดง

มี ๔ ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ ๑ การเตรียมบ่อผลิต เริ่มตั้งแต่บ่อใหม่ซึ่งมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างสูง จำเป็นต้องล้างบ่อให้อยู่ในสภาพเป็นกลาง (ค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ ๗) โดยจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่ ๗-๒๐ วัน สำหรับบ่อเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจะต้องล้างบ่อแล้วตากแดดไว้ ๑ วัน เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งลูกปลา ไข่ปลา ไข่แมลงและศัตรูอื่น ๆ ของไรแดงจะถูกทำลายแล้วอย่างแน่นอน

ขั้นที่ ๒  การเตรียมน้ำและอาหาร

๒.๑  การเตรียมน้ำ คือการเติมน้ำลงในบ่อผลิตประมาณ ๓๐ ซม. โดยทั่วไปบ่อที่ดีจะมีความลาดเอียง จึงให้วัดความลึกของน้ำทางด้านตื้น วิธีการและแหล่งน้ำที่นำมาใช้ในการผลิต จะมีผลกับการผลิตไรแดงโดยตรง การผลิตไรแดงให้ได้ผลผลิตสูงจะต้องกรองน้ำด้วยถุงผ้ากรองเนื้อละเอียด เนื้อผ้าที่ใช้ควรแข็งและอยู่ตัวมากกว่าผ้าฝ้ายหรือผ้าขาวบาง ดังนั้น ถุงผ้ากรองน้ำควรเป็นผ้าประเภทโอร่อนแก้วเนื้อละเอียดหรือผ้ากรองแพลงค์ตอน น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ การกรองน้ำด้วยถุงผ้ากรองจะช่วยจำกัดชนิดของแพลงค์ตอนพืชและป้องกันศัตรูไรแดง ปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำโดยใช้ปูนขาวละลายน้ำแล้วใช้น้ำปูนใสสาดทั่วบ่อให้ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำมีค่าประมาณ ๘

๒.๒  การเตรียมอาหาร การผลิตไรแดงจำเป็นต้องให้อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วย ในปริมาณที่พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป อาหารของไรแดงมีหลายชนิด คือ

๑.  อาหารผสม ได้แก่ ปลาป่น ๑ ส่วน กากถั่วเหลือง ๑ ส่วน และรำละเอียด ๒ ส่วน ตัวอย่างเช่นในบ่อขนาด ๕ ตารางเมตร ใช้ปลาป่น ๑๐๐ กรัม (๑ขีด) กากถั่วเหลือง ๑๐๐ กรัม รำละเอียด ๒๐๐ กรัม

๒.  อาหารหมัก ได้แก่ การนำอาหารผสมในข้อ ๑. ๑ส่วน หมักกับน้ำ ๒ ส่วน โดยน้ำหนัก ใช้เวลาหมักอย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง เพื่อทำให้เกิดส่าหรือยีสต์ บักเตรี ซึ่งเป็นอาหารเสริมให้ไรแดง อีกประการหนึ่ง การหมักอาหารจะทำให้อาหารแยกตัวหรือถูกย่อยเป็นอนุภาคเล็กลง ทำให้ไรแดงสามารถกินได้สะดวก

๓.  น้ำเขียวหรือแพลงค์ตอนพืช ได้แก่ สาหร่ายขนาดเล็ก เป็นอาหารเสริมอีกชนิดหนึ่งของไรแดง สามารถเพิ่มปริมาณได้โดยใช้ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ ในปริมาณ ๐.๒ ส่วน และปุ๋ยยูเรีย ๔๕-๐-๐ ปริมาณ ๐.๑ ส่วน ละลายน้ำทิ้งไว้ ๒๔-๖๐ ชั่วโมง เช่นในบ่อผลิตไรแดง ขนาด ๕ ตารางเมตร ต้องใช้ปุ๋ย ๑๕-๑๕-๑๕ หนัก ๒๐ กรัม ปุ๋ยยูเรีย ๔๕-๐-๐ หนัก ๑๐ กรัม

ขั้นที่ ๓.  การเตรียมแม่พันธุ์ไรแดง การผลิตไรแดงให้ได้ปริมาณมากจำเป็นต้องใช้แม่พันธุ์ที่มีชีวิตแข็งแรง

๓.๑  การคัดพันธุ์ไรแดง ถ้าใช้แม่พันธุ์ไรแดงก็ย่อมได้ผลผลิตไรแดงในการคัดพันธุ์จึงควรแยกไรแดงออกจากอาหารธรรมชาติประเภทสัตว์ชนิดที่ไม่ต้องการให้มากที่สุด ในกรณีที่มีอาหารธรรมชาติประเภทสัตว์ชนิดอื่นบ้าง ๕-๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีผลกับการผลิตมากนัก แต่ถ้ามีปนมากก็จะทำให้ผลผลิตไรแดงต่ำลงหรือผิดชนิดที่ต้องการ การคัดพันธุ์ไรแดงในระดับชาวบ้านจึงแนะนำให้ใช้กระชอนอวนมุ้งสีฟ้าขนาดตาเล็กสุด ซึ่งสามารถแยกไรแดงออกจากโคพีพอดและลูกน้ำได้

๓.๒  การสังเกตเพศไรแดง ไรแดงมี ๒ เพศ คือเพศเมีย และเพศผู้  ในสภาวะปกติไรแดงจะสร้างเพศผู้เพียงร้อยละ ๕ ของประชากรทั้งหมด แต่ในสภาวะผิดปกติไรแดงจะสร้างเพศผู้มากขึ้น ในกรณีที่นำไรแดงมาเป็นแม่พันธุ์หรือหัวเชื้อควรเลือกไรแดงเพศเมีย โดยสังเกตจากรูปร่างภายนอก ไรแดงเพศเมียจะมีรูปร่างอ้วนกลม แต่ไรแดงเพศผู้จะมีลำตัวยาวรีหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าไรแดงตัวผอม ๆ ดังนั้นเมื่อนำไรแดงซึ่งมีไรแดงตัวผอม ๆ ปนมากมาเป็นหัวเชื้อในการผลิต จึงทำให้ผลผิลตต่ำกว่าการนำไรแดงตัวอ้วน ๆ กลม ๆ มาเป็นหัวเชื้อในการผลิต

วิธีการตรวจเพศของไรแดงทำได้โดยใช้แก้วน้ำใส ๆ ใส่น้ำใส ๆ แล้วช้อนไรแดง ใส่ลงพอประมาณยกขึ้นส่องดูถ้าพบไรแดงเพศผู้ แสดงว่าจำนวนไรแดงเพศผู้มากกว่าร้อยละ ๕ ของจำนวนไรแดงทั้งหมด

๓.๓ การเติมแม่พันธุ์ไรแดง การนำไรแดงขึ้นจากน้ำเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้ไรแดงอ่อนแอและตายง่าย การตรวจหรือชั่งไรแดงซึ่งจะใช้เป็นแม่พันธุ์ในการผลิตให้ใช้ค่าประมาณคือ ถ้าช้อนไรแดงปนน้ำหมาด ๆ ๑ ลิตร ก็คือ ไรแดง ๑ กิโลกรัมนั่นเอง ปริมาณไรแดงที่ใช้ในบ่อผลิตเฉลี่ย ๑๐-๖๐ กรัม ต่อตารางเมตร เช่น ในบ่อขนาด ๕ ตารางเมตร ให้ใช้ไรแดงประมาณ ๕๐-๓๐๐ กรัม (๑ กิโลกรัม = ๑,๐๐๐ กรัม)

ขั้นที่ ๔  การควบคุมบ่อผลิต การผลิตไรแดงให้ได้ปริมาณมากจะทำได้โดยผ่านขั้นตอนทั้ง ๓ แต่การจะคงสภาพบ่อผลิตให้สามารถเก็บผลผลิตได้มากกว่า ๑๕ วัน จะต้องใช้วิธีการต่อไปนี้ คือ

๔.๑  การเก็บเกี่ยวผลผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิตผิดวิธีจะทำให้ผลผลิตตกต่ำลงและระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวลดลงด้วย การเก็บเกี่ยวที่ทำได้ผลในปัจจุบัน คือ การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงร้อยละ ๕๐ ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดในแต่ละวัน

๔.๒  การเติมอาหาร ปริมาณอาหารที่เหมาะสมจะทำให้คุณสมบัติของน้ำเสียช้าลง และไรแดงมีอาหารกินอย่างสม่ำเสมอ การเติมอาหารที่ได้ผลดีในปัจจุบัน คือเติมอาหารหมักแล้วร้อยละ ๔๐-๖๐ ของครั้งแรกทุก ๓-๕ วัน โดยสังเกตจากปริมาณผลผลิตไรแดงในบ่อ (เติมน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งให้ผลดีกว่าเติมมาก ๆ นาน ๆ ครั้ง)

๔.๓  การถ่ายน้ำ การควบคุมคุณสมบัติของน้ำให้พอเหมาะกับความต้องการของไรแดง คือการถ่ายน้ำหมายถึงการระบายน้ำออกและเติมน้ำเข้าทุก ๗-๑๐ วัน ในระดับ ๑๐-๑๕ ซม. โดยสังเกตจากปริมาณผลผลิตไรแดงในบ่อเช่นกัน

เทคนิคที่ควรทราบ

๑.  กรองน้ำด้วยถุงกรองทุกครั้งผลผลิตไรแดงจะสูงขึ้น

๒.  น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำฝน จะให้ผลผลิตต่ำกว่าน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ฯลฯ

๓.  สังเกตสีของน้ำในบ่อผลิต ถ้ามีสีเขียวใสถึงสีชาใสผลผลิตไรแดงจะสูงและได้ไรแดงสีแดงจัด

๔.  การเร่งผลผลิตไรแดงด้วยเลือดสัตว์สด ๆ จะให้ผลผลิตเร็ว แต่ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นลง และทำให้น้ำในบ่อผลิตมีกลิ่นเหม็นมาก

๕.  การเร่งผลผลิตไรแดงด้วยน้ำนมถั่วเหลืองจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จึงต้องเพิ่มปริมาณอาหารผสมให้เพียงพอกับปริมาณไรแดงที่เกิดขึ้น หลักการสำคัญที่ควรทราบ คือให้น้อย ๆ แต่บ่อยครั้งจะให้ผลดีกว่าให้มาก ๆ นาน ๆ ครั้ง

๖.  เพิ่มค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำในบ่อผลิตไรแดงให้ได้ ๘ โดยใช้น้ำปูนใส

๗.  การนำไรแดงไปใช้ควรใช้ด่างทับทิมละลายน้ำให้เป็นสีชมพูอ่อน ล้างให้สะอาดเสียก่อน

๘.  บ่อผลิตที่ได้รับแสงแดดเต็มที่จะให้ผลผลิตไรแดงสูงและไรแดงจะมีสีแดงจัด

อนาคตที่สดใสของการผลิตไรแดง

ไรแดงเป็นอาหารธรรมชาติที่เหมาะสมที่สุดในการใช้เลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ปลาดุกอุย ปลากระพง ปลาบึก ปลาเทโพ ปลาเทพา กุ้มก้ามกราม ตลอดจนปลาตู้หรือปลาสวยงามอีกหลาย ๆ ชนิด การเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยไรแดงพบว่า มีอัตราการรอดและอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก

ดังนั้น หากสามารถผลิตไรแดงได้เองก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำลดลง ไรแดงสดที่มีชีวิตมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ ๕๐-๑๒๐ บาท ขึ้นกับฤดูกาลและสถานที่ เพราะไรแดงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากแหล่งผลิตไรแดงตามธรรมชาติลดลง แต่ความต้องการไรแดงเพิ่มขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้การผลิตไรแดงก็จะกลายเป็นอาชีพรองของเกษตรกรอย่างแน่นอน

ถ้าสนใจการผลิตไรแดงหรือประสบปัญหาด้านการผลิตไรแดงสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมจาก งานผลิตอาหารธรรมชาติ กลุ่มวิจัยอาหารสัตว์น้ำ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐ โทร. ๕๗๙๙๕๒๕

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

สันทนา  ดวงสวัสดิ์  ๒๕๒๔, ชีวประวัติไรแดง วารสารประมง ๓๔(๕) ๕๕๓-๕๕๗

สำรวย  เสร็จกิจ ๒๕๒๖, การผลิตไรแดงเพื่ออนุบาลลูกปลาบึกปี ๒๕๒๘ เอกสารกลุ่มวิจัยอาหารสัตว์น้ำ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ กรมประมง ๑๗ หน้า

สำรวย  เสร็จกิจ ๒๕๒๘, การผลิตไรแดง เอกสารคู่มือเกษตรกร กลุ่มวิจัยอาหารสัตว์น้ำ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ กรมประมง ๙ หน้า